ThaiPublica > เกาะกระแส > โรงเรียนศูนย์กลางพรรค และสถาบัน CELAP วิทยาลัย Kennedy School of Government ของจีน

โรงเรียนศูนย์กลางพรรค และสถาบัน CELAP วิทยาลัย Kennedy School of Government ของจีน

5 เมษายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

โรงเรียนศูนย์กลางพรรค ปักกิ่ง ที่มาภาพ : http://pic26.nipic.com/20121229/10131656_214910999000_2.jpg

แม้ว่าในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในแต่ละปี สถาบันการศึกษาชั้นสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือ โรงเรียนศูนย์กลางพรรค (The Central Party School) ที่ปักกิ่ง และสถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้ (China Executive Leadership Academy Putong- CELAP) จะไม่ติดอันดับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก แต่ทว่า สถาบันการศึกษาทั้ง 2 แห่งนี้เป็นโรงเรียนที่ทรงอิทธิพลมากสุดของจีน เพราะเป็นแหล่งที่บ่มเพาะและสร้างคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดของจีน ตลอดจนเป็นแหล่งสร้างทัศนะของผู้นำที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศนี้

พรรคคอมมิวนิสต์จีนครองอำนาจมายาวนานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 68 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้เกิดคำถามมาตลอดว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยังครองอำนาจไปอีกนานเท่าใด ทฤษฎีเรื่องความทันสมัยทางเศรษฐกิจกล่าวว่า ระบอบเผด็จการต้องเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตย เพราะรายได้ของประชาชนสูงขึ้น เกิดกลุ่มคนชั้นกลางมากขึ้น และเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลง หลังจากที่เติบโตในระดับสูงมายาวนาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปัญหาคอร์รัปชันในหมู่ผู้นำการเมือง

จีนเป็นประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล พรรคไม่ได้ปกครองโดยตรง แต่ทำหน้าที่ชี้นำและควบคุมองค์กรรัฐ กองทัพ ฝ่ายตุลาการ องค์กรมวลชน และรัฐวิสาหกิจ พรรคเป็นองค์กรที่แต่งตั้งคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ผู้ว่ามณฑล อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือ CEO บริษัทแห่งชาติต่างๆ เป็นต้น อำนาจและบทบาทของพรรคดังกล่าว เกิดจากความคิดสังคมนิยม ที่ถือว่าเป็นอุดมการณ์ของรัฐ หากไม่มีอุดมการณ์นี้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็คงจะกลายเป็นจักรกลการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง เหมือนพรรคการเมืองในประเทศต่างๆ

ปัจจุบันที่เป็นสมัยของการปฏิรูป อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในการควบคุมภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจีนลดน้อยลงไป แต่พรรคก็ยังมีอำนาจเหนือบุคคลที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ อำนาจนี้มองเห็นได้จากการแต่งตั้งคนของพรรคเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งระบบการฝีกอบรมคนที่จะเป็นตัวแทนพรรค เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาล แม้ว่าทุกวันนี้ อุดมการณ์สังคมนิยมอาจจะตายไปแล้ว แต่แนวคิดใหม่ที่เรียกว่าเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy) ยังสำคัญ เพราะเป็นอุดมการณ์ของรัฐที่จะเปลี่ยนจีนให้เป็นประเทศที่เศรษฐกิจทันสมัยและมั่งคั่ง

โรงเรียนศูนย์กลางพรรค

สถาบันการศึกษาชั้นสูงระดับประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีอยู่ 4 แห่งด้วยกัน ที่สำคัญสุดคือ โรงเรียนศูนย์กลางพรรค ปักกิ่ง และสถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้ เพราะเป็นสถาบันการศึกษาที่จะสร้างผู้นำจีนรุ่นใหม่ๆ ให้มีทักษะด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจสมัยใหม่ ในช่วงที่ประเทศกำลังขับเคลื่อนสู่ความทันสมัย นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนเปรียบเทียบสถาบัน 2 แห่งนี้ว่าคือ วิทยาลัย Kennedy School of Government ของจีน ส่วนสถาบันอีก 2 แห่ง คือ สถาบันการนำระดับบริหาร จิ่งกังซาน มณฑล กวางสี และสถาบันการนำระดับบริหาร เยนอาน มณฑลส่านซี จะเน้นการฝึกอบรมด้านอุดมการณ์แก่ผู้ปฏิบัติงานของพรรค

โรงเรียนศูนย์กลางพรรคตั้งมาเมื่อปี 1933 ก่อนที่กองทัพแดงจะเดินทัพทางไกลช่วงปี 1934-1936 หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะในปี 1949 โรงเรียนศูนย์กลางพรรคที่เคยตั้งอยู่ในเขตปลดปล่อยก็ย้ายมาตั้งอยู่ที่ปักกิ่งในบริเวณที่ใกล้กับวังฤดูร้อนเดิม คนที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์กลางพรรค เวลาต่อมาล้วนกลายเป็นผู้นำพรรค เช่น เหมา เจ๋อตุง, หลิว เช่าฉี, หู จิ่นเทา และสีจิ้นผิง เป็นต้น ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบันคือ หลิว หยุนชาน (Liu Yunshan) เป็นสมาชิกกรมการเมือง หรือ Politburo

ปี 2010 แอนเจลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ไปพบกับนักเรียนที่โรงเรียนศูนย์กลางพรรค ที่มาภาพ : china.org

ในเดือนมิถุนายน 2010 ก่อนครบรอบ 89 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โรงเรียนศูนย์กลางพรรคเชิญผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ไปเยือนเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ กิจกรรมโรงเรียนเป็นความลับของรัฐ การเข้าออกของคนนอกจะมีการตรวจตราอย่างเข้มงวดมาก คนจีนทั่วไปรู้จักสถานที่แห่งนี้ว่า “โรงเรียนผู้ปฏิบัติงานพรรค” คนที่เข้ามาเรียนล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสทั้งนั้น คนจีนจึงมีเรื่องเล่าตลกๆว่า สถานที่ไหนในเมืองจีนที่คนขับรถยนต์ขับระมัดระวังที่สุด คำตอบคือที่โรงเรียนศูนย์กลางพรรค เพราะไม่มีใครรู้ว่า ในอนาคต นักเรียนคนใดคนหนึ่งอาจกลายเป็นเลขาพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมา

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีผู้นำจากหลายประเทศได้มาเยือนและกล่าวสุนทรพจน์ให้แก่นักเรียน โรงเรียนศูนย์กลางพรรค เจ้าหน้าที่โรงเรียนคนหนึ่งบอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า ในปี 2005 เมื่อครั้งมาเยือนจีน นายโดนัลด์ รัมส์เฟลด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลจอร์จ บุช ปฏิเสธที่จะไปเยือนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แต่ยินดีที่จะไปปราศัยที่โรงเรียนศูนย์กลางพรรคแห่งนี้แทน ในปี 2010 นางแอนเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ก็มาเยือนและสนทนากับนักเรียน ในเดือนกันยายน 2012 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่โรงเรียนนี้ว่า ทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสิงคโปร์ เพราะการขนส่งสินค้าที่เสรีคือเส้นเลือดของเศรษฐกิจสิงคโปร์

โรงเรียนศูนย์กลางพรรครับนักเรียนปีหนึ่งราวๆ 3 พันคน การเรียนในสัปดาห์แรก นักเรียนทุกคนจะต้องสอบเพื่อวัดระดับความรู้ทางทฤษฎี โดยเฉพาะทฤษฎีพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ ช่วงเช้าของวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี จะเป็นการบรรยายโดยอาจารย์ของโรงเรียน เช่น การประชุมครั้งสำคัญที่ผ่านๆ มาของพรรคคอมมิวนิสต์ ความคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง ทฤษฎีทางศาสนา และชาติพันธุ์ต่างๆ ช่วงบ่าย นักเรียนจะศึกษาด้วยตัวเอง หรือมีการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างกัน

ส่วนชั้นเรียนสำหรับนักเรียนรุ่นหนุ่มสาวและอายุกลางคน ที่ต่อไปจะก้าวเป็นผู้นำองค์กรรัฐต่างๆ ในภาคเรียนแรก จะถูกมอบหมายให้อ่านและศึกษางานคลาสสิก เช่น หนังสือ “ทุน” ของมาร์กซ์ ที่นักเรียนจะต้องอ่านจบในเวลา 3 เดือน แต่ก็มีการสอนด้านทฤษฎีการบริหาร สไตล์การเป็นผู้นำ และการสร้างสถานการณ์จำลอง (scenario simulation) เพื่อบริหารจัดการวิกฤติ เป็นต้น การบรรยายในห้องเรียนจะใช้เวลา 1 ปี ในช่วงการอภิปรายในห้องเรียน พรรคคอมมิวนิสต์จะส่งคนมาสังเกตการณ์ เพื่อมองหานักเรียนที่เป็นดาวเด่นในห้องเรียน

โรงเรียนศูนย์กลางพรรคได้นำวิธีการสอนแบบใหม่มาใช้ เรียกว่า “กรณีศึกษา” (case study) ซึ่งเป็นวิธีการที่บุกเบิกโดย Harvard Business School แต่เดิมวิธีการสอนเป็นการบรรยายของอาจารย์ การเรียนจากกรณีศึกษาได้รับความนิยมมากในหมู่นักเรียน เพราะนักเรียนเหล่านี้ล้วนเคยมีประสบการณ์ด้านปฏิบัติมาแล้วทั้งนั้น การใช้วิธีการสอนแบบกรณีศึกษา สะท้อนการปรับตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีน จากเดิมที่เป็นพรรคปฏิวัติ มาเป็นพรรคที่มีความสามารถในการปกครอง แล้วก็มาเป็น “พรรคของการเรียนรู้” คือรู้จักนำเอาวิธีการดีๆ ด้านการศึกษาจากตะวันตกมาใช้

หนังสือ Training the Party ผู้เขียน Charlotte Lee กล่าวว่า โรงเรียนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนปรับตัว โดยรับเอาระบบการศึกษาแบบตะวันตกมาใช้

ระบบการแข่งขันยังถูกนำมาใช้กับโรงเรียนแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องการประเมินผลการสอนของอาจารย์ อาจารย์คนหนึ่งบอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า นักเรียนโรงเรียนศูนย์กลางพรรคเปรียบเสมือนเทพเจ้า นักเรียนรุ่นหนุ่มๆ จะมีความเห็นมากต่อการสอนของอาจารย์ ระบบประเมินผลการสอนกำหนดคะแนนไว้ที่ 10 หากอาจารย์คนไหนได้คะแนนการสอนต่ำกว่า 9 หมายความว่ามีปัญหาในการสอน เมื่อสิ้นสุดภาคเรียน จะมีการประกาศคะแนนการสอนของอาจารย์แต่ละคน อาจารย์ที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะถูกพักการสอน เพราะการเข้ามาเป็นอาจารย์ของโรงเรียนศูนย์กลางพรรค มีการแข่งขันกันสูงมาก

สีจิ้นผิงในฐานะอธิการบดี โรงเรียนศูนย์กลางพรรค เข้าร่วมพิธีจบภาคเรียนในปี 2009 ที่มาภาพ : สำนักข่าวซินหัว

ส่วนการอภิปรายในห้องเรียนเป็นไปอย่างเปิดเผย ในปลายทศวรรษ 1970 นักเรียนอภิปรายกันมากในเรื่องว่า อะไรคือหลักเกณฑ์การวัดสัจจะความจริง ทำให้ต่อมา เติ้ง เสี่ยวผิง เสนอคำขวัญว่า การปฏิบัติคือหลักเกณฑ์ใช้วัดความจริง ทำให้จีนทั้งประเทศเกิดการหลุดพ้นทางความคิด ที่เคยยึดติดแต่เรื่องทฤษฎี แล้วหันมายอมรับว่า แมวไม่ว่าจะสีไหนก็ไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน เมื่อครั้งที่โดนัลด์ รัมส์เฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหม สหรัฐฯ มาเยือนโรงเรียนนี้ เขาเองยังรู้สึกแปลกใจมากกับบรรยากาศห้องเรียนที่ถกเถียงกันได้อย่างอิสรเสรี

China Executive Leadership Academy Putong (CELAP)

ส่วนสถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้ หรือ CELAP ตั้งขึ้นมาปี 2005 โดยมติของคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในภาษาจีนเรียกชื่อสถาบันนี้ว่า “วิทยาลัยผู้ปฏิบัติงานของจีนที่ผู่ตง” แต่เมื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษกลายเป็นชื่อว่า “สถาบันการนำระดับบริหารของจีนที่ผู่ตง” Richard McGregor ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Party: The Secret World of China’s Communist Rulers (2012) อธิบายว่า “ผู้ปฏิบัติงาน” (cadre) เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายทางคอมมิวนิสต์ ชื่อภาษาอังกฤษจึงไม่ใช้คำนี้ ทำให้วิทยาลัย CELAP มีภาพลักษณ์กลายเป็นโรงงานผลิต MBA มากกว่าที่จะเป็นเสาหลักค้ำจุนพรรคคอมมิวนิสต์

ทางเข้าสถาบัน China Executive Jeadership Academy Putong ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน เกิดจากเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่ผสมรวมกับระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยม หลักสูตรของสถาบัน CELAP ก็สะท้อนการผสมผสาน 2 อย่างนี้เช่นกัน วันแรกของหลักสูตรการศึกษา นักเรียนทั้งหมด ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการเอกชน จะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ที่นักเคลื่อนไหว 13 คนมาประชุมกันลับๆ เพื่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมาในปี 1921 ปัจจุบัน บริเวณพิพิธภัณฑ์ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่เมืองเก่าของเซี่ยงไฮ้

เมื่อตั้งขึ้นมาในปี 2005 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ CELAP ว่า “เพื่อสร้างจีนให้เป็นสังคมที่ทันสมัยและรุ่งเรือง ในทุกๆ ด้าน และพัฒนาสังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะดำเนินโครงการขนาดใหญ่ด้านการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มคุณภาพผู้นำของเรา” เพราะฉะนั้น CELAP จึงเน้นการสร้างทักษะและการแก้ปัญหาทางปฏิบัติให้กับนักเรียน ต่างจากโรงเรียนศูนย์กลางพรรคที่ปักกิ่ง ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องความคิดอุดมการณ์ นักเรียนคนหนึ่งของ CELAP บอกว่า โรงเรียนศูนย์กลางพรรคเน้นหนักเรื่อง “ทำไม” (why) ส่วนที่ CELAP จะหาทางออกว่า “อย่างไร” (how) เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คำถามแบบไหนสำคัญต่ออนาคตของจีน

ปีหนึ่ง CELAP มีนักเรียนเข้ามาศึกษาประมาณ 1 หมื่นคน ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของจีน ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น CEO ของรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่ามณฑล หรือเอกอัครราชทูต ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้อำนวยการ จะเข้ามารับการอบรมระยะสั้น เมื่อจีนต้องการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทันสมัย ก็จะส่งคนไปศึกษาจากประเทศตะวันตก แต่การศึกษาที่ CELAP เน้นหนักว่า ทำอย่างไรจะให้กลไกรัฐมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ จีนจึงสนใจแบบอย่างของสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น คุณภาพการศึกษา การวางแผนอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และความเป็นระเบียบของสังคม

อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ Henry Paulson กล่าวที่ CELAP ที่มาภาพ : The Paulson Institute

ในระยะ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ความโดดเด่นของจีนไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาได้อย่างยาวนาน และเป็นพรรคการเมืองที่ปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีน ให้ความสำคัญและลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพบุคลากรของพรรคและรัฐ เมื่อ 2 พันปีมาแล้ว จีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพบุคลากรของรัฐ โดยบุกเบิกให้มีระบบการสอบเพื่อคัดเลือกคนเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ระบบการสอบทำให้การคัดเลือกเจ้าหน้าที่รัฐมีความยุติธรรม เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันทางสังคม สร้างความมั่นคงทางการเมือง และช่วยลดการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

โรงเรียนศูนย์กลางพรรคและ CELAP เป็นตัวอย่างอีกแบบหนึ่งในเรื่องการสร้างผู้นำในอนาคตของจีน แต่โลกในปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนอย่างมาก ผู้นำในอนาคตต้องมีความสามารถด้านสติปัญญา เช่น การวิเคราะห์ และความรู้ในสาขาต่างๆ แต่ทักษะด้านสติปัญญา แม้จะมีความสำคัญแต่ก็ยังไม่พอเพียง ผู้นำในอนาคตที่จะทำงานบรรลุผลสำเร็จได้ยังต้องมีสิ่งที่นักเขียนชื่อ Daniel Goleman เรียกว่า “สติปัญญาด้านอารมณ์” (emotional intelligence) ที่ประกอบด้วย การรู้จักตัวเอง (รู้จุดอ่อนจุดแข่งตัวเอง) การควบคุมตัวเอง (รู้จักควบคุมอารมณ์) การสร้างแรงดลใจ การเห็นอกเห็นใจคนอื่น (เข้าใจความรู้สึกคนอื่น) และทักษะทางสังคม (สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน)