ThaiPublica > คอลัมน์ > คุยเรื่องลักลอบขุดของโบราณจากมุมมองเศรษฐศาสตร์: ตอนที่ 1 “Macro-Level”

คุยเรื่องลักลอบขุดของโบราณจากมุมมองเศรษฐศาสตร์: ตอนที่ 1 “Macro-Level”

15 สิงหาคม 2017


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

“มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย”
– พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔

การลักลอบขุดโบราณวัตถุแบบย่อย เช่น ลูกปัด เหรียญ พระเครื่อง สำริดต่างๆ ไปจนถึงการลักลอบตัดเศียรเทวรูปและพระพุทธรูปในประเทศไทยเพื่อไปขาย เป็นปัญหาที่เหมือนไฟป่าที่เรื้อรังและส่งผลกระทบรุนแรงในแง่การทำลายโบราณสถานและโบราณวัตถุอย่างรวดเร็ว ในสมัยก่อนปัญหาความหละหลวมในการควบคุมและดูแลรักษาโบราณวัตถุได้ทำให้เกิดการโกงกินและลักลอบขายโบราณวัตถุออกนอกประเทศ

แต่ 30 ปีให้หลัง ข้าราชการยุคใหม่มือสะอาดได้แต่นั่งเสียดายหลักฐานที่หายไปและพยายามกู้กับศึกษาในสิ่งที่ยังคงเหลืออยู่จากการปล้นทรัพยากรทางโบราณคดีที่เกิดขึ้นโดยฝีมือคนไทยและชาวต่างชาติในอดีต แต่ปัญหาการลักลอบขุดก็ยังคงดำเนินต่อไปราวกับกฎหมายที่ออกมาเพื่อป้องกันไม่มีความหมายใดๆ จำนวนลูกปัดที่มาจากการลักลอบขุดและทำเทียมขึ้นมาในประเทศไทยจนรายงานนานาชาติที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางศิลปวัตถุและโบราณวัตถุหลายๆ เล่มต่างยกให้ตลาดนัดของกรุงเทพฯ เป็นแหล่งที่สามารถซื้อลูกปัดโบราณ “ได้เป็นกระป๋องๆ ”

ความเจ็บปวดของนักวิชาการที่ทำงานทางด้านประวัติศาสตร์คือการต้องทนเห็นเสียมเหล็กเจาะทะลุหม้อโบราณจนแทบไม่เหลือสภาพไปจนถึงกองกระดูกมนุษย์โบราณที่กองไว้ตามศาลในหมู่บ้านต่างๆ หลังจากที่ลูกปัดและเครื่องประดับสำริดต่างๆ ได้ถูกถอดออกจากร่างไปแล้ว หรืออิฐโบราณที่ถูกรื้อไปสร้างวัดใหม่ ทุกครั้งที่แหล่งโดนปล้นเพื่อหา “สมบัติ” คือโอกาสการสร้างแหล่งโบราณคดีอย่างบ้านเชียงได้หมดไป

ร่องรอยของหลุมลักลอบขุดแหล่งโบราณคดีในไทยเพื่อหาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? แล้วทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหานี้?

ภาพรวมของทรัพยากรโบราณคดีในประเทศไทย

รายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากรปัจจุบันมีราวๆ 8,500 แหล่งทั่วประเทศ ยังไม่นับแหล่งโบราณคดีที่ยังไม่ได้รับการสำรวจอีกหลายซึ่งบางส่วนอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กะคร่าวๆ รวมกันจากงานที่ผู้เขียนทำคือการรวบรวมฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยแล้วน่าจะตกอยู่ที่ประมาณหมื่นแหล่ง

และนี่ยังไม่รวมแหล่งโบราณคดีใต้น้ำซึ่งควรจะได้รับความสนใจมากกว่าที่เป็นอยู่อีก เราจะได้ภาพรวมว่าประเทศไทยมีแหล่งโบราณคดีโดยเฉลี่ยประมาณ 130 แหล่งต่อจังหวัด สำนักโบราณคดีตอนนี้มีทั้งหมด 12 สำนักโดยที่มีนักโบราณคดีประจำสำนักราวๆ 4-5 คน เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำนวนบุคลากรที่จะดูแลรักษาโบราณสถานไม่เพียงพอต่ออัตราแหล่งโบราณคดีภายในประเทศ มากไปกว่านั้น จำนวนมหาวิยาลัยที่ผลิตนักโบราณคดีและงานวิจัยในเชิงโบราณคดียังมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ทำให้การขยายตัวของอุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของงาน

แหล่งโบราณคดีในประเทศไทยมีหลายยุคสมัย หลายวัฒนธรรมและภาษา ตั้งแต่ยุคหินเก่ามาจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ ทุกภูมิภาคมีโบราณสถานและลักษณะเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน ถ้าเปรียบก็เหมือนเป็นทรัพยากรที่ผู้ใช้ยังไม่ได้ดึงศักยภาพออกมาเต็มที่ แม้ว่าจะเริ่มมีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกิดขึ้นแต่ก็เกิดปัญหาเรื่องการทบทวนข้อมูลและเชื่อมต่อเนื้อหากับหน่วยงานอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหานักโบราณคดีพูดแบบหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยพูดอีกแบบหนึ่ง พอเจอนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีการเอาเนื้อเรื่องมารวม สานต่อ และส่งต่อหรือผลักดันให้อุตสาหกรรมอื่นนำไปใช้ กลายเป็นประวัติศาสตร์และโบราณคดี “ขึ้นหิ้ง”

มีคนอยู่แค่กลุ่มเดียวในสังคมให้ความสนใจ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเมื่อยังคงต้องการ “เสพวัฒนธรรม” ก็เข้าถึงได้อย่างแค่ผิวเผินเพื่อถ่ายรูปตามกระแสสังคม ทำให้การท่องเที่ยวแหล่งโบราณคดีไม่คงเส้นคงวาในระยะยาวไปด้วย

ตัวอย่างที่ดีของการส่งต่อข้อมูลของมรดกทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างสื่อบันเทิงกับวิชาการ อุตสาหกรรมมรดกทางวัฒนธรรม สร้างวงจรได้จากการสร้างหนังหรือละครพีเรียดที่มีการลงทุนทำวิจัยเรื่องเครื่องแต่งกายโบราณและเนื้อหา โดยจะต่อยอดละครหรือหนังที่ประสบความสำเร็จด้วยการผลิตสารคดี นิทรรศการ และหนังสือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับละครหรือหนังดังกล่าวออกมา และเมื่อทำออกมาให้เป็นองค์ความรู้แล้วบริษัทต่างๆ ก็สามารถนำไปใช้เพิ่มคุณภาพและมูลค่าของสื่อบันเทิงของตนได้อีก

ในประเทศไทยการทำงานเรื่องนี้ที่เห็นผลในระยะยาวคือการผลิตเครื่องแต่งกายสำหรับหนังเรื่องสุริโยทัยและนเรศวรซึ่งมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสื่อเกี่ยวกับสมัยอยุธยา แต่สำหรับยุคก่อนหน้าหรือวัฒนธรรมนอก “วัฒนธรรมไทย” ยังเป็นสิ่งที่สื่อยังคงต้องพัฒนาต่อไป

มิติของโบราณคดีในฐานะทรัพยากรทางเศรษฐกิจ

การที่จะเข้าใจว่าทำไมแหล่งโบราณคดีถึงโดนลักลอบขุดมากต้องเข้าใจพื้นฐานของโบราณวัตถุและโบราณสถานก่อน

1. มรดกทางโบราณคดีเป็นสินค้าในตลาดที่กำลังโต

เมื่อประชากรมีรายได้มากขึ้นการใช้จ่ายกับสินค้าอุตสาหกรรมจะลดลง แต่ในทางกลับกัน การบริโภคสินค้าบริการจะมากขึ้น ปัจจุบันหลายๆ ประเทศในเอเชียได้กลายเป็นประเทศซึ่งมีรายได้ระดับกลางถึงกลางบนทำให้ศักยภาพในการบริโภคบริการสูงขึ้นและกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางใหม่นี่เองที่เป็นแรงขับเคลื่อน art market boom ในเอเชียโดยเฉพาะจีนซึ่งโตถึง 20%

ในขณะที่ตลาดศิลปะในตะวันตกกำลังอยู่ในขาลงคนเอเชียกำลังต้องการบริโภควัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าความกระหายที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมรวมทั้งบริโภควัฒนธรรมทั้งในทางตรงและทางผ่านมีมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในตลาดโลกเฟื่องฟูขึ้นด้วยระดับจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวโลกที่มากขึ้นตามกระแสเศรษฐกิจในระยะยาว Heritage Industry จึงเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวมาขึ้นในสังคมเอเชีย ประเทศใดมี “ทุน” ทางทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมเยอะประเทศนั้นก็สามารถต่อยอดและได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตของตลาดนี้ได้เร็ว

ในทางกลับกัน เมื่อทักษะของประชากรในการผลิตและศักยภาพการบริหารตลาด (รวมถึงการบริหารตลาดผิดกฎหมาย) ไม่เพียงพอ โมเดลธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนก็จะก่อตัวขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่ตลาดถูกกฎหมายไม่สามารถตามได้ทัน เช่น การลักลอบขุดไปขาย การทำพิพิธภัณฑ์แบบไม่เป็นระบบ การซ่อมโบราณสถานแบบผิดๆ แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้โตไวกว่าการรับมือของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลและพัฒนาให้ยั่งยืน

ลักษณะของ Heritage Industry และการบริโภคมรดกทางวัฒนธรรม

การขยายตัวของตลาดผู้บริโภคศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นชนชั้นกลาง ยังมีส่วนทำให้แนวทางของอาชญากรรมทางศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ (Art Crime) เปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้สะสมจะมีจำนวนน้อยและเลือกซื้อชิ้นราคาเป็นหลักแสนหลักล้าน อย่างเช่น กรณีเทวรูปองค์ใหญ่ๆ ที่โดนลักลอบไปขายในอดีต ปัจจุบันการปราบปรามที่เข้มงวดกับโบราณวัตถุชิ้นใหญ่ผสมกับตลาดชนชั้นกลางที่ต้องการจะบริโภคสินค้าเหล่านี้ทำให้กระแสการลักลอบขุดเปลี่ยนจาก “หาชิ้นใหญ่แต่ขุดน้อย” ไปเป็น “หาชิ้นเล็กแต่ขุดเยอะ” ซึ่งในทางโบราณคดีแล้วการลักลอบขุดอย่างกว้างขวางทำกันไปทั่วเป็นภัยที่น่ากลัวกว่าการพยายามขนทับหลังที่อย่างน้อยก็ยังพอจะระบุตำแหน่งและตามเฝ้าหรือจดบันทึกได้ทันก่อนแหล่งโบราณคดีจะโดนปล้น

2. มรดกทางวัฒนธรรมคือสินค้าสาธารณะ (Public Good)

มรดกทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม (Heritage) มีคุณสมบัติเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Good) ซึ่งทำให้ห้ามการเข้าถึงไม่ได้เหมือนกับทรัพยากรธรรมชาติเช่นทองคำ เมื่อไปปรากฏอยู่ในบริเวณใดก็จะมีคนเข้าถึงแหล่งโบราณคดีได้ไม่ยากเหมือนกับการไปไล่หาทองในบ่อทองที่ปรากฏตามทุ่งนาหรือพื้นที่ป่าเขาในจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นทรัพยากรที่มีลักษณะจำนวนจำกัด (Limited) เนื่องจากเป็นสิ่งที่เมื่อเสื่อมสภาพไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับทรัพยากรธรรมชาติ ผิดตรงที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นเหมือนกับมรดกที่ได้ตกทอดกันในครอบครัว เพียงแต่ Heritage นั้นมีจุดเด่นมากกว่าทรัพยากรธรรมชาติคือทำหน้าที่เป็น Factor of Production หรือปัจจัยการผลิตให้กับอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมความรู้ (Knowledge Industry) โดยตรง

ในทางกลับกัน เมื่อมรดกโบราณคดีตกไปสู่ตลาดการค้าโบราณวัตถุ ลักษณะของสินค้าจะเป็น Veblen Good หรือสินค้าที่ราคายิ่งแพงอุปสงค์ยิ่งมาก เพราะมูลค่าของศิลปวัตถุหรือโบราณวัตถุนั้นจะมีค่าเมื่อแหล่งโบราณคดีมีชื่อเสียง

ทรัพยากรสาธารณะนั้นเข้าถึงง่าย และการควบคุมดูแลไม่ให้เข้าถึงหรือการจำกัดผู้เข้าถึงนั้นเป็นไปได้ยากรวมทั้งมีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยงานที่ควบคุมสูง ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ “ความรู้เรื่องแหล่งโบราณคดี” ซึ่งเป็นสินค้าสาธารณะ นักวิชาการสามารถหาและนำมาใช้เขียนหนังสือตีพิมพ์เป็นรายได้ของตนได้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มลักลอบขุดก็ตามงานของเหล่านักวิชาการและไปลักลอบขุดแหล่งโบราณคดีใหม่ๆ ได้เหมือนกัน ยิ่งนักวิชาการผลิตงานวิชาการและได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการยิ่งมีราคาแพง ยิ่งสำหรับตลาดเอเชียที่มีวัฒนธรรมเรื่องเครื่องรางของขลังอยู่ด้วยแล้วเนื้อหาที่ผสมระหว่างประวัติศาสตร์กับความเชื่อกลายเป็นตัวผลักดันราคาสินค้าได้อย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ลูกปัดที่มาจากแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิ ซึ่งมีตำนานเรื่องการเข้ามาของศาสนาพุทธ หรือลูกปัดที่เกี่ยวข้องกับ “วัฒนธรรมขอมโบราณ” มักมีการโฆษณาขายด้วยการอ้างถึงอำนาจและพลังศักดิ์สิทธิ์ของคนโบราณ

ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อราคาสินค้าขึ้น การลักลอบขุดก็เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับการปลอมแปลงสินค้า ยิ่งอำนาจในการควบคุมของรัฐต่ำเพราะงบประมาณและบุคลากรไม่พอจึงเป็นวงจรให้แก้ปัญหาไม่ได้ เงินภาษีที่ควรจะได้เพื่อมาบำรุงรักษาและค้นคว้าพัฒนาเพิ่มเติมจากกิจกรรมของตลาดก็เก็บไม่ได้เพราะตลาดของมรดกโบราณคดีกลายเป็นเศรษฐกิจนอกระบบไป (informal sector) ไป

วิธีแก้คือต้องลดภาระรัฐในฐานะผู้วิจัยและนำผู้ชำนาญการรัฐมาควบคุมการใช้งานของเอกชนแทน

ในหลายๆ ประเทศแม้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมจะถือเป็นทรัพย์ของชาติแต่การบริหารงานและสร้างกำไรนั้นอยู่ในมือเอกชน เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ รัฐบริหารแหล่งโบราณคดีจริงๆ แค่ 3% เท่านั้น การลดหน้าที่รัฐเพื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพงานทำให้พัฒนาแหล่งโบราณคดีได้ง่ายและมีคุณภาพ เช่น ถ้าจะก่อสร้างตึกทับแหล่งโบราณคดีจะต้องปรับแผนงานอย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีการลดหย่อนภาษีให้กับเอกชนที่เป็นเจ้าของที่ดินโบราณสถานและได้ร่วมมือกับรัฐในการรักษาแหล่งเหล่านี้เอาไว้ ในขณะเดียวกัน ตึกโบราณและโบราณสถานเมื่อพัฒนาก็จะเพิ่มมูลค่าที่ดินและยังสร้างงานด้านการอนุรักษ์ซ่อมแซมและบริหารแหล่งอีกด้วย

3. ค่าเสียโอกาสของชุมชนในระยะยาวจากการที่สินค้าจากมรดกทางโบราณคดีกลายเป็นสินค้านอกระบบ

จุดเด่นอีกอย่างนึงของ Heritage คือเป็นทรัพย์สินแรกเริ่ม (Endowment) ที่กระจายตัวไปในจังหวัดต่างๆ ที่สำคัญคือ ด้วยคุณลักษณะของโบราณสถานและวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ทำให้ Heritage แต่ละที่มีหลักการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ซึ่งทำให้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อและมาพัฒนามีโครงสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในแต่ละท้องที่ นับเป็นทุนทางความรู้และสังคม (Knowledge and Social Capital) ที่สามารถนำมาใช้ยกระดับเศรษฐกิจของท้องที่เป็นเศรษฐกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มได้และยังสามารถกระจายการพัฒนาเมืองออกไปสู่ชนบทได้อีกด้วย เพราะธรรมชาติของมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นทรัพยากรที่มีผลทวีคูณในเชิงการเพิ่มมูลค่า (Multiplier Effect) ของจุดภูมิศาสตร์สูงกว่าการพัฒนาห้างร้านหรือตลาด

โดยงานวิจัยเรื่อง Heritage ในหลายๆ พื้นที่ต่างประเทศ เช่น กรณีการพัฒนาตึกโบราณในเขตนอกเมืองของกรุงวอชิงตันและแหล่งโบราณคดีในประเทศแถบยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ในงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐิกิจในเมือง Salamanca ที่ได้ฉายาว่าเป็น “เมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรป” รัฐบาลท้องถิ่นได้หันมาใช้มรดกทางวัฒนธรรมเป็นตัวนำในการพัฒนา ในไม่กี่ปีนักวิจัยพบว่า economic spin-off หรือผลกระทบของการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นสูงถึง 69.23% เมื่อเทียบกับสเปนที่เหลือซึ่งอยู่ที่ 30.77% แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐในการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมส่งผลกระทบโดยตรงกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นมากกว่าโดยรวมในระยะยาว การพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรดังกล่าวเยอะจึงเป็นกลไกที่ดีในการกระจายการพัฒนาของประเทศ

ในทางกลับกัน การลงทุนในมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเหมือนการลงทุนในการศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะมรดกทางวัฒนธรรมมีคุณสมบัติที่ต้องอาศัยการแปรรูปเป็นผลิตผลด้วยความรู้และทุนในการพัฒนาอุปกรณ์ที่จะมาเสริมและแปรรูปความรู้ มากไปกว่านั้น แหล่งโบราณคดียังมีลักษณะซึ่งเป็นทรัพยากรซึ่งเมื่อนำออกมาใช้แล้วจะมีค่าความเสื่อมสภาพสูง (high depreciation cost) และหากทิ้งเอาไว้หรือบริหารไม่ถูกต้องโอกาสที่จะสูญเสียส่วนใดส่วนหนึ่งของมูลค่าโบราณสถานไปนั้นเป็นไปได้สูงเพราะการพัฒนาจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะชำนาญการพิเศษ เมื่อบริหารไม่ถูกต้อง ทรัพยากรมรดกทางโบราณคดีจะกลายเป็นเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมหรือพัฒนามูลค่าอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว ปัญหาอันดับต้นๆ ของเอเชียคือการที่โบราณสถานเป็นศาสนสถาน และค่านิยมของใหม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ทำลายของเก่าหรือสร้างทับของเก่า ซึ่งเมื่อสร้างหรือซ่อมไม่ถูกต้องมูลค่าความเก่าของมรดกทางวัฒนธรรมก็หายไป

ภาพจาก Back to Backs Museum ที่เมือง Birmingham ตึก Back to Backs เป็นที่อาศัยของโรงงานแออัดในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัจจุบันได้มีการรักษาตึกไว้ โดยข้างๆ มีร้านค้าและที่พักสมัยใหม่ที่ราคาสูง ในส่วนตึกเก่ามีการรื้อฟื้นร้านโบราณอย่างร้านขนมในรูปโดยมีประวัติของขนมต่างๆ ที่นิยมกัน แสดงให้เห็นว่ามรดกทางวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องเป็น “สิ่งสวยงาม” เพราะแม้แต่บ้านซึ่งเป็น “สลัม” เมื่อห้าสิบปีที่แล้วก็สามารถเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ในระยะยาวได้หากสร้างเนื้อหาและบริหารให้ถูกต้อง

“เพื่อการท่องเที่ยว” กับดักของการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม

การพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมในระยะยาวจำเป็นต้องมองข้ามเป้าหมายในระยะสั้นเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งเป็นสินค้าบริการ และตั้งคำถามใหม่ว่า “สินค้าอุตสาหกรรม” ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้นั้นคืออะไร? เพราะการท่องเที่ยวเป็นเพียงผลพลอยได้ชนิดหนึ่งจากความต้องการเสพวัฒนธรรมเท่านั้น

มากไปกว่านั้น การที่จะกระจายตัวผลของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปสู่แหล่งโบราณคดีเป็นหมื่นแห่งนั้นยิ่งเป็นไปได้ยาก ในประเทศที่สามารถนำวัฒนธรรมซึ่งเป็นทรัพยากรมาแปลงเป็นอุตสาหกรรมได้สำเร็จ วัฒนธรรมจะกลายเป็นแบรนด์และวิถีความคิดและการผลิตของประเทศและเป็นนโยบายหรือวิถีที่เน้นในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Investment) เช่น อังกฤษจะดังเรื่องการผลิตในโรงงานไม่ใหญ่แต่เน้นผลิตสิ่งของที่ใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะสูงเน้นฝีมือ ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางวัฒนธรรมและการนำวัฒนธรรมมาเป็นแบรนด์ของอุตสาหกรรม มากไปกว่านั้น การรักษาวัฒนธรรมนั้นจะเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมเพื่อมารักษา เช่น การออกโจทย์ให้มีงานวิจัยและความร่วมมือระหว่างนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาปนิก วิศวกร และช่าง ในการ “สร้างตึกใหม่รักษาโครงตึกเก่า” ซึ่งเมื่อได้เทคนิกการรักษาแล้วก็นำมาตั้งบริษัทชำนาญการรับปรึกษาได้ในอีกหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมยังคงถูกมองในฐานะทรัพย์ของรัฐซึ่งรัฐต้องมีหน้าที่บริหารและจัดการ ทำให้เรื่องการพัฒนาแหล่งโบราณคดีตกเป็นภาระของรัฐทั้งหมดรวมถึงเรื่องการศึกษาด้วย

ประโยชน์ของมรดกศิลปะทางวัฒนธรรมภายใต้การนิยามของกรมศิลปากรสามารถแบ่งได้สองส่วน คือ

1) ประโยชน์ในเชิงอัตลักษณ์ที่จับต้องไม่ได้ แบ่งประโยชน์เป็น สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติของเผ่าพันธุ์ท้องถิ่น, สิ่งที่แสดงถึงเกียรติและความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและของคนในชาติ ทำให้เกิดความรัก หวงแหน เห็นคุณค่า และเป็นสิ่งก่อให้เกิดความรู้สึก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ เป็นความมั่นคงของชาติ

สิ่งที่ไม่ได้กล่าวไว้คืออำนาจของมรดกทางวัฒนธรรมในฐานะอำนาจละมุนหรือ soft power ของคำว่า Made in Thailand หรือภาพพจน์ของชาติ หลายๆ ประเทศเน้นนโยบายใช้วัฒนธรรมนำการค้าและคุณภาพสินค้า เช่น ญี่ปุ่นขายอัตลักษณ์ความละเอียดและแนวทางศิลปะแบบ minimalist ซึ่งสื่อออกมาในรูปแบบนวัตกรรมและสินค้าอื่นๆ อังกฤษขายความเป็นเมืองเก่าที่เป็นสังคมของการศึกษาโดยใช้ประวัติศาสตร์นำร่อง วัฒนธรรมหากใช้อย่างลึกซึ้งมีผลต่อการตลาดของประเทศและความน่าเชื่อถือของสินค้าและประชากร

2) ผลผลิตที่จับต้องได้ในอุตสาหกรรมพื้นบ้าน (traditional sector)

มรดกทางวัฒนธรรมมีการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมสมัยใหม่น้อย อุตสหกรรมพื้นบ้านและงานทางด้านศิลปะที่มักจะมีอัตราการผลิตนวัตกรรมต่ำกว่าวิทยาศาสตร์ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยผสานเข้ากับการใช้งานสมัยใหม่โดยทำให้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ และการดำเนินงานยังคงเน้นเรื่อง “หลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและเผยแพร่” ต่อไป การสร้าง heritage industry และนำทรัพยากรทางวัฒนธรรมมาใช้เพื่อสานต่อกับทั้งโลกภายนอกและโลกอนาคตได้นั้นจะยาก ทักษะทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้ขับเคลื่อนออกมาใช้นอกพื้นฐานวัฒนธรรมเดิมๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาตลาดไม่ต้องการเหมือนอุตสาหกรรมผ้าไหมและกิโมโนในประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำลังเผชิญปัญหาอุปสงค์ขาดแคลนอย่างรุนแรง จนเทคนิคการทอและย้อมผ้าไหมสำคัญๆ กำลังจะหายไป

แม้การท่องเที่ยวจะสำคัญ แต่หากมีอุตสาหกรรมและบริการที่ “พัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว” เกิดขึ้น การท่องเที่ยวจะเพิ่มมูลค่าและอยู่ได้ในระยะยาว

ผู้เขียนขอจบประเด็นเรื่อง Macro-Level ของปัญหาที่เราไม่สามารถนำทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้ได้เต็มที่ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการลักลอบ ลอกเลียน และรักษาแบบผิดๆ ตามมาไว้แค่นี้ก่อน บทความหน้าขอต่อเรื่อง Micro-Level ใครขุด? และขุดเพื่ออะไร?