ThaiPublica > คอลัมน์ > โซเชียลมีเดียกับช่องว่างระหว่างวัย

โซเชียลมีเดียกับช่องว่างระหว่างวัย

4 มิถุนายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ถ้าท่านผู้ปกครองพ่อแม่รู้สึกรำคาญวัยรุ่นที่หมกมุ่นกับโซเชียลมีเดียในโทรศัพท์มือถือ วัยรุ่นเขาก็รำคาญท่านตลอดจนปู่ย่าตายายเหมือนกันที่ไม่ประสีประสาในเรื่องเช่นนี้เลย ความตึงเครียดระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องจริงในปัจจุบันที่ทำให้เกิดช่องว่างมากยิ่งขึ้นจนอาจนำไปสู่ปัญหาที่ไม่พึงปรารถนาได้ในอนาคตอันใกล้

นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสองคน ได้เขียนหนังสือชื่อ “It’s complicated” (Danah Boyd, 2014) และ “Why We Post” (Daniel Miller และคณะ, 2017) เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างสองวัยนี้ในเรื่องโซเชียลมีเดีย โดยสัมภาษณ์วัยรุ่นจำนวนมากในหลายประเทศ และให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์

โซเชียลมีเดีย (Social Media) คือเครื่องมือที่มีคอมพิวเตอร์เป็นฐานในการสร้างและช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย ความคิด ข่าวสาร ฯลฯ ระหว่างผู้คนผ่านการสร้างเน็ตเวิร์คเเละชุมชนเสมือน

การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของมนุษย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อมีการสื่อสารผ่านโทรเลขในทศวรรษ 1840 และผ่านโทรศัพท์ในปี 1876 ต่อมาอีกร้อยปีเศษเมื่อมีการใช้คอมพิวเตอร์กันกว้างขวางขึ้น ก็เกิดเครือข่ายต่าง ๆ ขึ้น เช่น Plato system ในปี 1960 ARPANET ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารออนไลน์ ใน ค.ศ. 1967 และพัฒนาเพิ่มมากขึ้นทุกทีในศตวรรษ 1980 และ 1990 จนในที่สุดเกิดเครือข่ายที่ใช้งานได้สะดวกขึ้นมากมาย เช่น Myspace (2003) Facebook (2004) Yahoo (2005) ฯลฯ
ถือได้ว่าโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในสังคมโลกประมาณ 19 ปีมาแล้วและแพร่กระจายไปทั่วโลกเมื่อเกิดโทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถสูงขึ้น (สมาร์ทโฟนของiPhone เปิดตัวในปี 2007) มีประมาณการว่าในปัจจุบันมีจำนวนบัญชีของผู้ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ประมาณ 2.77 พันล้าน(ร้อยละ 40 ของประชากรโลก ซึ่งมีอยู่ 7 พันล้านคน) โดยเพิ่มจาก 2.46 พันล้านใน ค.ศ. 2017

ณ เดือนกรกฎาคม 2018 Facebook เป็นที่นิยมที่สุดในโลกมากเป็นอันดับหนึ่ง มีผู้ใช้ประมาณ 2,270 ล้านคน อันดับสองคือ YouTube (1,900 ล้านคน) อันดับสามคือ WhatsApp (1,500 ล้านคน) ส่วน Line (ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ) ที่บ้านเรานิยมกันมากนั้นอยู่ลำดับ 18 มีผู้ใช้ 203 ล้านคน

ในเรื่องความขัดแย้งของคนต่างวัยนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองเฝ้าดูความคลั่งไคล้โซเชียลมีเดียด้วยความเป็นห่วงเพราะมีภัยอยู่มากมาย ทั้งภัยต่อร่างกายจากการถูกล่อลวงและภัยทางใจที่เกิดจากการอ่านและดูสิ่งซึ่งไม่เหมาะสมแก่วัย จนอาจชักนำไปสู่เส้นทางที่ผิด อีกทั้งหวาดหวั่นการเสื่อมเสียชื่อเสียงจากรูปถ่าย การใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมต่อสาธารณะ การสูญเสียเวลาสำหรับการเรียนหนังสือซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความห่วงใยที่มีเหตุผลและมีหลักฐานสนับสนุน ในขณะที่วัยรุ่นเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

อย่างไรก็ดี ผู้ใหญ่ซึ่งล้วนเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อนต้องไม่ลืมว่าวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น อยากลอง และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียก็เป็นการกระทำในเนื้อแท้ที่ไม่ต่างไปจากคนรุ่นอื่น ๆ ก่อนหน้า เพียงแต่คนละรูปแบบเท่านั้นเอง สมัยก่อนใช้นกพิราบสื่อสาร ส่งจดหมายผ่านคนกลาง ส่งผ่านไปรษณีย์ ส่งเสียงผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ ฯลฯ

ปัจจุบันวัยรุ่นใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือของการสื่อสารเชื่อมต่อถึงกันด้วยความเร็วสูง ตอบกลับไปมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ถึงอย่างไรก็ดำเนินไปภายใต้แรงจูงใจที่เหมือนกัน

มนุษย์มีหน้าตาท่าทางและลักษณะการเดินเหินเหมือนมนุษย์ปัจจุบันมาประมาณ 150,000-200,000 ปี และเพิ่งมีบทบาทสำคัญในโลกเมื่อประมาณ 70,000 ปีมานี้เอง ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ชายถูกผลักดันด้วยแรงธรรมชาติดังนี้ (1) การขยายเผ่าพันธุ์ (procreation) (2) ต้องการเป็นใหญ่ในครอบครัว (3) ต้องการมีเวลา และ “พื้นที่” เป็นของตนเอง (4) ต้องการความตื่นเต้น

ส่วนผู้หญิงนั้นต้องการ (1) ความมั่นคงในชีวิต (2) ความจงรักภักดี (3) ความซื่อสัตย์ (4) ความรักและเห็นอกเห็นใจ
ผู้ชายถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการทางเพศจนบางคนตำแหน่งของสมองอยู่ผิดที่ ต้องการมีเวลาและ “พื้นที่” เป็นของตนเอง (มีเวลาไปเที่ยวเล่นคนเดียว มีโอกาสไปสังสรรค์เฮฮากับเพื่อน มี “ของเล่น”) ต้องการเป็นหนึ่ง และต้องการความตื่นเต้น ส่วนหญิงซึ่งเป็นเพศที่ต้องดูแลลูก ต้องการความมั่นคง ความรักและจงรักภักดี เพราะเป็นหนทางแห่งการอยู่รอด

แต่ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม สิ่งที่ต้องการของมนุษย์ทุกคนคือ (1) การยอมรับจากผู้อื่น (2) การยอมรับความมีตัวตนในสังคม (3) เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทั้งหมดนี้ผ่านการสานสัมพันธ์กับผู้อื่น

Aristotle กล่าวไว้เมื่อ 2500 ปีก่อนว่า “Man is by nature a social animal” หรือ “มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม” ซึ่งหมายถึงว่ามนุษย์ปรารถนาที่จะสานสัมพันธ์กับผู้อื่นและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผ่านการยอมรับเสมอ

หนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวได้ศึกษาและพบว่าการส่งข้อความผ่านโซเชียลมีเดียของวัยรุ่นก็คือการกระทำตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการมีตัวตน ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ต้องการมี “พื้นที่” ต้องการสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ เพียงแต่ใช้เครื่องมือที่ต่างออกไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ผู้ใหญ่ต้องพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา และมีความเห็นอกเห็นใจอย่างมีความเมตตา คนในวัยนี้ที่ไม่เป็นทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็ทำตัวยากอยู่แล้ว หากผู้สูงวัยกว่าไม่ช่วยชี้นำอย่างเคารพในความเป็นส่วนตัวของเขาให้ผ่านวัยนี้ไปได้ด้วยดีแล้ว โซเชียลมีเดียก็จะเป็นดาบที่ทิ่มแทงทำร้ายเขา

ผู้ใหญ่และวัยรุ่นต้องช่วยกันขจัดความตึงเครียด และช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดจากโซเชียลมีเดียโดยทำให้อีกคมหนึ่งของดาบนั้นเป็นสิ่งฟาดฟันอุปสรรคของการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในช่วงวัยรุ่นให้จงได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 21 พ.ค. 2562