ThaiPublica > คอลัมน์ > เปิดโปรไฟล์หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก (ตอนที่ 2) : ACC ภูฏาน

เปิดโปรไฟล์หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก (ตอนที่ 2) : ACC ภูฏาน

15 พฤษภาคม 2017


Hesse004

เมื่อเอ่ยถึง “ภูฏาน” ภาพแรกที่เรามักนึกถึง คือ ประเทศเล็ก ๆ ที่มีความสงบสุข ตั้งอยู่บนหุบเขาสูง มีเอกลักษณ์เครื่องแต่งกายประจำชาติโดดเด่น รวมไปถึงแนวคิดการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการสร้าง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness) หรือ GNH

ภูฏานเป็นประเทศในฝันของใครหลายคน เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ดี ภูฏานยังคงให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน แม้ว่าคอร์รัปชันในภูฏานยังไม่ได้รุนแรงเหมือนหลายประเทศ

เมื่อกลับไปดูค่าดัชนีความโปร่งใส Corruption Perception Index (CPI) เราพบว่า ภูฏานติดอันดับหนึ่งในห้าของประเทศโปร่งใสในแถบเอเชีย-แปซิฟิก และเมื่อย้อนดูค่าคะแนน CPI และอันดับความโปร่งใสของภูฏาน พบว่า นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ทั้งคะแนนและอันดับดีขึ้นเรื่อย ๆ (ดูตาราง)

สถานการณ์คอร์รัปชันในภูฏานแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงในภูมิภาคเอเชียใต้ ไม่ว่าจะเป็นเนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา หรือแม้แต่อินเดีย ซึ่งต้องเผชิญปัญหาคอร์รัปชันทั้งในแบบคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (Grand Corruption) ที่มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้อง และคอร์รัปชันขนาดเล็ก (Petty Corruption) ที่พบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวัน

เหตุผลที่ทำให้ภูฏานได้ค่าคะแนนความโปร่งใสอยู่ในระดับดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย คือ การเตรียมความพร้อมโดยออกแบบโครงสร้างการถ่วงดุลอำนาจ การมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง และสร้างจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับค่านิยมการต่อต้านทุจริต

สิ่งเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญภูฏาน ปี 2005 ออกแบบความเป็นประชาธิปไตยที่มีเสาหลักทั้งอำนาจบริหาร ตุลาการ และรัฐสภา โดยเพิ่มส่วนองค์กรอิสระ (Independent Offices) 4 หน่วยงาน คือ Anti-Corruption Commission (ACC) ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต The Election Commission of Bhutan (ECB) ดูแลเรื่องการจัดการเลือกตั้งให้เที่ยงธรรม The Royal Audit Authority (RAA) ทำหน้าที่ตรวจสอบเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ และหน่วยงานสุดท้าย คือ Royal Civil Service Commission (RCSC) คล้าย ๆ กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

องค์กรอิสระเหล่านี้เปรียบเสมือนเสาค้ำยันระบบการบริหารราชการแผ่นดิน สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลแบบชัดเจน เพื่อประคับประคองประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

สำหรับ ACC หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภูฏาน นั้นเป็นหน่วยงานสำคัญที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเตรียมรับมือปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังตามมา

น่าสนใจว่า หลักคิดนี้เป็นเรื่องการเตรียมพร้อมไว้ก่อน ทำนอง “กันไว้ดีกว่าแก้” แม้ปัญหาคอร์รัปชันในภูฏานจะเป็นแค่การทุจริตประพฤติมิชอบ รับสินบนเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ ACC ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อ “ปราม” ไม่ให้ปัญหาคอร์รัปชันบานปลายจนยากจะควบคุม

หลายประเทศเห็นว่า การมี ป.ป.ช. อาจไม่จำเป็นเพราะปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้รุนแรงเช่นกรณีเดนมาร์ก การป้องกันแก้ปัญหาทุจริตกระทำโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ จนกระทั่งศาล ไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาดูแลเรื่องนี้

กรณีภูฏานนั้น ACC เริ่มตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2006 (หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้) เจตนารมณ์ของ ACC ดูได้จากพระราชดำรัสของกษัตริย์จิ๊กมี่ ซิงเจ วานชุก (Jigme Singye Wangchuk) ผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่อง GNH…พระองค์ตรัสไว้น่าคิดว่า

“The rise of corruption in Bhutan is a challenge we face. How big the challenge is will depend on how soon and how strongly we decide to oppose it. There is no room for corruption. It is as simple as that, not now and not in the future”
(อ้างอิงจาก Asia Brief October 2016 Bhutan: We can win the fight against corruption.)

พระราชดำรัสของอดีตกษัตริย์ภูฏานสะท้อนให้เห็นถึงการตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาคอร์รัปชัน และ ACC ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินภารกิจนี้โดยเฉพาะ

ที่มาภาพ :ที่มาภาพ : http://www.acc.org.bt/sites/default/files/ACC%20logo_2.png

ACC มียุทธศาสตร์การต่อต้านคอร์รัปชัน คือ แสดงบทบาทเป็นหน่วยงานทั้งด้านป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2006-2015) ACC รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันนับพันเรื่อง เฉลี่ยแล้วปีละ 100 กว่าเรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนทุจริตส่วนใหญ่มาจากการบริหารราชการท้องถิ่น (Local Government)

คดีที่ ACC รับมา มักเป็นคดีรับสินบน ฉ้อฉล ยักยอก เบียดบัง ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งคดีเหล่านี้ ACC สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนได้รับการยอมรับว่าทำงานดี มีประสิทธิภาพ

ขณะที่คดีใหญ่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา คือ คดีนักการเมืองออกโฉนดจัดสรรที่ดินโดยมิชอบให้กับญาติพี่น้อง คนสนิทใกล้ชิดตัวเอง คดีนี้เรียกวว่า Gyelpozhing Land Case คดีนี้นับเป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมภูฏาน ที่เพิ่งเริ่มสร้างระบอบประชาธิปไตย …นักการเมืองที่พัวพันกับคดีนี้มีทั้งประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีมหาดไทยทั้งคู่ต่างโดน ACC ชี้มูลส่งขึ้นศาลดำเนินคดี

อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ ACC ประสบความสำเร็จในช่วงเริ่มต้น คือ การวางระบบโครงสร้างการทำงานที่ดี สามารถเอาผิดดำเนิน
คดีกับเหล่า “ปลาใหญ่” ได้ให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง

ที่น่าสนใจ คือ อดีตประธาน ACC (ACC Chairperson) คนแรกที่มาบุกเบิกงานต่อต้านคอร์รัปชันของภูฏาน คือ Ms. Neten Zangmo สุภาพสตรีหญิงเหล็กที่ถูกมอบหมายให้มากุมบังเหียน ACC ในช่วงก่อตั้ง

Neten Zangmo จัดเป็นหญิงแกร่งแห่งภูฏาน เธอไม่เกรงกลัวอิทธิพลมือผู้ใด ทำงานอย่างมุ่งมั่นและตรงไปตรงมา

Neten Zangmo อดีตประธาน ACC ที่มาภาพ:https://e2f6bb4414-custmedia.vresp.com/fcf2b9a78d/DashoNetenZangmo.gif

ผลงานเด่นที่เป็นเครื่องพิสูจน์ Zangmo คือ การสร้างสังคมโปร่งใสให้ภูฏานจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยความที่ภูฏานเป็นประเทศเล็ก ๆ สังคมการทำงานราชการจึงทำให้คนรู้จักกันหมด แน่นอนว่า เจ้าหน้าที่ ACC อาจจะต้องมานั่งสอบปากคำเพื่อนร่วมห้องที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกัน นับเป็นเรื่องที่ยากลำบาก (ในแง่ความรู้สึก) แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายมาก

Zangmo ได้รับเกียรติสูงสุดจากราชสำนักภูฏานในการพระราชทานยศเป็น Dasho ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มอบให้กับผู้สร้างคุณงานความดีในภูฏาน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ACC เป็นอีกหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อม รองรับปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ประเทศเล็ก ๆ สงบร่มเย็นเช่นภูฏาน