ThaiPublica > เกาะกระแส > Uber ชวนคนไทยเสนอแก้กฎหมาย เปิดช่องบริการแบบใหม่ – ชี้รัฐยึดกฎหมายเก่าเกือบ 40 ปี แต่วิสัยทัศน์ไทยแลนด์4.0

Uber ชวนคนไทยเสนอแก้กฎหมาย เปิดช่องบริการแบบใหม่ – ชี้รัฐยึดกฎหมายเก่าเกือบ 40 ปี แต่วิสัยทัศน์ไทยแลนด์4.0

28 กันยายน 2017


นางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและนโยบาย เอเชียแปซิฟิก Uber

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 นางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและนโยบาย เอเชียแปซิฟิก Uber แถลงข่าวถึงความคืบหน้าด้านกฎหมายของการให้บริการร่วมเดินทาง หรือ Ridesharing ในประเทศ โดยเชิญชวนให้คนไทยลงชื่อเสนอกฎหมายตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จำนวนอย่างน้อย 10,000 คน เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนิยาม ประเภทของรถยนต์ และใบอนุญาตขับขี่ ในมาตราที่ 4, 21(1) และมาตรา 43 โดยรายละเอียดให้เพิ่มนิยามรถบริการร่วมเดินทาง ให้ขยายประเภทการใช้รถที่กว้างและยืดหยุ่นขึ้น และให้อนุญาตใช้ใบอนุญาตขับขี่แบบธรรมดาได้ภายใต้เงื่อนไขของบริบทใหม่ๆ

หลังจากที่การหารือกับกระทรวงคมนาคมในเดือนมีนาคม 2560 ได้ข้อสรุปว่ากระทรวงจะศึกษาความเป็นไปได้ใน 6 เดือนถึง 1 ปี แต่ยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยในปีที่ผ่านมาได้ประชุมอย่างเป็นทางการเพียง 1 ครั้ง และไม่เป็นทางการกว่า 100 ครั้ง และคาดว่าหากมีเสียงจากประชาชนมาร่วมจะช่วยเปิดโอกาสให้ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วขึ้น

“หากถามถึงปัจจัยความยากของไทย ทุกที่ที่อูเบอร์เข้าไป มันเป็นนวัตกรรมที่ไม่มีมาก่อน ดังนั้นต้องอยู่นอกกรอบกฎหมายแน่ๆ อูเบอร์พยายามเข้าไปพูดคุยกับรัฐบาล ไปทำความเข้าใจและหาทางเดินไปร่วมกันตามกรอบกฎหมายที่เป็นไปได้ ซึ่งเวลาที่ใช้ก็แล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่กฎหมาย เราต้องเคารพอธิปไตยรูปแบบการปกครองของประเทศต่างๆ ด้วย” นางเอมี่กล่าว

นางเอมี่กล่าวต่อว่า แนวทางการหารือกับรัฐบาลต่างๆ จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) ปรึกษา อย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เริ่มให้มีการตรวจสอบผลการให้บริการในแง่มุมต่างๆ 2) พัฒนา อย่างสิงคโปร์และมาเลเซียที่ปฏิเสธการควบคุมหรือจำกัดต่างๆ และเน้นให้บริการไปตามกลไกตลาด และ 3) บังคับใช้ อย่างเวียดนามที่ออกกฎหมายชั่วคราวมาดูแลโดยเฉพาะ

ขณะที่องค์ประกอบของกฎหมายที่ต้องแก้ไข เวลาไปหารือกับภาครัฐจะมีอยู่ 5 ประเด็น ซึ่งมีตัวอย่างที่อูเบอร์หาทางออกร่วมกันได้ในประเทศต่างๆ เช่น เรื่องเทคโยโลยี ในเวียดนามก็อนุญาตรองรับการเชื่อมต่อของ Application ซึ่งเป็นของใหม่, เรื่องของการให้บริการ ที่สิงคโปร์ยกเลิกการควบคุมหรือจำกัดราคาและให้กลไกตลาดทำงาน, เรื่องผู้ประกอบการ อย่างมาเลเซียที่สนับสนุนให้คนเป็นเจ้านายตัวเองและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ, เรื่องผู้ร่วมขับ อย่างออสเตรเลียที่กำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมยืดหยุ่น แต่เน้นบังคับใช้อย่างจริงจัง เช่น ให้ใช้ใบขับขี่ทั่วไปได้ แต่ต้องไม่เคยมีประวัติไม่ดีมาก่อน และสุดท้ายเรื่องยานพาหนะ อย่างสหรัฐอเมริกาที่ยอมอนุญาตให้นรถทั่วไปำมาให้บริการได้ หากมีมาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กำหนด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากฎหมายดังกล่าวเขียนขึ้นมาเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประชาชน อย่างเรื่องใบขับขี่ที่ต้องแยกกัน การแก้กฎหมายจะไปกระทบอะไรหรือไม่ รวมไปเรื่องภาษีรถยนต์ที่ไม่เท่ากัน นางเอมี่กล่าวว่า หากลองดูประเทศต่างๆ สิ่งที่เขาปรับเพื่อให้ออกมาวิน-วิน การปรับมีทั้งเพิ่มภาระและลดภาระต่างๆ จนทุกฝ่ายเท่าเทียม เราก็มีตัวอย่างเสนอแนะ อย่างมาเลเซียเหมือนกับการคลายการกำกับ หรือ deregulation ของแท็กซี่ไปด้วย เพื่อให้มาพร้อมกันได้

ส่วนความปลอดภัย ถ้าไม่มีประวัติการขับขี่ที่ไม่ดี ก็ไม่มีเหตุผลจะได้ไปดูแลพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หรือรถปกติ ยกตัวอย่างกรณีที่ตนมีใบขับขี่ในออสเตรเลีย ใบขับขี่นานาชาติ และมาขับรถที่ไทย โดยไม่เคยมีประวัติขับรถชน มีประกันครบถ้วน เพื่อนที่นั่งด้วยทุกคนเห็นว่าตนขับรถได้ดีปลอดภัยและไว้วางใจได้ แต่พอคนที่อยู่หลังรถเป็นคนแปลกหน้า ด้วยคนคนเดียวกัน ประวัติเดียวกัน ประกันเหมือนกัน รายละเอียดทุกอย่างเหมือนเดิมแต่กลับไม่ปลอดภัย มันเป็นมาตรฐานที่ไม่มีเหตุผล

“มุมหนึ่งต้องบอกว่านี่คือกฎหมายเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะมาประนีประนอมหาทางออกกัน มีตัวอย่างที่ทำได้ในประเด็นต่างๆ ไม่มีเหตุผลที่ไทยจะทำไม่ได้ และการที่บอกว่าไม่สามารถปรับปรุง มันกำลังบอกอะไรเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของการทำเทคโนโลยีและรองรับสตาร์ทอัปในประเทศไทย ปัจจุบันนี้วิสัยทัศน์ระดับชาติชัดเจนมาเรื่องของวิธีคิด เรื่องของไทยแลนด์ 4.0 ถ้าหากว่าอยากให้ทฤษฎีนี้เป็นรูปธรรม เราต้องเปิดใจกว้างกว่านี้ ต้องสามารถนำเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่เข้ามาอย่างถูกต้อง ถูกรองรับและสตาร์อัปอะไรจะมาตั้งตัวในเมืองไทย อูเบอร์เป็นสตารท์อัปที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ถ้าหากว่าเรามองว่าไทยพร้อมจะลงทุน เห็นความต้องการ ก็ควรพร้อมจะไปด้วยกันได้” นางเอมี่กล่าว

นอกจากนี้ จากผลสำรวจของ AU Poll เกี่ยวกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะของคนกรุงเทพฯ พบว่า 82.05% ของคนกรุงเทพฯ ต้องการให้รัฐสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น และเปิดเสรีในการให้บริการอย่างแท้จริง 70.31% เห็นด้วยที่สามารถนำรถโดยสารส่วนตัวมาเป็นรถสาธารณะเพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนน โดย 79.59% สนับสนุนให้มีกฎหมายรองรับบริการร่วมเดินทาง

ด้านความพึงพอใจต่อการใช้บริการรูปแบบร่วมเดินทาง พบว่าคนกรุงเทพฯ กว่า 89.09% ชื่นชอบในเรื่องความสะดวกสบายสูงสุด รองลงมา 85.46% คือการปฏิบัติตนของพนักงานขับรถ 83.18% มารยาทและความปลอดภัยในการเดินทาง

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการบริการร่วมเดินทางผ่านการเสนอชื่อกฎหมายโดยประชาชน สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพื่อให้การสนับสนุนได้ t.uber.com/regTH และส่งเอกสารมาที่ ตู้ ปณ. 79 ปณฝ.สามเสนใน กรุงเทพฯ 10310 หรือยื่นเอกสารด้วยตนเองที่ศูนย์บริการพาร์ทเนอร์ หรือบูทลงทะเบียนรับสมัครพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศ