ThaiPublica > คอลัมน์ > เมืองใหญ่กับปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร

เมืองใหญ่กับปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร

13 กันยายน 2017


ลัษมณ ไมตรีมิตร นักศึกษาปริญญาเอกทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม University of Illinois at Urbana-Champaign

ในเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายของกรอบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนสำหรับปี ค.ศ. 2030 ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาตินั้น เป้าหมายเรื่องของการ ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ดูจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เห็นผลกระทบระดับบุคคลไปจนระดับนโยบาย นั่นก็เพราะอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง และเราทุกคนต้องการอาหารเพื่อดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งเราไม่เพียงแต่ต้องการอาหารในปริมาณที่เพียงพอ แต่ยังต้องมีคุณภาพที่ดีพอ ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารจึงไม่ใช่แค่เรื่องปริมาณอาหารต่อจำนวนประชากร แต่รวมไปถึงเรื่องคุณภาพของอาหารอีกด้วย

ปัญหาในเรื่องของความอดอยากนั้น โดยทั่วไปเราอาจมองว่ามีความสัมพันธ์กับปัญหาความยากจน ที่เกิดขึ้นมากในพื้นที่ชนบท ภายใต้นิยามว่าเป็นพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำและประชาชนมีคุณภาพชีวิตด้อยกว่ามาตรฐาน แต่ปัญหาเรื่องความหิวโหยและความมั่นคงทางด้านอาหารกลับส่งผลกระทบอย่างน่าตกใจต่อประชากรในเมืองใหญ่ ที่ถึงแม้ว่าอัตราความยากจนจะไม่สูงเท่าในชนบท แต่การเข้าถึงความหลากหลายในการบริโภคถูกจำกัดจนแทบเป็นศูนย์ ทั้งยังรวมไปถึงปัญหาเรื่องคุณภาพของอาหาร ที่ชนชั้นกลาง-ชั้นล่างในเมืองถูกจำกัดด้วยปริมาณรายได้ ทั้งหมดนี้เป็นผลสะสมมาจากการพัฒนาเมืองในทิศทางที่แบ่งแยกผู้คนออกจากวิถีชีวิตพื้นฐาน มาสู่การเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรมและการค้า

เมือง (Urban) หลายเมืองเติบโตภายใต้แนวคิดการผลิตแบบทุนนิยม โดยมีคนเป็นแรงงานในการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคและการบริการ ผู้คนจำนวนมากถูกดึงดูดให้หลั่งไหลเข้ามาในเมือง ขับเคลื่อนให้เมืองหมุนไปในทิศทางที่ยิ่งออกห่างจากวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม ที่มนุษย์ถูกผูกไว้โดยตรงกับห่วงโซ่อาหาร สินค้าทางการเกษตรที่พอจะใช้เลี้ยงดูแรงงานถูกผลิตในพื้นที่ห่างไกล และส่งมายังเมืองเพื่อป้อนคนเหล่านี้ให้มีกำลังทำงานรับใช้ระบบ

อาหารถูกเปลี่ยนสภาพและความหมายไปเป็นสินค้า ที่มีราคาและต้องซื้อหามาด้วยเงิน คุณภาพและปริมาณของอาหารแปรผกผันกัน และถูกจำกัดด้วยหลักของต้นทุนและกำไรในกระแสธุรกิจ

ทั้งหมดนี้ทำให้พื้นที่เมืองกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาความหิวโหย โดยปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารของคนเมืองนั้นเป็นที่น่าห่วงกว่าปัญหาเรื่องความอดอยากในชนบทหลายเท่าตัวนัก เพราะพื้นที่ของเมืองนั้นไม่ได้ถูกออกแบบไว้เผื่อการผลิตในขั้นปฐมภูมิ ทำให้ไม่มีการผลิตวัตถุดิบเพื่อการดำรงชีวิต ผู้คนจึงไม่มีทางออกดังเช่นที่คนในชนบทอาจมีได้

แกงถุงเป็นอาหารหลักของคนเมือง หากผู้ขายไม่ใส่ใจในกระบวนการผลิตก็เสี่ยงที่จะเป็นอาหารคุณภาพต่ำ เพราะความต้องการในการลดต้นทุน เพื่อลดราคาขายตามการแข่งขันในท้องตลาด

เมื่อปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองที่ผิดพลาด นักผังเมืองเองก็มีความพยายามที่จะแก้ไข เช่น ผังเมืองใหม่ในยุคของ Garden City โดย Ebenezer Howard ในช่วงท้ายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ก็ได้พยายามที่จะจัดสรรปันส่วนพื้นที่สำหรับผลิตผลขั้นปฐมภูมิ คือ พืชผลจากการเกษตร, การผลิตทางอุตสาหกรรม และการอยู่อาศัยให้สัมพันธ์กัน รวมถึงการจำกัดความหนาแน่นของประชากรในเมือง โดยมีเป้าหมายคือให้เมืองนั้นพึ่งพาตัวเองได้ และมีการบริโภคใกล้เคียงกับการผลิต แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เมืองยังคงขยายตัวอย่างไม่สิ้นสุด และปัญหาในเรื่องความไม่ยั่งยืนก็ได้ฝังรากลึก จนตัดขาดคนในเมืองออกจากห่วงโซ่อาหารขั้นพื้นฐานเสียแล้ว

แผนภูมิแสดงแนวคิดของ Garden City เรื่องการจัดสรรพื้นที่ในเมือง ให้มีทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอยู่อาศัย เพื่อให้เมืองพึ่งพาตัวเองได้
ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Garden_city_movement#/media/File:Diagram_No.2_(Howard,_Ebenezer,_To-morrow.).jpg

ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารในเมืองได้ขยายจากการจำกัดปริมาณอาหารไปสู่ปัญหาเรื่องอาหารคุณภาพต่ำที่คนเมืองไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นักวิพากษ์วิจารณ์ชื่อดังอย่างคุณ Michael Pollan ออกมาตีแผ่ความล้มเหลวของอุตสาหกรรมการกินที่ยิ่งใหญ่ในประเทศโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ว่าการเกษตรแบบอุตสาหกรรมนั้นได้ทำลายความมั่นคงทั้งทางด้านอาหารและคุณภาพชีวิตของประชากรโลก โดยการที่คนไม่สามารถสร้างภาพความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนกับสิ่งที่ตนบริโภค กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าแค่การไม่มีกินหลายเท่านัก

เมื่อการพยายามจะวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างใหญ่ของการพัฒนาเมืองหรือระบบอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความอดอยาก รวมถึงการแก้ปัญหาในระดับผังเมืองไม่อาจจะเร่งรัดให้ประชาชนในเมืองหลีกหนีจากคุณภาพของอาหารที่ต่ำลงได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้การเคลื่อนไหวเล็กๆ ในระดับบุคคลหรือชุมชนกลับมีความเด่นชัดขึ้นมา

ในปัจจุบัน เราจะเห็นกระแสของการหันมาปลูกผักกินเองภายในบ้าน ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่มีส่วนช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงมีงานออกแบบใหม่ๆ มาช่วยให้ภาพของการทำสวนครัวที่แต่เดิมต้องการพื้นที่มาก และไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยในเมืองนั้น มีความเป็นไปได้มากขึ้น บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านรายใหญ่อย่าง IKEA เป็นตัวอย่างสำคัญที่นำเสนอสินค้าเพื่อการปลูกผักสวนครัวในบ้านอย่างชุด KRYDDA/VÄXER เพื่อการทำสวนในบ้าน ที่มีจำหน่ายในสหราชอาณาจักรภายใต้คำโปรยของสินค้าที่ว่า “ใครๆ ก็มีสวนผักได้”

ภาพตัวอย่างสินค้าเพื่อการปลูกผักในร่มของ IKEA สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัดในเมือง
ที่มาภาพ: https://www.dezeen.com/2016/05/03/ikea-indoor-gardening-hydroponic-kit-krydda-vaxer/

การเคลื่อนไหวของแนวคิดสวนผักในเมือง (Urban Garden) ได้ขยายวงกว้างจากแค่สวนหน้าบ้านไปสู่สวนในพื้นที่อื่น ๆ เช่น สวนดาดฟ้า (Roof Garden) ที่แต่เดิมมักมุ่งไปที่การออกแบบเพื่อประโยชน์ทางด้านการประหยัดพลังงาน ลดความร้อนเข้าสู่อาคารหรือเพื่อความสวยงาม ก็มีหลายแห่งถูกปรับให้เป็นสวนกินได้ โครงการที่น่าสนใจและพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จนั้น ยกตัวอย่างเช่น สวนเกษตรดาดฟ้า สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ที่กลายเป็นแม่แบบของสวนอีกหลายๆ แห่งในกรุงเทพมหานคร

ภาพสวนเกษตรดาดฟ้าของสำนักเขตหลักสี่ เห็นฉากหลังเป็นภาพกว้างของกรุงเทพมหานครที่ขยายตัวไม่สิ้นสุด ที่มาภาพ: http://www.bangkok.go.th/laksi/page/sub/6548/

นอกจากนี้ แนวคิดในเรื่องการสร้างสวนกินได้ยังถูกต่อยอดไปถึงการใช้สวนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในชุมชน อาจมองได้ว่าความมั่นคงทางอาหารนั้นเป็นมากกว่าการที่แต่ละคนมีอาหารคุณภาพดีเพียงพอกับการบริโภค แต่หมายรวมถึงการแบ่งปันทรัพยากรอาหารระหว่างกันในกลุ่ม ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ สวนผักในชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327 กรุงเทพฯ ที่ฟื้นฟูพื้นที่รกร้างในชุมชนให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันในการผลิตอาหาร

สวนผักของชุมชนการเคหะทุ่งสองห้อง 327 ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่รกร้างของชุมชน ที่เคยเป็นแหล่งมั่วสุมและทำให้ชุมชนไม่ปลอดภัย
ที่มาภาพ: http://www.thaicityfarm.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=571&auto_id=47&TopicPk=

หรือสวน Lafayette Greens เมือง Detroit ที่ออกแบบและสร้างโดย Kenneth Weikal Landscape Architecture ภายใต้แนวคิดทางการออกแบบที่ทำให้สวนผักคนเมืองแห่งนี้เป็นมากกว่าแค่ที่ปลูกต้นไม้ แต่ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนสามารถมาเรียนรู้แนวคิดของความยั่งยืนร่วมกันผ่านอาหาร สิ่งแวดล้อม และเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างความหวังถึงการฟื้นฟูเมือง Detroit ที่ล้มเหลวเพราะระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมด้วย นั่นทำให้สวนแห่งนี้ได้รับรางวัล ASLA Professional Award 2012 ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ประจำปีของวงการภูมิสถาปัตยกรรมในสหรัฐอเมริกา

สวน Lafayette Greens ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Detroit ด้วยรูปแบบที่เรียบง่าย ทำให้ทุกคนเข้าถึงแนวความคิดที่นักออกแบบตั้งใจจะสื่อว่าสวนแห่งนี้เปิดกว้างเพื่อชุมชน
ที่มาภาพ: https://www.asla.org/2012awards/073.html

การจะแก้ปัญหาความอดอยากและความมั่นคงทางด้านอาหารให้ยั่งยืนนั้น ในขณะที่หลายฝ่ายอาจมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับนโยบายหรือที่อุตสาหกรรมการผลิต สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเมืองใหญ่หลายๆ เมือง รวมถึงในกรุงเทพมหานครกลับแสดงให้เห็นว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับใกล้ตัวและขยายออกไปสู่ชุมชนให้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่เกินตัว โดยนอกจากจะเพิ่มปริมาณอาหารที่มีคุณภาพให้กับคนในกลุ่มแล้ว ยังปลูกฝังให้คนเมืองได้เห็นพลังในตัวเองที่จะต่อสู้กับปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่ถูกยัดเยียดให้จากระบบที่พัฒนา โดยไม่ให้ความสนใจกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังที่คุณ Diana Balmori นักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “Edible Estates: Attack On The Front Lawn” ว่า “สิ่งที่เธอสนใจไม่ใช่แค่การปลูกผักในสนามหญ้า แต่เป็นการที่เราใช้ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ของเรากับระบบธรรมชาติก้าวผ่านเส้นบางๆ ที่กักเราไว้ในความงามของสนามหญ้าไปสู่ความงดงามของสวนผักกินได้”

เมื่อระบบเกษตรอุตสาหกรรมไม่อาจเลี้ยงดูเราได้ มนุษย์ก็มีทางออกด้วยการหันกลับไปสู่ชีวิตพื้นฐานที่เราผลิตอาหารด้วยมือของเราเอง การได้กินผักสดที่เป็นผลของน้ำพักน้ำแรง การได้เรียนรู้เรื่องการจัดสรรทรัพยากรร่วมกันในชุมชน และการได้เห็นตัวอย่างชิ้นงานทางภูมิสถาปัตยกรรมที่เป็นไปได้จริง ทำให้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งจับต้องได้

และนั่นได้ส่องให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ตามกรอบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ไม่เพียงแค่สำหรับปี ค.ศ. 2030 ตามที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ แต่สำหรับอนาคตต่อๆ ไปของเราทุกคน