ThaiPublica > เกาะกระแส > ย้อนรอย 2 โมเดล “ดูด” ในประวัติศาสตร์ สู่แผนปฏิรูปการเมือง 5 ประเด็น 11 ด้าน

ย้อนรอย 2 โมเดล “ดูด” ในประวัติศาสตร์ สู่แผนปฏิรูปการเมือง 5 ประเด็น 11 ด้าน

21 พฤษภาคม 2018


2 โมเดลการดูด กรณี “พรรคสามัคคีธรรม”

ย้อนอดีตที่ผ่านจะพบรูปแบบการดูดที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะกับ 2 โมเดลที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก

เริ่มจากสไตล์ “พรรคสามัคคีธรรม” หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ปี 2534 พรรคสามัคคีธรรม ก่อกำเนิดขึ้นท่ามกลางการจับจ้องว่าเพื่อปูทางรักษาอำนาจ รสช. ภายหลังยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2535 นายณรงค์ วงศ์วรรณ ตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ นาวาอากาศตรี ฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค ในฐานะล็อบบี้ยิสต์ ฐิติได้ประสานเชิญชวนให้นักการเมืองพรรคต่างๆ เข้ามาอยู่ใต้ชายคาพรรคสามัคคีธรรมเป็นจำนวนมาก

บรรดานักการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคสามัคคีธรรม ทั้งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมขณะนั้น ได้แก่ นายสะอาด ปิยวรรณ, นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์, นายพินิจ จันทรสุรินทร์, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายประชุม รัตนเพียร, นายสุบิน ปิ่นขยัน, นายอาทิตย์ อุไรรัตน์, นายประสพ บุษราคัม, นายชัชวาล ชมพูแดง, นายวีรวร สิทธิธรรม และนายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ส่วนตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ได้แก่ นายนิคม แสนเจริญ, นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์, นายสันติ ชัยวิรัตนะ, นายใหม่ ศิรินวกุล, นายรักเกียรติ สุขธนะ และนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง

การไหลเข้าพรรคสามัคคีธรรมยังมีต่อเนื่อง กระทั่ง พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย ได้ลาออกจากตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคสามัคคีธรรม ในวันที่ 21 ม.ค. 2535 รวมไปถึง นายประมวล สภาวสุ และนายอนุวัฒน์ วัฒนพงศ์ศิริ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งได้ตัดสินใจย้ายจากพรรคชาติไทยไปอยู่พรรคสามัคคีธรรม

การเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535 พรรคสามัคคีธรรมชนะเลือกตั้ง ได้ 79 ที่นั่ง ซึ่งเอาชนะพรรคชาติไทย ที่ได้ 74 ที่นั่ง พรรคสามัคคีธรรมก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอีก 4 พรรค รวมเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 195 เสียง ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 165 เสียง

แต่สุดท้าย ภายหลังถูกปฏิเสธวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา นายณรงค์ ถอนตัวจากการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ออกมาแถลงว่า พรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร ได้มีมติให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี จนบานปลายเกิดการพฤษภาทมิฬในเวลาต่อมา

ตำนานควบรวมดูดทั้งพรรค

อีกรูปแบบคือตำนานควบรวมพรรคของไทยรักไทย ซึ่งเป็นรูปแบบการดูดหลังเลือกตั้งและไม่ใช่แค่การดูดเป็นรายบุคคลเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการดูดมาทั้งพรรค เริ่มตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 2544 พรรคเสรีธรรม 14 เสียง ซึ่งมีนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นหัวหน้าพรรคเข้ารวมกับ 247 ที่นั่งเพิ่มเป็น 261 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ถัดมา 2545 พรรคความหวังใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ พร้อม ส.ส. 36 คนได้ตัดสินใจยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรคไทยรักไทย ตามมาด้วย 33 เสียง จากพรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ปี 2547 พรรคชาติพัฒนา ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งมี ส.ส. 29 คน มีมติเอกฉันท์เข้ารวมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยมีจำนวน ส.ส. ถึง 325 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคที่มีเสถียรภาพสูงมาก และยังส่งผลต่อไปถึงการเลือกตั้งในปี 2548 ที่ไทยรักไทยได้รับเสียงถล่มทลายจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

ทว่า เสียงสะท้อนจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ดูดที่เกิดขึ้น ในวันที่หลายฝ่ายเริ่มหันมาพิจารณายังประเด็นการปฏิรูปการเมืองที่ กลไกต่างๆ ของ คสช. พยายามดำเนินการมาต่อเนื่องร่วม 4 ปี

ไม้สุดท้ายกับ “การปฏิรูปการเมือง” ถูกส่งต่อมายังมือของกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่นำข้อเสนอจากคณะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาขมวดให้เป็นรูปธรรมพร้อมเตรียมเดินหน้าสู่การปฏิบัติ

การปฏิรูปการเมือง 5ประเด็น 11 ด้าน

แผนการปฏิรูปด้านการเมืองพร้อมรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการด้วยเป้าหมายโดยแบ่งเป็น 5 หัวข้อสำคัญ คือ

    1. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    2. กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย

    3. การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม

    4. การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

    5. การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย

พิจารณารายละเอียดในหัวข้อ 1. สร้างวัฒนธรรมการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ ตุลาคม 2560 – กันยายน 2565 วงเงิน 44.37 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ ภายใต้ 5 พันธกิจสำคัญ

โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ค่านิยม ทัศนคติที่ดีและถูกต้องทางการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยอิสระ รู้จักสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และมีสำนึกความเป็นพลเมือง ตลอดจนการเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน เสริมสร้างให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและมีความเข้มแข็งในทางการเมือง

หากดูรายละเอียดทั้งหมดจะพบว่านับจากนี้ต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามแผนปฏิรูปนี้ได้แก่

1. โรงเรียนประชาธิปไตย

ในพันธกิจที่ 1 การให้การศึกษาและเสริมสร้างวัฒนธรรม ทางการเมืองการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของพลเมือง กำหนดให้มีการปฏิรูปและพัฒนาระบบการศึกษา ตลอดจนหลักสูตร “การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในทุกระดับชั้น ให้เป็นหลักสูตรภาคบังคับ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครอง หน้าที่พลเมือง คุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนการนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาทุกศาสนามาทำการฝึกอบรมจิตใจและคุณธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนให้เป็นวิถีชีวิต

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พัฒนาโรงเรียนทุกโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการให้เป็น “โรงเรียนประชาธิปไตย” ซึ่งจะต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ของจำนวนโรงเรียนระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ทั้งนี้ ทางสถาบันทางการศึกษาจัดให้มีการทดสอบความรู้ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ผ่านระบบแบบสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้น พื้นฐาน (O–NET) และแบบสอบทางการ ศึกษาระดับชาติขั้นสูง (GAT-PAT) โดยนักเรียนจะต้องมีระดับความรู้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

2. ครูสอนประชาธิปไตย

ในพันธกิจที่ 1 ยังได้กำหนดให้ความรู้ทางด้านการเมือง การปกครอง (Political Education) วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Civic Education) นอกระบบการศึกษา ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัย ให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น การจัดฝึกอบรม การสัมมนาการจัดทัศนศึกษา เป็นต้น รวมทั้งควรจัดให้มีกิจกรรมนอกห้องเรียน และพัฒนาสื่อมวลชนด้วย

นอกจากนี้ยังระบุให้มีการอบรมครูผู้สอนในการสร้างหลักสูตรและคู่มือการเรียนการสอนทางการเมือง การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อบรม อย่างน้อย 1 รุ่นต่อปี มีสื่อการเรียนการสอน และกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยไม่น้อยกว่า 1 เรื่องต่อปี รวมทั้งจัดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การจัดเวทีสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อปี

รวมทั้ง ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด ระดับความรู้การออกเสียงประชามติของผู้รับการอบรมจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

3. เวทีสาธารณะของประชาชน

ในแผนปฏิรูปกำหนดให้จัดให้มีเวทีสาธารณะ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันพระปกเกล้า กกต. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะที่ ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อปี

อีกทั้งให้หน่วยงานของรัฐและสื่อสารมวลชน เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทัศนคติ ค่านิยม แบบแผนความเชื่อ ความโน้มเอียงด้านการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองไม่น้อยกว่า 4 ช่องทางต่อปี พร้อมกำหนดให้จัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น และให้มีการนำข้อเสนอจากเวทีมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

4. ฐานเรียนรู้การเมืองภาคพลเมือง

ในพันธกิจนี้ยังกำหนดให้สนับสนุนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยการสร้างเครือข่ายทางสังคมขึ้น ทั้งเครือข่ายความร่วมมือในชุมชน เช่น ชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายทางสังคมอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างฐานการเรียนรู้ทางการเมืองภาคพลเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ของจำนวนตำบลทั่วประเทศ

กำหนดให้มีการผลิตสื่อเกี่ยวกับการให้ความรู้ทางด้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น หนังสือ แผ่นพับ สื่อออนไลน์ สื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง ชุดบทเรียน เป็นต้น เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชน ผ่านหน่วยงานต่างๆ ไม่น้อยกว่า 2 เรื่องต่อปี

5. หลักสูตรอบรมผู้สมัคร ส.ส.

อีกสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในพันธกิจนี้คือการจัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนักการเมือง และออกใบรับรองสำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้มีหลักวิชามากขึ้น รวมทั้งในหลักสูตรดังกล่าวควรมีเนื้อหาในการปลูกฝังการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และการรู้จัก ประนีประนอม สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งและนักการเมือง โดยให้เป็นหน้าที่ของ กกต. และสถาบันพระปกเกล้า จัดหลักสูตรอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี

อีกด้านหนึ่งสำหรับพรรคการเมืองกำหนดให้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้แก่สมาชิกพรรคการเมือง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และประชาชนทั่วไปในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยอาจขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

6. องค์กรคลังปัญญากลาง

สนับสนุนให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาภาคพลเมืองโดยจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยฯ แก่กลุ่ม องค์กร หรือภาคประชาสังคมต่างๆ จัดให้มีสถาบันหรือองค์กรคลังปัญญากลาง (Think Tank) เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษา วิจัย และสร้างสรรค์สติปัญญา เพื่อเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปและพัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่อง และเป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองทุก 5 ปี โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

7. กิจกรรมสร้างจิตสำนึกพลเมืองดี

ในพันธกิจที่ 2 เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและเสริมสร้างสำนึกทักษะและหน้าที่ของพลเมือง กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน โดยมีกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมกำหนดดัชนีชี้วัดไว้ว่า ระดับความรู้ด้านสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและหน้าที่พลเมืองของผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60

รวมทั้งจัดกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับหน้าที่ ความมีระเบียบวินัย และความรับผิดชอบการเป็นพลเมืองที่ดี รวมทั้งให้เกิดการตื่นรู้ ตื่นตัว ในความเป็นพลเมืองที่ดีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเสริมสร้างทักษะทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยฯ และการเป็นพลเมืองที่ดี เช่น ทักษะการมีส่วนร่วม ทักษะการธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย ทักษะการใช้และรักษาอำนาจอธิปไตย

8. เวทีรับฟังเสียงข้างน้อย

ในพันธกิจที่ 3 การเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือและกลไกในการดูแลเสียงข้างน้อย กำหนดให้ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย แบบปรึกษาหารือ และหลักการของการเคารพเสียงส่วนใหญ่ และสิทธิของเสียงข้างน้อย ส่งเสริมให้มีการจัดเวทีเพื่อปรึกษาหารือ เช่น แผนพัฒนาจังหวัด หรือแผนพัฒนาอื่นๆ โดยอาจมีเวทีสภาพลเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเสียงข้างน้อยเพื่อวิเคราะห์หาเหตุผล และสร้างความสมดุลในการแสดงความเห็น ทั้งนี้ เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย รัฐสภา องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า สถาบันดำรงราชานุภาพ ที่จะจัดเวทีปรึกษาหารือเกี่ยวกับ แผนพัฒนา จังหวัด หรือ แผนอื่นๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ต่อหนึ่งหน่วยงาน

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมและวัฒนธรรมทางการเมืองของชุมชนท้องถิ่น อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

9. พื้นที่ต้นแบบการมีส่วนร่วม

ในพันธกิจที่ 4 เรื่องการพัฒนาและเสริมสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดให้มีระบบและกลไกในการพัฒนาให้ภาคประชาสังคมทุกระดับมีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่งผลต่อการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองในระยะยาว การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยึดแนวปฏิบัติด้านการมีส่วนร่วมที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงคุณภาพของการมีส่วนร่วม

รวมทั้ง ส่งเสริมระดับของการเข้ามามีส่วนร่วม ของประชาชนโดยเริ่มจากการให้ข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในการคิด ปรึกษาหารือ วางแผนการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติติดตามตรวจสอบและประเมินผล ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยทั้งนี้ต้องส่งเสริมประชาชนให้เกิดความรักความหวงแหนชุมชน ท้องถิ่น ประเทศชาติ และไม่เพิกเฉยต่อความไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม โดยต้องเป็นการ “ระเบิดจากภายใน” จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ พร้อมปรับปรุงกลไกการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อนให้มีความสะดวกและง่าย มีความสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ โดยอยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจด้วยกระบวนการประชาธิปไตยแบบทางตรงในระดับพื้นที่

ทั้งหมดกำหนดให้ตัวชี้วัดเป็นพื้นที่ต้นแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตั้งเป้าไว้อย่างน้อยจะต้องมีอำเภอ/เขต ละ 2 ตำบล/ชุมชนต่อปี โดยเป็นความรับผิดชอบของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ กรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

10. ธรรมนูญชุมชน

ในพันธกิจที่ 5 เรื่องการส่งเสริมการรวมกลุ่มและยกระดับบทบาทของภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง กำหนดให้ส่งเสริมการสร้างพันธมิตรระหว่างทุกภาคส่วนของภาคประชาสังคม ทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร ภาคเอกชน เครือข่ายแรงงาน เกษตรกร เพื่อรวมกันผลักดันประเด็นหรือข้อเสนอในการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันอย่างมีดุลยภาพระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อการดำเนินโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งหลายให้มีศักยภาพสูงขึ้น

สร้างพื้นที่ประชาธิปไตยชุมชน โดยกำหนดและส่งเสริมให้มีธรรมนูญชุมชนเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สร้างสรรค์วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน ตลอดจนการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนารูปแบบการรวมกลุ่มภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืนเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับภาคประชาสังคมผ่านช่องทางสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อเป็นความรู้และให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

11. พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมการเมือง

ในแผนปฏิรูปการเมืองยังเสนอให้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขปัญหาอันมาจากสภาพการเมืองที่มีความขัดแย้งรุนแรง อันนับเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนาน และมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งจำนวนมาก ประชาชนเกิดสภาพความคิดเห็นทางการเมืองแตกแยกเป็นฝักฝ่าย นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพการเมืองส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

พ.ร.บ.ฯ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติที่ดีในทางการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตระหนักในสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบของตน เคารพกฎหมายและกติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน มีจิตสาธารณะ ไม่เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ประสงค์จะสมัครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบต่อประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ไม่ทุจริตและประพฤติมิชอบ

ทั้งหมดนี้ เป็นการขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองตามแนวคิดของรัฐบาลชุดนี้