ThaiPublica > คอลัมน์ > สื่อในศตวรรษที่ 21 (11): บทบาทของ “สื่อพลเมือง” ในยุคโซเชียลมีเดีย

สื่อในศตวรรษที่ 21 (11): บทบาทของ “สื่อพลเมือง” ในยุคโซเชียลมีเดีย

22 มกราคม 2018


ย้อนไปราวหนึ่งทศวรรษก่อน เท่ากับชั่วพริบตาของจักรวาลหรือชั่วกัปกัลป์ของคนรุ่นจ้องจอแต่กำเนิด สมัยที่โซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ยังไม่เกิดหรือไม่ฮิต คำว่า “วารสารศาสตร์พลเมือง” (citizen journalism) หรือ “สื่อพลเมือง” (citizen media) ถูกพูดถึงอย่างหนาหู สื่อหลายค่ายเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นท้ายข่าว ต่อมาไม่นานก็เปิดบล็อกให้คนมาเขียนฟรี (อย่างเช่น OKnation ในไทย) หรือหาวิธีผนวกการทำงานของสื่อพลเมืองเข้ากับการทำงานของสื่อมืออาชีพอย่างชัดเจนมากขึ้น (อย่างเช่น CNN iReport)

การปรับเปลี่ยนแนวนี้ของสื่อมืออาชีพถูกมองในแง่ดี ผู้เชี่ยวชาญสื่อหลายคนแซ่ซ้องว่า นี่แหละคือทางรอดของสื่อเก่า หาวิธีเอาพลังของสื่อพลเมืองมาเพิ่มสีสัน ความลึก และความเป็น ‘ท้องถิ่น’ ให้กับข่าวต่างๆ แต่สุดท้ายกองบรรณาธิการมือเก๋าก็ยังคงกำหนดวาระสังคมอยู่เช่นเดิม เพราะขีดวงไว้แล้วว่าให้สื่อพลเมือง ‘เล่น’ อยู่ภายในกรอบที่สื่ออาชีพสร้างขึ้น

ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยินคำคำนี้คือตอนที่ถูกสื่อกระแสหลักขนานนามว่า “สื่อพลเมือง” เมื่อครั้งเขียนวิพากษ์ดีลชินคอร์ปและประเด็นสาธารณะอื่นๆ ลงบล็อกชื่อ “คนชายขอบ” (เขียนปุ๊บก็รู้สึกว่าเป็น “คนโบราณ” ในเวลาของอินเทอร์เน็ตขึ้นมาทันใด) สมัยที่การเขียนบล็อกฮอตฮิตติดลมบน ผู้เขียนเองเปิดบล็อกครั้งแรกก็เพราะเข้าไปโพสความเห็นยาวๆ ต่อท้ายโพสบนบล็อกของคนอื่นแล้วนึกสนุก อยากมีบล็อกของตัวเองบ้าง

สิบปีผ่านไป โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนค่อนประเทศ ส่งผลให้ “ทุกคนเป็นสื่อได้” ในความหมาย “ทุกคนมีเครื่องแพร่ภาพและเสียงในทางที่เอื้อต่อการสานปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทุกที่ทุกเวลา” อย่างแท้จริง เพราะโซเชียลมีเดียถูกออกแบบให้ใช้ง่ายบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกลายเป็น “อวัยวะที่ 33” สำหรับคนจำนวนมาก ไม่ต้องรอเวลาที่จะได้นั่งหน้าคอมแล้วบรรจงเปิดบล็อกขึ้นมาพิมพ์อีกต่อไป

วันนี้หลายคนตื่นเช้ามาจะอ่านไลน์และเฟซบุ๊กก่อนสื่อชนิดอื่น หรือไม่ก็ไม่เสพสื่ออะไรอื่นเลย แย่งคนดูและคนอ่านไปจากสื่อเก่าอย่างแท้จริง (ทำให้สื่อเก่าหลายค่ายมาองว่าตัวเองจำเป็นจะต้องขึ้นมาอยู่บนแพล็ตฟอร์มเหล่านี้ด้วย เพื่อแย่งคนดู/คนอ่านกลับคืนมา) ก่อให้เกิดคำถามว่า วันนี้คำว่า “สื่อพลเมือง” ยังมีความหมายอยู่หรือไม่?

ผู้เขียนคิดว่าทั้งสปิริตและกิจกรรมของสื่อพลเมืองยังคงอยู่ เพียงแต่อยู่ในช่องทางใหม่

สิ่งที่หายไป (หรือไม่ก็เสื่อมความนิยมจนแทบไม่มีใครใช้) ก็คือเว็บจำนวนมากที่ประกาศว่าจะเปิดพื้นที่ให้กับ “สื่อพลเมือง” แต่เอาเข้าจริงเป็นเพียงการนำรูปแบบเดิมของสื่อ (เช่น เว็บหน้าตาเหมือนหนังสือพิมพ์) มาเติมเนื้อหามหาศาลจากมือสมัครเล่นที่ไม่มีประสบการณ์การเขียน หรือไม่รู้สี่รู้แปดอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องที่ตัวเองเขียน (ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่อง “ผิด” อะไร ทุกคนย่อมมีสิทธิแสดงความเห็นไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้เรื่องนั้นดีแค่ไหน) ซึ่งก็แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นลบ ใครจะอยากอ่านสื่อที่มีหน้าตาเหมือนหนังสือพิมพ์ (ดังนั้นจึงคาดหวังว่าจะต้องผ่านการกลั่นกรอง ตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างจากบรรณาธิการ) แต่คุณภาพต่ำกว่ากันมาก?

เว็บไซต์ทำนองนี้จำนวนไม่น้อยคาดหวัง(อย่างไม่มีเหตุมีผล)ว่า จะดึงดูดคนเก่ง (ที่มีความสามารถในการเขียนและเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนถนัด) มาทำงานของนักข่าวให้ฟรีๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนบนพื้นที่ของตน การเปิด “พื้นที่สื่อพลเมือง” ในแง่นี้จึงดูเหมือนจะตอบสนองความต้องการ(หรืออีโก้)ของค่ายสื่อ มากกว่าจะมุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนคนเสพสื่อ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เว็บแบบนี้จะล้มหายตายจากหรือเสื่อมความนิยมไปนานแล้ว เว็บที่ประกาศตัวเองว่าเป็น “สื่อพลเมือง” จำนวนน้อยนิดที่อยู่รอดมาได้ล้วนแต่มีจุดเด่นที่ตอบโจทย์ของคนอ่านอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น Daily Kos (www.dailykos.com) บล็อกกลุ่ม (group blog) ชื่อดัง โด่งดังจากบล็อกเกอร์ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์และตีแผ่ประเด็นทางการเมือง แถมเขียนหนังสือเก่งหลายคน เติบโตเป็นเว็บที่เคลื่อนไหวระดมทุนสนับสนุนให้กับผู้สมัครลงเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครตอย่างเปิดเผยและทรงพลัง หลายกรณีระดมทุนได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันนี้ Daily Kos มีสมาชิกที่สมัครรับจดหมายข่าวทางอีเมลมากกว่า 3 ล้านคน และล่าสุด หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันได้เป็นประธานาธิบดี ทำตัว ‘กร่าง’ รายวันในทางที่คนอเมริกันจำนวนมากมองด้วยความตกใจว่า กำลังบั่นทอนประชาธิปไตยของอเมริกา Daily Kos (ซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทสื่อแล้ว) ก็สามารถระดมทุนสนับสนุนได้มากกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว เพราะสมาชิกจำนวนมากมองว่า Daily Kos เป็นหัวหอกสำคัญของ “การเคลื่อนไหวฐานราก” (grassroots movement) ของฝ่ายเดโมแครตในการต่อกรกับฝ่ายรีพับลิกัน

ตัวอย่างข้างต้นชี้ชัดว่า สื่อพลเมืองที่เจ๋งจริง ตั้งใจจะตอบโจทย์ของประชาชนคนเสพสื่อจริงๆ (ไม่ใช่ตอบสนองตัณหาของค่ายสื่อกระแสหลัก) สามารถยืนหยัดในยุคโซเชียลมีเดียได้อย่างสง่างาม นอกจาก Daily Kos แล้วก็มี OhMyNews (www.ohmynews.com) จากเกาหลีใต้ที่กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลก

ในบทความ “ความท้าทายของวารสารศาสตร์พลเมือง” บนเว็บไซต์ Ifex.org ดร. ซาคิบ ริอาซ อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเปิด อัลลามา อิคบัล ในกรุงอิสลามาบัด ปากีสถาน มองว่า “ชื่อ” ของ “สื่อพลเมือง” อาจเปลี่ยนไป แต่ปรากฏการณ์นี้ยังคงอยู่

“เอาจริงๆ โซเชียลมีเดียก็คือรูปแบบที่ก้าวหน้าของวารสารศาสตร์พลเมืองนั่นเองครับ มันทำให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อพลเมืองได้จริง อัพโหลดภาพนิ่ง วีดีโอ ไฟล์เสียง ความเห็น และอื่นๆ อีกมากมาย”

ทุกวันนี้คนจำนวนมากไม่เรียกตัวเองว่า “สื่อพลเมือง” แต่ทำงานของสื่อพลเมืองด้วยการใช้มือถือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว และเผยแพร่มันผ่านโซเชียลมีเดีย พวกเขาจำนวนมากไปในที่ที่นักข่าวอาชีพไม่เข้าไปหรือเข้าไม่ถึง เผยแพร่ข้อมูลที่หาจากที่อื่นไม่ได้อย่างฉับไวกว่าสื่อกระแสหลัก

ดร. ริอาซบอกว่าเรื่องนี้ชัดมากในกรณีของปากีสถาน ซึ่งชายแดนกว่า 2,000 กิโลเมตรที่ติดกับอัฟกานิสถานได้กลายเป็นแดนสงครามตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญยิ่งในการต่อต้านการก่อการร้าย เพราะประชาชนคือผู้บันทึกเหตุการณ์และโพสลงโซเชียลมีเดีย ทำให้โลกได้เห็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในภูมิภาค หลังจากที่สื่อนานาชาตินำเนื้อหาเหล่านั้นไปทำข่าวเผยแพร่

ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ที่นักข่าวแต่ละคนจะไปปรากฎตัวอยู่ทุกที่ และเหตุการณ์จำนวนมากที่เป็นข่าวใหญ่ โดยเฉพาะเหตุอาชญากรรม ก็เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดล่วงหน้า แต่โซเชียลมีเดียชื่อดังมีผู้ใช้หลายสิบล้านหรือร้อยล้านคน พกมือถือไปทุกแห่ง อัดวีดีโอหรือถ่ายรูปแล้วโพสแทบทุกเมื่อ ทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่เราจะคาดหวังว่าคนทั่วไปจะเป็นคนแรกๆ ที่บันทึกเหตุการณ์ให้เรารู้ ไม่ใช่นักข่าว เป็นเรื่องธรรมดาที่สื่อกระแสหลักจะรายงานเหตุการณ์ซึ่งปรากฎในโซเชียลมีเดียก่อน นำภาพถ่ายหรือคลิปวีดีโอจาก “โลกโซเชียล” ไปใช้ในการทำข่าวของตัวเอง (แถมหลายค่ายยังไม่ให้เครดิต)

แน่นอน ความง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยในการโพสเนื้อหาลงโซเชียลมีเดียก็ทำให้เกิด “ข่าวปลอม” และการขยายข้อมูลเท็จต่างๆ นานา มากมายเป็นดอกเห็ดเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ความสามารถการ “คัดกรอง” เนื้อหาทั้งหมดและแยะแยะว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ซึ่งก็ควรเป็นความถนัดดั้งเดิมของสื่อมืออาชีพ จึงยิ่งเป็นที่ต้องการ ยิ่งมีมูลค่าต่อคนอ่าน

และควรเป็นสิ่งที่ทำให้สื่อมืออาชีพสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ในทางที่เคารพในบทบาทและที่ทางของพลังพลเมือง.