ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ใครอยู่ใครไป?? ตลาดหลักทรัพย์ประกาศรายชื่อ 65 บจ. “หุ้นที่ยั่งยืน” ประจำปี 2560

ใครอยู่ใครไป?? ตลาดหลักทรัพย์ประกาศรายชื่อ 65 บจ. “หุ้นที่ยั่งยืน” ประจำปี 2560

17 ตุลาคม 2017


เมื่อเช้าวันนี้ 16 ตุลาคม 2560 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศรายชื่อ Thailand Sustainability Investment: THSI หรือ หุ้นที่ยั่งยืน ประจำปี 2560 จำนวน 65 บริษัท เพิ่มจำนวนขึ้นจากปีที่ผ่านมา 14 บริษัท สะท้อนความตื่นตัวของบริษัทจดทะเบียน  โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ในการจัดทำรายชื่อ “หุ้นที่ยั่งยืน”  ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะประกาศรายชื่อของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อเป็นทางเลือกของนักลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดทำรายชื่อ Thailand Sustainability Investment: THSI หรือหุ้นยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนตามแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืนและต้องการลงทุนในหุ้นที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ บจ. มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ในปี 2560 นี้มี 65 บจ. ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนและเกณฑ์คุณสมบัติเพิ่มขึ้น 14 บริษัท จาก 51 บริษัทในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็น บจ. ใน SET 58 บริษัท และ mai 7 บริษัท จากที่มี บจ. ผู้สมัครใจเข้าร่วมการตอบแบบประเมินความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ รวม 90 บริษัท

บริษัทที่อยู่ใน “หุ้นที่ยั่งยืน” มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) รวม 9.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52.85% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai ซึ่งเท่ากับ 17.22 ล้านล้านบาท หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นยั่งยืนนี้อยู่ที่ 3.63% สูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรวมซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44% (ณ 10 ตุลาคม 2560)

สำหรับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ถือเป็นบริษัทที่มีกระบวนการจัดการและบริหารความเสี่ยงและห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจและสังคมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร  ในปี 2560 โดยหากพิจารณาในรายอุตสาหกรรมหุ้นยั่งยืนมีจำนวนสูงสุดอยู่ กลุ่มทรัพยากร 13 บริษัท อุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม 12 บริษัท อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 8 บริษัท

ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จากผลการประเมินความยั่งยืนของ 65 บจ. พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ทำคะแนนได้ดีในมิติสิ่งแวดล้อมโดยโดดเด่นในเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ให้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจน้อยที่สุด สำหรับในมิติเศรษฐกิจ บริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจและการต่อต้านการทุจริต รวมถึงบรรษัทภิบาล และการบริหารความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ ในขณะที่มิติสังคม บริษัทส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องการดูแลสุขภาวะและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงาน และการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัท และการร่วมพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการทางธุรกิจ

ใครอยู่ใครไป?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากจำนวนรายชื่อ 65 บริษัทในปีนี้ มี 18 บริษัทที่เพิ่มเข้ามาในรายชื่อและ 4 บริษัทที่หายไป ใน “หุ้นที่ยั่งยืน” ปี 2560 โดย 18 รายชื่อที่เพิ่มมาประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ได้แก่ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)  (GFPT) กลุ่มธุรกิจการเงิน ได้แก่  ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB), บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (IRC), บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TSTH), บริษัท ไทยสตีลเคเบิล จำกัด (มหาชน) (TSC), กลุ่มทรัพยากร ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC), อุตสาหกรรมบริการ ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM), บริษัท ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) (TBSP), กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) (CSL)

โดยทั้ง 3 บริษัทที่ออกจาก THSI ในปีที่ผ่านมา  ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)  (PTTEP) ซึ่งขอถอนตัวจากการประเมิน และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ที่ถูกออกจาก THSI เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด นั้นกลับมาอยู่ในรายชื่อ THSI อีกครั้งในการประกาศครั้งล่าสุด

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายชื่อระหว่าง “หุ้นที่ยั่งยืน” ในปี 2559 ที่มี 51 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560) และรายชื่อ “หุ้นที่ยั่งยืน” ปี 2560 ที่เพิ่งประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเช้าวันนี้ (16 ตุลาคม 2560) นั้น นอกจากการเพิ่มจำนวนบริษัทใหม่ ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจโดยบริษัทที่มีรายชื่อปรากฏใน THSI ในปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีรายชื่ออยู่ในหุ้นที่ยั่งยืนปีนี้ มีจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN), บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) TVO, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) (SAPPE), บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) (PPP) 

นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)(CP ALL)ซึ่งอยู่ในฐานะบริษัทเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices 2017 ไม่ติดอยู่ในรายชื่อ Thailand Sustainability Investment: THSI หรือ หุ้นที่ยั่งยืน ประจำปี 2560 

ทำไมถึง “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน” เกณฑ์

ในเอกสารเกณฑ์และคู่มือการเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2560 ระบุว่า บจ. ที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ THSI หรือหุ้นที่ยั่งยืนนั้น จะต้องได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI ในปีที่ตรงกับการประเมินผลความยั่งยืน หรือต้องมีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยในแบบประเมินความยั่งยืนที่ประกอบด้วยคำถามจาก 19 หมวด 42 ข้อคำถามหลัก 182 ข้อคำถามย่อย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทบทวนคำถามในแบบประเมินทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างความยั่งยืนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล โดยในปีนี้มีการเพิ่มคำถามที่เป็นสาระสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ การประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (emerging risk) การระบุประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของธุรกิจ (materiality) และการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านเกณฑ์การประเมินข้างต้น บจ. ยังต้องมี คุณสมบัติตาม “เกณฑ์ด้านคุณสมบัติ” ที่กำหนดควบคู่ไปด้วย โดยพิจารณาจากข้อมูลในปีที่มีการประเมินและปีก่อนหน้า

  • เป็นบริษัทที่มีผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Report หรือ CGR)ตั้งแต่ 70% หรือ 3 ดาวขึ้นไป
  • ไม่เป็นบริษัทที่มีการทำรายการเกี่ยวโยงกับความไม่เป็นธรรม ซึ่งหน่วยงานทางการแจ้งเตือนผู้ลงทุนให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ
  • ไม่เป็นบริษัทที่เข้าข่ายฝ่าฝืนเกณฑ์การดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องกรรมการอิสระ และ/หรือกรรมการตรวจสอบ
  • ไม่เป็นบริษัทที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมการซื้อข่ายที่ผิดปกติโดยการกระทำของกรรมการหรือผู้บริหาร
  • ไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีกรรมการหรือผู้บริหารถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ การสร้างผลกระทบด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
  • ไม่เป็นบริษัทที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขเกี่ยวกับฐานะทางการเงินหรือผลการดำเนินงาน หรือความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องในงบการเงินปีล่าสุด
  • ไม่เป็นบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นในงบการเงินปีล่าสุดต่ำกว่าทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว
  • เป็นบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิอย่างน้อย 3 ใน 5 ปีย้อนหลัง นับจากงบการเงินปีล่าสุด
  • คณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนอาจพิจารณาประเด็นอื่นประกอบการคัดกรองบริษัทในการจัดทำรายชื่อ Thailand Sustainability Investment

สามารถดาวน์โหลดรายชื่อหุ้นที่ยั่งยืน ได้ที่นี่  หรือดูรายละเอียดที่ด้านล่าง