ThaiPublica > เกาะกระแส > ตำนานพรรคทหาร โมเดล “สืบทอดอำนาจ” ที่เสื่อมมนต์ขลัง

ตำนานพรรคทหาร โมเดล “สืบทอดอำนาจ” ที่เสื่อมมนต์ขลัง

6 กรกฎาคม 2017


85 ปี ประชาธิปไตยไทย หลังการอภิวัฒน์ 2475 แต่การเมืองไทยยังติดหล่มอยู่กับวังวนปัญหาเดิมๆ

จากการรัฐประหาร 13 ครั้ง ทำให้มีการฉีกและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มาแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ แต่ไม่อาจเป็น “บทเรียน” ให้สังคมออกจากวิกฤติที่เป็นมา

การอาสาเข้ามา “ปฏิรูป” ประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลายเป็นความหวังที่เวลานี้หลายคนเริ่มถอดใจหลังเริ่มเห็นหน้าเห็นหลังกับการบริหารงานมาแล้วกว่า 3 ปี

วลียอดฮิตอย่าง “ขอเวลาอีกไม่นาน” ถูกดักคอว่าเห็นสัญญาณการยื้ออยู่ในอำนาจออกไปร่วม 20 ปี

ในวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอาชา หัวหน้า คสช. ประกาศชัดยืนยันเดินหน้าตามโรดแมป สู่เป้าหมายเลือกตั้งปี 2561 แต่อีกด้านยังแบ่งรับแบ่งสู้ กับกระแสเชียร์สู่ “นายกรัฐมนตรีคนนอก”

สอดรับกระแส “พรรคทหาร” ที่เริ่มเห็นการขับเคลื่อนผ่านสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในวันที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำลังติดขัดกับปมร้อน “ไพรมารีโหวต” ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร

หรือกงล้อประวัติศาสตร์จะส่อเค้าหมุนวนกลับมาที่เดิม เมื่อ “พรรคทหาร” ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของ “การสืบทอดอำนาจ” ที่เคยใช้กันสำเร็จมาตั้งแต่เมื่อ 70 ปีที่แล้ว กำลังจะถูกปัดฝุ่นกลับมาใช้อีกรอบ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ย้อนไป 2498 หลัง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2498 ประกาศใช้เปิดให้ตั้งพรรคการเมืองได้ครั้งแรก พรรคเสรีมนังคศิลาถือกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2498 เป็นพรรคการเมืองพรรคแรกในประเทศไทย และยังนับเป็นต้นแบบพรรคทหารพรรคแรกในสารบบการเมืองไทย

ดังจะเห็นว่าหัวหน้าพรรคขณะนั้นก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลขาธิการพรรคคือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ มีรองหัวหน้าพรรค ได้แก่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลตรีประภาส จารุเสถียร

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2500 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่าสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ พรรคเสรีมนังคศิลาได้รับเลือกตั้งมากที่สุดรวม 83 ที่นั่งจากทั้งหมด 160 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีพันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกเพียงแค่ 30 ที่นั่ง

เมื่อผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ จนนำไปสู่การเดินขวนของนิสิต นักศึกษา และประชาชนไปยังทำเนียบรัฐบาล กระทั่งต่อมาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารของจอมพล สฤษดิ์ และกลุ่มทหารของจอมพล ป. และกลุ่มตำรวจของ พล.ต.อ. เผ่า บานปลายกลายเป็นการรัฐประหารในวันที่ 16 ก.ย. 2500

ต่อมาพรรคเสรีมนังคศิลาถูกยุบรวมเข้ากับพรรคชาติสังคม ก่อนที่จอมพล สฤษดิ์ จะกระทำการ รัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2501 พร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ทำให้พรรคเสรีมนังคศิลาต้องยุติบทบาทลง

ถัดมาที่ “พรรคสหประชาไทย” ที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 โดยจอมพล สฤษดิ์ ซึ่งต่อมามี พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ออกมาบังคับใช้ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ก่อตั้ง “พรรคสหประชาไทย” และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเอง

นอกจากนี้ยังมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และนายพจน์ สารสิน เป็นรองหัวหน้าพรรค โดยมี พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2512 พรรคสหไทยได้รับเลือกมาเป็นที่หนึ่ง ได้ ส.ส. ทั้งหมด 74 ที่นั่ง จากทั้งหมด 219 ที่นั่ง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. ทั้งหมด 55 คน ขณะที่พรรคอื่นและผู้สมัครอิสระรวมกันเป็น ส.ส. ทั้งหมด 90 คน

ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 พรรคสหประชาไทยได้รับเลือกตั้งด้วยจำนวนเสียงมากที่สุด คือ 75 เสียง ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำต้องหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติม โดยมีข้อต่อรองเรื่องผลประโยชน์เป็นการตอบแทน

จอมพล ถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการต่อรองผลประโยชน์ขอสมาชิกพรรค จนสุดท้าย จอมพล ถนอม ต้องทำรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พ.ย. 2514 พรรคสหประชาไทยจึงได้ยุติแต่เพียงเท่านี้

มาสู่ยุคหลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ ปี พ.ศ. 2534 “พรรคสามัคคีธรรม” ถูกตั้งขึ้นจากนักการเมืองและบุคคลที่ใกล้ชิดกับ รสช. โดยมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และนาวาอากาศตรี ฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค

การเลือกตั้งในปี 2535 พรรคสามัคคีธรรมได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 79 ที่นั่ง จากทั้งหมด 360 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งพรรครัฐบาลกับพรรคชาติไทย (74 ที่นั่ง) พรรคกิจสังคม (31 ที่นั่ง) พรรคประชากรไทย (7 ที่นั่ง) พรรคราษฎร (4 ที่นั่ง) รวม 5 พรรค 195 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านมี 6 พรรค 165 ที่นั่ง ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ (72 ที่นั่ง) พรรคประชาธิปัตย์ (44 ที่นั่ง) พรรคพลังธรรม (41 ที่นั่ง) พรรคเอกภาพ (6 ที่นั่ง) พรรคปวงชนชาวไทย (1 ที่นั่ง) และพรรคมวลชน (1 ที่นั่ง)

จากที่ถูกกล่าวหาเรื่องเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นปัญหาที่ทำให้นายณรงค์ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้าย นำไปสู่การเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้นำ รสช. มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นชนวนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ภายหลังจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ของ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) “พรรคเพื่อแผ่นดิน” ถูกตั้งขึ้นมาท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่ารับการสนับสนุนจาก คมช. เพื่อไปลงสนามเลือกตั้งแข่งขันกับขั้วอำนาจเก่า

โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค มีอดีต ส.ส. เช่น นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รวมทั้งกลุ่มบ้านริมน้ำของสุชาติ ตันเจริญ ร่วมก่อตั้ง

แต่การเลือกตั้งปี 2550 ทุกอย่างดูจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายเมื่อพรรคเพื่อแผ่นดินได้เพียงแค่ 24 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ที่ได้ไป 233 ที่นั่ง เป็นแกนนำร่วมจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น และดึงพรรคเพื่อแผ่นดินไปร่วมรัฐบาล

ทิ้งให้พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ซึ่งได้ 165 ที่นั่ง เป็นฝ่ายค้านตามลำพัง

สุดท้าย พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อแผ่นดินได้ประกาศรวมตัวกันและตั้งพรรคใหม่ขึ้น ชื่อว่า “พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน”

จะเห็นว่า รูปแบบของพรรคทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมานั้นมีจุดที่เหมือนกันคือรูปแบบความเป็นพรรคเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นมากับวัตถุประสงค์ที่ถูกมองว่าเพื่อการสืบทอดอำนาจให้กับคณะผู้มีอำนาจซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร และมาจากการรัฐประหาร เมื่อผ่านการเลือกตั้งแล้วก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากหรือควบรวมกับพรรคอื่นในที่สุด

แต่ระยะหลัง เมื่อประชาชนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ความนิยมในพรรคทหารดูจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จนยากจะมีส่วนสนับสนุนภารกิจสืบทอดอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มเบื่อหน่ายนักการเมืองถึงขั้นเคยเกิดปรากฏการณ์เรียกร้องให้ทหารเข้ามายึดอำนาจพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แนวคิดเรื่องพรรคทหารจะยังวนเวียนอยู่กับการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบันด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

รัฐประหาร 13 ครั้งในประเทศไทย

1. วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

2. วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

3. วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

4. วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

5. วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

6. วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

7. วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร

8. วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

9. วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

10. วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

11. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ

12. วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนายทักษิณ ชินวัตร

13. วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา