ThaiPublica > คอลัมน์ > What Now? Remind Me จดหมายรักแด่การมีชีวิตอยู่

What Now? Remind Me จดหมายรักแด่การมีชีวิตอยู่

28 พฤษภาคม 2017


1721955

What Now? Remind Me (2013) เปิดฉากด้วยภาพทากตัวเขื่อง ค่อยๆ คืบคลานผ่านจอไป ผิวของมันเลื่อมลื่นสะท้อนแดด เคลื่อนตัวเชื่องช้าชะลอลมหายใจคนดูให้หยุดนิ่งค่อยๆ เฝ้าดูและเงี่ยหูฟังเสียงบรรยากาศแวดล้อม เป็นการเริ่มต้นคุยโดยไร้คำพูดใดใด ปล่อยให้คนดูได้สงบนิ่ง หยุดครุ่นคิดต่อสิ่งที่เห็นตรงหน้า เพื่อเตรียมใจให้ตระหนักว่านี่คือหนังที่จะเฝ้าดูชีวิตเล็กๆ ด้วยความแช่มช้า ทันใดนั้นเงื้อมเงาอึมครึมบางอย่างก็วูบไหวเข้ามาเต้นระริกอยู่เหนือทากตัวนั้น เสมือนลางร้ายบางอย่างคืบคลานเข้ามา แต่ทว่าทุกชีวิตก็ยังคงงดงามเสมอ (แม้บางชีวิตอาจจะมีช่วงชีวิตแสนสั้น)

จากนั้นเสียงของผู้เล่าเรื่องจึงเริ่มขึ้น “ผมชื่อ วาคิม ชีวิตผมไม่ค่อยมีอะไรหวือหวานัก ผมอยู่กับนูโน่ เราแต่งงานกัน ท่องโลกกว้างด้วยกัน หรือไม่ก็โลกได้มองเห็นเราเคลื่อนผ่านมันไป เมื่อสองปีก่อนผมเริ่มลงหลักปักฐานในที่แห่งหนึ่ง มีทั้งวันดีๆ และวันร้ายๆ แต่หลังจากผ่านไปแค่เดือนเดียว ทุกอย่างก็กลับดูเป็นเรื่องเลวร้ายไปแทบทั้งหมด ผมเหนื่อยล้าจากความล้มเหลวในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี (HCV) หลังจากอาสาไปเป็นตัวทดลองยาที่ยังไม่รับรองผลข้างเคียง ในคลินิกแห่งหนึ่งที่เมืองมาดริด ซึ่งทำให้เกิดภาวะติดเชื้อ และพัฒนาไปสู่อาการตับแข็ง ผสมโรงกับเชื้อ HIV ที่ผมมีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ยิ่งทรุดหนักลง” วาคิม ปินโต ผู้กำกับเปิดฉากในหนังด้วยการอธิบายสาเหตุว่าทำไมเขาจึงทำหนังเรื่องนี้

หลักๆ แล้วนี่คือสารคดีที่ตัวผู้กำกับบันทึกเหตุการณ์ภายในช่วงหนึ่งปีที่ต้องทุกข์ทนต่อสู้กับการรักษาโรคร้าย เทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านนอกในโปรตุเกสกับคลินิกในสเปน สาธยายความเจ็บปวดของตนเอง แต่นี่ไม่ใช่สารคดีทางการแพทย์ และยิ่งไม่ใช่สารคดีดราม่าเรียกน้ำตาให้คนดูเห็นใจ จะชัดเจนกว่าถ้าเราจะเรียกหนังเรื่องนี้ว่า

‘จดหมายรักแด่การมีชีวิตอยู่’

“ผมต้องขอโทษล่วงหน้าถ้าบันทึกนี้จะทำให้คุณสับสน คงเพราะหัวผมยังไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย และขอโทษอีกทีที่เสียงผมจะฟังตะกุกตะกัก เพราะหลังจากการรักษา ผมเพิ่งรู้ว่าฟันของผมถูกทำลาย ตอนนี้ผมมีฟันปลอมแล้ว แต่ผมยังไม่เคยใช้มันเลย หมอปลอบใจผมว่า ‘พยายามมองในแง่ดีเข้าไว้นะ’ ดังนั้นผมเลยอยากจะเริ่มต้นด้วยรอยยิ้ม” จากนั้นหนังก็ตัดฉับ เป็นเพลงร็อกจังหวะหนักหน่วง มาพร้อมภาพเอ็กซเรย์ช่องปากในท่าฉีกยิ้มยิงฟันหลอทักทายคนดู ซ้อนกับภาพที่ถ่ายจากกระจกหน้ารถเหมือนกำลังแล่นผ่านเข้าไปในโพรงปากนั้น

แล้วหลังจากที่เขาบอกคนดูไปว่า “ตัวเขาไม่อยู่กับร่องกับรอย” ดังนั้น ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะเนิบนิ่ง แต่ก็เพิ่มดีกรีความเฮี้ยนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการพูดพล่ามไปตามความรู้สึก เช่นเดียวกับภาพที่บางช่วงตัดสลับไปมาไม่ค่อยลำดับเวลา และนี่คือกลวิธีของหนังเรื่องนี้ What Now? Remind Me ที่คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยม จากเทศกาล Cineport-Portuguese, รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม สารคดียอดเยี่ยม ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลท็อปเท็นแห่งปี จากงานประกาศผล CinEuphoria, จนสามารถเป็นตัวแทนประเทศเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในปีนั้น แม้จะไม่ติดโผในลิสต์สุดท้าย แต่หนังก็ยังคว้าอีกหลายรางวัลตามเทศกาลต่างๆ เช่น รางวัล FIPRESCI กับรางวัล Special Jury จากเทศกาลหนัง Locarno, รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัล Critics Award จาก เทศกาล Valdivia ฯลฯ

“ผมไม่ค่อยไว้ใจปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ของตัวเอง นูโน่เลยรับหน้าที่ขับรถให้ เขาไม่ค่อยอยากจะโผล่เข้ามาในหนังเรื่องนี้สักเท่าไร” แต่หลังจากนั้นกลับมีอีกหลายๆ ภาพที่นูโน่โผล่เข้ามา ในแบบเบลอๆ บ้าง ตกอยู่ในเงามืดทึมๆ บ้าง หรือไม่ก็เห็นเป็นบางส่วนของอวัยวะ ไม่ว่าจะใบหน้า แขน หรือร่างกายท่อนล่างอันเปลือยเปล่า ทว่าหนังกลับไม่ได้ให้ความสำคัญหรือทำให้คนดูได้ความรู้จักกับนูโน่-สามีของเขาสักเท่าไร แต่กลับเล่าเรื่องมากมายเกี่ยวกับเพื่อนเก่า คนข้างบ้าน หมาที่เลี้ยงไว้ ชีวิตวัยรุ่น หรือไม่ก็ผู้ชายที่เคยผ่านเข้ามา ในแบบละเอียดถี่ยิบ และนี่คืออารมณ์ขันและความคลุมเครือของหนังเรื่องนี้ ที่ตลอดเรื่องแม้เราจะไม่ค่อยเห็นตัวนูโน่แบบเต็มๆ ตัว แต่ก็สัมผัสได้ถึงการมีอยู่ของนูโน่ในทุกโมเมนต์ พวกเขาเป็นคู่สามี-สามี ที่ไม่ค่อยจะพูดคุยอะไรกันมากนัก แต่คนเดียวที่ยังคอยอยู่ดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำให้ปินโตก็คือนูโน่คนนี้เอง และอย่างไม่มีอิดออด ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง อาจมีงอนๆ บ้างก็แค่หายออกไปจากบ้านดื้อๆ แล้วก็กลับเข้ามาดูแลปินโตอย่างเงียบเชียบตามประสาคู่บ่าว-บ่าว แล้วอันที่จริงถึงแม้ชีวิตพวกเขาจะหวือหวาเอาการ แต่ปินโตก็ยังคงย้ำหนักแน่นในตอนท้ายเรื่องอีกครั้งว่า “ชีวิตผมไม่ค่อยมีอะไรหวือหวานัก” และเขาเล่าหนังทั้งเรื่องด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายธรรมดาโลก

หนังยาวเกือบสามชั่วโมงที่สะกดคนดูด้วยภาพสวยแปลกๆ ที่มีลูกเล่นทั้งองค์ประกอบผิดปกติและแสงเงาประหลาดๆ บางทีก็แทรกภาพนิ่งเข้ามาดื้อๆ เร่งภาพเร็วบ้าง หรือตัดต่อภาพนิ่งให้เคลื่อนไหวในแบบแอนิเมชั่นบ้าง สลับกับภาพชีวิตเล็กๆ อีกมากมายจิปาถะ ไม่ว่าจะผึ้งที่กำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอด, แมลงปอบินล้อลม, นกตายซากแบนแต๊ดแต๋คาถนน, ซากกระต่ายตายแห้งแมลงวันตอมหึ่ง ฯลฯ ซึ่งปินโตบอกว่า “ชีวิตนั้นเปราะบาง และความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ระหว่างทางจู่ๆ เขาก็เล่าว่า (อย่างที่บอกไปแล้วว่าหนังไม่สนใจการลำดับเวลา) เขาเกิดในปี 1957 ในเมืองโอปอร์โต (บ้านเกิดของ มาโนเอล เดอ โอลิเวรา, เปาโล โรชา และแอนโตนิโอ เรส์ สามผู้บุกเบิกแวดวงภาพยนตร์โปรตุเกสสมัยใหม่) ปินโตได้รับเชื้อ HIV ในช่วงยุค 80 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาได้รู้จักกับคนดังๆ มากมาย เช่น นักเขียนและนักเคลื่อนไหวสิทธิ์เพื่อเกย์ ชาวฝรั่งเศส กาย ฮ็อคเคว็นเฮม ในนิวยอร์ก, คนตัดต่อหนังชาวชิลี เคลาดิโอ มาร์ติเนซ (ซึ่งปินโตอุทิศหนังเรื่องนี้ให้ด้วย), ราอูล ดาเมนเต โบตานา นักแสดงชาวอาร์เจนตินาที่อพยพไปอยู่ปารีส, นักเขียนและนักแสดงชาวเยอรมัน เคิร์ท ราบ (ผู้โด่งดังจากหนังหลายเรื่องของ ฟาสบินเดอร์), เซอร์เก ดาเนย์, ดีเรก จาร์มาน และแมนเฟรด ซาลซ์เกเบอร์ ซึ่งล้วนเป็นคนเกย์หัวขบถในยุคสมัยนั้น และทุกคนล้วนเสียชีวิตด้วยเอดส์

หลังจากเรียนจบมาทางภาพยนตร์ ปินโตไปเป็นช่างเทคนิคให้กับสถานีโทรทัศน์อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะโดดไปทำบันทึกเสียงให้กับหนังสยองเรื่อง The Territory (1981) ที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นคนทำเสียงแถวหน้าของวงการหนังโปรตุเกส แล้วผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์, ผู้กำกับภาพ และผู้กำกับหนัง เช่น Tall Stories (1988), Where the Sun Beats (1989) ก่อนจะข้ามมาทำหนังสารคดีร่วมกับสามี อาทิ Fish Tail (2003), The New Testament of Jesus Christ Accorging to John (2013)

“สิ่งที่ผมหวาดกลัวที่สุดคือ ถ้าวันหนึ่งความคิด จิตใจ ความทรงจำ และตรรกะเหตุผลที่ทำให้เป็นตัวผมมาจนทุกวันนี้ มันจะสูญสลายไปโดยไม่ทันตั้งตัว เมื่อถึงตอนนั้นแล้วการมีอยู่ของผมก็จะไร้ค่าไปโดยสิ้นเชิง” ปินโตโอดครวญ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาเขียนจดหมายรักเรื่องนี้ ที่คนดูจะค่อยๆ เห็นชีวิตเขาโรยราไปต่อหน้าด้วยเช่นกัน