ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิรไท สันติประภพ” มอง GMS ภูมิภาคที่มีพลวัต มิติใหม่การรวมตัวกัน เชื่อมโลกการเงิน เส้นทางอาชีพที่เต็มไปด้วย “โอกาส”

“วิรไท สันติประภพ” มอง GMS ภูมิภาคที่มีพลวัต มิติใหม่การรวมตัวกัน เชื่อมโลกการเงิน เส้นทางอาชีพที่เต็มไปด้วย “โอกาส”

3 มิถุนายน 2017


สุนทรพจน์ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนา Euromoney The Greater Mekong Investment Forum ภายใต้หัวข้อ Confidence in Connectivity of the GMS เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ดำเนินการมาครบรอบ 25 ปีในปีนี้นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1992 สำหรับผมแล้ว GMS เปรียบเสมือนผู้ที่อยู่ในวัย 25 ปี เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศ ที่มีอนาคตสดใสรออยู่ เพราะพร้อมสรรพด้วยพละกำลังและมีศักยภาพที่จะเริ่มต้นบนเส้นทางอาชีพ GMS เป็นภูมิภาคที่มีพลวัต เชื่อมโยงกันด้วยแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่ สะสมความอุดมสมบูรณ์อย่างมหาศาล และเต็มไปด้วยโอกาสให้แสวงหา

ในปีที่ผ่านมา ผมได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในอนาคตของ GMS ซึ่งเป็นผลจากการผนึกกำลังและความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา และวันนี้ผมก็ขอย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงของภูมิภาคอีกครั้ง เพราะโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก

มี 3 ประเด็นสำคัญ ที่ผมขอแบ่งปันกับทุกท่านในวันนี้ และใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางอันน่าตื่นเต้น ขอให้นึกถึงคนในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ผมเพิ่งยกตัวอย่างไป ก็จะเห็นว่ามีศักยภาพและโอกาสอันมากมายที่จะแสวงหา รวมไปถึงการเพิ่มพูนทักษะ สะสมประสบการณ์ และขยายเครือข่ายมีอาชีพได้อย่างกว้างขวาง แม้จะหลีกเลี่ยงการเผชิญอุปสรรคความท้าทายบนเส้นทางไม่ได้ แต่ด้วยการช่วยเหลือสนับสนุนจากเพื่อนร่วมอาชีพ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็จะทำให้เดินอยู่บนเส้นทางความสำเร็จ

GMS ของพวกเราก็เช่นเดียวกัน เหตุผลก็เพราะว่า

ข้อหนึ่ง GMS เป็นภูมิภาคที่เต็มได้ด้วยโอกาส ที่เกิดขึ้นจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง ที่เสริมกันและกัน รวมไปถึงความเชื่อมโยงของประเทศสมาชิกด้วยกันเองและกับภูมิภาคอื่นๆ

ข้อสอง ความมั่งคั่งของภูมิภาคและโอกาสยังสามารถขยายได้อีกผ่านความเชื่อมโยงทางการเงินที่ได้รับการยกระดับ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ข้อสาม แม้ว่าจะยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน แต่ผู้วางนโยบายและภาคเอกชนที่ร่วมเป็นพันธมิตร จะสามารถสร้าง GMS โฉมใหม่ได้

GMS ภูมิภาคแห่งโอกาส

ประเด็นแรก ทำไมผมจึงมองว่า GMS เป็นภูมิภาคแห่งโอกาส

ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมานี้ การรวมตัวภายในของกลุ่ม GMS เข้มแข็งมากขึ้น มีการรวมตัวของสมาชิกที่มีความแตกต่างกันทั้งในเชิงกายภาพ การค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงของประชาชนกับประชาชนกันเอง และที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือ แนวโน้มการเติบโตของ GMS

นับตั้งแต่ปี 1992 จีดีพีที่ได้ปรับความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ (PPP-Adjusted GDP) ของ GMS ได้ขยายตัวเกือบ 7 เท่า จาก 455 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีดีพีโดยรวมจึงส่งผลให้ GMS เป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก เทียบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

ส่วนปริมาณการค้าในภูมิภาคก็เพิ่มขึ้น 90 เท่านับจากก่อตั้ง มูลค่าการลงทุนในภูมิภาคเติบโตอย่างน่าประทับใจ และในปีที่แล้ว GMS ได้บรรลุข้อตกลงในการเดินหน้าโครงการลงทุนพื้นฐานและความช่วยเหลือทางวิชาการกว่า 100 โครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 32 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยรวมโครงการระเบียงเศรษฐกิจแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-ทวาย ในประเทศไทยและเมียนมา กับโครงการรถไฟเวียงจันทน์-บ่อแตน ในลาว

การพัฒนาที่ก้าวหน้าของทั้ง 3 ด้านนี้ เป็นผลจากความทุ่มเทที่ไม่หยุดยั้ง ทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค และจากการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางภายภาพ การค้าและการลงทุน ขณะที่การขยายตัวของภูมิภาคมีอนาคตที่สดใส ความแข็งแกร่งของ GMS ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน แม้ว่าภูมิภาค GMS จะเต็มไปด้วยประชากรในวัยหนุ่มสาว ชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนขึ้น มีการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสูงมากขึ้น และทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ แต่เราไม่ควรนิ่งนอนใจและวางใจกับความสำเร็จที่ผ่านมา ในทางกลับกัน เราต้องหาแนวทางใหม่ วิธีการใหม่ที่จะปลดปล่อยศักยภาพที่มีออกมาให้มาก

ขณะที่ความเชื่อมโยงของโครงการพื้นฐานมีความคืบหน้าอย่างมาก ผมเชื่อว่าการรวมกลุ่มทางการเงินมีความจำเป็นที่จะช่วยเสริมความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุน

ใช้ประโยชน์จาก”โอกาส” เชื่อมโลกการเงิน

และความเชื่อมโยงที่กล่าวมานี้ นำไปสู่ประเด็นที่สองว่า เราจะใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีมหาศาลผ่านความเชื่อมโยงทางการเงินที่กว้างขึ้นได้อย่างไร

ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางการเงินประกอบด้วย หนึ่ง ต้นทุนที่ต่ำ สอง มีความครอบคลุมมากขึ้น และสาม มีทางเลือกใหม่ที่ทันสมัย

โดยในด้านต้นทุนนั้น ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของภูมิภาคยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะธุรกรรมที่มีมูลค่าไม่สูงและการส่งเงินข้ามประเทศ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมมีอัตราสูงถึง 13 % ของมูลค่าการโอนเงิน ซึ่งต้นทุนที่สูงนี้มีผลไม่เฉพาะการโอนเงินข้ามประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการค้าการลงทุนแบบทวิภาคีอีกด้วย

ดังนั้น เราจำเป็นต้องหาแนวทางที่จะส่งเสริมการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรม และทำให้มีการใช้บริการทางการเงินได้มากขึ้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศ แต่การดำเนินการที่สำคัญๆ ก็มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับสอดคล้องกับระบบชำระเงินภายในแต่ละประเทศสมาชิก โดยในเวียดนาม ระบบ OnePay เปิดให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยที่ไม่ต้องไปสาขาธนาคาร ขณะที่ Wing ใน กัมพูชา, BCEL ในลาว และ Wave Money ในเมียนมา มีบริการการชำระเงินและการโอนเงินแบบทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือไปยังผู้รับที่ไม่มีบัญชีกับธนาคาร

สำหรับประเทศไทย พร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นระบบการชำระเงินที่ทันสมัย ที่ให้บริการโอนเงินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนเงินที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 บาท หรือประมาณ 150 เหรียญสหรัฐ จึงนับว่าเป็นการโอนเงินที่มีอัตราค่าธรรมเนียมถูกที่นุดในโลก

PromptPay ยังเปิดให้บุคคลทั่วไปและธุรกิจโอนเงินระหว่างธนาคารและ e-wallet โดยใช้โทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ภาครัฐเองก็ใช้ PromptPay ในการให้สวัสดิการแก่ประชาชน เพื่อลดต้นทุนและป้องกันทางทุจริตและการรั่วไหลทางการเงิน

โดยที่ PromptPay เป็นระบบเปิด แบบ open architecture เราคาดว่า PromtPay จะมีการใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มการชำระเงินที่กล่าวมานี้ ธุรกรรมยังเป็นการโอนเงินภายในประเทศเท่านั้น แต่ในระยะต่อไปเราต้องเชื่อมแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อให้การโอนเงินข้ามประเทศที่มีมูลค่าสูงภายในภูมิภาคมีความสะดวกมากขึ้น

การมีแพลตฟอร์มการชำระเงินข้ามประเทศที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคจะส่งผลดีอย่างมหาศาลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการค้าชายแดน ซึ่งผมเชื่อว่าคงใช้เวลาอีกไม่นานที่บริการการชำระเงินระหว่างประเทศจะมีการใช้อย่างกว้างขวาง

ปัจจุบันนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยกับผู้ประกอบการของเมียนมาร์ได้ร่วมกันเป็นพันธมิตรในการให้บริการ ทำให้การส่งเงินกลับประเทศไปยังผู้รับโดยตรงสามารถทำได้ และครอบคลุมพื้นที่ในชนบทของเมียนมาร์อีกด้วย

ในประเทศไทยมีความร่วมมือของธนาคารไทยและ Fintech จากจีน ในเร็วๆ นี้จะเปิดให้บริการการโอนเงินบาทและเงินหยวนโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

การริเริ่มโครงการความร่วมมือในลักษณะนี้จะช่วยให้ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินลดลง และทำให้ตอกย้ำความเชื่อมโยงทางการเงินและการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ส่วนทางด้านความครอบคลุมของการให้บริการทางการเงินนั้น ปัจจุบัน การให้บริการทางการเงินใน GMS ส่วนใหญ่เป็นบริการของผู้ประกอบการในแต่ละประเทศ แต่การขยายตัวทางการค้าการลงทุนข้ามชาติ ต้องการผู้เล่นในระดับระหว่างประเทศมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาค กำลังทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธนาคารข้ามประเทศ หรือที่เรียกว่า Qualified ASEAN Bank หรือ QAB framework กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน ซึ่งจะทำให้ธนาคารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์สามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศสมาชิกอื่นในกลุ่มได้

การขยายธุรกิจของธนาคารผ่านกรอบ QAB นี้จะช่วยให้การบริการทางการเงินขยายวงกว้างขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการเจรจากรอบการรวมตัวแบบทวิภาคีกับธนาคารกลางเมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ทางด้านตลาดทุนนั้น ประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค โดยเปิดให้ต่างชาติทั้งจากภาครัฐและเอกชนสามารถระดมทุนในไทยได้ โดยในปีที่แล้ว สปป.ลาวได้ระดมทุนในไทยด้วยมูลค่า 11 พันล้านบาท หรือ ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านการออกหุ้นกู้ในสกุลเงินบาท ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน นอกจากนี้ ไทยยังอนุญาตให้บริษัทจากภูมิภาคเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนระดับโลกและเพิ่มประเภทสินค้าไปพร้อมๆกัน ดังนั้นก็จะช่วยให้บริษัทในภูมิภาคมีทางเลือกในการระดมทุนได้หลากหลาย

สำหรับประเภทของบริการทางการเงินนั้น ในเดือนมิถุนายน 2014 ธนาคารโลกได้เผยแพร่ the World Bank’s Global Findex ซึ่งประเมินว่า มากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ใหญ่ในกลุ่มประเทศ CLMV ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ดังนั้นจึงยังมีช่องทางที่จะพัฒนาได้อีก และเราก็นับว่าโชคดีที่อยู่ในยุคที่เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาก้าวหน้ามาก และสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้

ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งเก่าและใหม่ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ในการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ และอาจจะเป็นทั้งบริการและผลิตภัณฑ์ที่เคยคาดคิดมาก่อน เทคโนโลยีจะช่วยให้ภาคธุรกิจก้าวข้ามช่วงการพัฒนาแบบดั้งเดิมของตลาดการเงิน โดยเฉพาะการใช้กระดาษ หรือการใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบเก่าๆ

ผมขอยกตัวอย่างสัก 2-3 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมสร้างกำลังใจให้เดินหน้าต่อ นั่นคือ การพัฒนา ME by TMB ของธนาคาร ทีเอ็มบี ME by TMB คือ ธนาคารที่ไม่ต้องพึ่งพาที่ทำการสาขา ในเวียดนามก็มีธนาคารในลักษณะเดียวกันคือ Timo Bank ธุรกรรมทุกประเภทผ่านระบบออนไลน์ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการชำระเงินดิจิทัลอย่างเต็มที่ ด้วยต้นทุนที่ลดลงธนาคารเหล่านี้จึงเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้าได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าการใช้ช่องทางปกติ หรือให้บริการที่ดีกว่า

เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาทางเลือกมีมากขึ้น จึงยังสามารถนำเสนอทางเลือกให้หลากหลายกว่าเดิม ด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระสินค้าและในการลงทุนโดยตรงในภูมิภาค ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางประเทศสมาชิกกำลังศึกษาแนวทางในการผ่อนคลายการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าชายแดนและการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีทางเลือกในการใช้เงินสกุลต่างๆ เพื่อการชำระสินค้า ท่ามกลางความผันผวนของตลาดเงินโลกในขณะนี้

ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าก็จะสามารถลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและสามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้นด้วยการใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการชำระค่าสินค้า ทั้งนี้ กรอบการใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่างไทยและมาเลเซียได้มีผลไปแล้วในปี 2016 และ ธปท. กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในสิ้นปี 2017 นี้ นอกจากนี้ ไทยยังมีข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินแบบทวิภาคีกับจีน สำหรับเงินบาทและเงินหยวน เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศ และคาดว่ากรอบความตกลงในลักษณะนี้จะขยายไปยังประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่น

มิติใหม่การรวมตัวกันของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สำหรับประเด็นที่ 3 ความท้าทายและบทบาทของผู้กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ

จริงอยู่ที่ GMS เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของผู้กำหนดนโยบาย แต่ปัจุบันนี้ได้รับการขับเคลื่อนจากภาคธุรกิจ และเพื่อที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีการพัฒนาต่อเนื่อง ผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดสิทธิประโยชน์ แนวทางการกำกับดูแล การมีธรรมาภิบาล และกรอบกติกา เพื่อให้ความเชื่อมโยงของตลาดแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่า สามารถดำเนินการผ่าน 2 แนวทาง

แนวทางแรก แต่ละประเทศสมาชิกต้องมีกฎกติกาที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสนับสนุนความเชื่อมโยงรูปแบบใหม่ของภูมิภาคและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งในประเทศไทยนั้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนา Fintech และการวางกรอบกติกาที่ยืดหยุ่น ธปท. ได้เปิดให้ Fintech มาร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงินหรือ ภายใต้กรอบ regulatory sandbox หรือศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ได้สะดวกขึ้น และผู้กำกับดูแลจะได้พัฒนากฎระเบียบให้สอดคล้องกันก่อนที่นำมาให้บริการจริงแก่ประชาชนทั่วไป

แนวทางที่สอง โดยที่ระบบการเงินของภูมิภาคนี้มีความหลากหลายแตกต่างกัน กฎเกณฑ์และนโยบายของแต่ละประเทศ จำเป็นที่จะต้องปรับ เพื่อก่อให้เกิดการรวมตัวของตลาด ยกตัวอย่าง ระบบการชำระเงินของประเทศสมาชิกที่ตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าการเชื่อมโยงการชำระเงินยังไม่เชื่อมต่อกันอย่างแท้จริง ไม่ว่า PromptPay หรือ Wave หรือ Wings ยังไม่ประสานกัน ดังนั้น การยึดมาตรฐานเดียวและทำให้มั่นใจว่าแต่ละระบบสามารถเชื่อมโยงผ่านระบบปฏิบัติการกลางจะช่วยลดอุปสรรคนี้ได้ โดยเหตุนี้ผมสนับสนุนให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศสมาชิกร่วมมือกันบนความหลากหลายของธุรกิจธนาคาร เพื่อให้ธุรกรรมทางการเงินของภูมิภาคสะดวกสบายขึ้น

ปัจจุบันโลกอยู่ในยุค VUCA และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี เราในฐานะผู้กำหนดนโยบายหรือธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเองเพื่อให้มั่นใจว่าช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่มีความราบรื่น ดังนั้นจึงมีความยินดีที่จะต้องรับใครก็ตามที่ต้องการจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอย่างมากมายของ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งทางบก ท่าเรือ พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านท่องเที่ยว มีพร้อมสรรพในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเมื่อมองไปข้างหน้า ถึงเวลาแล้วที่จะวางวิสัยทัศน์ว่า ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการรวมกันตัวในมิติใหม่ โดยเฉพาะด้านการเงิน และนี่คือเหตุผลที่ผมมองว่าการเชื่อมโยงทางการด้านการเงินเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโฉมใหม่

ตามที่ผมเปรียบ GMS ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในวัย 25 เพิ่งเรียนจบ และมีอนาคตสดใสรออยู่ข้างหน้า ดังนั้น ขอให้เราทุกคนร่วมเดินไปพร้อมๆ กับคนนี้ ร่วมกันปลดปล่อยศักยภาพ และคอยให้การสนับสนุน เพื่อให้คนนี้ประสบความสำเร็จและโชติช่วง

หมายเหตุ:
1. GMS-EC ย่อมาจาก Greater Mekong Sub-regional Economic Cooperation โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ คือ กัมพูชา จีน เมียนมา ลาว เวียดนาม ไทย หรือ หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุน และบริการ
2. World Bank Global Findex วัดจากผู้ที่ไม่มีบัญชีกับธนาคาร