ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > เทสโก้ โลตัส ประกาศเลิกทิ้งอาหารกินได้ เป้าหมายใหม่ใน “วิกฤติขยะอาหาร”

เทสโก้ โลตัส ประกาศเลิกทิ้งอาหารกินได้ เป้าหมายใหม่ใน “วิกฤติขยะอาหาร”

6 กรกฎาคม 2017


เชฟจากเครือแมริออท ร่วมกับไทยฮาร์เวสต์เอสโอเอส องค์กรกลางในการรับบริจาคอาหาร สาธิตเมนูอาหารที่ทำจากอาหารสดที่ได้รับบริจาคจากเทสโก้ โลตัส

แม้ปัญหาขยะอาหารจะวิกฤต แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา ทั้งๆ ที่ต่อปี 1 ใน 3 ของอาหารทั่วโลกหรือประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปีกลายเป็นขยะ ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่า อาหารเหล่านี้มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมากเพียงพอที่จะเป็นอาหารให้ประชากร 3,000 ล้านคน  นอกจากปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารและสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และพลังงาน ที่ใช้เพาะปลูกอาหารโดยไม่จำเป็นแล้ว ขยะที่เกิดจากอาหาร สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า

Dr.Mushtaq Ahmed Memon ผู้แทนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการบรรยาย  ในงาน “เทสโก้ โลตัส ประกาศเจตนารมณ์ไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ ลดวิกฤตขยะล้นเมือง” ที่จัดขึ้นที่ห้องประชุม C asean เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ในการประกาศเจตนารมณ์ไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ของ “เทสโก้ โลตัส” ว่า “ถ้าการสูญเสียอาหารทั้งหมดเปรียบเทียบเป็นประเทศ 1 ประเทศ มันจะกลายเป็นประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา”

การประกาศเจตนารมณ์ไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ของ “เทสโก้ โลตัส” ครั้งนี้ในประเทศไทยจึงถือเป็นครั้งแรกของธุรกิจค้าปลีกไทยในการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดการสูญเสียอาหารในประเทศไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมาย 12.3 ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานรวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นทิศทางของเทสโก้ระดับโลก โดย มร.เดฟ ลูอิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทสโก้ ในระดับโลกเป็นประธานกลุ่ม Champions 12.3 คณะทำงานที่รวบรวมผู้นำหลายสาขาทั่วโลกร่วมกันลดการสูญเสียและขยะที่มาจากอาหาร  

และเมื่อเร็วๆ นี้ เทสโก้ในสหราชอาณาจักร เป็นผู้นำร่องโครงการและประกาศเจตนารมณ์ว่าภายในปี 2560 ร้านค้าของเทสโก้ในสหราชอาณาจักรทุกสาขาจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศลและกลุ่มชุมชนกว่า 5,000 องค์กรเพื่อนำสินค้าที่บริจาคไปประกอบเป็นอาหารให้กับผู้ยากไร้ 

“เลิกทิ้งอาหารกินได้” นำร่อง 23 สาขาใหญ่ในกรุงเทพฯ

มร.จอห์น คริสตี้   ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส

 มร.จอห์น คริสตี้   ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ในประเทศไทย เทสโก้ โลตัส ประกาศที่จะสนับสนุนเป้าหมายนี้เช่นกัน โดยตั้งเป้าที่จะไม่ทิ้งอาหารที่ยังกินได้ โดยนำร่องในไฮเปอร์มาร์เก็ตของเทสโก้ โลตัส 23 สาขาในปี 2560 นี้ และจะขยายสู่สาขาใหญ่ในอีก 150 สาขาทั่วประเทศ

“ในทุกๆ วัน เทสโก้ โลตัส จำหน่ายอาหารสดในปริมาณมากให้แก่ลูกค้า ถึงแม้การสูญเสียและการทิ้งอาหารในธุรกิจค้าปลีกจะเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับในกระบวนการต้นน้ำที่แหล่งเพาะปลูกและปลายน้ำคือการทิ้งอาหารของผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณอาหารสดที่เทสโก้ โลตัส จำหน่าย ทำให้การลดการทิ้งอาหารในการดำเนินธุรกิจของเราเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ เราตระหนักดีถึงความรับผิดชอบและบทบาทของเราที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่มาจากอาหาร เทสโก้ โลตัส ขอประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทย”

“เทสโก้ โลตัส ภูมิใจที่เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่ประกาศเจตนารมณ์ในการไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้เพื่อบริจาคให้กับผู้ด้อยโอกาส ภายใต้โครงการ กินได้ ไม่ทิ้งกัน เราจะลดปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารและสามารถช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ทั่วประเทศ เราจะเริ่มบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในกรุงเทพฯ จำนวนทั้ง 23 แห่ง และจะขยายโครงการให้ครอบคลุมสาขาขนาดใหญ่ทุกสาขาทั่วประเทศในอนาคต”

เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้มีการลงทุนที่จะไม่ทิ้งอาหารที่รับประทานได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้กลยุทธ์ จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) เพื่อลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก กระบวนการตัดแต่ง บรรจุไปถึงขนส่ง จำหน่ายและบริโภค

Farm to Fork กลยุทธ์หลักลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน

บรรยากาศในวงเสวนาเรื่อง “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ปลุกพลังยับยั้งวิกฤตขยะโลก

นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวขยายความว่า กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) เทสโก้ โลตัส เป็นความพยายามในการลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานของเทสโก้ โลตัส โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง

1) การรับซื้อตรงจากแหล่งเพาะปลูก   ภายใต้โครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร (Direct Sourcing) ช่วยให้เทสโก้ โลตัส และเกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกร่วมกันตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาพืชผลล้นตลาดจนกลายเป็นขยะอาหาร ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกับเกษตรกรในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการสูญเสียระหว่างทางอีกด้วย เราพบว่าการร่วมวางแผนในการผลิตและการตั้งโรงงานบรรจุใกล้แหล่งเพาะปลูกทำให้ในแต่ละปีเราสามารถลดการสูญเสียของอาหารไปในปริมาณที่มาก

2) กระบวนการขนส่ง เป็นขั้นตอนที่สามารถปรับปรุงได้ดีในการควบคุมอุณหภูมิตลอดการขนส่งเพื่อรักษาความสด ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรักษาความสด

และ 3) การลดความสูญเสียอาหาร ณ จุดขาย สำหรับสินค้าที่ไม่อยู่ในภาพสมบูรณ์แบบแต่ยังคงรับประทานได้ จะถูกนำมาลดราคาเป็นสินค้าป้ายเหลือง และหากยังคงมีสินค้าที่จำหน่ายไม่หมดหลังจากลดราคา พนักงานจะทำการคัดแยกสินค้าที่ยังคงอยู่ในสภาพดี เพื่อบริจาคให้กับมูลนิธิและองค์กรการกุศลที่เป็นพันธมิตรกับเรา

“ในแง่อุดมคติเลยคือเราคงอยากขายสินค้าให้หมดเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภค แต่เราจะพบว่าในความเป็นจริงแม้จะมีความพยายามลดอาหารตั้งแต่ต้นทางแต่ยังมีของบางอย่าง เช่น ผักผลไม้ที่เป็นของดิสเพลย์ ที่เมื่อถึงสิ้นวันก็จะยังเหลือ สินค้าประเภทนี้หรือของที่มีตำหนิแต่ยังรับประทานได้ เราจะนำไปบริจาค” นายชาคริตกล่าว

นายชาคริตกล่าวต่อว่าเทสโก้ โลตัส เริ่มบริจาคอาหารเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมาจนปัจจุบันได้บริจาคอาหารไปแล้วรวม  1 ล้านมื้อโดยคำนวณจากปริมาณอาหารสด ตัวอย่างของหมวดอาหารที่มีการนำไปบริจาค เช่น ข้าวสารปริมาณ 500 กิโลกรัมต่อเดือน อาหารผักผลไม้สดที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวัน เป็นต้น ที่ผ่านมานอกจากทำงานเป็นพันธมิตรกับมูลนิธิกระจกเงา, องค์กรไทยฮาร์เวสต์เอสโอเอส, กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร แล้ว ล่าสุดยังทำงานร่วมกับ ออลไทยแท็กซี่ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อที่จะพัฒนารูปแบบการขนส่งอาหารไปยังผู้รับบริจาคได้โดยที่อาหารเสียหายน้อยที่สุด

“อาหาร” บริจาคแล้วไปไหน

นายโป้วเจา ฉิน เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชน องค์กรไทยฮาร์เวสต์เอสโอเอส กล่าวว่า องค์กรไทยฮาร์เวสต์เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยเริ่มรับบริจาคอาหารจากร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม โดยนำไปให้ผู้รับซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำงานและผู้ที่เข้าถึงอาหารได้  องค์กรทำงานร่วมกับองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆ โดยไทยฮาร์เวสต์ฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ให้กับผู้รับซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่มีกลุ่มเป้าหมายพิเศษ

เขากล่าวว่า ในประเทศไทยยังมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถทำงานและผลิตอาหารได้อย่างกลุ่มผู้ลี้ภัย กลุ่มผู้หญิงที่ต้องดูแลเด็กเล็ก ฯลฯ นอกจากการบริจาคอาหารจะทำให้คนขาดโอกาสมีโอกาสเข้าถึงอาหารแล้ว ในทางอ้อมจะทำให้องค์กรผู้รับเหล่านั้นสามารถนำงบประมาณที่ต้องใช้ด้านอาหารไปพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ของคนในกำกับดูแลขององค์กรนั้นๆ

“ในแต่ละวันมีอาหารที่ดีที่ยังใช้ได้ อย่างเราจะเห็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีอาหารที่ดีเหลือทิ้งจำนวนมาก อย่างผลไม้ที่เสิร์ฟเป็นของขวัญสำหรับผู้เข้าพัก ในแต่ละวันแต่ละโรงแรมมีผลไม้นี้ถึง 50-100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เยอะมาก” นายโป้วเจา ฉิน กล่าวในที่สุด

สำหรับปัญหาสำคัญของขยะที่เกิดจากอาหาร คือ การไม่เข้าใจตลาด เกิดการสูญเสียระหว่างเส้นทางจากฟาร์มสู่ตลาด เกิดปัญหาแมลงและโรค ขาดเทคโนโลยีการผลิตที่ดี และมีการบริหารจัดการในการบรรจุขนส่งที่ไม่ดีเพียงพอ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่สูญเสียผักผลไม้สดประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ระหว่างทางจากฟาร์มสู่ตลาด ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีผักและผลไม้สูญเสียตั้งแต่ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวพืชผล 15-50 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ในประเทศไทยนั้น ในปี 2559 กรมควบคุมมลพิษพบปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 27.06 ล้านตัน หรือ 74,130 ตันต่อวัน  ประชากรไทย 1 คนจะสร้างขยะต่อวันถึง 1.14  กิโลกรัม  และ 64 เปอร์เซ็นต์ของขยะมูลฝอยมาจากอาหาร