ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจไทย…สร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs” เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ว่า
“ก่อนจะเริ่มงานผมอยากจะใช้เวลาสักเล็กน้อยเล่าถึงความคืบหน้าและภาพรวมของการจัดทำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและความสำคัญของการสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs”
การพัฒนาเศรษฐกิจหลายทศวรรษที่ผ่านมาช่วยยกระดับประเทศไทยจากที่เคยยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง นับเป็นผลการพัฒนาที่น่าพึงพอใจ กล่าวคือ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวมากกว่า 10 เท่า ความยากจนลดลงอย่างมาก เศรษฐกิจมหภาคมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไทยดีขึ้นอย่างชัดเจน
แต่อีกด้านก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายเรื่อง เช่น ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ช่วงก่อนปี 2540 GDP ประเทศไทยเคยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 9% ต่อปี ช่วงปี 2543-2556 โตเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปี แต่ในช่วงหลังๆ กว่าจะโตได้ถึง 4% ก็นับว่ายาก ถึงแม้วันนี้ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมาจะเกิน 4% แต่ทั้งปีก็คิดว่ายังต้องลุ้น ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ผลประโยชน์จากการพัฒนาไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ประเทศไทยจึงติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก ทั้งในด้านความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ด้านโอกาส และด้านความสามารถในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่ รวมทั้ง ปัญหาคอร์รัปชัน ที่เป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจมีต้นทุนการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น
ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาและการก้าวต่อไปของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมองไปข้างหน้า โลกที่เราอยู่จะไม่เหมือนเดิม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน รูปแบบการทำธุรกิจ งานหลายอย่างจะหายไป และหลายอย่างอาจจะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ อีกทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้แรงงานหายากขึ้นและค่าแรงแพงขึ้น จึงทำให้บริบทในอนาคตมีความท้าทายยิ่ง
ภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวข้างต้น คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปไว้ว่า ใน 20 ปีข้างหน้า อยากจะเห็นประเทศไทยมี “การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง”
หลายท่านอาจจะมีคำถามว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงคืออะไร?
การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่โตปีละมากๆ ไม่ใช่การพัฒนาแบบหยาบๆ แต่เป็นการพัฒนาที่จะต้องคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนแต่ละคน รวมทั้งจะต้องเป็นการพัฒนาที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน พูดสั้นๆ คือ เศรษฐกิจไทยต้อง “แข่งขันได้-กระจายประโยชน์ไปสู่ประชาชน-เติบโตยั่งยืน”
ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้แบ่งประเด็นปฏิรูปออกเป็น 3 ด้าน สำคัญ
ด้านที่ 1 การเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ
ระยะสั้น – การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เราเก่ง มีความชำนาญ เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ ยานยนต์ การค้า SMEs Hospitality รวมทั้งเรื่องที่วันนี้เรายังไม่เก่ง แต่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะต่อยอดขึ้นไป เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ
ระยะกลาง – การขยายตลาดด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศกลุ่ม CLMVT มีขนาดตลาด 230 ล้านคน ซึ่งรวมบังกลาเทศอีก 160 ล้านคน จะทำให้ตลาดมีขนาดถึง 400 ล้านคน ซึ่งประเทศกลุ่มนี้โตปีละ 6-8% โดยมีการเชื่อมโยงกันผ่านโครงข่ายคมนาคมที่จะเอื้อให้บริษัทต่างๆ เลือกใช้ไทยเป็นฐานในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค (Regional Supply Chain)
ระยะยาว – การก้าวเป็น Innovation Hub และ Startup Nation ที่รายได้หลักจะมาจากการสร้างนวัตกรรมของเราเอง และเป็นผู้นำและแหล่งกำเนิดของ Startup ในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและใช้ Big data เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ด้านที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น โดยจะมีหน่วยงานดูแลจากส่วนกลาง มีการจัดสรรประโยชน์ใหม่ ที่จะช่วยให้สังคมมีความสมดุลมากขึ้น และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งมองได้หลายระดับ
ระดับประเทศสังคม – การพัฒนาหัวเมืองใหญ่ในภาคต่างๆ ควบคู่ไปกับกรุงเทพฯ และการจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดที่ยากจน เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน การปฏิรูประบบภาษี การเร่งโครงการประชารัฐ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จช่วยเหลือทุกคนให้เข้มแข็งมากขึ้น
ระดับชุมชน – การสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีสถาบันการเงินในชุมชนต่างๆ การพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนการส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการวางกรอบเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นต้น
ระดับบุคคล – การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มแรงงานที่ยากจนในระดับฐานราก โดยเปิดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมมากขึ้น เพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้
ด้านที่ 3 การปฏิรูปโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ (Institution) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปรับกลไกและบทบาทของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยการปฏิรูปด้านที่ 1 และ 2 ให้สำเร็จ เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจและระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้ระบบเศรษฐกิจพัฒนาได้เต็มศักยภาพ
โดยเรื่องที่สำคัญ คือ การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้ทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ (ease of doing business) ภาครัฐต้องปรับบทบาทจากผู้กำกับดูแล ให้เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกลไกหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับการวางยุทธศาสตร์ การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผล ดังนี้
- หน่วยงานยุทธศาสตร์ – ที่จะทำหน้าที่ต้นหน กำหนดทิศทางการพัฒนา
- ฐานข้อมูลและระบบข้อมูล
- หน่วยงานด้านงบประมาณ – ที่จะทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณที่จะไปสู่ Unit ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปฏิรูปด้านการคลัง และความยั่งยืนของระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ
- หน่วยงานบริหารจัดการสินทรัพย์ของภาครัฐ –ให้ Value creation ได้เต็มศักยภาพ
- กลไกการปฏิบัติ และประเมินผล – ที่จะยกระดับ Execution ด้านนโยบายให้เป็นระบบ ไม่ล่าช้า
การสร้างความเข็มแข็งให้ SMEs ซึ่งเป็นหัวข้อของการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านที่ 1 ด้านการยกระดับการแข่งขันและผลิตภาพ และ การปฏิรูปเศรษฐกิจด้านที่ 2 ด้านการลดความเหลื่อมล้ำที่ผมกล่าวในตอนต้น เพราะกว่าร้อยละ 99 ของผู้ประกอบการในประเทศไทย คือ SMEs ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ
การยกระดับความสามารถของ SMEs ให้สามารถเป็นฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งผมคิดว่า ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างรอบด้านในทุกมิติ ที่ผ่านมาการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะให้น้ำหนักไปด้านการเข้าถึงสินเชื่อเป็นสำคัญ เพราะอาจจะสังเกตเห็นได้ง่าย แต่ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันของ SMEs อาจจะซับซ้อนกว่า กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเข้าถึงแหล่งทุนเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ SMEs แข่งขันได้ การช่วยเหลือไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะการช่วยให้ SMEs สามารถเริ่มกิจการได้เท่านั้น แต่จะต้องรวมถึงการช่วยให้ SMEs มีศักยภาพที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยเฉพาะในบริบทของโลกยุคใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรง
“ในการประชุมวันนี้ ผมอยากเชิญชวนท่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของ SMEs บทบาทของภาครัฐในด้านการให้ความช่วยเหลือ SMEs รวมทั้งระบบนิเวศที่จะเอื้อให้ SMEs ไทยสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งคณะกรรมการฯ จะได้รวบรวมความเห็นของท่านไปประกอบการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูป”
หมายเหตุ: สำหรับ SMEs และประชาชนทั่วไปสามารถส่งความเห็นท่านต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจมาที่ www.econreform.or.th ทุกความเห็นของท่านมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศ