ThaiPublica > เกาะกระแส > EXIM BANK จับมือ บสย. เปิดตัว “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า” เสริมสภาพคล่องธุรกิจส่งออก

EXIM BANK จับมือ บสย. เปิดตัว “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า” เสริมสภาพคล่องธุรกิจส่งออก

22 มิถุนายน 2017


นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดบริการใหม่ “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า

วันที่ 22 มิถุนายน 2560 นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดบริการใหม่ “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า (EXIM Instant Credit Super Value)” เป็นสินเชื่อหมุนเวียนในช่วงก่อนและหลังการส่งออก วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก ให้วงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) มูลค่าเทียบเท่าวงเงินสินเชื่อ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นส่งออกสามารถสมัครขอรับบริการได้โดยใช้ บสย. ค้ำประกัน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

บริการนี้เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุน SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศที่มีจำนวนกว่า 2.7 ล้านราย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเป็นผู้ส่งออก SMEs จำนวนกว่า 25,000 ราย ผู้ส่งออก SMEs ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก เช่น การขาดสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และประสบปัญหาอันเนื่องมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการสินเชื่อเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านเงินทุน และการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ส่งออก SMEs ได้แก่ “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า” ซึ่งพัฒนามาจากบริการสินเชื่อส่งออกทันใจในปี 2559 เป็นสินเชื่อหมุนเวียนในช่วงก่อนและหลังการส่งออก พร้อมบริการรับซื้อตั๋วส่งออก ขยายวงเงินกู้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท และให้วงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) มูลค่าเทียบเท่าวงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก ใช้เพียงบุคคลค้ำประกันและหนังสือค้ำประกันของ บสย. เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้แก่ธุรกิจส่งออก SMEs ของไทยในช่วงจังหวะที่การส่งออกของไทยกำลังกลับมาฟื้นตัว จนหน่วยงานหลายแห่งได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกในปี 2560 สูงขึ้นถึงกว่า 3.0% ต่อปี

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า EXIM BANK ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ไทยมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจไปค้าขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย โดยได้รับอานิสงส์จากโอกาสทางธุรกิจในปี 2560 ดังนี้

    1. เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกฟื้นตัวดีขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2560 จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปีอยู่ที่ 3.5% และปริมาณการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัว 3.8% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่การค้าโลกจะกลับมาขยายตัวสูงกว่า GDP โลก

    2. ราคาน้ำมันฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทยซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 13% ของมูลค่าส่งออกรวม

    3. การส่งออกบริการช่วยกรุยทางให้โอกาสในการส่งออกสินค้าเปิดกว้างขึ้น

    4. การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่นำมาผลิตเพื่อส่งออกกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัว 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการส่งออกในระยะถัดไปมีแนวโน้มฟื้นตัว

“ในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ผู้ส่งออก SMEs ของไทยต้องมีเครื่องมือทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เชิงรุก ได้แก่ การศึกษาตลาด ปรับปรุงการผลิต หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และเตรียมแหล่งเงินทุนให้พร้อม ส่วนเชิงรับ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงจากการค้าการลงทุนและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง EXIM BANK ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น บสย. มีคำปรึกษาแนะนำ ข้อมูลข่าวสาร และบริการทางการเงินครบวงจร เพื่อติดอาวุธให้ผู้ส่งออก SMEs ของไทยในเวทีการค้าโลก โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve)” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายนิธิ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าวว่าบสย. เข้ามาช่วยเหลือ SME ในภาคการส่งออก เพื่อให้เข้าถึงแหล่งลงทุน ที่ผ่านมาEXIM BANK กับ บสย. เป็นพันธมิตรกันมานาน และได้มีการค้ำประกันให้ลูกค้าปกติในโครงการอื่นๆอยู่แล้ว แต่โครงการนี้ได้จัดตั้งโครงการขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อเน้นเอสเอ็มอีภาคการส่งออก

“โครงการสินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาทในการที่จะปล่อยสินเชื่อ โดยมี บสย. เป็นผู้ค้ำประกัน หรือเรียกย่อๆว่า PS6 สามารถค้ำประกันได้ถึง 10 ปี หมายความว่าลูกค้า EXIM BANK ขอสินเชื่อกับแบงก์และทาง บสย.ก็ค้ำตลอดอายุไปได้อีก 10 ปี โดยมีค่าธรรมเนียม 1.75 ต่อปี” นายนิธิกล่าว

แนวโน้มการส่งออกครึ่งหลังปี 2560

นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลังมีโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 ขยายตัวได้ราว 3.5% สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนี้

  • โครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์หลายโครงการเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี และเริ่มมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ขณะเดียวกันภาครัฐยังได้ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ให้กับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อหวังให้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้ฟื้นตัว
  • แรงส่งจากกำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากผลักดันให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ดังเห็นได้จากรายได้เกษตรกรฟื้นตัวอย่างโดดเด่นตั้งแต่ต้นปี 2560 ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผลผลิตทางการเกษตรก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กำลังซื้อบางส่วนยังเพิ่มขึ้นหลังโครงการรถยนต์คันแรกทยอยครบอายุถือครอง ทำให้ภาระการผ่อนชำระรถยนต์บางส่วนหมดไป ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ ในการจับจ่ายใช้สอยทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ
  • การท่องเที่ยวกำลังกลายมาเป็นเครื่องยนต์หลักอีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP รวม ที่ขยับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขหลักเดียวในช่วง 10 ปีก่อน มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 15% แล้วในปัจจุบัน
  • ภาคส่งออกกลับมาเป็นกลไกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากยอดส่งออกหดตัวติดต่อกันถึง 3 ปี โดยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 และขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการส่งออกทั้งปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี
นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตามการส่งออกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากตัวเลขส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก ที่โตถึง 5.7% นับเป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าภาคส่งออกกลับมาเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายดีขึ้น โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญของไทย ล่าสุด IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เป็น 3.5% สูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเป็นการปรับขึ้นยกแผงทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่
  • การค้าโลกกลับมาเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ล่าสุด IMF คาดการณ์ปริมาณการค้าโลกปี 2560 จะขยายตัว 3.8% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่การค้าโลกกลับมาขยายตัวสูงกว่า GDP โลก ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลเชิงบวกค่อนข้างมากต่อประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูง
  • ราคาน้ำมันยังยืนเหนือระดับปีก่อนหน้า จากข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่เข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนเกินได้ระดับหนึ่ง และอุปสงค์การใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีส่วนผลักดันให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพารา ซึ่งมียอดส่งออกรวมกันกว่า 13% ของมูลค่าส่งออกรวม
  • การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออกกลับมาขยายตัวสูง หลังหดตัว 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการส่งออกที่มีแนวโน้มสดใส ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ผู้อยู่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะถัดไป เช่น

  • กระแส Protectionism ที่ยังคงครุกรุ่น แม้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในการปรับขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยจะผ่อนคลายลง แต่สหรัฐฯ อาจหยิบยกมาตรการที่มิใช่ภาษีมาเป็นเครื่องมือหลักในการลดการขาดดุลการค้าเป็นระยะๆ ได้
  • ภัยก่อการร้ายและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนสัญญาณเชิงบวกของการค้าโลกอยู่เป็นระยะ
  • อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนและยากที่จะคาดการณ์ จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งเครื่องมือทางการเงินในปัจจุบันที่มีความหลากหลายขึ้น ทำให้เงินทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายรวดเร็วมาก นับเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบมาถึงค่าเงินได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ท่ามกลางภาวะส่งออกในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มดี ขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวลดังได้กล่าวมาแล้ว หากพิจารณาในมิติของผู้ประกอบการ มีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของ SMEs ที่เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ พบว่า SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดทั้งอาวุธและเกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนได้จาก

  • สัดส่วน GDP ของ SMEs ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 38% ต่อ GDP ในปี 2550 มาอยู่ที่ระดับกว่า 41% ในปัจจุบัน อีกทั้ง SMEs ยังถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่จ้างแรงงานมากถึง 80% ของการจ้างงานทั้งประเทศ เท่ากับว่า SMEs เป็นแหล่งที่ช่วยทำให้การกระจายตัวของรายได้ของประเทศดีขึ้น
  • GDP ของ SMEs ขยายตัวสูงกว่า GDP รวมของประเทศ สะท้อนได้ว่า SMEs มีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม มี SMEs เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าออกไปต่างประเทศ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ที่คิดเป็นเพียง 27% ของมูลค่าส่งออกของประเทศเท่านั้น ขณะเดียวกัน SMEs ยังอ่อนไหวต่อปัจจัยความไม่แน่นอนมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ไตรมาส 1 ปี 2560 ที่หดตัว 13.5% สวนทางกับการส่งออกรวมของประเทศในเทอมบาทที่ขยายตัวได้ 3.1%

ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น มีนัยที่น่าสนใจว่า “ทำไม SMEs ไทยจึงเก่งเฉพาะในประเทศ ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับข้อจำกัดใด จึงยังมีส่วนในการขับเคลื่อนการส่งออกได้ไม่มากในปัจจุบัน” ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการ SMEs เผชิญอยู่หลักๆ คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง การเผชิญกับเงื่อนไขการกู้เงินที่เข้มงวด และมีความกังวลถึงความเสี่ยงในการส่งออก

EXIM BANK ในฐานะหนึ่งในกลไกสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามผลักดันให้ SMEs ที่มีศักยภาพขยายตลาดและกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศมากขึ้นด้วยการออกบริการใหม่ “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า” เพื่อหวังจะติดทั้งอาวุธและให้เกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป