ThaiPublica > คอลัมน์ > ความยุติธรรมในองค์กร

ความยุติธรรมในองค์กร

22 ธันวาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

สำหรับคนที่ทำงานในองค์กรเอกชน ใกล้ถึงเทศกาลการพิจารณาผลงาน เพื่อพิจารณาผลตอบแทนและเลื่อนขั้นเพิ่มเงินเดือนประจำปีกันแล้วนะครับ

ช่วงเวลานี้เป็นเรื่องตื่นเต้นเคร่งเครียดกับทั้งผู้ที่รอรับผลและผู้ที่ต้องกำหนดผล แต่ละองค์กรก็มีวิธีการมาตรฐานในการพิจารณาต่างๆ กัน …บ้างก็บ้า KPI อย่างเดียว วัดทุกอย่างเป็นตัวเลขเทียบกับเป้า ซึ่งบางครั้งก็เลยทำให้องค์กรขาดความยืดหยุ่น คนฉลาดแกมโกงก็เล่นกับเป้าได้ตั้งแต่การตั้งเป้าไปจนถึงโกงเป้า …บ้างก็ใช้วิจารณญาณอย่างเดียว ทำให้คนมุ่งเอาใจเสนอหน้าประจบนายมากกว่าที่จะสร้างประสิทธิภาพประสิทธิผลเพื่อองค์กรก็กลับได้ดี …บ้างก็ใช้วิธีผสมผสาน

แต่จะใช้วิธีใดก็แล้วแต่ ทุกๆ ปีก็จะมีผู้ที่พอใจและไม่พอใจอยู่ทุกแห่ง …ถ้าจะแก้ปัญหาง่ายๆ แบบหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ คือให้เฉลี่ยเท่าๆ กันไป ก็จะเจอความด้อยประสิทธิภาพแน่นอนที่สุด เพราะทุกคนจะทำงานเช้าชามเย็นชาม คนดีคนเก่งคนขยันส่วนใหญ่จะเผ่นหนีระบบแบบนี้ หรือไม่จะอยู่ก็ต่อเมื่อมีผลตอบแทนพิเศษ (ก็คอร์รัปชันนั่นแหละครับ)

เรื่องประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขั้นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งของทุกองค์กร ทั้งของผู้ประเมิน และของผู้ถูกประเมิน ถ้าองค์กรไหนไม่มีระบบที่เรียกว่า Merit System แต่ใช้ Spoil System เหมือนกับระบบราชการ ระบบรัฐวิสาหกิจไทย ที่เขาพูดกันว่า “ค่าของคน อยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร มากกว่าผลของงาน” ก็ให้รอดูความเสื่อมถอยและความวินาศขององค์กรได้เลย

ในแง่ของผู้ที่ต้องประเมินคนอื่นเขา จะต้องพยายามให้ความยุติธรรมเท่าที่จะทำได้ โดยต้องมองจากปัจจัยให้รอบด้านทั้งที่วัดเป็นตัวเลขได้ และในส่วนที่ต้องใช้ดุลยพินิจ ก็ต้องทำอย่างมีระบบตามควร และจะต้องฟังความเห็นจากคนอื่นๆ รอบตัวของผู้ถูกประเมินด้วย(ที่เขาเรียกว่า 360 องศานั่นแหละครับ) และที่สำคัญ จะต้องมีระบบให้ผู้ถูกประเมินร้องเรียนโต้แย้งได้ ถ้าคิดว่าไม่เป็นธรรม (ระบบนี้จะต้องมีการออกแบบอย่างเหมาะสม ไม่ให้ปั่นป่วนวุ่นวายไม่รู้จบ)

ส่วนในแง่ของผู้ถูกประเมิน ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงระบบที่เราจะถูกใช้ในการประเมิน ซึ่งควรต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นก่อนเริ่มงานด้วยซำ้ว่าองค์กรและหน่วยงานมีความคาดหวังจากเราอย่างไร ถ้ามีส่วนใดที่ไม่ชัดเจน หรือแม้มีส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็ควรจะต้องถกเถียงตกลงกันให้เข้าใจกระจ่างตั้งแต่เริ่มต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อผลออก ก็เป็นธรรมดาที่จะมีความไม่พอใจเกิดขึ้นไปทั่ว ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่มักเข้าข้างตัวเอง เราก็เลยมักพบว่ามีผู้ที่ไม่พอใจมากกว่าผู้ที่พอใจเสมอ …เพราะคนเรามักจะเป็นพวกที่ “ทำน้อย หวังมาก” และมักคิดว่าตัวเองนั้น “ทำมาก ได้น้อย” อยู่รำ่ไป …น้อยคนนักที่จะเป็นคน “ทำมาก หวังน้อย” หรือคิดว่าตนนั้น “ทำน้อย ได้มาก” …แม้แต่คนที่ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุด ได้รับการเลื่อนขั้นมากที่สุด ก็ยังคิดว่า “น่าจะได้มากกว่านี้” หรืออย่างเก่งก็คิดว่าสมควรแล้วเพราะเรา “ทำมาก (ก็ควร) ได้มาก” สิ

เชื่อไหมครับ ความไม่พอใจในผลการประเมินนั้นจะทวีขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเราไปทราบผลการประเมินของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ …บางคนตอนทราบผลประเมินของตนก็พอใจและยอมรับได้ แต่พอไปทราบผลคนอื่นก็จะกลับกลายเป็นไม่พอใจจะเป็นจะตาย ถ้าคนไหนได้น้อยได้ตำ่กว่าเรา เราก็จะคิดว่าเป็นการสมควร แต่ถ้ามีใครได้มากกว่า (หรือบางครั้งก็แค่เท่าเทียมกัน) เราจะเป็นฟืนเป็นไฟ คิดอย่างไรก็เห็นแต่ความไม่ยุติธรรม เพราะ (ในสายตาของเรา) มองหรือเปรียบในมุมไหน เราก็เหนือกว่าดีกว่าคนที่เราเปรียบเทียบด้วยทุกมุมไป

ด้วยความวุ่นวายอย่างนี้ หลายๆ หรือเกือบทุกองค์กร จึงมีนโยบายให้เรื่องผลตอบแทนและผลประเมินเป็นความลับ เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ไม่ให้เปิดเผย แต่ผมไม่คิดว่าเป็นการแก้ตรงจุด และไม่เชื่อว่าจะเป็นความลับได้จริง ผมจึงไม่เคร่งครัดกับกฎนี้สักเท่าใด (กลัวคนเก่งที่มีเงินใช้นาฬิกาแพงจะไม่กล้ายกมือบังแดดนะครับ)

ประสบการณ์ส่วนตัวในการเป็นลูกจ้างอาชีพมากว่าสี่สิบปีของผม ในตอนต้นๆ ผมก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่แหละครับ ตอนเป็นพนักงานชั้นผู้น้อยที่มีความทะเยอทะยานสูง พอผลประเมินออกแต่ละปีก็จะมีอาการจะเป็นจะตายให้ได้ ถึงจะได้รับประเมินอยู่ในขั้นดีเยี่ยมมาตลอด แต่พอรู้ว่าคนอื่นได้มากกว่า หรือได้เท่า ก็รู้สึกรับไม่ได้ ยิ่งมีใครได้เลื่อนขั้นแซงหน้าก็ยิ่งโวยวายอิจฉาตาร้อน …

จนคราวหนึ่ง บริษัทมีความจำเป็นที่ต้องไปชวนคนนอกจากกิจการคู่แข่งมาทำงานที่หาคนในที่มีประสบการณ์และทักษะตรงไม่ได้ ซึ่งก็ธรรมดาที่ต้องให้ทั้งเงินเดือนและตำแหน่งที่สูงเพื่อเชื้อเชิญ …บังเอิญ คนนอกคนนั้นรู้จักกับผม เคยต้องทำงานประสานรู้มือกันมาก่อน และเขาก็ไม่ปิดบังบอกเงินเดือนที่ได้รับเสนอซึ่งมากกว่าผมกว่าครึ่ง …เท่านั้นแหละครับ ผมก็เลยสติแตก เพราะมองในมุมไหน (ในสายตาของผม) ผมก็คิดว่าตัวเองดีกว่าเก่งกว่าไปทุกด้าน

หลังจากได้รับคำตอบเป็นแค่การยักไหล่จากเจ้านายโดยตรง ผมก็เลยเม้งแตก ลุยเข้าไปขอพบโวยวายโดยตรงกับคุณวิโรจน์ นวลแข ที่ตอนนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการ (President) นายใหญ่ของ บงล.ภัทรธนกิจ ด้วยมั่นใจว่าตนนั้นแสนดีแสนเก่ง เป็นคนสำคัญที่บริษัทขาดไม่ได้ ซึ่งพอสาธยายบรรยายเหตุผลเสียยืดยาวเป็นคุ้งเป็นแควถึงความรู้สึกที่รับไม่ได้กับความ “ไม่เป็นธรรม” ในครั้งนั้น คุณวิโรจน์ก็ถามกลับเรียบๆ ว่า “แล้วยังไง” …พอผมเริ่มบรรยายต่อพี่เขาก็ตัดบทด้วยเสียงเครียดๆ ดุๆ ว่า “นี่ คุณบรรยง” (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ถ้าพี่วิโรจน์เริ่มเรียกคุณ และเปลี่ยนชื่อเรียกจากชื่อเล่นเป็นชื่อจริง ก็แปลได้เลยว่าให้เตรียมตัวให้ดี เรื่องจริงกำลังจะมา) “ผมว่า ถ้าคุณมั่นใจขนาดนั้นว่าเก่งกว่า ดีกว่า ขยันกว่า แต่ได้น้อยกว่า แทนที่คุณจะมาเสียใจโวยวาย คุณควรจะดีใจนะ” แล้วพี่เขาก็เดินออกจากห้องไป …ซึ่งพอผมมานั่งคิดสักพักก็บรรลุธรรม ว่าแทนที่จะมานั่งโวยวาย มันก็แค่พิสูจน์ให้เห็น ทำให้ทุกคนยอมรับว่าเราเก่งกว่า ดีกว่า ขยันกว่า แล้วเราก็จะได้เท่าหรือมากกว่าเขาไปเอง

…ตั้งแต่นั้น เวลามีใครเขาได้มากกว่าดีกว่า ผมก็เลยไม่คิดริษยาอีกเลย กลับจะรู้สึกดีใจด้วยซ้ำเพราะมันหมายถึงโอกาสก้าวหน้าของเราเอง กลับจะพยายามช่วยให้เขาได้มากได้ดีสูงขึ้นไปอีก เพราะถ้าเขาสูงขึ้น เราก็จะยืดตัวสูงขึ้นไปด้วย

การที่เราจะเอาตัวไปเปรียบกับคนอื่นนั้นเป็นเรื่องอันตรายมากๆ โดยเฉพาะไปเปรียบในบริบทว่าใครควรจะได้มากได้น้อย ใครเก่งกว่า ใครดีกว่า เพราะมนุษย์นั้นมีหลายมุม หลายคุณสมบัติมาก และโดยธรรมชาติที่เรามักจะลำเอียงเข้าข้างตนเอง จะเห็นแต่จุดแข็ง จุดดีของตน แล้วก็พาลไปเห็นแต่ข้อเสีย ข้อด้อยของคู่แข่ง จะเปรียบก็เอาแต่เรื่องดีของเรา ถ้าเขามีเรื่องไหนที่ดีกว่าเราเห็นๆ เราก็มักจะมองข้าม หรือไม่ให้นำ้หนักว่าเป็นเรื่องสำคัญ …ผมพยายามเตือนตัวเองเสมอ ไม่ให้เอาตัวไปเปรียบกับใคร ถ้าจะเปรียบ ก็ให้เปรียบเทียบเฉพาะในเรื่องที่เขาดีกว่าเราชัดๆ เปรียบเพื่อพยายามปรับปรุงตัวให้ดีเท่าเขา ส่วนการเปรียบเทียบอื่นๆ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ให้คนที่เขามีหน้าที่ทำไป เราเพียงพัฒนาปรับปรุงตัว พิสูจน์ว่ามีคุณค่า

ส่วนในกรณีที่ต้องเป็นผู้ประเมินต้องตัดสินคนอื่น เราต้องพยายามให้ความยุติธรรม แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยจิตสำนึกว่า เรานั้นก็ไม่ค่อยจะยุติธรรมหรอก คนที่มั่นใจในตนเองว่ามีดุลยพินิจที่เที่ยงธรรมตลอดเวลาก็น่าอันตรายไปอีกแบบหนึ่ง …คำว่า “ความยุติธรรม” นั้นเป็นคำที่ยากยิ่ง แล้วแต่ว่าจะมองในมุมไหน ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง Justice ของ Michael Sandel ก็คงพอจะเข้าใจ …อย่างผมเป็นแฟนละครจีนเรื่องเปา บุ้น จิ้น มาตลอด ก็เห็นชัดว่าหลายครั้งท่านเปาก็มั่วไม่เบา ตัดสินตามความรู้สึก ตามสามัญสำนึกพอๆ กับตามข้อเท็จจริงเสียด้วยซำ้

อย่างที่ทุกคนรู้นั่นแหละครับ คนเราจะสุขจะทุกข์ ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความคิด ความพอใจ ความคาดหวังของตัวเราเอง …คนที่ “ทำน้อย อยากได้มาก” แต่คิดว่าตนนั้น “ทำมาก ได้น้อย” ย่อมทุรนทุราย และมีความสุขน้อยกว่าคนที่ “พยายามทำให้มาก แต่หวังเอาแต่น้อย” มากนัก

อย่างผมนี่สำนึกตัวเลยครับ ว่าเกิดมาโชคดีสุดๆ เป็นพวก “ทำน้อย แต่ดันได้มาก” มาตลอดชีวิต ตอนนี้ก็เลยได้แต่พยายามทำให้มันมากขึ้น กับเรียกร้องให้น้อยลง และพยายามตอบแทนกลับคืนให้มากเข้าไว้ …ชีวิตจึงมีแต่ความสุขล้น

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทัศนคติทั้งนั้นแหละครับ …ขอให้มีความสุขกับเทศกาลวันหยุดปลายปี และพอใจกับการประเมินผลงานกันทุกคนนะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 20 ธันวาคม 2560