รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

แม้ว่าในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในแต่ละปี สถาบันการศึกษาชั้นสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือ โรงเรียนศูนย์กลางพรรค (The Central Party School) ที่ปักกิ่ง และสถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้ (China Executive Leadership Academy Putong- CELAP) จะไม่ติดอันดับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก แต่ทว่า สถาบันการศึกษาทั้ง 2 แห่งนี้เป็นโรงเรียนที่ทรงอิทธิพลมากสุดของจีน เพราะเป็นแหล่งที่บ่มเพาะและสร้างคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดของจีน ตลอดจนเป็นแหล่งสร้างทัศนะของผู้นำที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศนี้
พรรคคอมมิวนิสต์จีนครองอำนาจมายาวนานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 68 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้เกิดคำถามมาตลอดว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยังครองอำนาจไปอีกนานเท่าใด ทฤษฎีเรื่องความทันสมัยทางเศรษฐกิจกล่าวว่า ระบอบเผด็จการต้องเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตย เพราะรายได้ของประชาชนสูงขึ้น เกิดกลุ่มคนชั้นกลางมากขึ้น และเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลง หลังจากที่เติบโตในระดับสูงมายาวนาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปัญหาคอร์รัปชันในหมู่ผู้นำการเมือง
จีนเป็นประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล พรรคไม่ได้ปกครองโดยตรง แต่ทำหน้าที่ชี้นำและควบคุมองค์กรรัฐ กองทัพ ฝ่ายตุลาการ องค์กรมวลชน และรัฐวิสาหกิจ พรรคเป็นองค์กรที่แต่งตั้งคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ผู้ว่ามณฑล อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือ CEO บริษัทแห่งชาติต่างๆ เป็นต้น อำนาจและบทบาทของพรรคดังกล่าว เกิดจากความคิดสังคมนิยม ที่ถือว่าเป็นอุดมการณ์ของรัฐ หากไม่มีอุดมการณ์นี้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็คงจะกลายเป็นจักรกลการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง เหมือนพรรคการเมืองในประเทศต่างๆ
ปัจจุบันที่เป็นสมัยของการปฏิรูป อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในการควบคุมภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจีนลดน้อยลงไป แต่พรรคก็ยังมีอำนาจเหนือบุคคลที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ อำนาจนี้มองเห็นได้จากการแต่งตั้งคนของพรรคเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งระบบการฝีกอบรมคนที่จะเป็นตัวแทนพรรค เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาล แม้ว่าทุกวันนี้ อุดมการณ์สังคมนิยมอาจจะตายไปแล้ว แต่แนวคิดใหม่ที่เรียกว่าเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy) ยังสำคัญ เพราะเป็นอุดมการณ์ของรัฐที่จะเปลี่ยนจีนให้เป็นประเทศที่เศรษฐกิจทันสมัยและมั่งคั่ง
โรงเรียนศูนย์กลางพรรค
สถาบันการศึกษาชั้นสูงระดับประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีอยู่ 4 แห่งด้วยกัน ที่สำคัญสุดคือ โรงเรียนศูนย์กลางพรรค ปักกิ่ง และสถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้ เพราะเป็นสถาบันการศึกษาที่จะสร้างผู้นำจีนรุ่นใหม่ๆ ให้มีทักษะด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจสมัยใหม่ ในช่วงที่ประเทศกำลังขับเคลื่อนสู่ความทันสมัย นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนเปรียบเทียบสถาบัน 2 แห่งนี้ว่าคือ วิทยาลัย Kennedy School of Government ของจีน ส่วนสถาบันอีก 2 แห่ง คือ สถาบันการนำระดับบริหาร จิ่งกังซาน มณฑล กวางสี และสถาบันการนำระดับบริหาร เยนอาน มณฑลส่านซี จะเน้นการฝึกอบรมด้านอุดมการณ์แก่ผู้ปฏิบัติงานของพรรค
โรงเรียนศูนย์กลางพรรคตั้งมาเมื่อปี 1933 ก่อนที่กองทัพแดงจะเดินทัพทางไกลช่วงปี 1934-1936 หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะในปี 1949 โรงเรียนศูนย์กลางพรรคที่เคยตั้งอยู่ในเขตปลดปล่อยก็ย้ายมาตั้งอยู่ที่ปักกิ่งในบริเวณที่ใกล้กับวังฤดูร้อนเดิม คนที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์กลางพรรค เวลาต่อมาล้วนกลายเป็นผู้นำพรรค เช่น เหมา เจ๋อตุง, หลิว เช่าฉี, หู จิ่นเทา และสีจิ้นผิง เป็นต้น ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบันคือ หลิว หยุนชาน (Liu Yunshan) เป็นสมาชิกกรมการเมือง หรือ Politburo

ในเดือนมิถุนายน 2010 ก่อนครบรอบ 89 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โรงเรียนศูนย์กลางพรรคเชิญผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ไปเยือนเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ กิจกรรมโรงเรียนเป็นความลับของรัฐ การเข้าออกของคนนอกจะมีการตรวจตราอย่างเข้มงวดมาก คนจีนทั่วไปรู้จักสถานที่แห่งนี้ว่า “โรงเรียนผู้ปฏิบัติงานพรรค” คนที่เข้ามาเรียนล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสทั้งนั้น คนจีนจึงมีเรื่องเล่าตลกๆว่า สถานที่ไหนในเมืองจีนที่คนขับรถยนต์ขับระมัดระวังที่สุด คำตอบคือที่โรงเรียนศูนย์กลางพรรค เพราะไม่มีใครรู้ว่า ในอนาคต นักเรียนคนใดคนหนึ่งอาจกลายเป็นเลขาพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมา
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีผู้นำจากหลายประเทศได้มาเยือนและกล่าวสุนทรพจน์ให้แก่นักเรียน โรงเรียนศูนย์กลางพรรค เจ้าหน้าที่โรงเรียนคนหนึ่งบอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า ในปี 2005 เมื่อครั้งมาเยือนจีน นายโดนัลด์ รัมส์เฟลด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลจอร์จ บุช ปฏิเสธที่จะไปเยือนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แต่ยินดีที่จะไปปราศัยที่โรงเรียนศูนย์กลางพรรคแห่งนี้แทน ในปี 2010 นางแอนเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ก็มาเยือนและสนทนากับนักเรียน ในเดือนกันยายน 2012 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่โรงเรียนนี้ว่า ทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสิงคโปร์ เพราะการขนส่งสินค้าที่เสรีคือเส้นเลือดของเศรษฐกิจสิงคโปร์
โรงเรียนศูนย์กลางพรรครับนักเรียนปีหนึ่งราวๆ 3 พันคน การเรียนในสัปดาห์แรก นักเรียนทุกคนจะต้องสอบเพื่อวัดระดับความรู้ทางทฤษฎี โดยเฉพาะทฤษฎีพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ ช่วงเช้าของวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี จะเป็นการบรรยายโดยอาจารย์ของโรงเรียน เช่น การประชุมครั้งสำคัญที่ผ่านๆ มาของพรรคคอมมิวนิสต์ ความคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง ทฤษฎีทางศาสนา และชาติพันธุ์ต่างๆ ช่วงบ่าย นักเรียนจะศึกษาด้วยตัวเอง หรือมีการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างกัน
ส่วนชั้นเรียนสำหรับนักเรียนรุ่นหนุ่มสาวและอายุกลางคน ที่ต่อไปจะก้าวเป็นผู้นำองค์กรรัฐต่างๆ ในภาคเรียนแรก จะถูกมอบหมายให้อ่านและศึกษางานคลาสสิก เช่น หนังสือ “ทุน” ของมาร์กซ์ ที่นักเรียนจะต้องอ่านจบในเวลา 3 เดือน แต่ก็มีการสอนด้านทฤษฎีการบริหาร สไตล์การเป็นผู้นำ และการสร้างสถานการณ์จำลอง (scenario simulation) เพื่อบริหารจัดการวิกฤติ เป็นต้น การบรรยายในห้องเรียนจะใช้เวลา 1 ปี ในช่วงการอภิปรายในห้องเรียน พรรคคอมมิวนิสต์จะส่งคนมาสังเกตการณ์ เพื่อมองหานักเรียนที่เป็นดาวเด่นในห้องเรียน
โรงเรียนศูนย์กลางพรรคได้นำวิธีการสอนแบบใหม่มาใช้ เรียกว่า “กรณีศึกษา” (case study) ซึ่งเป็นวิธีการที่บุกเบิกโดย Harvard Business School แต่เดิมวิธีการสอนเป็นการบรรยายของอาจารย์ การเรียนจากกรณีศึกษาได้รับความนิยมมากในหมู่นักเรียน เพราะนักเรียนเหล่านี้ล้วนเคยมีประสบการณ์ด้านปฏิบัติมาแล้วทั้งนั้น การใช้วิธีการสอนแบบกรณีศึกษา สะท้อนการปรับตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีน จากเดิมที่เป็นพรรคปฏิวัติ มาเป็นพรรคที่มีความสามารถในการปกครอง แล้วก็มาเป็น “พรรคของการเรียนรู้” คือรู้จักนำเอาวิธีการดีๆ ด้านการศึกษาจากตะวันตกมาใช้

ระบบการแข่งขันยังถูกนำมาใช้กับโรงเรียนแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องการประเมินผลการสอนของอาจารย์ อาจารย์คนหนึ่งบอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า นักเรียนโรงเรียนศูนย์กลางพรรคเปรียบเสมือนเทพเจ้า นักเรียนรุ่นหนุ่มๆ จะมีความเห็นมากต่อการสอนของอาจารย์ ระบบประเมินผลการสอนกำหนดคะแนนไว้ที่ 10 หากอาจารย์คนไหนได้คะแนนการสอนต่ำกว่า 9 หมายความว่ามีปัญหาในการสอน เมื่อสิ้นสุดภาคเรียน จะมีการประกาศคะแนนการสอนของอาจารย์แต่ละคน อาจารย์ที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะถูกพักการสอน เพราะการเข้ามาเป็นอาจารย์ของโรงเรียนศูนย์กลางพรรค มีการแข่งขันกันสูงมาก

ส่วนการอภิปรายในห้องเรียนเป็นไปอย่างเปิดเผย ในปลายทศวรรษ 1970 นักเรียนอภิปรายกันมากในเรื่องว่า อะไรคือหลักเกณฑ์การวัดสัจจะความจริง ทำให้ต่อมา เติ้ง เสี่ยวผิง เสนอคำขวัญว่า การปฏิบัติคือหลักเกณฑ์ใช้วัดความจริง ทำให้จีนทั้งประเทศเกิดการหลุดพ้นทางความคิด ที่เคยยึดติดแต่เรื่องทฤษฎี แล้วหันมายอมรับว่า แมวไม่ว่าจะสีไหนก็ไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน เมื่อครั้งที่โดนัลด์ รัมส์เฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหม สหรัฐฯ มาเยือนโรงเรียนนี้ เขาเองยังรู้สึกแปลกใจมากกับบรรยากาศห้องเรียนที่ถกเถียงกันได้อย่างอิสรเสรี
China Executive Leadership Academy Putong (CELAP)
ส่วนสถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้ หรือ CELAP ตั้งขึ้นมาปี 2005 โดยมติของคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในภาษาจีนเรียกชื่อสถาบันนี้ว่า “วิทยาลัยผู้ปฏิบัติงานของจีนที่ผู่ตง” แต่เมื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษกลายเป็นชื่อว่า “สถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง” Richard McGregor ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Party: The Secret World of China’s Communist Rulers (2012) อธิบายว่า “ผู้ปฏิบัติงาน” (cadre) เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายทางคอมมิวนิสต์ ชื่อภาษาอังกฤษจึงไม่ใช้คำนี้ ทำให้วิทยาลัย CELAP มีภาพลักษณ์กลายเป็นโรงงานผลิต MBA มากกว่าที่จะเป็นเสาหลักค้ำจุนพรรคคอมมิวนิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน เกิดจากเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่ผสมรวมกับระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยม หลักสูตรของสถาบัน CELAP ก็สะท้อนการผสมผสาน 2 อย่างนี้เช่นกัน วันแรกของหลักสูตรการศึกษา นักเรียนทั้งหมด ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการเอกชน จะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ที่นักเคลื่อนไหว 13 คนมาประชุมกันลับๆ เพื่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมาในปี 1921 ปัจจุบัน บริเวณพิพิธภัณฑ์ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่เมืองเก่าของเซี่ยงไฮ้
เมื่อตั้งขึ้นมาในปี 2005 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ CELAP ว่า “เพื่อสร้างจีนให้เป็นสังคมที่ทันสมัยและรุ่งเรือง ในทุกๆ ด้าน และพัฒนาสังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะดำเนินโครงการขนาดใหญ่ด้านการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มคุณภาพผู้นำของเรา” เพราะฉะนั้น CELAP จึงเน้นการสร้างทักษะและการแก้ปัญหาทางปฏิบัติให้กับนักเรียน ต่างจากโรงเรียนศูนย์กลางพรรคที่ปักกิ่ง ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องความคิดอุดมการณ์ นักเรียนคนหนึ่งของ CELAP บอกว่า โรงเรียนศูนย์กลางพรรคเน้นหนักเรื่อง “ทำไม” (why) ส่วนที่ CELAP จะหาทางออกว่า “อย่างไร” (how) เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คำถามแบบไหนสำคัญต่ออนาคตของจีน
ปีหนึ่ง CELAP มีนักเรียนเข้ามาศึกษาประมาณ 1 หมื่นคน ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของจีน ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น CEO ของรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่ามณฑล หรือเอกอัครราชทูต ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้อำนวยการ จะเข้ามารับการอบรมระยะสั้น เมื่อจีนต้องการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทันสมัย ก็จะส่งคนไปศึกษาจากประเทศตะวันตก แต่การศึกษาที่ CELAP เน้นหนักว่า ทำอย่างไรจะให้กลไกรัฐมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ จีนจึงสนใจแบบอย่างของสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น คุณภาพการศึกษา การวางแผนอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และความเป็นระเบียบของสังคม

ในระยะ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ความโดดเด่นของจีนไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาได้อย่างยาวนาน และเป็นพรรคการเมืองที่ปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีน ให้ความสำคัญและลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพบุคลากรของพรรคและรัฐ เมื่อ 2 พันปีมาแล้ว จีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพบุคลากรของรัฐ โดยบุกเบิกให้มีระบบการสอบเพื่อคัดเลือกคนเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ระบบการสอบทำให้การคัดเลือกเจ้าหน้าที่รัฐมีความยุติธรรม เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันทางสังคม สร้างความมั่นคงทางการเมือง และช่วยลดการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
โรงเรียนศูนย์กลางพรรคและ CELAP เป็นตัวอย่างอีกแบบหนึ่งในเรื่องการสร้างผู้นำในอนาคตของจีน แต่โลกในปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนอย่างมาก ผู้นำในอนาคตต้องมีความสามารถด้านสติปัญญา เช่น การวิเคราะห์ และความรู้ในสาขาต่างๆ แต่ทักษะด้านสติปัญญา แม้จะมีความสำคัญแต่ก็ยังไม่พอเพียง ผู้นำในอนาคตที่จะทำงานบรรลุผลสำเร็จได้ยังต้องมีสิ่งที่นักเขียนชื่อ Daniel Goleman เรียกว่า “สติปัญญาด้านอารมณ์” (emotional intelligence) ที่ประกอบด้วย การรู้จักตัวเอง (รู้จุดอ่อนจุดแข่งตัวเอง) การควบคุมตัวเอง (รู้จักควบคุมอารมณ์) การสร้างแรงดลใจ การเห็นอกเห็นใจคนอื่น (เข้าใจความรู้สึกคนอื่น) และทักษะทางสังคม (สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน)