ThaiPublica > เกาะกระแส > จับเท็จ “ครม.” กรณีซุก “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” โฆษกไม่แถลง-ไม่แจกเอกสารข่าวต่อสื่อมวลชน

จับเท็จ “ครม.” กรณีซุก “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” โฆษกไม่แถลง-ไม่แจกเอกสารข่าวต่อสื่อมวลชน

1 เมษายน 2017


แม้ว่าในที่สุดประเด็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ที่บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. …. จบลงโดยที่คณะกรรมาธิการพลังงาน ของสมาชิกสภานิบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยอมตัดมาตรา 10/1 ที่ให้ตั้ง NOC ออกโดยให้เอาเรื่องนี้ไปใส่ไว้ในข้อสังเกตแทนว่า “รัฐควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว คณะรัฐมนตรีควรตั้งคณะกรรมการศึกษาภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณารายละเอียดของรูปแบบบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี”

ทั้งนี้ จากกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ความตอนหนึ่งระบุถึงเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถูกเพิ่มเติมเข้ามาในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ว่า “ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระหนึ่งและ สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือ ในการพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ. โดยเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด การเพิ่มเติมเรื่องใหม่นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่ามีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติรัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลยที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯ ในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย” (ดูขั้นตอนกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2557 ได้ที่นี่)

มาตราที่เพิ่มเติมใหม่นี้คือ มาตรา 10/1 มีข้อความว่า “มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังได้เปิดปมที่ทำให้การจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” กลายเป็นประเด็นร้อนก่อนการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 นั่นก็คือการระบุว่า “…สาเหตุที่ตนเห็นว่าไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผมเองได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า ‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ’ และ ‘ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน…’”

จึงมีการตั้งคำถามต่อว่า แล้วการแก้ไขข้อความเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะตามขั้นตอน คณะรัฐมนตรีต้องรับทราบและมีมติเรื่องนี้ จึงกลายเป็น “ปมซุก” มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ทำให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมายอมรับว่าคณะกรรมาธิการไม่ได้ลักไก่ ได้ขอความยินยอมจากคณะรัฐมนตรีแล้ว

แต่ทำไมเรื่องนี้ไม่ปรากฏเป็นข่าวแถลงของโฆษกรัฐบาลที่มีการแถลงข่าวทุกครั้งหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

จากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีย้อนหลัง ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พบว่า ในคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ครม. ได้รับทราบ “ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ [เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ] [สรุปผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560)]” โดยนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามภายในเอกสารยืนยันมติ ความตอนหนึ่งระบุว่า

“…ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 คณะรัฐมนตรีลงมติ

1. รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ตามหนังสือคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ สว (สนช) (กมธ 3) 00+9/4850 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2559) และรับทราบความเห็นของส่วนราชการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

2. เห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สำหรับเรื่องการเสนอให้มีการบัญญัติเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (National Oil Company: NOC) ไว้ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เห็นชอบให้มีการศึกษาและให้มีการจัดตั้งเมื่อมีความพร้อม โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) รับข้อสังเกตดังกล่าวไปประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป…”

รายละเอียดมติครม.เรื่องนี้อยู่ในเว็บไซต์สำนักเลขาธิการรัฐมนตรี แต่ไม่มีข้อความเหล่านี้ในมติครม.ในwww.thaigov.go.th รวมทั้งมติ ครม. เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มีปรากฏในการแถลงข่าวมติ ครม. ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวผลการประชุม ครม.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ประกอบด้วยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล, พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด, นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ไม่ได้แถลงเรื่องดังกล่าวต่อสื่อมวลชน และผู้สื่อข่าวไม่พบมติดังกล่าวในเอกสาร ครม. ฉบับจริง นอกจากนี้เอกสารสรุปข่าวการประชุม ครม.ซึ่งได้ส่งให้สื่อมวลชนประกอบการรายงานข่าวทุกครั้งหลังการประชุม แต่ครั้งนี้กลับไม่ปรากฎผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด(ดูซีรี่ย์ข่าวเกาะติดมติครม.คสช.)

ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า ขั้นตอนการแถลงผลการประชุมมติ ครม. จะเริ่มต้นในช่วงบ่ายของทุกวันอังคารที่มีประชุม โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะแถลงมติ ครม. ที่วาระเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ก่อนที่ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะแถลงมติ ครม. ในวาระอื่นๆ ต่อไป และภายหลังการซักถามเสร็จสิ้น ผู้สื่อข่าวจะขอดูเอกสาร ครม. ฉบับจริงเพื่อสอบทานข้อมูลให้ถูกต้องตรงกัน รวมถึงตรวจสอบมติ ครม. อื่นๆ ที่ทีมโฆษกอาจจะไม่ได้แถลงข่าว เพื่อความครบถ้วน

เอกสารยืนยันมติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เอกสารยืนยันมติต่อนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เว็บไซต์ฐานข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี
เว็บไซต์เอกสารสรุปข่าวการประชุม ครม.