ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อกรรมการบริษัทไทย ขาดความรู้ความเข้าใจตัวบทกฎหมายที่กระทบต่อตัวเองโดยตรง แล้ว ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร

เมื่อกรรมการบริษัทไทย ขาดความรู้ความเข้าใจตัวบทกฎหมายที่กระทบต่อตัวเองโดยตรง แล้ว ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร

21 เมษายน 2017


วิริยา สาสกุล

เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก เมื่อผลการสำรวจของ IOD แสดงออกมาว่า มีเพียง 6.1 เปอร์เซนต์ของจำนวนกรรมการที่ทำการสำรวจเท่านั้น ที่มีความรู้ความเข้าใจรายละเอียดในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถึง 76 ฉบับ ซึ่งเพิ่งมีการแก้ไขไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะ กฎหมายทั้ง 76 ฉบับนั้น ล้วนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ทั้งสิ้น อาทิ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ พ.ร.บ.กิจการพลังงานฯ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ และพ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรงฯ เป็นต้น ซึ่งสาระสำคัญของการแก้ไขคือ การเพิ่มบทกำหนดโทษและการลงโทษทางอาญา โดยการเพิ่มบทสันนิษฐานลงไปในกฎหมายเหล่านั้นว่า กรรมการจะต้องรับผิดและมีโทษทางอาญา เมื่อพบว่าบริษัทที่กรรมการเหล่านั้นทำหน้าที่บริหารงานหรือมีตำแหน่งอยู่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อการทำหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัท อาจนำมาซึ่งความรับผิดทางอาญาซึ่งคือ การถูกลงโทษด้วยการจำคุก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมการในบริษัทต่างๆ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของการแก้ไขกฎหมาย 76 ฉบับนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าจากการสำรวจของ IOD มีกรรมการจำนวนน้อยมากที่เข้าใจรายละเอียดของการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ และยังมีกรรมการอีกจำนวนมากที่จากการสำรวจยังพบอีกว่า ไม่ได้รู้หรือไม่เข้าใจเลยว่า การแก้ไขกฎหมายทั้ง 76 นั้น จะมีผลกระทบต่อตนเองอย่างไร

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรจะมาดูกันว่า บรรดากรรมการของบริษัทต่างๆนั้น ได้มาหรือมีการแต่งตั้งกันมาอย่างไร ทั้งนี้เพราะ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า บริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า บริษัทจดทะเบียนนี้ การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด และคนที่จะมาเป็นกรรมการได้จะต้องมีคุณสมบัติขั้นต่ำตามที่กฎหมายเหล่านี้กำหนด คือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สำหรับบริษัทจำกัด) พ.ร.บ.บริษัทมหาชน (สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด) และพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึง ประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. (สำหรับบริษัทจดทะเบียน) และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (สำหรับกิจการเฉพาะทางที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน) ซึ่งนอกจากที่ พ.ร.บ.และประกาศเหล่านั้นจะมีการกำหนดเรื่องคุณสมบัติของกรรมการเอาไว้แล้ว โดยปกติบริษัททั้งหลายเองก็จะต้องมีหรือแสวงหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเสนอต่อผู้ถือหุ้นของตน ให้ทำการพิจารณาแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการอีกด้วย

กฎหมายต่างๆที่มีอยู่นั้น จะกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่เหมาะสมกับการเป็นกรรมการบริษัทเอาไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางแก่บริษัท ซึ่งคำว่า ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นนั้น ยกตัวอย่างเช่น ต้องเป็นคนมีความรอบรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่บริษัททำ ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ไม่เคยทำความผิดตามพรบ.หลักทรัพย์ฯ และยังอาจจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะทางเพิ่มขึ้นอีก หากบุคคลนั้นจะต้องเข้ามาเป็นกรรมการที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบ เช่น มีความรู้ทางด้านการเงิน บัญชี หรือ กฎหมาย เป็นต้น

ดังนั้น หากการแต่งตั้งสรรหากรรมการบริษัทเป็นไปตามที่กฎหมายเกี่ยวข้องกำหนดแล้ว บรรดากรรมการเหล่านั้นก็น่าจะต้องมีความรู้ความสามารถในระดับที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเองดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอยู่เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อมีการรายงานผลสำรวจของ IOD ว่ามีกรรมการเพียงแค่ 6.1 เปอร์เซนต์ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ทำการสำรวจเท่านั้น ที่มีความรู้และเข้าใจรายละเอียดการแก้ไขกฎหมาย 76 ฉบับ จึงเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยว่าแล้วประเทศไทยจะก้าวไปเข้าสู่ยุค 4.0 ได้จริงหรือ ในเมื่อมีกรรมการบริษัทจำนวนน้อยมาก ที่มีความรู้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องและอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของตนเอง แล้วพวกเขาเหล่านั้น จะทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร ประเทศไทยจะพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังน่าเป็นห่วงบรรดากรรมการทั้งหลายที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการแก้ไขกฎหมายทั้ง 76 ฉบับนั้นอีกว่า นับจากนี้เป็นต้นไปการทำหน้าที่ของตนเอง อาจทำให้ต้องรับโทษติดคุกโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ซึ่งจะมาต่อสู้ว่าไม่ใช่ความผิดของตนเองแบบที่เคยเป็นมาก็ต่อสู้ไม่ขึ้นอีกด้วย หากพบว่าบริษัทที่ตนเองเป็นกรรมการบริหารงานอยู่นั้นกระทำผิดกฎหมายและมีบทลงโทษทางอาญา และหากกรรมการยังจะอ้างอีกว่าไม่รู้กฎหมายก็ย่อมไม่ได้อีก เหมือนกับที่ผลสำรวจของ IOD แสดงออกมาว่า มีกรรมการบริษัทจำนวนมากบอกว่า ไม่รู้ว่ามีการแก้ไขกฎหมาย ทั้งนี้เพราะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 กำหนดไว้ว่า บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อไม่ต้องรับผิดนั้นไม่ได้ ดังนั้น กรรมการบริษัท จึงมีหน้าที่ที่จะต้องรู้และเข้าใจกฎหมาย เพราะการไม่รู้กฎหมายไม่สามารถทำให้ตนเองพ้นผิดไม่ต้องรับโทษทางอาญาไปได้

และจากผลสำรวจของ IOD นั้น นอกจากกรรมการบริษัทจำนวนมากจะไม่มีความรู้และความเข้าใจในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจจำนวน 76 ฉบับนี้แล้ว กรรมการบางส่วนยังได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลหลักในการแก้ไขกฎหมายทั้ง 76 ฉบับนี้ไปแล้วโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นชัดว่า บรรดากรรมการเหล่านั้นขาดความเข้าใจถึงการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้จริงๆ ทั้งนี้เพราะ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจจำนวน 76 ฉบับครั้งนี้ เกิดมีขึ้นก็เพื่อเพิ่มผลการบังคับใช้กฎหมายโดยการบัญญัติบทลงโทษทางอาญาเอาแก่ตัวของกรรมการโดยตรง (จากเดิมที่กฎหมายลงโทษกรรมการด้วยโทษทางอาญาไม่ได้เมื่อพบว่าบริษัททำผิดกฎหมายที่แม้ว่าจะมีโทษทางอาญา เพราะถือว่า ความเป็นบริษัทนั้น แยกคนละส่วนกับการเป็นกรรมการ) ด้วยการใส่บทสันนิษฐานความผิดเอาไว้ ซึ่งบทสันนิษฐานที่ว่านี้ก็คือ บทบัญญัติของกฎหมายที่มุ่งผลให้มีการบังคับใช้บทลงโทษทางอาญาต่อกรรมการของบริษัทโดยตรง เมื่อพบว่าบริษัทมีการกระทำผิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยที่ไม่ต้องมานั่งรอการพิสูจน์ว่า กรรมการนั้นกระทำผิดจริงหรือไม่ก็ตาม

มาถึงตอนนี้ บรรดากรรมการบริษัททั้งหลายในประเทศแห่งนี้ จะต้องตระหนักไว้ด้วยว่า รัฐบาลไทยนั้นมีวิธีการประกาศกฎหมายหรือเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้รับทราบ โดยผ่านหนังสือของทางราชการที่เรียกว่า “ราชกิจจานุเบกษา” มาตั้งแต่ในสมัยรัชการที่ 6 ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้กฎหมายใหม่ ประกาศการแก้ไขกฎหมายฉบับต่างๆ หรือประกาศของกระทรวง ทบวง กรม และยังรวมไปถึง ประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทอีกด้วย ซึ่งบรรดาประกาศต่างๆ ดังที่ว่ามาข้างต้นนั้น จะมีการกำหนดวันที่ที่มีผลบังคับใช้ไว้เสร็จสรรพ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เป็นวันถัดจากวันที่ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั่นเอง ดังนั้น การที่จะมีคนใดคนหนึ่งในประเทศไทยนี้ จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อไม่ต้องรับผิดนั้น จึงไม่สามารถยกขึ้นอ้างได้ ซึ่งนั่นหมายรวมถึง บรรดากรรมการบริษัทด้วย

ดังนี้แล้ว จากผลสำรวจของ IOD จึงนำมาซึ่งความคิดและความวิตกกังวล (แกมเป็นห่วงบรรดานักลงทุน) เป็นอย่างยิ่งว่า บรรดากรรมการบริษัทเหล่านั้น จะพร้อมรับกับการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 จริงหรือ ในเมื่อกฎหมาย 76 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจต่างๆ และยังเกี่ยวข้องต่อการทำหน้าที่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตัวกรรมการเองโดยตรง ยังขาดความรู้ความเข้าใจ (หรือความเอาใจใส่) กันเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่กฎหมายเหล่านั้นถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อเพิ่มบทลงโทษทางอาญาเอาแก่ตนเองทั้งสิ้น ซึ่งโทษทางอาญาไม่ใช่การลงโทษที่จะประนีประนอมผ่อนผัน หรือขอลดแลกแจกแถมกันได้เหมือนโทษทางแพ่ง