ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์ชาติกางข้อมูลหนี้คนไทย จับมือแบงก์พาณิชย์ เปิด “คลินิกแก้หนี้” ช่วยลูกหนี้เอ็นพีแอลที่มีเจ้าหนี้ 2 รายขึ้น ระบุมีแสนราย วงเงินแสนล้านบาท

แบงก์ชาติกางข้อมูลหนี้คนไทย จับมือแบงก์พาณิชย์ เปิด “คลินิกแก้หนี้” ช่วยลูกหนี้เอ็นพีแอลที่มีเจ้าหนี้ 2 รายขึ้น ระบุมีแสนราย วงเงินแสนล้านบาท

17 พฤษภาคม 2017


วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัวโครงการคลินิกแก้หนี้ ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง โครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในระดับตัวลูกหนี้เอง ระดับครอบครัว และระบบสถาบันการเงินไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณเตือนและแสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ถ้าเราแค่เตือนเท่านั้น ปัญหาที่มีอยู่จะไม่สามารถหมดไปได้

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนกลับรุนแรงขึ้น การแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เรื่องแรก วินัยและความรู้ความเข้าใจในการวางแผนทางการเงินของลูกหนี้ ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายไม่ให้จ่ายเงินเกินตัว

มิติที่สอง คือ สถาบันการเงินเจ้าหนี้หรือผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อ จะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้เกินตัว การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต้องตรงกับความต้องการของลูกค้า และมีการควบคุมความเสี่ยงที่ดี

มิติที่สาม ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เมื่อลูกหนี้ติดอยู่ในวงจรหนี้สินล้นพ้นตัว หรือเป็นหนี้เสีย แล้วควรจะมีทางออกให้ลูกหนี้ที่สุจริต ตั้งใจที่จะปรับพฤติกรรมของตัวเอง สามารถที่จะออกจากวงจรหนี้ได้ และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของครอบครัวได้ใหม่

โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลหรือโครงการคลินิกแก้หนี้ที่เราเปิดตัวในวันนี้เป็นเฉพาะมิติที่สาม เรายังต้องทำงานร่วมกันต่อเนื่องสำหรับส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สอง โครงการคลินิกแก้หนี้นี้เป็นความร่วมมือก้าวสำคัญระหว่างสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือแซม (SAM) บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาสังคมที่สำคัญของประเทศ

“ปัจจุบันภาคครัวเรือนมีความเปราะบางทางการเงิน เราทราบกันดีว่าภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง มีความผันผวนสูง ถ้าครัวเรือนมีความเปราะบางทางการเงินก็จะส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม ในระดับลูกหนี้แต่ละคนแล้ว คนที่เป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้เสีย มักจะมีความกังวล เครียด และไม่มีสมาธิในการประกอบกิจการหน้าที่ต่างๆ เป็นปัจจัยฉุดรั้งทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติและที่สำคัญไม่สามารถยกระดับศักยภาพของตัวเองได้”ดร.วิรไทกล่าว

ชี้ 7 ปี คนไทยหนี้เพิ่มเท่าตัว จาก 70,000 เป็น 150,000 บาท

จากข้อมูลล่าสุดพบว่า หนี้ภาคครัวเรือนได้ปรับลดลงบ้างถ้าดูในภาพใหญ่ในระดับมหภาค ในสิ้นปี 2558 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 81.2% ของจีดีพี ปรับลดมาอยู่ที่ 79.9% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2559 แม้ว่าจะหักส่วนที่กู้ไปประกอบธุรกิจประมาณ 20% ของจีดีพี ก็ยังนับว่าอยู่ในระดับสูงและมีหลายประเด็นที่น่ากังวล

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์ (PIER) ได้ร่วมกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติทำการศึกษา big data analytics พบว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นมาก เป็นหนี้นาน และมีหนี้มูลค่ามาก” กล่าวคือ

1) คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย จากถังข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตพบว่า ครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 มีหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือ personal loan และ/หรือหนี้บัตรเครดิต

“ถ้าดูคนไทยที่มีหนี้เสียหรือมีหนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วันจะน่าตกใจที่พบว่า ลูกหนี้ที่อยู่ช่วงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและอยู่ในช่วงวางรากฐานที่สำคัญให้ครอบครัว เป็นลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วันมากถึงหนึ่งในห้า ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้กองทุน ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้มากเช่นกัน ถ้ารวมตัวเลขนั้นเข้ามา ผมคิดว่าปัญหาจะยิ่งน่าเป็นห่วง”

2) คนไทยเป็นหนี้นาน ปริมาณหนี้ต่อหัวเร่งขึ้นเร็วสำหรับคนในช่วงอายุประมาณปลาย 20 เข้า 30 ปี และอยู่ในระดับใกล้เคียงระดับสูงสุดตลอดอายุการทำงาน ที่สำคัญระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเราเข้าสู่สังคมชราภาพมากขึ้น เราทราบกันดีว่าคนที่อายุใกล้เกษียณต้องมีความพร้อมที่จะดูแลตัวเองในวันที่เกษียณได้

3) คนไทยมีหนี้มูลค่ามากขึ้น ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตพบว่าค่ากลางหรือ median ของหนี้ต่อหัว จาก 70,000 บาทในปี 2553 หรือ 7 ปีก่อน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ณ สิ้นปี 2559 นอกจากนี้ คนที่มีหนี้ในระบบจากฐานข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติซึ่งรวมข้อมูลจากสถาบันการเงิน ยังมีสถานะการเงินเปราะบาง 16% ของคนที่มีหนี้ หรือประมาณ 3 ล้านคน มีหนี้ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน นั่นหมายถึงการเป็นหนี้เสียที่ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรืออยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย

อาการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดวินัยและการขาดทักษะในการบริหารจัดการเงิน และสะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนไม่น้อยติดอยู่ในวงจรหนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภคที่ไม่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตนั้น ยากที่เศรษฐกิจของเราจะเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ลูกหนี้ร่วมโครงการนับแสนราย – มูลหนี้มากกว่าแสนล้านบาท

ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท และธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจัดให้มีโครงการคลินิกแก้หนี้ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน มีโอกาสปลดภาระหนี้สินที่มีกับเจ้าหนี้หลายรายได้อย่างครบวงจรและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิททำหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย การที่มีเจ้าหนี้หลายราย ลูกหนี้ต้องเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับแต่ละแห่งที่มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานแตกต่างกัน ทำให้ประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างยาก และที่สำคัญ เราต้องไม่ลืมว่าเงินที่ลูกหนี้นำมาชำระหนี้ 3 เจ้าหนี้หลายรายนั้นต่างมาจากแหล่งรายได้ก้อนเดียวกัน

การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้จะต้องดูภาระหนี้ทั้งหมด ไม่สามารถพิจารณาทีละรายเจ้าหนี้ได้ ในโครงการนี้ SAM จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รับชำระหนี้ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ ส่งเสริมให้ลูกหนี้ปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสม เพื่อที่จะไม่ก่อภาระหนี้สินเกินตัวอีกในอนาคต

“โครงการคลินิกแก้หนี้ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะสามารถรักษาหนี้ทุกคนให้หายขาดได้ เราเชื่อว่าเป็นหนึ่งใน มาตรการที่จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่สุจริตและมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากแก้ไขปัญหาสามารถที่จะเริ่มต้นใหม่ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ตามความสามารถในการชำระหนี้จริง อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นควบคู่กันไป คือการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการออมการสร้างวินัยและการสร้างทักษะในการบริหารจัดการเงิน ทักษะในการวางแผนทางการเงิน รวมทั้งปลูกฝังทัศนคติการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงควบคู่ไปกับที่สถาบันการเงินต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และพิจารณาการให้สินเชื่ออย่างรอบคอบ ไม่ให้สินเชื่อมากเกินควรและเกินความจำเป็น”

โครงการคลินิกแก้หนี้ที่เราจะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนนี้ ถือเป็นโครงการนำร่อง โดยช่วงแรกจะครอบคลุมเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน มีเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปและมีสถานะเป็นหนี้เสีย คือ ค้างชำระมากกว่า 90 วันก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2560

จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต ในเบื้องต้นเราพบว่า อาจจะมีลูกหนี้ในกลุ่มนี้หลายแสนราย ยอดเงินรวมกันมากกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งที่ยังอยู่ในบัญชีของสถาบันการเงินและที่สถาบันการเงินได้ตัดบัญชี หรือ write off ไปแล้ว แต่ยังมีสิทธิตามเก็บจากลูกหนี้อยู่ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องแสดงเจตนาที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างวินัยในการใช้จ่ายตลอดช่วง 5 ปีที่ร่วมโครงการจะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมได้ ยกเว้นเกิดกรณีจำเป็นตามที่ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ของโครงการ

“เมื่อดำเนินโครงการไประยะหนึ่งจะติดตามประเมินผลโครงการเพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเอาประโยชน์ของสังคมไทยเป็นที่ตั้ง ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท และบริษัทข้อมูลเครดิต ที่ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็น ของการจัดตั้งคลินิกแก้หนี้ขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้โอกาสลูกหนี้แก้ไขปัญหาหนี้ในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับครอบครัวของตัวเองแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนลุกลามจนกระทบต่อสังคมและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว”ดร.วิรไทกล่าว

อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสะสมมานานและไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น โครงการคลินิกแก้หนี้จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ยอมเสียสละผลประโยชน์บางส่วนมาร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันโครงการนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

“สุดท้ายนี้ ผมขออันเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สององค์ ซึ่งพระองค์ได้เคยพระราชทานเตือนสติชาวไทยไว้ว่า

“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540

และพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม 2502

“การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

ปรับโครงสร้างหนี้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 7% มูลหนี้ต่ำกว่า 2 ล้านบาท

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ (ขวาสุด) ประธานกรรมการ SAM, นายปรีดี ดาวฉาย (คนที่ 3 จากขวา) ประธานสมาคมธนาคารไทย, นายดาเรน บัคลีย์ (ซ้ายสุด) ประธานสมาคมธนาคารนานาชาติ

ดร.วิรไทยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงโครงการนำร่อง ซึ่งจะจำกัดอยู่เพียงสถาบันการเงินในกำกับของ ธปท. โดยยังไม่รวม Non-bank ซึ่งติดประเด็นข้อกฎหมายในพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ของ SAM ที่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงและกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมกฤษฎีกา นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดอื่นๆในสำหรับโครงการนำร่อง ตัวอย่างเช่น ต้องเป็นผู้มีรายได้ประจำ, มีมูลหนี้ต่ำกว่า 2 ล้านบาท, เป็นหนี้เฉพาะหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต และต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เพื่อป้องกันการบิดเบือนพฤติกรรมของลูกหนี้บางส่วนที่อาจจะอยากเข้ามารับดอกเบี้ยอัตราพิเศษ

“สำหรับเรื่องแรงจูงใจ โครงการนี้เราพยายามออกแบบให้วิน-วินกันทุกฝ่าย คือนอกจากลูกหนี้จะได้ประโยชน์ที่จะได้ชำระในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ในแง่ของสถาบันการเงินก็จะได้ด้วย อย่าง recovery rate ที่ได้จากการติดตามหนี้ก็จะมากขึ้น เพราะลูกหนี้จะมีกำลังชำระคืนตามความสามารถที่ควรจะเป็น หรือการที่ไม่ต้องกันสำรองหนี้ส่วนนี้ เนื่องจากเริ่มชำระแล้วก็ไม่นับเป็นหนี้เสีย” ดร.วิรไทกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลของ ธปท. ระบุว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่มีจำนวนมูลหนี้เข้าข่ายประมาณ 500,000 ราย (โดยส่วนหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลจะไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากติดข้อกฎหมาย) และหากรวม Non-bank จะสูงถึง 3 ล้านราย

ด้านนางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการ SAM กล่าวเสริมว่า เงื่อนไขดอกเบี้ยจะเริ่มต้นจากหนี้ที่ต่ำกว่า 30,000 บาท คิดดอกเบี้ยเหลือ 4%, ตั้งแต่ 30,000-50,000 บาท คิดดอกเบี้ย 5%, 50,000-100,000 บาท คิดดอกเบี้ย 6% และตั้งแต่ 100,000-2,000,000 บาท คิดดอกเบี้ย 7% และให้เหตุผลของการเริ่มโครงการจากผู้มีรายได้ประจำ เนื่องจากคิดเป็นกว่า 70% ของลูกหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิตทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอสำหรับโครงการนำร่องและในอนาคตจะค่อยๆ ขยายขอบเขตโครงการต่อไป ขณะเดียวกัน SAM จะมีกระบวนการติดตามการชำระหนี้ โดยหากเริ่มผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 60 วัน ทางบริษัทจะส่งคนเข้าไปปรึกษาช่วยเหลือ และหากมีความจำเป็นอาจจะขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้สูงสุด 6 เดือน

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่าจะเป็นการนำหนี้เสียของลูกค้าจากหลายสถาบันการเงินมาดำเนินการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกันในคราวเดียวโดยมีหน่วยงานกลางเป็นคนจัดการ และมีการผ่อนปรนให้ลูกค้า โดยให้ลูกค้าผ่อนชำระหนี้ในระยะยาวตามจำนวนเงินที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละรายในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7% ต่อปี ซึ่งจะช่วยลดภาระในการผ่อนชำระหนี้โดยรวมของลูกค้าลงได้ นอกจากนี้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาระยะยาว ต่อไปจะมีการกำหนดมาตรการในการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าจะไม่สร้างหนี้ขึ้นมาใหม่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง พร้อมทั้งมีการจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงินแก่ลูกค้าอีกด้วย

“โครงการการนี้เพิ่งเริ่มต้น อาจจะยังไม่สามารถแก้ไขให้กับลูกหนี้ได้ทุกราย แต่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเหมาะกับคนที่ตั้งใจในการแก้ไขปัญหาหนี้แบบยั่งยืน อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของโครงการฯ อาจจะมีความขลุกขลักบ้างเล็กน้อย ก็ขอให้สถาบันการเงินช่วยกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาและเก็บข้อมูลปัญหา เพื่อมาปรับปรุงแก้ไขให้โครงการฯ สัมฤทธิผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป” นายปรีดีกล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์อื่นๆ ได้แก่ เป็นบุคคลธรรมดา อายุไม่เกิน 65 ปี, ไม่ลดเงินต้น ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระ เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมล่าช้า ก่อนเข้าโครงการ แต่จะยกให้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น, ต้องชำระหนี้งวดแรก ณ วันที่ทำสัญญา, อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7% ระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี และมีความสามารถในการชำระหนี้, ลูกหนี้ไม่ก่อหนี้ใหม่ภายใน 5 ปี, จัดให้ลูกหนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางการเงิน การวางแผน และบริหารการเงินที่ดี เพื่อปรับพฤติกรรมการออมและจ่าย