รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
ในวันที่ 14 มกราคม 2015 นายตำรวจบราซิลชื่อ นิวตัน อิชิอิ (Newton Ishii) เดินทางไปสนามบินเมืองรีโอเดจาเนโร เพื่อนำตัวนายเนสเตอร์ เซอร์เวอโร (Nestor Cervero) ผู้บริหาร บริษัท Petrobras บริษัทน้ำมันแห่งชาติของบราซิล ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไปพบพนักงานสอบสวน นิวตัน อิชิอิ คิดว่ากรณีนี้คงจะไม่ยืดเยื้อ เพราะที่ผ่านๆ มา คนมีฐานะร่ำรวยและมีอิทธิพลอำนาจของบราซิลมักจะหลุดคดีต่างๆ มาตลอด
แต่นิวตัน อิชิอิ ก็คิดผิด การสอบสวนที่นำไปสู่การจับกุมผู้บริหารของ Petrobras ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่มีชื่อเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Operation Lava Jato หรือ “ปฏิบัติการล้างรถยนต์” ที่สามารถสืบสวนจนพบเครือข่ายคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดของบราซิล เมื่อรวมถึงบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเป็นการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ของโลก มีการจ่ายเงินที่ผิดกฎหมายมูลค่าถึง 5 พันล้านดอลลาร์ ให้กับผู้บริหารบริษัท นักการเมือง และพรรคการเมือง ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้มหาเศรษฐีด้านธุรกิจก่อสร้างใหญ่สุดของบราซิลต้องติดคุก ประธานาธิบดีต้องขึ้นศาล และรัฐบาลต้องล้มพังลงไป
ปฏิบัติการ “ล้างรถยนต์”
ปฏิบัติการล้างรถยนต์ของบราซิลเริ่มขึ้นเมื่อมีนาคม 2014 โดยพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจแลกเงินของตลาดมือในเมืองหลวงบราซิล ที่อาศัยธุรกิจเล็กๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน และร้านล้างรถยนต์ เป็นแหล่งฟอกเงิน แต่ต่อมาตำรวจค้นพบว่าแหล่งฟอกเงินเหล่านี้ เป็นเครือข่ายใหญ่ของผู้บริหารบริษัท Petrobras ที่ใช้โอนเงินจากการได้มาอย่างไม่ถูกกฎหมาย เงินเหล่านี้ได้มาจากการอนุมัติโครงการให้กับบริษัทก่อสร้างในราคาประมูลที่สูงเกินจริง โดยผู้รับเหมาต้องจ่าย 1-5% ให้กับกองทุนลับๆ ที่ตั้งขึ้นมา
หลังจากนั้น ผู้บริหาร Petrobras จะโอนเงินให้กับนักการเมืองที่เป็นคนแต่งตั้งพวกเขา รวมทั้งให้กับพรรคการเมืองที่นักการเมืองนั้นสังกัด จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นเงินสนับสนุนการเลือกตั้งให้กับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาลให้ยังคงมีอำนาจต่อไป ระบบการโอนเงินมีความซับซ้อนเพื่อไม่ให้รู้ที่มาเงินต้นทางของเงิน ทำให้ต้องอาศัยวิธีการโอนเงินแบบโลว์เท็ค คือบรรดาร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือร้านล้างรถยนต์
ปฏิบัติการล้างรถยนต์ของบราซิลจึงกลายเป็นการสืบสวนครั้งใหญ่ต่อการคอร์รัปชันที่เป็นระบบเครือข่าย นอกจากจะค้นพบเครือข่ายคอร์รัปชันระหว่างบริษัทก่อสร้างกับรัฐวิสาหกิจชั้นนำของบราซิลอย่างเช่น Petrobras แล้ว ยังมีธนาคาร Brazilian National Development Bank และการไฟฟ้าบราซิลชื่อ Eletrobras สำนักงานอัยการบราซิลต้องการเรียกเงินที่เสียหายกลับคืนมา 12 พันล้านดอลลาร์
ปฏิบัติการล้างรถยนต์แสดงให้เห็นว่า บราซิลกำลังจะกลายมาเป็นประเทศที่มีกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน สำนักงานตำรวจแห่งรัฐ กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการเปลี่ยนเป็นองค์กรรัฐที่มีประสิทธิผลในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย โดยสามารถดำเนินการฟ้องคนที่มีอำนาจอิทธิพล การสอบสวนขยายไปถึง 9 บริษัทก่อสร้างชั้นนำ เครือข่ายคอร์รัปชันใหญ่ 4 เครือข่าย ประธานาธิบดี 2 คน และนักการเมืองจำนวนมาก

กระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง
สถาบัน CATO Institute ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ชื่อ Corruption and the Rule of Law: How Brazil Strengthened Its Legal System โดยกล่าวว่า ปฏิบัติการล้างรถยนต์แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหลายอย่างทำให้บราซิลกลายมาเป็นประเทศที่มีกระบวนการนิติธรรมที่เข้มแข็ง การปฏิรูปดังกล่าวประกอบด้วย
-
(1) การใช้วิธีการต่อรองให้รับผิดในการสอบสวน
(2) การตั้งองค์กรรัฐ เพื่อกำกับดูแลงานการฟ้องคดี
(3) การคัดเลือกบุคลากรด้านยุติธรรมจากความสามารถ
(4) ความเป็นอิสระมากขึ้นของหน่วยงานอัยการและตำรวจส่วนกลาง
การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญของบราซิล คือ การต่อรองให้จำเลยรับผิด (plea bargain) วิธีการนี้มักใช้ทั่วไปในประเทศ ที่ยึดถือกฎหมายแบบจารีตนิยม (common law) แต่ไม่ค่อยมีการนำมาใช้ในประเทศที่มีกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (civil law) ทุกวันนี้ การใช้วิธีการต่อรองกับจำเลย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมบราซิล โดยอัยการและจำเลยเจรจาต่อรองกันในเรื่องการรับผิด
บราซิลเริ่มใช้วิธีการต่อรองกับจำเลยในคดีอาชญากรรมมาตั้งแต่ปี 1990 แต่ในปี 2013 บราซิลออกกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วิธีการต่อรองเพื่อการรับผิดของจำเลย โดยวิธีการนี้จะชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การระบุคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิด การเปิดเผยข้อมูลเรื่องโครงสร้างและการทำงานขององค์กรอาชญากรรม ช่วยป้องกันไม่ให้มีการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น หรือช่วยนำประโยชน์ที่เสียหายกลับคืนมาทั้งหมดหรือบางส่วน และข้อมูลที่ทำให้ผู้เป็นเหยื่ออาชญากรปลอดภัยทางด้านชีวิตและร่างกาย เป็นต้น
การกำหนดเงื่อนไขเรื่องการต่อรองกับจำเลยก็เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเกิดประสิทธิผล จำเลยที่ให้ความร่วมมือจะได้ประโยชน์ เช่น ความเป็นไปได้ที่ระยะเวลาจำคุกลดลงถึง 2 ใน 3 หรือการใช้การลงโทษจากการจำกัดสิทธิแทนการจำคุก หรือจำเลยอาจจะพ้นผิดหากความร่วมมือของจำเลยมีนัยสำคัญ เป็นต้น แต่การร่วมมือของจำเลยต้องเปิดเผยหลักฐานการทำผิด วิธีการต่อรองกับจำเลยนี้ทำให้ปฏิบัติการล้างรถยนต์ได้ผลมาก เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2017 มีการตกลงการรับผิดกับจำเลยแล้ว 155 ราย และสามารถเรียกเงินคืนเข้ารัฐมาแล้ว 225 ล้านดอลลาร์
การสารภาพของจำเลยจากการต่อรองทำให้ได้หลักฐานการเชื่อมโยงของนักการเมืองกับกระบวนการฟอกเงินนี้ รวมถึงอดีตประธานาธิบดี Dilma Rousseff และ Lula da Silva หากไม่มีวิธีการต่อรองการรับผิดของจำเลย การสืบสวนของยุทธการล้างรถยนต์คงจะไม่สามารถมาได้ไกลขนาดนี้ วิธีการนี้ทำให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเลยมีแรงจูงใจที่จะให้ความร่วมมือกับการสอบสวน เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่จำเลยพ้นผิดลอยนวล ไม่เกิดขึ้นในบราซิลอีกแล้ว

ประเทศที่ธุรกรรมมี “ต้นทุนบราซิล”
บราซิลเป็นประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ต้องต่อสู้กับสภาพ “การด้อยพัฒนา” มาเป็นเวลาหลายสิบปี บางคนบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุที่เรียกว่า “ต้นทุนบราซิล” (Brazil Cost) คือการทำธุรกิจต้องมีต้นทุนสะสม ทั้งในรูปการจ่ายสินบน และต้องกินเวลาที่เนิ่นนาน บางคนก็กล่าวว่า สาเหตุมาจากการขาดการลงทุนที่พอเพียงด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ และการศึกษา
ที่สำคัญ คอร์รัปชันที่เป็นระบบเครือข่าย ทำให้ระบอบประชาธิปไตยตกต่ำและเสื่อมลง ประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองของรัฐบาลจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน แต่คอร์รัปชันกลายเป็นวิธีการที่ทำให้นักการเมืองมีอำนาจและสามารถครองอำนาจต่อเนื่องไป การลงทุนของรัฐมาจากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเอกชน ทรัพยากรต่างๆ เพื่อการพัฒนา แทนที่จะใช้ไปกับการปรับปรุงชีวิตของคนทั่วไป หรือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ก็ต้องไปหล่อเลี้ยงระบบพรรคการเมือง
แต่ปฏิบัติล้างรถยนต์ของบราซิล เป็นการส่งสัญญาณแก่คนทุกกลุ่มในบราซิล ผู้นำประเทศ รวมทั้งผู้นำภาคธุรกิจ จะถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม หากว่าการตัดสินใจลงทุนของหน่วยงานรัฐมาจากวิธีการคอร์รัปชัน ปฏิบัติการล้างรถยนต์ของบราซิลที่สามารถกวาดล้างเครือข่ายคอร์รัปชันที่กว้างขวางทำให้บราซิลก้าวสู่รากฐานใหม่ที่ตั้งบนหลักการที่ว่า ความหมายของความยุติธรรมคือการบังคับใช้กับคนทุกคน
เอกสารประกอบ
Corruption and the Rule of Law: How Brazil Strengthened Its Legal System. Geanluca Lorenzon, CATO Institute, November 20, 2017.