ThaiPublica > เกาะกระแส > “นิพนธ์ พัวพงศกร” อดีตอาจารย์ มธ.ทำจดหมายเปิดผนึกถึงชาวธรรมศาสตร์ กรณีเลือกอธิการบดีคนใหม่

“นิพนธ์ พัวพงศกร” อดีตอาจารย์ มธ.ทำจดหมายเปิดผนึกถึงชาวธรรมศาสตร์ กรณีเลือกอธิการบดีคนใหม่

28 กันยายน 2017


ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงชาวธรรมศาสตร์มีรายละเอียดว่า…

อดีตอาจารย์ และอาจารย์ มธ. หลายคนปรารภกับผมเรื่องความกังวลในการสรรหาอธิการบดี มธ. คนใหม่

สิ่งที่อาจารย์เหล่านั้น รวมทั้งตัวผมเองเป็นห่วงเป็นใยมาก คือ แนวโน้มที่ธรรมศาสตร์จะได้อธิการบดีคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาติดต่อกันกว่า 13 ปี และหากเป็นไปตามคาดหมาย ทีมบริหารของอธิการบดีคนใหม่ก็อาจจะเป็นทีมเดิมที่ทำงานในตำแหน่งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และคณบดีมหาวิทยาลัยติดต่อกันตลอด 13 ปีเพียงแต่สลับตำแหน่งกัน เมื่อมีการเปลี่ยนตัวอธิการบดี เท่านั้น

ผมลังเลใจที่จะเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ถึงชาวธรรมศาสตร์ เพราะผู้บริหารชุดนี้หลายคนต่างก็เป็นเพื่อนที่ผมรักใคร่ และให้ความนับถือทั้งในทางวิชาการและการบริหาร อีกทั้งท่านเหล่านี้ต่างก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จในเรื่องการผลักดันนำ มธ. ออกจากระบบราชการ

แต่ขณะนี้ มธ. มีฐานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล จึงต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และการวิจัยให้รุดหน้าเท่าเทียมมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย รวมทั้งการไล่ทวงมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบราชการก่อน และบัดนี้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีผลการดำเนินงานทางวิชาการที่ล้ำหน้ากว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่ว่าเราจะใช้เกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของสถาบันจัดอันดับใดก็ตาม ข้อมูลระบุตรงกันว่าธรรมศาสตร์มิได้อยู่ในอันดับที่น่าพึงพอใจ เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพราะอย่างเก่ง เราก็อยู่ในอันดับที่ 9-17 (ดูข้อมูลจัดอันดับในตารางด้านล่าง) ซึ่งต่ำกว่ามหาวิทยาลัยน้องใหม่ด้านเทคโนโลยี ข้อสังเกต คือ การจัดอันดับของ Times Higher Education (THE) และ QS ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ธรรมศาสตร์ไม่มีชื่อติดอันดับใดๆ ของมหาวิทยาลัยโลกเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าคณะด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์สุขภาพของเรามีผลงานด้อยกว่ามหาวิทยาลัยอื่นที่ออกนอกระบบก่อนธรรมศาสตร์

แม้แต่การจัดอันดับ 50 มหาวิทยาลัยของไทยเอง ธรรมศาสตร์ก็ติดแค่อันที่ 8 ในด้านการวิจัย และอันดับที่ 6 ในด้านการเรียนการสอน….ในฐานที่เคยเป็นทั้งศิษย์เก่า อดีตอาจารย์และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผมพูดตรงๆว่า “น่าห่วงธรรมศาสตร์” มากครับ

นั่นหมายความว่าผู้บริหารชุดใหม่จะต้องมีทีมอาจารย์หนุ่มสาวจากสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เข้ามาร่วมในสัดส่วนที่มากขึ้น รวมทั้งในอนาคตอันใกล้ ธรรมศาสตร์ควรจะมีอธิการบดีที่มาจากคณะเหล่านั้น เหมือนในมหิดล จุฬาลงกรณ์ เชียงใหม่ มจธ. ที่มีผู้บริหารหนุ่มสาวในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม-แพทย์ เข้ามาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย คนเหล่านี้กล้าคิดเรื่องใหม่ๆ กล้าทำ กล้าทดลอง แถมยังเป็นคนเก่งที่มีพลังมหาศาล

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันบุคคลเหล่านี้ ในฐานของกรรมการผู้ทรงวุฒิมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะเดียวกันผมก็รู้จักอาจารย์หนุ่มสาวของ มธ. ในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรมหลายคน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีความสามารถวิชาการสูง มีความใฝ่ฝันที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมหาวิทยาลัย

แต่น่าเสียดายที่ระบบการเมืองธรรมศาสตร์ไม่เปิดโอกาสให้เขาเหล่านี้

การที่ธรรมศาสตร์มีผู้บริหารระดับรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการชุดเดิมเป็นเวลาติดต่อกันอย่างยาวนาน เพียงแต่สลับตำแหน่งกัน ทำให้ไม่มีการพัฒนาอาจารย์รุ่นใหม่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในอนาคตเหมือนกับในมหาวิทยาลัย 3-4 อันดับต้นของประเทศ ยิ่งกว่านั้นในการสรรหาคณบดีหลายคณะ มหาวิทยาลัยไม่เลือกคณบดีที่บุคลากรสายต่างๆของคณะ (โดยเฉพาะสายอาจารย์) เป็นผู้เสนอมาในอันดับแรก (ยกเว้นคณะเศรษฐศาสตร์ ที่อาจารย์ผู้ได้คะแนนหยั่งเสียอันดับ 2-3 จะถอนตัวตามสัญญาประชาคมของคณะ)

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้อาจารย์ในธรรมศาสตร์คงมีความเชื่อว่าถ้าตนสมัครเข้าชิงตำแหน่งอธิการบดี ก็คงมีโอกาสริบหรี่มาก เพราะแม้ในทางหลักการกระบวนการสรรหาจะดูเหมือนเป็นระบบเปิดที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในทางความเป็นจริง อาจารย์จำนวนมากรู้ว่าคนที่อยู่นอกกลุ่มผู้บริหารชุดปัจจุบันคงไม่มีโอกาส เมื่อไม่มีโอกาสก็ไม่ควรเปลืองตัวลงสมัคร

แม้กระบวนการสรรหาจะล่วงเลยมาถึงขั้นตอนที่ใกล้จะได้ตัวอธิการบดีคนใหม่แล้ว แต่ผมคิดว่ายังไม่สายเกินไปที่สภาวิทยาลัยจะหาหนทางเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสมัครรับเลือก หรือให้กรรมการสรรหาไปทาบทามอาจารย์ที่มีความสามารถสูง รวมทั้งบุคคลภายนอก (แต่ไม่ควรมีอายุเกิน 55 ปี)เข้ามาสมัคร โดยสภามหาวิทยาลัยให้ความมั่นใจแก่ชาวธรรมศาสตร์ว่ากระบวนการคัดเลือกจะเป็นกระบวนการที่คัดสรรคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถมากที่สุด มีความตั้งใจและเป็นคนดี โดยไม่ติดยึดกับตัวผู้บริหารปัจจุบัน
นอกจากนั้น

ผมอยากเรียกร้องให้เพื่อนบางคนของผมที่เป็นผู้บริหารและมีอายุมากแล้วถอนตัว ตำแหน่งอธิการบดีควรได้บุคคลที่มีอายุ 45-55 ปี เพราะภารกิจเบื้องหน้าเป็นงานที่หนักมาก

ถ้าหากท่านติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจัดการศึกษาอุดมศึกษา ท่านคงทราบดีว่าความท้าทายใหญ่ต่อระบบอุดมศึกษา คือ คนที่จบมัธยมปลายที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยทั้งระบบจะรับได้ นอกจากนี้เทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนสมัยใหม่ผ่านระบบดิจิตอลกำลังทำให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยล้าสมัย ระบบการวิจัยของมหาวิทยาลัยไทยก็ไม่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นจีน สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ….ถ้าหากผู้บริหารชุดใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ ธรรมศาสตร์คงกลายเป็นมหาวิทยาลัยปลายแถว

ถ้าหากว่าหลังจากมีการเปิดโอกาสให้อาจารย์รุ่นใหม่เข้ามาสมัคร หรือมีการทาบทามให้มาสมัครเป็นอธิการบดี แต่ท่านผู้บริหารปัจจุบันที่สมัครเป็นอธิการบดีได้รับการความไว้วางใจจากสภามหาวิทยาลัยเป็นอธิการบดีคนใหม่ ผมขอเรียกร้องให้ท่านอธิการบดีคนใหม่แต่งตั้งรองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดีชุดใหม่ทุกคน ขอความกรุณาอย่าเลือกผู้บริหารชุดเก่ามาทำงานต่ออีกเลยครับ
ธรรมศาสตร์ควรอยู่ในมือของอาจารย์และผู้บริหารหนุ่มสาวรุ่นใหม่ครับ