ThaiPublica > คอลัมน์ > แก่อย่างเป็น “YOLD”

แก่อย่างเป็น “YOLD”

28 กรกฎาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อตอนเป็นเด็กเราเห็นญาติผู้ใหญ่อายุ 60-70 ปี ว่าแก่เหลือทน ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงเพราะคนเมื่อสมัย 50-60 ปีก่อนมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy หรือการคาดประมาณจำนวนปีโดยเฉลี่ยของการมีชีวิตอยู่ของประชากร) ต่ำกว่าปัจจุบันมาก แต่พอมาถึงปัจจุบันเราเห็นตัวเองและผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ในวัย 60-70 ปี เดินเหินกันคล่องแคล่ว มีความคิดความอ่านทันสมัยและยังทำงานอยู่ ปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดเฉพาะในบ้านเรา แต่เกิดขึ้นเกือบทั้งโลก

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีคนสูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ได้เห็นปรากฏการณ์ที่คนในวัย 65-75 ปี ยังกระฉับกระเฉงเหมือนคนหนุ่มอยู่ จึงบัญญัติคำขึ้นซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Young Old หรือย่อว่า YOLD ซึ่งหมายถึงคน old ที่ยัง young อยู่

ปัจจุบัน YOLD แพร่หลายและรู้จักกันทั่วโลก เป็นที่ถูกใจคนแก่ทั้งหลายที่เห็นคำว่า young ปนอยู่ในการเรียกกลุ่มเขา อย่างไรก็ดีคำนี้มิได้ครอบคลุมคนในวัย 65-75 ปี ที่ไม่แอ็คทีฟ

ถ้าจับคำว่า young กับ old มาเขียนเป็น matrix ขนาด 2×2 ก็จะพบว่ามี 4 คำ กล่าวคือYoung Young/Young Old/ Old Young และ Old Old ตัด Young Young และ Old Old ทิ้งไปเพราะไม่น่าสนใจ (คนหนุ่มสาวก็เป็นคนหนุ่มสาว คนแก่ก็เป็นคนแก่) ลักษณะอย่างนี้เป็นปกติ ที่น่าสนใจคือ Young Old และ Old Young

Young Old หรือ YOLD ได้กล่าวถึงแล้ว ส่วน Old Young (ขอเรียกว่า OLYO) นั้นหมายถึงคนหนุ่มสาวที่เสมือนเป็นคนแก่ กล่าวคือไม่กระฉับกระเฉง มีความคิดที่แคบ ไม่สนใจโลกเพราะสนใจแต่ตัวเอง ไม่มีความคิดที่ทันสมัย พวก OLYO นี้น่าสงสารเพราะแก่ตั้งแต่ยังหนุ่มสาวอยู่

คราวนี้กลับมาที่พวก YOLD ซึ่งแก่แต่มีจิตใจและร่างกายที่ยังเป็นหนุ่มสาว พอควรคือไม่ยอมปลดระวางตัวเอง (ขอย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนในวัย 65-75 ปี ที่เป็น YOLD) ในประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020 YOLD มีจำนวนมากถึง 134 ล้านคน หรือร้อยละ 11 ของประชากร ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 99 ล้านคน (ร้อยละ 8) ในปี 2000 การเปลี่ยนแปลงนี้มีอัตราสูงที่สุดของทุกกลุ่มอายุของประชากร

จากการสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า คนอเมริกันอายุ 60 ปีขึ้นไปรวมกันมีรายได้หลังจากหักภาษีแล้วเป็นร้อยละ 70 ของรายได้รวมหลังหักภาษีแล้วของคนทั้งประเทศ นอกจากนี้ในปี2018 ร้อยละ ล70 ของคนอายุ 50-65 ปี ใช้อินเตอร์เน็ต ส่วนคนอายุ 65 ปีขึ้นไปใช้อินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 38 คนสูงอายุที่ใช้อินเตอร์เน็ตร้อยละ 94 ใช้เพื่อรับ-ส่งอีเมล์ ร้อยละ77 ซื้อของออนไลน์ ร้อยละ 71 ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และร้อยละ 70 ใช้อ่านข่าว

คนไทยในเมืองในวัยนี้จำนวนไม่น้อยไม่น่าจะมีพฤติกรรมแตกต่างจากคนอเมริกันใน วัยเดียวกัน YOLD เหล่านี้กำลังท้าทายการคาดหวังของสังคมทั่วไปว่าจะอยู่ในวัยเลี้ยงหลานหรือเลี้ยงนกเขา YOLD เป็นคนในยุค Baby Boomers คือเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีอัตราการเกิดสูงมากเป็นพิเศษ บัดนี้ถึงวัยที่น่าจะเป็นไปตามความคาดหวังของสังคม แต่คนเหล่านี้ไม่หยุดเพราะยังมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่ ปัจจุบันกำลังเป็นเป้าหมายทางการตลาดเพราะ YOLD มักมีอำนาจซื้อสูง เช่นเดียว กับรสนิยมและแถมไม่มีภาระทางการเงินอีกด้วย

สัดส่วนของคนในวัย 65-75 ปี ที่เป็น YOLD ในประเทศที่พัฒนาแล้วสูงกว่าบ้านเรา แต่ปรากฏการณ์ของ YOLD ซึ่งเพิ่งเริ่มขึ้นในบ้านเราเมื่อ 10-15 ปีก่อน ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะYOLD สร้างรายได้ให้ประเทศ ร่วมสร้างงาน เสียภาษีให้รัฐ และผลิตสิ่งที่มีคุณค่าให้สังคมเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น

หาก YOLD มีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับในสังคมเรา สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้แก่ (1) ทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุของสังคมจะเปลี่ยนไปเนื่องจากการเห็นบทบาทของ YOLD (2) การเกษียณคนอายุที่ 60 หรือ 65 ปี ของภาครัฐและเอกชนอาจต้องเปลี่ยนไปเพื่อปรับให้สอดคล้องกับความสามารถของคนวัยนี้ และ (3) การใช้จ่ายด้านการแพทย์ของภาครัฐที่มีให้แก่ผู้สูงอายุต้องสูงขึ้นโดยธรรมชาติซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เคยมีมาแต่เดิมว่าคนอายุเกิน 60 ปี ก็จบฉากแล้ว

คำว่า YOLD มิได้สื่อความหมายไปทางประชดประชันที่ว่า “แก่แล้วยังไม่เจียมตน” หากมีนัยยะของ “ความเก่ง” ของคนวัยนี้แอบแฝงอยู่ ดังนั้นคนที่คิดว่าตนเป็น YOLD จึงภูมิใจในตัวเอง ขอบคุณตัวเองที่มิได้ทำให้ร่างกายลึกหรอมากเกินไปในวัยหนุ่มสาว มิได้มีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตจนทำให้เกิดหลายโรคและได้ดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีพอควร

YOLD ต้องขอบคุณยีนส์จากบรรพบุรุษ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ไม่มีอะไรจะอธิบายได้นอกจากสิ่งนี้) ที่ทำให้มีอายุถึงปูนนี้และยังมีร่างกายแข็งแรง และจิตใจที่ไม่ย่อท้อ

Nancy Pelosi เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาถึงสองสมัย ที่มาภาพ : https://nypost.com/2020/07/22/pelosi-calls-coronavirus-the-trump-virus-after-white-house-briefing/

Nancy Pelosi เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาถึงสองสมัยที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรในความเก่งกาจของเธอ ปัจจุบันเธอครองตำแหน่งนี้ในวัย 80 ปี มีผู้สื่อข่าวถามเธอว่าเมื่อไหร่เธอจะรีไทร์เสียที เธอตอบว่า “I am not on timetable, I am on a mission” (ชีวิตฉันไม่ได้เดินตามตารางเวลา หากตามพันธกิจ)

“Old age is not so bad when you consider the alternative. “(Maurice Chevalier นักแสดงและนักร้องมีชื่อชาวฝรั่งเศส; ค.ศ. 1888-1972)” “ความเเก่มิได้เลวร้ายนักเมื่อคำนึงถึงอีกทางเลือก”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง”กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 ก.ค. 2563