ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดตัว “CUTE จุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทย” สร้างเครือข่ายเอกชนเป็นพี่เลี้ยงหนุนสตาร์ทอัพ

เปิดตัว “CUTE จุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทย” สร้างเครือข่ายเอกชนเป็นพี่เลี้ยงหนุนสตาร์ทอัพ

17 พฤษภาคม 2017


เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมมือกับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) เปิดตัวโครงการจุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทย หรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence ( CUTE ) จากขวามาซ้าย นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ, นายเทวินทร์ วงศ์วานิช และ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมมือกับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) เปิดตัวโครงการจุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทย หรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence ( CUTE ) เพื่อสนับสนุนเงินลงทุนและให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพ (start-up) ที่มีนวัตกรรมน่าสนใจ เนื่องในวาระ 100 ปี ของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช นายก สนจ. กล่าวว่า โครงการจุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทย หรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence (CUTE) จัดตั้งขึ้นเนื่องในวาระ 100 ปี ของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมมือกับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ในการคัดเลือกนวัตกรรมที่น่าสนใจมาต่อยอดทางธุรกิจเพราะปัจจุบันนวัตกรรมเป็นหัวใจของการพัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า CUTE เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนเพื่อสร้าง Innovation Eco-system โดยโครงการได้ระดมพลังนิสิตเก่าที่มีประสบการณ์และศักยภาพในด้านต่างๆ มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ให้สตาร์ทอัพพัฒนาศักยภาพของนวัตกรรม สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้จนประสบความสำเร็จ

“โครงการนี้จะใช้ชื่อจุฬาฯ แต่พี่เลี้ยงและสตาร์ทอัพในโครงการนี้ไม่ได้จำกัดแค่นิสิตของจุฬาฯ เท่านั้น เราไม่ได้แบ่งแยกสถาบัน แต่ต้องการช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมไทย และถือโครงการ CUTE เป็นอนุสรณ์ในโอกาสครบรอบ 100 ปีด้วย และขอให้พี่น้องชาวจุฬาฯ ร่วมกันสมัครเป็นพี่เลี้ยงเพื่อแบ่งปัน และส่งต่อความรู้, ประสบการณ์ที่ตนเองเชี่ยวชาญทั้งในด้านธุรกิจ การจัดการ ตลาด เงินทุน ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและคนรุ่นใหม่” นายเทวินทร์กล่าว

ด้านศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน พัฒนานวัตกรรม โดยสร้างการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือ เป็นศูนย์รวมนวัตกรรม ผลงานทางวิชาการ งานวิจัย ที่พร้อมต่อยอดสามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยซึ่งโครงการ CUTE ทำให้นิสิตเก่าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ได้อาสาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งประสบการณ์จากนิสิตเก่าจุฬา และความคิดสร้างสรรค์ของสตาร์ทอัพ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาธุรกิจได้ถูกต้องและได้รับโอกาสในการแข่งขันได้ในเวทีโลก

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

ด้านนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานโครงการ CUTE กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มดั้งแต่เดือนกันยายน 2559 โดยได้ประชุมเพื่อวางโครงสร้างการดาเนินการ การทาบทามและรับสมัครผู้เชี่ยวชาญ และการมองหาโครงการที่ควรได้รับการสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันมีนิสิตเก่าอาสาเป็นพี่เลี้ยงแล้วกว่า 100 คนจากหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์การแพทย์, การจัดการ/ICT, เทคโนโลยีและนวัตกรรม, การจัดการเทคโนโลยี/ระบบคุณภาพ/ การพัฒนาอย่างยั่งยืน, การบริหารธุรกิจ/ ยุทธศาสตร์องค์กร/ Growth, การตลาด/ E-Business, กฎหมาย/ ภาษี, การบัญชี การเงิน การธนาคาร

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การดำเนินโครงการ CUTE จะคัดเลือกโครงการที่ส่งมาจาก Incubation Centers ต่างๆ เพื่อให้พี่เลี้ยงให้ความเห็นและคำแนะนำเบื้องต้น แล้วคัดเลือกไปพัฒนาศักยภาพ หลังจากนั้นจะมีวัดนัดพบผู้ลงทุนโดยนำโครงการที่พร้อมจะระดมทุนมาเสนอแก่ผู้ลงทุนที่เป็น Angel Investors และ Venture Capital ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ “โครงการนี้มีเงินทุนสนับสนุนไม่จำกัด และจะดำเนินการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีโครงการนวัตกรรมเข้ามา”

ด้านนายธีรนันท์ ศรีหงส์ รองประธานโครงการ CUTE และหนึ่งในพี่เลี้ยง กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการของ CUTE คือ เป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาได้จริง และทีมผู้ประกอบการว่ามีความตั้งใจจริงที่จะต่อยอดนวัตกรรมสู่ความสำเร็จและมีความต้องการที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพจะได้รับจาก CUTE คือ คำแนะนำเรื่องการบริหารธุรกิจที่ตอบโจทย์ตลาดใหม่ๆ มีSolution Fit หรือการแก้ปัญหาที่ได้ผลจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับตัวของเจ้าของกิจการ หรือโครงสร้างการบริการ ที่สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้ ทั้งนี้ CUTE ไม่ได้กำหนดจำนวนรับเข้าโครงการนวัตกรรม ซึ่งหากมีพี่เลี้ยงมากก็สามารถรับโครงการเข้าได้มาก

ด้านนายจอมทรัพย์ สิทธิพิทยา CEO บริษัท เอ็กซี่ จำกัด (EXZY Co.,Ltd.) กล่าวว่า บริษัทมีนวัตกรรม VR หรือแว่นสามมิติซึ่งมีตลาดหลักในปัจจุบันคือ องค์กรต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนรู้แบบ Edutainment โดยทาง CUTE สนใจในนวัตกรรมนี้แล้วได้ติดต่อทางบริษัทเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะการขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายของแว่นสามมิติซึ่งตรงตามความต้องการของบริษัทที่ต้องการขยายตลาดให้กว้างขึ้นจากกลุ่มองค์กรหรือพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาสินค้าด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันทาง CUTE ได้เริ่มเข้ามาให้คำปรึกษาอย่างเป็นทางการที่บริษัทแล้ว 1 ครั้ง

งานเปิดตัวโครงการจุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทยหรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence (CUTE) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ และสตาร์ทอัพ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ CUTE กรุณาส่งข้อมูลมาที่ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย( CUI ) สามารถสอบถามรายละเอียด และสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.cuaa.chula.ac.th อีเมล์ : [email protected] หรือ Facebook : CUTE