ThaiPublica > เกาะกระแส > ฟรีแลนซ์ชาวไทยทำงานอะไรกันบ้าง – อาชีพไหนทำรายได้สูงที่สุด

ฟรีแลนซ์ชาวไทยทำงานอะไรกันบ้าง – อาชีพไหนทำรายได้สูงที่สุด

3 พฤษภาคม 2019


จากผลสำรวจของอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เกี่ยวกับสายงานของฟรีแลนซ์ชาวไทยนั้นหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขาย อาจารย์ นักวิจัย นักแสดง นักวาด นักเขียน ล่าม เทรนเนอร์ ช่างแต่งหน้า บริการขับรถรับส่งผู้โดยสาร ไปจนถึงอาชีพที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องทำงานประจำเท่านั้น เช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย นักบัญชี ที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน โดยฟรีแลนซ์ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ตอบว่าทำงานรับจ้างทั่วไป (34%) รองลงมาคืองานสอนและงานวิจัย (11%) พนักงานขาย (10%) งานสายครีเอทีฟ (10%) และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (9%)

ฟรีแลนซ์อาชีพไหนทำรายได้สูงที่สุด

แม้ในบทความฉบับก่อนเราจะบอกว่าคนทำงานฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มีรายรับต่อเดือนน้อยกว่าคนทำงานกลุ่มอื่นๆ แต่ถ้าดูตัวเลขดีๆ จะเห็นว่ามีชาวฟรีแลนซ์ 5% ที่ตอบว่ามีรายได้สูงกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ที่น่าสนใจคืออายุเฉลี่ยของชาวฟรีแลนซ์รายได้สูงเหล่านี้อยู่ที่เพียง 44 ปีเท่านั้น เทียบกับมนุษย์เงินเดือนเกินแสนซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46 ปี

แล้วฟรีแลนซ์เหล่านี้ทำอาชีพอะไรกันบ้าง จากผลสำรวจ เราสามารถสรุปอาชีพของเหล่าฟรีแลนซ์รายได้สูงได้ดังนี้

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงกำลังมีคำถาม แล้วทำยังไงถึงจะเป็นฟรีแลนซ์เงินสูงๆ ได้บ้าง

1. ยิ่งเรียนสูง ยิ่งประสบการณ์มาก ยิ่งมีโอกาสได้เงินแสน

หลายคนอาจคิดว่ารายได้ของชาวฟรีแลนซ์ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวหรือความขยันในการทำงานเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วระดับการศึกษามีผลกับรายได้ของชาวฟรีแลนซ์มากกว่าที่เราคิด

ผลสำรวจบอกเราว่า ชาวฟรีแลนซ์ที่จบการศึกษาสูงมีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่า โดย 13% ของชาวฟรีแลนซ์ที่จบปริญญาโทขึ้นไปตอบว่ามีรายรับต่อเดือนเกินแสน ในขณะที่ฟรีแลนซ์ซึ่งจบปริญญาตรีมีสัดส่วนตรงนี้เพียง 4% หรือมีโอกาสน้อยกว่าราว 3 เท่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันแล้วระดับการศึกษามีผลกับระดับเงินเดือนของงานประจำมากกว่า โดยมนุษย์เงินเดือนที่จบสูงกว่าปริญญาโทมีสัดส่วนคนที่ได้เงินเดือนเกินแสนมากกว่ามนุษย์เงินเดือนที่จบปริญญาตรีถึง 6 เท่า ตรงนี้อาจตีความได้ว่าระดับการศึกษามีส่วนสำคัญในวงการฟรีแลนซ์ก็จริง แต่ไม่มากเท่ากับในวงการมนุษย์เงินเดือน

นอกจากระดับการศึกษาแล้ว ประสบการณ์ทำงานก็มีส่วนช่วยให้รายรับจากงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในสายงานที่ยิ่งมีความรู้รอบตัวและประสบการณ์มากก็ยิ่งได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น อาชีพพนักงานขาย ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรอบรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการที่รับเป็นตัวแทนไปจนถึงวิธีการเข้าหาและรับมือกับลูกค้า หรืออาชีพที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุน ซึ่งถ้ายิ่งคร่ำหวอดในวงการมานานก็ยิ่งได้เปรียบในเรื่องความเชื่อมั่นจากลูกค้า ประสบการณ์ทำงานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประสบการณ์การเป็นฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียว ในบางสายอาชีพ ประสบการณ์จากงานประจำก็มีส่วนช่วยทั้งในเรื่องของฐานลูกค้า คอนเนกชัน และความเชื่อมั่นในคุณภาพของงาน จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่บางคนก็เลือกที่จะทำงานประจำก่อนเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนที่จะลาออกมาทำงานฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว

2. Work Smarter, Not Harder

หลายคนมีคติประจำใจว่า Work hard, Play hard แต่ความจริงแล้วทำงานให้สุดอาจจะไม่หยุดที่เงินเพิ่มขึ้นเสมอไป

จากผลสำรวจของอีไอซีพบว่า ฟรีแลนซ์ชาวไทยส่วนใหญ่ทำงานประมาณ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ระยะเวลาการทำงานไม่ได้ส่งผลกับระดับรายได้เสมอไป เมื่อลองเทียบระดับรายได้ตามระยะเวลาที่ใช้ทำงานจะเห็นว่าชาวฟรีแลนซ์ที่ทำงานน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันมีสัดส่วนในกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน (กลุ่มสีม่วง) สูงที่สุดคือ 26% แซงหน้าชาวฟรีแลนซ์อีกสองกลุ่มที่มีระยะเวลาการทำงานมากกว่า ตีความง่ายๆ คือ ถึงจะใช้เวลาทำงานน้อยกว่าแต่ก็มีโอกาสได้รายได้สูงพอกัน หรือในบางกรณีก็อาจจะได้สูงกว่าด้วยซ้ำ

ตรงนี้อาจพอสรุปได้ว่าการโหมทำงานมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้รายรับของเรามากขึ้นด้วยเสมอไป คุณภาพของงานบางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำ แต่ขึ้นอยู่กับทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือขึ้นอยู่กับว่าเราบริหารเวลาทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ยังไงมากกว่า อย่างในกรณีนี้ ชาวฟรีแลนซ์ 26% ที่แม้จะทำงานน้อยแต่กลับมีรายรับสูง ล้วนแต่เป็นคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและครึ่งหนึ่งก็มีประสบการณ์ทำงานฟรีแลนซ์มาเกิน 5 ปี นอกจากนั้น การโหมงานอดหลับอดนอนติดต่อกันหลายๆ วันก็คงไม่ได้ทำให้คุณภาพงานของเราดีขึ้น แต่ยิ่งจะทำให้โรคถามหาซะมากกว่า (ลองดู “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” เป็นตัวอย่าง)

3. สร้างคอนเนกชัน

ใครว่าคอนเนกชันไม่สำคัญ สิ่งที่ตัวเลขบอกเราคือชาวฟรีแลนซ์เกินครึ่งหางานผ่านคอนเนกชันทางสังคมกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อด้วยตัวเองโดยตรง ผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก หรือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น Facebook, Instagram และ Twitter เป็นต้น แน่นอนว่าการมีสังคมกว้างขวางย่อมหมายถึงโอกาสงานที่มากขึ้น แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สูงๆ มักจะเลือกหางานผ่านคอนเนกชันส่วนตัวมากกว่าเว็บไซต์หางาน

จากผลสำรวจของอีไอซี ยิ่งมีระดับรายได้สูงขึ้น ชาวฟรีแลนซ์จะเลือกหางานจากเว็บไซต์หางานน้อยลง แต่หางานผ่านคอนเนกชันมากขึ้น โดยชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาทมีสัดส่วนคนที่ตอบว่าหางานผ่านเว็บไซต์หางาน 39% และหาผ่านคอนเนกชันทางสังคม 54% ในขณะที่ชาวฟรีแลนซ์รายได้ต่อเดือนสูงกว่า 100,000 บาทตอบว่าหางานผ่านเว็บไซต์เพียง 16% แต่หาผ่านคอนเนกชันสูงถึง 62%

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะงานฟรีแลนซ์ที่ได้จากเว็บไซต์ให้ค่าจ้างที่ต่ำกว่า เพราะการแข่งขันที่สูงทำให้คนจ้างสามารถต่อรองราคาลงได้ โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้ต้องการทักษะสูงมากนักหรือมีจำนวนชาวฟรีแลนซ์ในตลาดรองรับเยอะ หรือถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ชาวฟรีแลนซ์รายได้สูงๆ มักมีทักษะความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น หรือเป็นที่รู้จักในวงการอาชีพนั้นๆ จนสามารถหางานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งเว็บไซต์เลยก็เป็นได้ อย่างฟรีแลนซ์สายครีเอทีฟที่มีรายรับเกินแสนทุกคนในผลสำรวจเองก็ตอบว่าหางานผ่านคอนเนกชันทางสังคมเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องพึ่งเว็บไซต์หรือเอเจนซีใดใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ข้อดีของเว็บไซต์หางานคือโอกาสงานและสายงานที่หลากหลาย ดังนั้นสำหรับใครที่เป็นฟรีแลนซ์มือใหม่หรือยังมีคอนเนกชันไม่มาก เว็บไซต์หางานก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยสร้างโปรไฟล์ สร้างฐานลูกค้า และต่อยอดให้คอนเนกชันการทำงานของเรากว้างขวางยิ่งขึ้นนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว การจะเป็นฟรีแลนซ์ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้นั้นมาจากปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ ทักษะความรู้ คอนเนกชันทางสังคม รวมถึงวิธีการบริหารจัดการเวลาที่ดี ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังคิดอยากออกมาทำงานฟรีแลนซ์เต็มตัว สามข้อข้างบนนี้คงพอช่วยตอบได้บ้างว่าเราพร้อมที่จะก้าวเข้าวงการงานอิสระนี้แล้วหรือยัง

และสำหรับชาวฟรีแลนซ์คนไหนที่กำลังร้องไห้ท้อแท้กับรายรับของตัวเองอยู่ อ่านถึงตรงนี้คงไม่ต้องร้องแล้วนะ

ลองหาคำตอบให้ตัวเองดูว่า เราจะเปลี่ยนแปลงอนาคตในวงการฟรีแลนซ์ของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง