ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหาร KC และพวก รวม 7 ราย ทุจริต ยักยอกเงิน 425 ล้านบาท จากการขายตั๋ว B/E

ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหาร KC และพวก รวม 7 ราย ทุจริต ยักยอกเงิน 425 ล้านบาท จากการขายตั๋ว B/E

5 มกราคม 2018


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้บริหารและอดีตผู้บริหารบริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (KC) 4 ราย ได้แก่ 1. นายภัทรภพ อิทธิสัญญากร (เปลี่ยนชื่อเป็นนายกฤติภัทร) 2. นายสรรชัย อินทรอักษร 3. นายธีราสิทธิ์ แสงเงิน 4. นายกิติสาร มุขดี และพวกอีก 3 ราย ได้แก่ 5. นายเทพทิวา บุตรพรม 6. นางสาวจรูญลักษณ์ คงคาเรียน (เปลี่ยนชื่อเป็น นางสาวนิษฐา) และ 7. นายวีรวัฒน์ สุขวราห์ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันทุจริต ยักยอกเงินที่ได้จากการออกและเสนอขายตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) ในนามบริษัท เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น แสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ และยินยอมให้ไม่มีการลงบันทึกบัญชีการขายตั๋ว B/E ทำให้บริษัทลงบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

สืบเนื่องจากที่ ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชีของ KC และ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนกันยายน 2558 – ตุลาคม 2559 ผู้บริหาร KC ร่วมกับผู้สนับสนุน รวม 7 ราย ได้กระทำทุจริต ยักยอกเงินที่ได้จากการขายตั๋ว B/E ของ KC รวม 25 ฉบับ มูลค่ารวมประมาณ 425 ล้านบาท ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของบุคคลอื่น

ในการดำเนินการดังกล่าว (1) นายภัทรภพ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นนายกฤติภัทร) อิทธิสัญญากร ในช่วงเกิดเหตุเป็นรักษาการกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร (2) นายสรรชัย ในช่วงเกิดเหตุเป็นรองกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร ได้ร่วมกันทุจริตโดยดำเนินการให้ KC ออกตั๋วเงิน 25 ฉบับ ซึ่งมีมูลค่าฉบับละ 25 – 150 ล้านบาท และได้ยักยอกเงินดังกล่าว ผ่านการปลอมแปลงเอกสารการประชุมของบริษัท ร่วมกันเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้รับโอนเงินค่าขายตั๋ว B/E ปกปิดไม่ให้มีการลงบันทึกบัญชีการขายตั๋ว B/E ดังกล่าวในบัญชีของบริษัท และปกปิดอำพรางการทุจริตโดยการต่ออายุตั๋ว B/E หลายครั้ง

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจาก (5) นายเทพทิวา ซึ่งรู้จักกับนายภัทรภพ และนายสรรชัย โดยนายเทพทิวาให้การช่วยเหลือโดยการยอมให้ใช้บัญชีธนาคารของตนเองเพื่อทำธุรกรรมรับโอนเงินที่ได้จากการขายตั๋ว B/E ทั้งหมด เพื่อแจกจ่ายให้บุคคลอื่น (6) นางสาวจรูญลักษณ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการบริษัท ให้ความช่วยเหลือในการทำธุรกรรมทางเงินบางรายการโดยใช้บัญชีธนาคารของตนเอง และ (7) นายวีรวัฒน์ ซึ่งรู้จักและชักชวนบุคคลหลายรายเข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารของ KC ได้แก่ นายภัทรภพ นายสรรชัย นายธีราสิทธิ์ และนายกิติสาร โดยเชื่อว่านายวีรวัฒน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำทุจริตและการรับเงินบางส่วนจากการขายตั๋ว B/E ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในช่วงปี 2559 (3) นายธีราสิทธิ์ และ (4) นายกิติสาร เป็นผู้บริหาร มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการตามลำดับ ทราบถึงการออกตั๋ว B/E แต่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและซื่อสัตย์สุจริต ไม่นำรายการตั๋ว B/E ลงบันทึกบัญชีของบริษัท KC ทำให้บัญชีของ KC ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

ที่มา : รายงานประจำปี 2558
ที่มา : รายงานประจำปี 2558
ที่มา : ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ณ 5 มกราคม 2561(https://www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=KC&ssoPageId=4&language=th&country=TH)

การกระทำของผู้บริหาร KC และพวก รวม 7 ราย ข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดกฎหมาย โดยบุคคลลำดับที่ (1) และ (2) เข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 โดยทุจริต ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคสอง มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยมีบุคคลลำดับที่ (5) (6) และ (7) ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำผิด เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 312 ประกอบมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ แล้วแต่กรณี ส่วนบุคคลลำดับที่ (3) และ (4) เข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 โดยทุจริต ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคสอง และมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 7 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้บริหารและอดีตผู้บริหารราย (1) นายภัทรภพ (2) นายสรรชัย (3) นายธีราสิทธิ์ และ (4) นายกิติสาร เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต.จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก.ล.ต. จึงส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของ DSI การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ