ThaiPublica > คอลัมน์ > การฝึกฝนทักษะและสถาบันอุดมศึกษา

การฝึกฝนทักษะและสถาบันอุดมศึกษา

28 เมษายน 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

คนรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบันคงหวาดหวั่นและมึนๆ กับคำพยากรณ์ว่าโลกในอนาคตจะต้องการคนมีความรู้และทักษะที่ผิดไปจากปัจจุบันพอสมควร อย่างไรก็ดี อย่าว่าแต่คนรุ่นนี้เลย คนมีอายุมากกว่าก็รู้สึกแบบเดียวกัน เราจะทำอย่างไรกันดีสำหรับสังคมไทยของเรา

ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงเรื่องความรู้มากนัก แต่จะตีวงให้แคบลงในเรื่องทักษะในเรื่องการทำงานที่จะทำให้ชีวิตอยู่รอดและอยู่ดีในอนาคต

ทักษะแตกต่างจากความรู้ ทักษะคือความสามารถในการกระทำบางสิ่ง เช่น ปีนต้นไม้ ใช้คอมพิวเตอร์เป็น ใช้สมาร์ทโฟนเป็น โกนหนวดสิงโตได้ ปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ขุดมาจากนา ซ่อมรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ได้ ฯลฯ

ส่วนความรู้คือการรู้ข้อมูลสารสนเทศ ข้อเท็จจริง เข้าใจกฎเกณฑ์ทฤษฎี รู้ภาษาต่างประเทศ (ความรู้นี้ต้องปนกับทักษะในการพูด การฟัง การเขียน จึงจะสมบูรณ์) ตระหนักหรือคุ้นเคยกับประสบการณ์หรือสถานการณ์ (เช่น รู้ว่าถ้าแผ่นดินไหวแล้วจะทำตัวอย่างไร)

ในโลกที่เรียกกันว่า VUCA คือ V-volatility ฟุ้งกระจายจนคาดคะเนไม่ได้ U-uncertainty ไม่แน่นอน C-complexity ซับซ้อน A-ambiguity กำกวมนั้น การบอกว่าทักษะใดที่จำเป็นต่อคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องยากเนื่องจากสถานการณ์แปรเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การแสวงหากำไรจากเทคโนโลยี การยอมรับเทคโนโลยีของผู้บริโภค สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สภาวการณ์ใช้พลังงานของโลก ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ในระดับที่กว้างที่สุด โลกใน 10-20 ปีข้างหน้าต้องการคนมีทักษะ (ความรู้พื้นฐานในเรื่องเลข อ่านและเขียนได้แตกฉานต้องมีอยู่แล้ว) ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คิดเป็น กล่าวคือเข้าใจสถานการณ์ที่ตนเองเป็นอยู่ คาดคะเนได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รู้จักแก้ไขสถานการณ์ และเรียนรู้จากสถานการณ์หรือประสบการณ์นั้นๆ รู้ว่าตนเองอยู่ในความรัก และมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดต่อการมีความทุกข์จากความรัก คาดคะเนได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น เลิกกัน และถ้าจะเลิกกัน จะเรียนรู้สิ่งใดจากประสบการณ์ครั้งนี้

ในเรื่องงานก็คือเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันว่าตนเองขาดทักษะใด คาดคะเนได้ว่าตลาดต้องการทักษะชนิดใด เตรียมตัวเรียนรู้ทักษะนั้นๆ ไว้เพื่อป้องกันการตกงาน และค้นหาว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องการทักษะใหม่ๆ

การคิดเป็นเป็นทักษะสำคัญยิ่งสำหรับคนที่ต้องการความกินดีอยู่ดี มีความสุขโดยไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตตกปลักอยู่ในนานาปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ประมาทจนละเลยการสร้างสมหลากหลายทักษะ

(2) ทักษะด้าน IT ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้นในอนาคตของทั้งโลกการงานและโลกส่วนตัว การสร้างทักษะในการใช้ IT เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน การเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ IT มีหลายระดับ และงานที่มีให้ทำก็มีหลายระดับและหลากชนิด ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลกับการไม่สามารถเป็นกูรูด้าน IT

(3) ทักษะด้านมนุษย์ ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ใน รูปแบบเดิม เช่น พูดคุยด้วยวาจา สบตาทักทาย สังเกตความรู้สึกซึ่งกันและกัน รักใคร่ชอบพอกันผ่านการสื่อสารด้วยวาจาและภาษากาย ฯลฯ กำลังหดหายไป คนที่มีทักษะในความเป็นมนุษย์สูง กล่าวคือสามารถทำให้คนอื่นชอบตนเองได้ สามารถสื่อสารเพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นทำตามความประสงค์ของตนเองได้ สามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ตลอดจนมีวินัยในการบังคับใจตนเอง ฯลฯ จะอยู่ได้ดีในอนาคต

ทักษะข้างต้นเมื่อผสมปนเปกับความรู้พื้นฐาน ความรู้ตามวิชาชีพ และหากบวกเอาการมีทัศนคติในชีวิตที่เหมาะสมเข้าด้วยแล้ว (มองโลกเป็นบวก ความสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่นเป็นไปในแนวนอนไม่ใช่แนวตั้ง การตื่นตัวในการเรียนรู้ การตั้งใจเป็นคนมีจริยธรรมและเมตตาธรรม ฯลฯ) ก็เชื่อได้ว่าจะทำให้อยู่ได้ดีท่ามกลางความผันผวน

เมื่อมีฝั่งดีมานด์คือความต้องการแล้ว คำถามต่อไปก็คือ แล้วจะหาฝั่งซัพพลายหรือผู้สนองตอบมาจากไหน คำตอบก็คือ จากสถานศึกษาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นทั้งสมองและแขนขาของสังคม สิ่งที่หน่วยงานเหล่านี้ควรทำก็คือ

เปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้นในหลากหลายเรื่อง ไม่ว่า IT ขั้นพื้นฐาน, coding หรือเขียนโปรแกรม, การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่สำคัญ, การใช้สมาร์ทโฟนให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต, อบรมผู้ประกอบการ SME’s ให้เข้าสู่โลกค้าขายออนไลน์, การใช้ IT ในธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตลอดจนการเกษตร การดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่มาจากเงินภาษีอากรของประชาชนอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมกว่าทุกหน่วยงานในการสนองตอบ หากมีการวางแผน จัดสรรงบประมาณ และการประสานงานที่ดีว่าแห่งใดจะเน้นทักษะใดในระดับใด โดยสร้างหลักสูตรต้นแบบสำหรับประชาชน (ยังมีอีกมากมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและบริหารจัดการที่สมควรจัด เช่น เรื่องของ logistics และ hospitality ที่กินความกว้างขวางตั้งแต่ท่องเที่ยวจนถึงบริการหย่อนใจ การซ่อมแซมดูแลเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ การติดตั้งเครื่องโทรทัศน์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ฯลฯ)

ท่ามกลางจำนวนนักศึกษาที่ลดน้อยลง งานให้บริการประชาชนผ่านการฝึกอบรมครั้งใหญ่อย่างกว้างขวางในหลายๆ ทักษะเช่นนี้ คือเส้นทางที่เหมาะสมในการใช้ทรัพยากรของรัฐที่ได้จัดสรรให้มาเป็นเวลายาวนาน

การใช้เวลาและแรงงานในการให้บริการอบรมประชาชนที่ต้องการปรับตัวไม่ให้ตกงานและมีโอกาสใหม่นั้นดีกว่าการเล่นการเมืองในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ อย่าลืมว่าภาษีอากรของประชาชนมูลค่ามหาศาลที่เสียสละให้สถาบันอุดมศึกษานั้น สามารถเลือกเอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่ก็ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะคาดหวังว่าจะเป็นที่พึ่งได้ โอกาสนี้แหละคือการแสดงออกของความรับผิดชอบและการเป็นที่พึ่งได้ของประชาชน

หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 11 เม.ย. 2560