ThaiPublica > คอลัมน์ > สร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม

สร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม

28 มกราคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

thaipublica -บุคคลิก-นิสัย

เราเห็นคนที่มี “ความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด” กันไม่น้อยในโลก สิ่งที่ทำให้เขา “เอาตัวไม่รอด” นั้นส่วนใหญ่ก็มาจากบุคลิกอุปนิสัยส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ การไม่ทำอะไรจริงจัง ความใจแคบ ความเห็นแก่ตัว ความขี้ขลาด การไม่ตรงต่อหน้าที่ ความโลเล การไร้ความรับผิดชอบ ฯลฯ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีบุคลิกอุปนิสัยที่ดีงามมาจากการศึกษา

เมื่อเร็วๆ นี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนล่าสุด นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้มอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โดยมี ใจความตอนหนึ่งว่า “…สำหรับพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรนั้น มีใจความสำคัญว่า ‘การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ (1) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง (2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิต หรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education)’…”

ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตขยายความเรื่องนี้เพื่อสืบสานพระบรมราโชวาท ผู้เขียนมั่นใจว่าคงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยว่าปัญหาของสังคมไทยเราทุกวันนี้โยงใยกับ 2 เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ถ้าเด็กไม่มีทัศนคติที่ถูกต้องและขาดบุคลิกอุปนิสัยที่ดีงามแล้ว สังคมเราจะเดินหน้าอย่างมีความสุขสงบกันได้อย่างไร

ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องการสร้าง “บุคลิกและอุปนิสัย” ที่ดีงาม ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วเป็นความรับผิดชอบสำคัญยิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน นับตั้งแต่พ่อแม่ สื่อ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนผู้มีความรับผิดชอบจนถึงครู

ในโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษ คำว่า character นั้นมีความหมายกว้างขวางมาก (“บุคลิกและอุปนิสัย” ในภาษาไทยพอใช้แทนคำนี้ได้) Cambridge International Dictionary of English ให้คำจำกัดความของ character ว่า “คือการผสมผสานกันของคุณลักษณะในบุคคลที่ทำให้แตกต่างจากผู้อื่น” คนที่มี “character ก็คือคนที่มีความดี มีจริยธรรม มีความกล้าหาญ มีบุคลิกลักษณะของความมุ่งมั่นในชีวิต มีความสุภาพ ฯลฯ มีความสามารถเป็นอย่างดีในการต่อสู้กับสิ่งที่เป็นลบในชีวิต”

เมื่อกว่า 7 ปีมาแล้วผู้เขียนได้เขียนบทความชื่อ “Character is Destiny” หรือ “บุคลิกและอุปนิสัยคือชะตากรรม” ซึ่งประโยคนี้ผู้เป็นเจ้าของคือ Heraclitus (535 BC – 475 BC เกิดหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่กี่ปี) นักปรัชญาชาวกรีกผู้มีชื่อเสียง ผู้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและการไม่มีอะไรที่แน่นอนคือความจริงของชีวิต

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Character_Is_Destiny
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Character_Is_Destiny

ประโยคนี้เป็นที่รู้จักกันดีในโลกตะวันตก ในปี 2005 วุฒิสมาชิก John McCain ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Mark Salter เขียนหนังสือขายดีชื่อ “Character is Destiny” โดยนำคุณลักษณะของการเป็นคนมี character มาใส่เรียงกันและเอาชีวิตของผู้คนในประวัติศาสตร์มาเล่าว่าเขามีคุณลักษณะนั้นๆ อย่างไรเพื่อปลุกเร้าความคิด เช่น เรื่องการเคารพผู้อื่น (มหาตมะคานธี) ความขยัน (Sir Winston Churchill) การควบคุมตนเอง (George Washington) การให้อภัย (Nelson Mandela) ความถ่อมตัว (Dwight D. Eisenhower) ฯลฯ

ไม่มีคำจำกัดความที่ลงตัวว่าบุคคลจะต้องมีคุณลักษณะใดบ้างจึงจะเรียกว่าเป็นคนมี character แต่ที่ดูจะเห็นฟ้องต้องกันก็คือ นอกจากคุณลักษณะข้างต้นแล้วต้องมีความเชื่อมั่น การมีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น กตัญญูกตเวที การไม่เห็นแก่ตัว ความมีเมตตา ฯลฯ ซึ่งสามารถเขียนได้ไม่รู้จบ

อย่างไรก็ดี พอสรุปได้ว่าการมี “บุคลิกและอุปนิสัย” ที่ดีงามนั้นก็คือมีความดีงามในตนเอง ยึดจริยธรรมในการนำชีวิต มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความสามารถในการต่อสู้กับความผันผวนที่เป็นลบ และมีอุปนิสัยที่งดงามเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลอื่นที่รู้จัก

คำถามสำคัญก็คือ เราจะสร้าง “บุคลิกและอุปนิสัย” ที่ดีงามได้อย่างไร

ในประวัติศาสตร์โลก ศาสนาและความเชื่อมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในหลายวัฒนธรรมมีหลักสูตรการศึกษาเฉพาะที่สอนในเรื่อง Character Education ล้วนๆ เพื่อให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีศีลธรรม มีความเป็นพลเมือง มีกิริยามารยาทอันเหมาะสม มีทัศนคติอันเหมาะสม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มีความสุขในชีวิตและเป็นกำลังสำคัญของชาติมี 4 รูปแบบใหญ่ของ Character Education ที่กระทำกันในหลายประเทศโดยอาจผสมปนเปกันตามความเหมาะสม ได้แก่

(1) Cheerleading ซึ่งหมายถึงการทำให้ประเด็นเรื่อง character โดดเด่นขึ้นในใจของเด็ก เช่น ติดโปสเตอร์ในห้องเรียนและโรงเรียนประชาสัมพันธ์แต่ละคุณลักษณะ มีประกาศเสียงตามสาย การประชุมเพื่อปลุกเร้า ระดมทุนอย่างมีจุดประสงค์ส่งเสริมการมี character ฯลฯ

(2) Praise-and-reward คือการให้รางวัลหรือ positive reinforcement เพื่อทำให้คุณลักษณะที่ต้องการเข้าไปหล่อหลอมในอุปนิสัยของเด็ก โดย มองหาการกระทำความดีเพื่อให้รางวัล ทั้งเป็นคำพูดและสิ่งของเพื่อแสดงความชื่นชม

(3) Define-and-drill วิธีการนี้คือให้นักเรียนท่องจำคุณลักษณะต่างๆ ของการมี character ตลอดจนคำนิยามวิธีการทางจิตวิทยานี้จะช่วยทำให้คุณลักษณะเหล่านั้นซึมลึกลงไปในตัว (ค่านิยมคุณลักษณะที่เคยท่องกันมาตอนเด็ก และที่ให้โดยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา เข้าลักษณะนี้) การท่องบทสวดมนต์สร้างศรัทธาในศาสนาและการทำความดีได้ฉันใด วิธีการนี้ก็คล้ายคลึงกันในเชิงจิตวิทยา

(4) Forced-formality คือการบังคับให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด เช่น การเข้าแถว การใช้คำพูดที่ต้องจบด้วย “ครับ-ค่ะ” การแต่งเครื่องแบบ ความยาวของเส้นผม ความยาวของกระโปรง การเข้าเรียนตรงเวลา ฯลฯ ในเชิงจิตวิทยา การบังคับเช่นนี้จะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้ง 4 วิธีนี้อาจก่อให้เกิดผลในระยะสั้นและระยะกลางเท่านั้น การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงามนั้น ต้องมาจากการบ่มเพาะข้ามเวลา (โดยเฉพาะในช่วงอายุ 0-6 ขวบ) อย่างเหมาะสมจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัว สังคมภายนอก และโรงเรียน

พ่อแม่และครูที่มีประสิทธิภาพต้องมีความเข้าใจแนวคิดและวิธีการของการสร้าง character อยู่เสมอ โลกวิชาการเสนอแนะสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น วุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ-Emotional Quotient) ใช้การเล่าเรื่องเป็นเครื่องมือ ความฉลาดทางด้านจริยธรรมและศีลธรรม (MQ-Moral Quotient) (ดูหนังสือชื่อนี้ซึ่งเขียนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน)

“Character is Destiny” นั้นจริงแท้แน่นอน คนมีบุคลิกลักษณะและอุปนิสัยอย่างไรแต่เด็กเมื่อดำเนินชีวิตหรือทำงานก็จะนำคุณลักษณะเหล่านั้นไปด้วย คนขาดจริยธรรมและศีลธรรมก็จะเดินไปได้ไกลในระดับหนึ่งตามชะตากรรมที่เขากำหนดขึ้นเองอันมีบุคลิกอุปนิสัยเป็นฐาน

ข้อเสนอแนะง่ายๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูในวิธีการสอนให้เด็กมี “บุคลิกและอุปนิสัย” ที่ดีงามก็คือสอนคุณลักษณะที่พึงปรารถนาเสมือนให้กินเกลือวันละนิดอย่างไม่ว่างเว้นผ่านเรื่องเล่าที่เห็นในชีวิตประจำวันอย่างแนบเนียน และที่สำคัญ ตนเองปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง อย่าให้กินเกลือครั้งเดียวในปริมาณมากเพราะจะเป็นโรคไตวายหรือตายไวได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับอังคาร 24 ม.ค. 2560