ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำ : “‘มีชัย’ รับ ‘กรธ. พ่อ-ลูก’ แจง ‘รักษาความลับ-ไม่มีกฎหมายห้าม'” และ “ชาวกาตาลันเดือด สเปน รวบ 8 อดีต รมต.กาตาลุญญา

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำ : “‘มีชัย’ รับ ‘กรธ. พ่อ-ลูก’ แจง ‘รักษาความลับ-ไม่มีกฎหมายห้าม'” และ “ชาวกาตาลันเดือด สเปน รวบ 8 อดีต รมต.กาตาลุญญา

4 พฤศจิกายน 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 28 ต.ค. – 3 พ.ย. 2560

  • “มีชัย” รับ “กรธ. พ่อ-ลูก” แจง “รักษาความลับ-ไม่มีกฎหมายห้าม”
  • “รั้วยังร้อง” ทหาร สจชต. ปูด “เงินเดือน 400”
  • กรมบัญชีกลางปรับวิธีจัดซื้อยาฯ เพิ่มประสิทธิภาพ-ความคล่องตัว
  • รองโฆษก อสส. เผย รอที่อยู่ “ปู” ยัน ขอลี้ภัยไม่ใช่ปัญหา
  • ชาวกาตาลันเดือด สเปน รวบ 8 อดีต รมต.กาตาลุญญา ฐานประกาศเอกราช
  • “มีชัย” รับ “กรธ. พ่อ-ลูก” แจง “รักษาความลับ-ไม่มีกฎหมายห้าม”

    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี (http://news.voicetv.co.th/thailand/345429.html)

    หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก iLaw นำเสนอข่าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช. ที่ 6/2560 เรื่อง แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยคำสั่งฉบับนี้ได้แต่งตั้ง รองเลขาธิการ ที่ปรึกษา และโฆษก ฯลฯ ประจำตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคสช. จำนวน 34 คน โดยเป็นทหารและตำรวจ 31 คน และเป็นผู้หญิงอยู่เพียง 3 คน ซึ่งในรายชื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น มีชื่อ “มยุระ ช่วงโชติ” บุตรสาวของมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถูกตั้งเป็น “รองเลขาธิการฯ มีชัย ฤชุพันธ์”

    ต่อมา วันที่ 30 ต.ค. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า นายมีชัยยอมรับเรื่องแต่ตั้งลูกสาวเป็นรองเลขาฯ รับเงินเดือน 47,500บาท โดยชี้แจงว่า มีความจำเป็นต้องตั้งบุคคลที่ไว้วางใจขึ้นมาทำหน้าที่ เพราะงานดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องรักษาความลับของ คสช. ที่ไม่สามารถให้คนอื่นล่วงรู้ได้ อีกทั้งตำแหน่งนี้ต้องทำหน้าที่ตลอด ไม่มีเวลาชัดเจน ออฟฟิศก็ไม่มี จะให้คนอื่นมาเป็นก็ไม่ได้ และปฏิเสธเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุเพราะว่าไม่ได้มีกฎหมายห้าม อีกทั้งไม่ใช่เพิ่งตั้งขึ้นมา ซึ่งตนเองก็เป็นคนที่อยู่นอกราชการ ไม่ได้อยู่ในราชการที่จะไปหยิบยืมคนมาช่วยงานได้

    ต่อเรื่องดังกล่าว ทำให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ ว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และเพิ่มเติมฉบับที่ 5 หรือไม่

    “รั้วยังร้อง” ทหาร สจชต. ปูด “เงินเดือน 400”

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (https://goo.gl/Ru2rmk)

    จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวทหารที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาเผิดเผยว่าได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 400 บาท

    ต่อมา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงเรียกร้องให้นากยกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นตรวจสอบ ดังปรากฏเนื้อหาในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560 ดังนี้

    แถลงการณ์สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรื่อง ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการพิเศษจากบุคคลภายนอกตรวจสอบปัญหาการจ่ายเบี้ยเลี้ยงทหารในพื้นที่ภาคใต้ว่ามีการ “อมเบี้ยเลี้ยงทหาร” จริงหรือไม่

    จากการที่โซเชียลมีเดียและสื่อมวลชน มีการนำเสนอเรื่องที่มีการหักเงินเบี้ยเลี้ยงทหารชายแดนภาคใต้ ข้อความว่า “ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ได้รับใช้ชาติ ถูกเอาเปรียบจากนายพลใหญ่ จนทำให้เหลือเงินเดือนเพียงหลักสิบและหลักร้อยบาทเท่านั้น” กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้นั้น

    กรณีดังกล่าวแม้โฆษกกองทัพบก ได้ออกมาแถลงแก้ต่างความว่า “ปกติเรื่องของเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนทหาร ในระดับหน่วยปฏิบัติส่วนใหญ่จะมีผู้บังคับบัญชาในระดับพันโท พันเอก เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ในระดับชั้นนายพล ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องสิทธิประโยชน์ของทหารนั้น ทางผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญ โดยเน้นย้ำให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมโปร่งใส” รวมทั้งรองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ก็ได้ออกมาแถลงแก้ต่างด้วยในทำนองว่าผู้บังคับบัญชาทุกระดับได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิกำลังพลมาโดยตลอดนั้น

    การออกมาแถลงแก้ต่างของกองทัพบก ยังไม่สร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับการรับรู้ และการสร้างความเข้าใจกันของสังคมไทยได้ ยังมีข้อปลีกย่อย ข้อสงสัยอื่น ๆ อีกมากมายที่โฆษกกองทัพบกยังไม่อรรถาธิบายและสังคมไทยยังสงสัย เช่น งบทหารในแต่ละปีโดยเฉพาะภาคใต้มีเยอะมาก งบซื้ออาวุธของกองทัพก็ได้เพียบ แต่ทหารชั้นผู้น้อยที่อยู่ในพื้นที่สีแดงได้เบี้ยเลี้ยงตอบแทนกลับน้อยมาก และทำไมการตั้งเบิกจ่ายจึงล่าช้า ก็ไหนว่าเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 แล้ว และทำไมต้องหักยิบหักย่อย แม้แต่ค่ารถยังถูกหักเหมารวมเท่าๆ กันเป็นไปได้อย่างไร กรณีมีนายทหารชั้นใหญ่ ๆ ทั้งหลายถอยรถใหม่เอี่ยม ทำบ้าน ทำรถกันมากนั้นจริงหรือไม่ กรณีมีข้อครหาว่ามีการลาพักของทหารแต่ยังมีการตั้งเบิกและเซ็นต์รับเบี้ยเลี้ยงกันอยู่นั้นจริงหรือไม่ และเงินเหล่านั้นไปตกอยู่ที่ใครหรือไม่ ร้านค้าสวัสดิการใครเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นร้านค้าส่วนรวมได้มีการปันผลกำไรให้กับทหารชั้นผู้น้อยเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่มีใครได้ประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้ และกรณีที่เกิดขึ้นหากไม่มีปัญหาจริง ทำไมข้อมูลข่าวสารในทำนองนี้จึงเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ทั้งทหารชั้นผู้น้อยและทหารพราน ฯลฯ

    กรณีดังกล่าว สมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายออกมาพูดความจริงกัน เพื่อนำไปสู่การป้องปรามและการสร้างขวัญกำลังใจของทหารบกและทหารพรานชั้นผู้น้อยในพื้นที่ และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระจากบุคคลภายนอก(ที่ไม่มีทหาร)เข้าไปตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ตามที่สังคมครหาอยู่หรือไม่ เพื่อความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในกองทัพ และที่สำคัญจะได้ป้องกันปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวกกันอีกด้วย และหากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการใด ๆ ตามคำร้องนี้ สมาคมฯจำต้องนำความไปร้องเรียนต่อ สตง. และ ป.ป.ช. สอบสวนและไต่สวนกรณีดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไปด้วย

    แถลงการณ์ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2560
    นายศรีสุวรรณ จรรยา
    เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

    ต่อเรื่องดังกล่าว เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ชี้แจ้งว่าเป็นการโพสต์ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมยืนยันว่าไม่มีการทุจริต และอยากให้สื่อตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนลงข่าว

    กรมบัญชีกลางปรับวิธีจัดซื้อยาฯ เพิ่มประสิทธิภาพ-ความคล่องตัว

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/?p=64461)

    วันที่ 2 พ.ย. 2560 เว็บไซต์ประชาติธุรกิจรายงานว่า นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กำหนดวิธีจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาให้หน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุขมีความคล่องตัว ช่วยส่งเสริมการจัดซื้อยาตามบัญชีนวัตกรรมของไทย ส่งผลดีต่อประชาชนให้ได้รับการรักษาที่มีความต่อเนื่อง และเป็นไปตามหลักการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

    สำหรับวิธีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อยาตามชื่อสามัญในบัญชียาหลักแห่งชาติตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด โดยใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 60% รวมทั้งสามารถจัดซื้อยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือเวชภัณฑ์ที่ผลิตออกจำหน่าย โดยองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทยได้ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ขณะเดียวกัน ยังให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อยาตามชื่อสามัญ หรือเวชภัณฑ์ ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยและองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทยมิได้ผลิตออกจำหน่าย โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินงบประมาณค่าจัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ซึ่งได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยตามบัญชีรายการยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของหน่วยงานนั้นๆ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่องค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทยมิได้เป็นผู้ผลิตแต่มีจำหน่าย ให้ส่วนราชการจัดซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยวิธี e-bidding จากผู้ขายรายใดก็ได้ หรือหากจัดซื้อยาโดยวิธีคัดเลือก ให้เชิญชวนองค์การเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมทหารเข้ายื่นข้อเสนอด้วยทุกครั้ง หรือหากอยู่ในเงื่อนไขที่จะจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ให้ซื้อจากผู้ขายรายใดก็ได้ แต่ราคาที่ซื้อต้องไม่สูงกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติหรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

    เมื่อเร็วๆ นี้ กรมบัญชีกลางได้หารือร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม และโรงพยาบาลราชวิถี เกี่ยวกับกรณีการมอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถีจัดซื้อยากลุ่มพิเศษแทนโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2561 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการจัดซื้อยากลุ่มพิเศษนี้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างถูกต้อง และทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มั่นใจได้ว่าจะมียาเพียงพอกับความต้องการในการรักษาผู้ป่วย

    รองโฆษก อสส. เผย รอที่อยู่ “ปู” ยัน ขอลี้ภัยไม่ใช่ปัญหา

    นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2560 เวลา 15.00 น. นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำอัยการสูงสุด กล่าวอธิบายขั้นตอนการติดตามตัวขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องโทษจำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญาปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวกระทั่งเกิดทุจริตการระบายข้าวตามคำพิพากษาถึงที่สุดศาลฎีกาฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 27 ก.ย.60 ว่า ทางปฏิบัติสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีสำนักงานต่างประเทศรับผิดชอบการทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต้องรอข้อมูลที่อยู่ปัจจุบันที่ชัดเจนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากตำรวจโดย สตช. ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีข้อมูลปรากฏเกี่ยวกับสถานที่อยู่ อย่างไรก็ดีขั้นตอนนี้ไม่มีระยะเวลากำหนดถ้ามีข้อมูลมาจึงจะเริ่มดำเนินการได้ ขณะที่การติดตามตัวนั้นโดยทั่วไปในคดีอาญาจะมีอายุความกำกับ แต่คดีทุจริตไม่มีอายุความดังนั้นจึงดำเนินการได้ตลอดเมื่อทราบข้อมูลที่อยู่

    เมื่อถามว่า ตามที่มีข่าวการขอสถานะผู้ลี้ภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีผลต่อการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ นายธรัมพ์ รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวย้ำว่า การขอลี้ภัย ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่จะห้ามดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

    ส่วนที่มีข่าวการเพิกถอนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) 4 เล่มของ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วทำให้ติดตามตัวง่ายขึ้นหรือไม่ นายธรัมพ์ รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า การเพิกถอนเล่มพาสปอร์ตนั้นเป็นหนังสือเดินทางที่ออกโดยทางการไทย ดังนั้นเวลานี้เท่ากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางโดยพาสปอร์ตไทยไม่ได้ แต่หากมีหนังสือเดินทางที่ออกโดยทางการประเทศอื่นเขาก็ยังสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้

    นายธรัมพ์ รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวย้ำว่า เวลานี้ตามขั้นตอนก็ต้องรอ สตช. แจ้งข้อมูลที่อยู่ให้อัยการทราบ ขณะที่อัยการก็สามารถเตรียมความพร้อมไว้ก่อนได้ในเรื่องของการแปลเอกสารประกอบคำร้องด้านคดี โดยการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนแต่ละประเทศมีลักษณะไม่เหมือนกันเพราะบางประเทศใช้สนธิสัญญาที่มีต่อกัน หรือถ้าไม่มีสนธิสัญญาก็ต้องใช้ความร่วมมือทางการทูตลักษณะต่างตอบแทนกัน ซึ่งการยื่นคำร้องนั้นอัยการสูงสุด ต้องลงนามในฐานะผู้ประสานงานกลาง ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้นำส่งคำร้องฐานะตัวแทนทางการไทย ไปยังสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ เพื่อส่งยังกระทรวงการต่างประเทศที่เราร้องขอดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ดังนั้นเวลานี้ต้องรอข้อมูลที่อยู่ที่ชัดเจนเสียก่อน

    ชาวกาตาลันเดือด สเปน รวบ 8 อดีต รมต.กาตาลุญญา ฐานประกาศเอกราช

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/?p=719527)

    วันที่ 3 พ.ย. 2560 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ผู้พิพากษาศาลสูงของสเปนได้มีคำสั่งให้ควบคุมตัวอดีตนายกรัฐมนตรีกาตาลุญญา 8 นาย ระหว่างรอการพิจารณาคดีในความผิดข้อหาร่วมกันประกาศเอกราชให้แก่แคว้นกาตาลุญญา รวมทั้งอัยการยังขอให้มีการออกหมายจับนายกาเลส์ ปุจเดมอนต์ และอดีตรัฐมนตรีกาตาลุญญาอีก 4 รายซึ่งไม่มาปรากฏตัวต่อศาล

    ต่อเรื่องดังกล่าว เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานโดยอ้างบีบีซีว่า ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวกาตาลัน ทำให้มีชาวกาตาลันหลายพันคนออกมาชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภาแคว้นกาตาลุญญาในเมืองบาร์เซโลนา รวมทั้งมีประชาชนในหลายเมืองของแคว้นกาตาลุญญาออกมาชุมนุมด้วยเช่นกัน