ThaiPublica > เกาะกระแส > รพ. เอกชน 3 แห่ง ออกจากโครงการฯ สนง.ประกันสังคม แจงผู้ประกันตนอย่าได้วิตก รักษาได้ถึง 31 ธ.ค. 60

รพ. เอกชน 3 แห่ง ออกจากโครงการฯ สนง.ประกันสังคม แจงผู้ประกันตนอย่าได้วิตก รักษาได้ถึง 31 ธ.ค. 60

3 กันยายน 2017


นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจง สถานพยาบาลออกจากโครงการประกันสังคม จำนวน 3 แห่ง ในปี 2561 วอนผู้ประกันตนอย่ากังวล เจ็บป่วยยังสามารถใช้บริการรักษาได้ถึง 31 ธ.ค. 2560 ด้าน เลขาฯ สปส. ชี้ไม่ส่งผลกระทบผู้ประกันตน เผยเตรียมสถานพยาบาลทดแทนไว้ให้ผู้ประกันตนแล้ว เลือกได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ต.ค. 2560 แต่หากไม่พอใจอีก ก็สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาล ประจำปี 2561 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 – 31 มี.ค. 2561 ซึ่งขณะนี้มีสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการฯ ถึง 238 แห่งทั่วประเทศ

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวจากโครงการประกันสังคมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลยันฮี กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และโรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง ว่า ขอให้ผู้ประกันตนอย่าได้วิตกกังวล เพราะหากผู้ประกันตนเจ็บป่วยยังสามารถใช้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งดังกล่าวได้จนถึง 31 ธันวาคม 2560 สำหรับเหตุผลของสถานพยาบาล 3 แห่งดังกล่าวได้ถอนตัวออกจากโครงการประกันสังคม เนื่องจากเป็นการดำเนินตามแนวทางการบริหารธุรกิจของแต่ละแห่ง เช่น การเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางการที่สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลในเครือที่อยู่ใกล้กันจะได้ไม่แย่งลูกค้ากันเอง หรือเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้ประกันตนเลือกจำนวนน้อย และขอยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีโรงพยาบาลเอกชนออกจากโครงการประกันสังคมเนื่องจากภาวะการขาดทุน ทั้งนี้ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนตามโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขอถอนตัวเนื่องจากประสบภาวการณ์ขาดทุน

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดสถานพยาบาลทดแทนให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้ว โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเลือกสถานพยาบาล ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้ หากไม่เลือกภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตน และสำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลการเลือกสถานพยาบาลให้สถานประกอบการ (มาตรา 33) และผู้ประกันตนมาตรา 39 วันที่ 17 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้จากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และข้อความ SMS แจ้งผลการเลือกสถานพยาบาลของผู้ประกันตนมาตรา 39

แต่หากผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำปี 2561 อีก ก็สามารถแจ้งการเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยสถานพยาบาลที่เลือกต้องเป็นสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ซึ่งในปี 2561 มีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการประกันสังคม ทั้งสิ้น 238 แห่ง (สถานพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 79 แห่ง ทั้งนี้ รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนสมัครเข้าใหม่ในปี 2561 อีก 2 แห่ง)

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 นี้ คณะกรรมการประกันสังคมมีมติปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 โดยมีรายละเอียดในการเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ดังนี้

  • เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวจากเดิม 1,460 บาท/คน/ปี เป็น 1,500 บาท/คน/ปี
  • เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคที่มีภาระเสี่ยง จากเดิม 432 บาท/คน/ปี เป็น 447 บาท/คน/ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5,364 ล้านบาท
  • เพิ่มค่ารักษาผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูง จากเดิม 560 บาท/คน/ปี เป็น 640 บาท/คน/ปี โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น เป็นเงิน 7,680 ล้านบาท
  • กรณีการรักษาผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายเกินหนึ่งล้านบาท ได้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้สถานพยาบาลในอัตราร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายที่เกินหนึ่งล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าบริการทางการแพทย์ทุกรายการ เช่น เหมาจ่าย เหมาจ่าย 1,500 บาท/คน/ปี โรคเรื้อรังที่เป็นภาระเสี่ยง 447 บาท/คน/ปี โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 640 บาท/คน/ปี ค่ารักษาที่เกินหนึ่งล้านบาท 15 บาท/คน/ปี ค่ารักษาอื่นๆ เช่น ค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยาสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะและค่าส่งเสริมสุขภาพเป็นการตรวจร่างกายประจำปี 397 บาท/คน/ปี กรณีประสบอันตราย/ฉุกเฉิน ค่าบริการทันตกรรม มียอดรวมทั้งสิ้น 3,399.69 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงและไม่น้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ เมื่อเทียบกันแล้ว

นายสุรเดชกล่าวในตอนท้ายว่า กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยปฏิรูปบริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านการแพทย์ที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ ซึ่งนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของประเทศอย่างยั่งยืน