ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > SD Forum3 : เทคโนโลยี AI และ ESG การปฏิวัติเงียบในตลาดทุน

SD Forum3 : เทคโนโลยี AI และ ESG การปฏิวัติเงียบในตลาดทุน

21 กันยายน 2017


เมื่อเร็วๆ นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงาน SD Forum 3/2017 Sustainable Investment: Opportunity of Long Term Growth for Businesses and Investors โดยมี Mr.Omar Selim ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) Arabesque Asset Management ซึ่งใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองว่าการดำเนินธุรกิจและเปิดเผยข้อมูล ESG มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของสถาบันการลงทุนขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ

และ Ms.Bella Peck Lim Chhoa รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนความยั่งยืน (Vice-Chair of Sustainability Steering Committee) จาก Hang Lung Properties Limited ในฮ่องกง ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินงานด้าน ESG และวิธีการสื่อสารผลการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจต่อผู้ลงทุน

นักลงทุนยึด ESG ประเมินบริษัทจดทะเบียน

Omar แนะนำ Arabesque Asset Management ว่า เป็นกองทุนที่ประสบความสำเร็จ การลงทุนในเชิงคุณค่าจัดเป็น ESG Quant Fund เพราะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Quant (quantitative investment strategies) หรือการลงทุนบนพื้นฐานโมเดลและการวิเคราะห์ข้อมูลในการประเมินผลการดำเนินงานและความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน โดยใช้เทคโนโลยี AI ผสมเข้ากับข้อมูล ESG

Omar กล่าวว่า เทคโนโลยีและความยั่งยืนได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและถือว่าเป็นการปฏิวัติเงียบ รวมทั้งยังเป็นกระแสที่กระเพื่อมไปทั่วโลก เพราะได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ประกอบกับกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนทำให้การรายงานผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย นอกจากนี้ ความต้องการของนักลงทุนที่จะเห็นการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมีมากขึ้น เพราะสะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ

ขณะเดียวกันโลกการเงินก็เปลี่ยนโฉม การลงทุนแนวใหม่เกิดขึ้นแบบแพร่หลาย เช่น การลงทุนที่แบบ Quantitative Investment (การลงทุนที่ใช้ข้อมูลทางสถิติของหุ้นมาเป็นพื้นฐานในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ คำนวณ ประมวลผลเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) หุ้นเองก็กลายเป็นสินทรัพย์ประเภท Fixed Income รูปแบบใหม่ (เนื่องจากให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลในอัตราคงที่ ในลักษณะเดียวกับผลตอบแทนจากตราสารหนี้หรือพันธบัตร) ขณะที่รูปแบบธุรกิจธนาคาร การออม และกองทุนบำนาญก็เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับ 0% มานานเป็นประวัติการณ์ สิ่งที่เห็นคือเงินไหลออกจาก fixed income ไปสินทรัพย์ประเภทอื่น คือหุ้นมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบัน 60% ของเงินลงทุนในโลกลงไปที่ fixed income ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ฉะนั้นแนวคิดการลงทุนจึงเปลี่ยนไป

โลกการเงินเปลี่ยนแปลงไปเพราะ FinTech ในทำนองเดียวกัน ESG ก็จะเปลี่ยนโลกการลงทุน ทั้งนี้ ข้อมูลด้าน ESG เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยข้อมูล ESG ในสัดส่วน 90% เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงในอีก 5 ปีข้างหน้า ข้อมูล ESG เป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ด้านการเงิน (nonfinancial data) ที่มีคุณค่าสำหรับการลงทุน

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาการลงทุนจะใช้ข้อมูลทางการเงินเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจ เช่น ผลกำไรเติบโต รายได้ แต่ในระยะต่อไปนักลงทุนจะดูว่า ผลกำไรได้มาอย่างไร บริษัทมีการดูแลพนักงานอย่างไร โครงสร้างคณะกรรมการ การใช้พลังงานในการผลิตเป็นอย่างไร มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน

“ข้อมูล ESG เป็นมาตรวัดคุณภาพในการบริหารและกลยุทธ์ของบริษัท ขณะที่ข้อมูลทางการเงินเป็นการมองย้อนหลังว่าบริษัทมีการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยมีตัววัดคือ รายได้ ความสามารถในการทำกำไร สินทรัพย์ ภาระหนี้ กระแสเงินสด ข้อมูล ESG เป็นการมองไปข้างหน้า สามารถประเมินล่วงหน้าได้ว่าบริษัทมีวิธีการจัดการกับประเด็นต่างๆ ที่เกิดได้อย่างไร เช่น การประหยัดพลังงาน และ ข้อมูล ESG ไม่ได้มาแทนที่ข้อมูลทางการเงิน แต่กลับเป็นส่วนเสริมให้กับนักลงทุน”

“ในฐานะนักลงทุน การมีข้อมูลในลักษณะนี้ทำให้เหมือนกับการมองบริษัทจากภายใน จากเดิมที่ข้อมูลทางการเงินสะท้อนการมองบริษัทจากภายนอก ESG จึงเป็นเทคโนโลยีในการประเมินการบริหารจัดการของบริษัทจดทะเบียน”

บริษัทขนาดใหญ่รายงานความยั่งยืนในมิติใหม่

ปัจจุบัน 85% ของ 250 บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วโลกมีการรายงานความยั่งยืนในมิติใหม่ สะท้อนถึงความโปร่งใสและความยั่งยืน เพราะได้รายงานทั้งด้านสิทธิมนุษยชน การลดก๊าซเรือนกระจก แนวปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชัน และอื่นๆ ส่วนหนึ่งมาจากกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งในโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น

Arabesque Asset Management ได้ร่วมกับ Oxford ทำการวิจัย ESG พบว่าสัดส่วน 90% ของกลุ่มตัวอย่างบริษัทที่นำ ESG เข้ามาประสานในการดำเนินธุรกิจ ยอมรับว่า ESG ช่วยลดต้นทุนลงได้ ขณะที่สัดส่วน 88% ยอมรับว่า ESG ช่วยให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นและ 80% ให้คำตอบว่า ESG ช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้น

Omar ยังให้ข้อมูลอีกว่า ESG ยังมีส่วนต่อราคาหุ้นและผลการดำเนินงานอีกด้วย โดยราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มุ่งเน้นความยั่งยืนจะปรับตัวขึ้นดีกว่าบริษัทให้ความสำคัญกับความยั่งยืนน้อยอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสัดส่วนของหุ้นที่เน้นความยั่งยืน (high sustainable) ในพอร์ตการลงทุนสูงกว่าหุ้นที่ไม่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากนัก (low sustainable) และมีแนวโน้มที่สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้มูลค่าหุ้นของบริษัทที่มี ESG ในระดับที่ดีกว่า สะท้อนว่าบริษัทมีศักยภาพที่จะเติบโตดีกว่าและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยอ้างอิงจากข้อมูล MSCI, Calvert-Serafeim Research เดือนกันยายน 2015 บริษัทในกลุ่ม low sustainable มีมูลค่าตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (MV/BV) 3 เท่า บริษัทในกลุ่ม high sustainable มี MV/BV ถึง 3.3 เท่า

ปัจจุบันนักลงทุนสถาบันทั่วโลกจำนวน 1,714 รายซึ่งมีพอร์ตลงทุนรวม 68 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ลงนามเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการลงทุนยั่งยืนของสหประชาชาติหรือ UN PRI (Principles for Responsible Investment)

ESG Index จำนวนหนึ่งกลายเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในการลงทุน โดยมีให้เลือกใช้ประกอบลงทุนใน 38 ตลาดหลักทรัพย์จาก 82 ตลาดที่มีในโลก ซึ่งได้พัฒนา ESG Index รวมกว่า 100 Index

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้าร่วม เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนแบบยั่งยืนมากว่า 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2006 การลงทุนในหุ้นยั่งยืนเป็นแนวทางที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ESG จึงเป็นมิติใหม่ของการลงทุน การใช้ข้อมูล ESG ที่มีมากมายมหาศาลผสมผสานกับเทคโนโลยี AI และ machine learning จึงเป็นแนวทางใหม่ในการประมวลข้อมูลที่มีมาเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพและการบริหารของบริษัทเพื่อใช้ประกอบการการพิจารณาลงทุนในหุ้น Arabesque Asset Management ใช้เทคโนโลยี machine learning ร่วมกับ Big Data พัฒนา S-Ray ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ GC Score, ESG Score และ Preference filter ซึ่งใช้ง่าย มีตัววัด ESG ถึง 200 ตัวจาก 50,000 แหล่งข้อมูลใน 15 ภาษาทั่วโลก

GC Score เป็นการประเมินบริษัทจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) 10 ประการ ซึ่งมีการให้ตั้งแต่ 0-100 โดย 0 คือ BAD ระดับ 50 คะแนน ถือว่า normal ส่วน 100 คะแนน คือ good ESG score เป็นการวิเคราะห์เจาะลึกวัดผลการดำเนินงานของบริษัทด้าน ESG ในประเด็นที่มีนัยสำคัญทางการเงิน ระดับคะแนนมีตั้งแต่ 0-100 และแบ่งระดับเป็น 0 คือ BAD และ 100 นับว่า good

Preferences Filter เมื่อใช้ร่วมกับ GC Score และ ESG Score จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมทางธุรกิจของบริษัทและกิจกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับค่านิยมส่วนบุคคลอย่างไร ผลการใช้ S-Ray ประเมิน 4,120 บริษัทจาก 47 ประเทศทั่วโลก ในช่วงมกราคม ปี 2017 นี้ พบว่า คะแนน GC ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 43.79 ส่วน ESG score เฉลี่ยอยู่ที่ 45.26 GC score ของตลาดหุ้นไทยสูงเกินกว่า 50 สูงกว่าตลาดหุ้นมาเลเซียและตลาดหุ้นสิงคโปร์ สำหรับ ESG score ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 47.5 สูงกว่าตลาดหุ้นมาเลเซียและตลาดหุ้นสิงคโปร์

Ms.Bella Peck Lim Chhoa รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนความยั่งยืน (Vice-Chair of Sustainability Steering Committee) จาก Hang Lung Properties Limited ในฮ่องกง

ผู้นำองค์กรปัจจัยหลักพร้อมสร้างความผูกพัน

ณ เดือนกรกฎาคม ตลาดหุ้นฮ่องกงมีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 2,060 บริษัท มีมูลค่าตลาดร่วม 30 ล้านล้านเหรียญ มี Index 50 ดัชนี ส่วนใหญ่การซื้อขายจะนำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ Bella ให้ข้อมูลว่า Hang Lung Properties ก่อตั้งในปี 1960 เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในฮ่องกง โดยมีโครงการทั้งฮ่องกงและ 8 เมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งบริหาร 28 โครงการหลัก และอีก 8 โครงการประเภท Mega complex ขนาดใหญ่ในจีนและกำลังก่อสร้าง Mega complex 2 โครงการ

Hang Lung Properties มีรายได้รวม 1,647 ล้านเหรียญสหรัฐ มีพนักงานรวม 4,720 คน มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 531 ล้านเหรียญสหรัฐ มีพื้นที่อาคารรวมทั้งหมดที่บริหาร 2.9 ล้านตารางเมตร Bella กล่าวว่า แนวโน้มโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น นักลงทุนก็ให้ความสำคัญกับบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจบนหลักความยั่งยืน ESG มากกว่าเดิม ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนควรที่จะบริหารจัดการธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนมากขึ้น

ทั้งนี้ข้อมูลการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม SRI (Social Responsible Investment) เติบโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนทั่วไป โดยในปี 2014 การลงทุน SRI ในทุกภูมิภาคมีมูลค่ารวม 22,890 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 18,276 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2014 หรือราว 25% สำหรับ Hang Lung Properties เริ่มหันมายึดหลักการความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่ง Bella ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปฏิบัติ แต่จากการศึกษาทำความเข้าใจหลักความยั่งยืนในปัจจุบันก็สอดคล้องกับหลักปรัชญาขงจื้อของจีน

Bella กล่าวว่า การหันมาให้ความสำคัญกับ ESG ในการดำเนินธุรกิจเป็นการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจมากกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนระบบงาน และยังเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายงาน ที่สำคัญ ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุน รวมทั้งต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น Bella แชร์ประสบการณ์ ของ Hang Lung Properties ในการนำ ESG เข้ามาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจว่า “ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้อยู่บนแนวทางนี้ได้คือ ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญนับตั้งแต่ที่ริเริ่มโครงการมาในปี 2012 และ ณ วันนี้ ESG ผูกพันตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทลงมาถึงทุกส่วนงาน”

โดยที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับการนำหลักความยั่งยืนมาผสมผสานกับการดำเนินธุรกิจ Hang Lung Properties จึงวางวิสัยทัศน์ความยั่งยืนโดยปรับเป้าหมายทางธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน พร้อมจัดทำแผนที่ชัดเจน Hang Lung Properties ยังชูแนวคิดทำสิ่งที่ถูกต้องหรือ “We Do It Right” เป็นหลักการที่บริษัทยึดมั่นมาตลอดในการดำเนินงานด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 5 เสาหลัก คือ green operations, sustainable building, sound governance, community integration, employer of choice

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับ Business Integrity หรือการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม ซึ่งเป็นหลักการของคุณค่าที่ทุกธรกิจต้องยึดถือ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะได้รับความวางใจความน่าเชื่อถือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือ Stakeholder ในระยะยาว ซึ่ง Hang Lung Properties ได้รณรงค์ สร้างจิตสำนึกเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2013 และยังเป็นโครงการที่ดำเนินต่อเนื่องเพื่อสร้างความตระหนักภายในองค์กร รวมไปถึงจัดให้มีการอบรมเรื่องนี้โดยเฉพาะ

Bella กล่าวว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องและดีงามไม่ใช่เรื่องของการตระหนัก แต่เป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลของกรณีที่เข้าข่ายการละเลยการฝ่าฝืนไว้ในรายงานความยั่งยืนรวมทั้งจดหมายข่าวออนไลน์ (online newsletter)

รากฐานสิ่งที่จะค้ำจุนความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวคือ กำลังคนที่ยั่งยืน พนักงานที่มีเข้าใจและส่วนร่วมในคุณค่าที่ธุรกิจยึดถือจะช่วยให้ธุรกิจมีการเติบโต ดังนั้น พนักงานของ Hang Lung Properties จึงมีส่วนอย่างมากในการสร้างอัตลักษณ์ขององค์กร ที่มีผลต่อผลิตภาพ ผลตอบแทนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวังคมในวงกว้าง

ฉะนั้น ในด้านพนักงาน Hang Lung Properties นำโมเดล 3Es มาใช้ คือ

  • Engaged สร้างความผูกพันระหว่างพนักงานกับบริษัท
  • Enabled สนับสนุนผลิตผลและผลการดำเนินงาน
  • Energized สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับงาน

การสร้างความผูกพันของพนักงานนั้น Hang Lung Properties เริ่มสภาพแวดล้อมของที่ทำงานที่ความยุติธรรม ความเท่าเทียมและการเคารพกันและกัน โดยที่แนวทางนี้มีการทบทวนและปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของฝ่ายทรัพยากรบุคคลใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้การปฎิบัติต่อพนักงานมีความเท่าเทียมกัน

ตลอดจนยังได้สร้างศูนย์รวมพลังพนักงาน ด้วยการปรับเครื่องแบบพนักงานให้เหมือนกันทั้งในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2013 ซึ่งแม้ว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ก็ช่วยตอกย้ำอัตลักษณ์ขององค์กร Hang Lung Properties ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร เพราะสะท้องถึงศักยภาพของบริษัทในอนาคต โดยพนักงานเข้าคอร์สอบรมเฉลี่ย 20.8 ชั่วโมงต่อคนในปี 2016 ในโปรแกรมที่ครอบคลุมทั้งด้านการเป็นผู้นำ ภาษา ไปจนถึงทักษะความเป็นมืออาชีพ

ในปี 2015 บริษัทฯ ยังริเริ่มจัดให้มีการมอบรางวัล Emerald Award ให้แก่พนักงานดีเด่นด้านการให้บริการลูกค้า รวมไปถึงการจัดให้มีโปรแกรมด้านสุขภาพที่หลากหลายสำหรับพนักงาน เพราะมองว่าการใช้ชีวิตให้สมดุลกับการทำงานเป็นประเด็นสำคัญในการความรู้สึกการเป็นเจ้าของ

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้น บริษัทฯ เชื่อว่ายิ่งทำสิ่งที่ดีต่อสังคมมากขึ้นเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในทุกด้านไปไม่น้อยกว่ากัน ความสำเร็จของธุรกิจมาจากความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและเรียกร้องให้มีความสำคัญมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติทุนทางสังคมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

Bella กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจของบริษัท จึงเป็นเหตุผลสำคัญของบริษัทฯ ที่ต้องจัดการกับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านลบต่อสิ่งที่สนับสนุนธุรกิจ โดยได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ผลกระทบและเริ่มจัดการกับสิ่งที่มีผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับแรก ในปี 2007 อาคารใหม่ของบริษัทได้รับประกาศนียบัตร LEED Gold Certificates เพราะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำการประเมินอาคารระบบใหม่ (LEED: Leadership in Energy and Environmental Design) นอกจากนี้ยังได้ลงทุนต่อเนื่องกับระบบการรักษาความปลอดภัย

บริษัทฯ ยังบริหารจัดการกับการใช้ทรัพยากร เพราะนักลงทุนให้ความสำคัญ จึงเดินหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของตัวอาคาร ส่วนชุมชนนั้น มุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มร่วมกันในชุมชนที่บริษัทฯ มีส่วนร่วม ดังนั้นจึงแชร์เป้าหมายร่วมกัน โดยทุกๆ ปี ได้ร่วมในการจัดการโครงการกว่า 100 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเยาวชนและการดูแลผู้สูงวัย

นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในการฟูมฟักเยาวชนที่จะเป็นผู้ดูแลโลกนี้ในอนาคต จึงสนับสนุนความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่หลากหลาย เพื่อสร้างเสริมความสามารถของสังคม Hang Lung Properties ยังยึดหลักความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล เพราะเป็นกระบวนการที่จะทำให้แนวคืดความยั่งยืนออกมาเป็นการลงมือปฏิบัติจริง เนื่องจากว่าความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่กว้างมาก และต้องพึ่งพาการตอบของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อนำมาปรับปรุง ประกอบกับในยุคปัจจุบันความไว้วางใจเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก การที่จะสร้างความไว้วางใจได้นั้น ความโปร่งใสจึงเป็นก้าวแรก ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ทำต่อ แต่ยังเป็นการกำหนดเป้าหมายตัวเลขที่จะเปิดเผย

Bella ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า การรายงานความยั่งยืนเป็นกระบวนการที่จะต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการจัดทำรายงานแล้วจบงาน จึงเริ่มรณรงค์ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างความผูกพัน เพื่อที่จะได้ข้อเสนอแนะและร่วมกันพัฒนาแผนปฏิบัติกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นจึงต้องคิดอยู่เสมอว่าจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินการอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะจัดทำรายงานอย่างไร Hang Lung Properties จัดลำดับความสำคัญแง่มุมอยู่เป็นประจำ เพื่อที่จะทำให้พัฒนาแผนปฏิบัติงานได้ รวมไปถึงนำสิ่งที่ดำเนินการไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานต่างๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่ายังห่างเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน

การควบคุมข้อมูลให้ถูกต้อง (Data integrity) เป็นตัววัดว่าการจัดการด้านความยั่งยืนมีความคืบหน้าไปไกลแค่ไหน ดังนั้นจึงได้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนหลักๆ ขึ้นมาเพื่อยืนยันความก้าวหน้าตั้งแต่ ปี 2015 โดยมีศูนย์เก็บรวบรวมข้อมูล มีการตรวจสอบความแม่นยำของข้อมูล และตรวจสอบย้อนหลังได้ อีกทั้งยังมีการติดตาม ที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูล แปลงข้อมูล (Data) เป็นสารสนเทศ (Information) และค่อยทำให้ข้อมูลนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น

ด้านการบริหารข้อมูลนั้นได้มีการวางเป้าหมาย การบริหารความคืบหน้า เริ่มความสามารถและสื่อสารถึงผลที่ได้ และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการกำหนดกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ ทบทวนระบบบริหาร และปรับปรุงการดำเนินงานอยู่เสมอ Bella กล่าวว่า การสร้างการรับรู้ภายในเป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดเผย ซึ่งพนักงานไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจหรือเห็นด้วยกับความยั่งยืน แต่ชักจูงให้มีการสนับสนุนรวมทั้งสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืน

ความยั่งยืนมีคุณค่าต่อธุรกิจ การรู้ถึงคุณค่าที่มีต่อธุรกิจจะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า ความยั่งยืนเป็นแนวโน้มของโลกที่เติบโตรวดเร็ว ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตาม (Compliance) แต่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจ ช่วยลดต้นทุน สร้างชื่อเสียง ก่อให้เกิดนวัตกรรม และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

Bella ปิดท้ายว่า

“การดำเนินการด้านความยั่งยืนจะมีหลายแง่มุม แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำและการสร้างความผูกพัน การสื่อสารที่ดี การวางโครงสร้างที่ดี เพื่อก่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ แน่นอนว่าย่อมมีช่องโหว่ หรือข้อผิดพลาดแต่ก็ต้องยอมรับและเรียนรู้จากกระบวนการนั้น ที่สำคัญเลิกใช้ผลกำไรเป็นตัววัดผลการดำเนินงานที่ดี แต่เป็นการสร้างสิ่งที่ดีต่อสังคมส่วนรวม เพราะสำหรับบริษัทที่ดี ความยั่งยืนคืออนาคตของโลกที่ไม่อาจละเลยได้”