ThaiPublica > คอลัมน์ > ตัวเลขกับชีวิตที่ถูกบงการ

ตัวเลขกับชีวิตที่ถูกบงการ

1 กุมภาพันธ์ 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : http://www.drodd.com/images15/numbers5.jpg
ที่มาภาพ : http://www.drodd.com/images15/numbers5.jpg

แต่ละวัฒนธรรมก็มีเลขที่ถือว่านำมาซึ่งโชคดีหรือโชคร้ายด้วยกันแทบทั้งนั้น ความเชื่อเช่นนี้มีนัยยะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่าง ๆ นั้นอาจเป็นไปอย่างอยู่นอกการควบคุมของตัวเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าตนเองมิได้เป็นผู้ลิขิตชีวิตตนเองทั้งหมด ความจริงข้อนี้ทำให้เกิดแง่มุมที่สามารถนำไปคิดได้หลายประการ

วัฒนธรรมไทยถือว่าเลข 9 เป็นเลขนำโชค เพราะเสียงของ 9 นั้นตรงกับคำว่า “ก้าว” (คนยียวนอาจถามว่าเราทึกทักกันไปหรือเปล่าว่าก้าวไปข้างหน้า) อย่างไรก็ดีตัวเลขที่โชคดีอาจแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของวันเวลาเกิด ชื่อของตน ฯลฯ ผู้เขียนไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าการนิยมเลข 9 ของคนไทยมีที่มาที่ไปอย่างไรและเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยใด อาจเป็นได้ว่าในสมัยโบราณเลขโชคดีมีที่มาจากโหราศาสตร์

ในวัฒนธรรมจีนถือกันมายาวนานว่าเลข 8 เป็นเลขนำโชคที่สุด คนจีนถือโชคลางเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับคนเอเชียทั้งหลาย เลขคู่ถือว่าเป็นเลขที่นำมาซึ่งโชคลาภ ความร่ำรวย ความสำเร็จมากกว่า เลขคี่ (เมื่อคนจีนเชื่อในการมีคู่หรือสองคนแต่เหตุไฉนจึงนิยมมีภรรยาหลายคนหรือต้องมีให้เป็นจำนวนเลขคู่เสมอ?) ยกเว้นเลข 4 ที่ถือว่าเป็นเลขไม่เป็นมงคลเพราะออกเสียงว่า “si” (ซี้) ซึ่งหมายถึงความตาย

อย่างไรก็ดีเลขคี่ 3 ก็นิยมกันมากในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาซึ่งมีอิทธิพลมายาวนานเกี่ยวพันกับเลข 3 เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือท่อง 3 จบ หรือเวียนเทียน 3 รอบ ฯลฯ พุทธศาสนาเข้าสู่แผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ปัจจุบันคนจีนจุดธูป 3 ดอก เคาะระฆัง 3 ครั้ง นิยมเลข 3 นำหน้า เช่น 38 (โชคดี 3 เท่า)

เลขคี่ที่คนจีนนิยมอีกก็คือเลข 7 ซึ่งมีนัยยะของความศักดิ์สิทธิ์ และเลข 9 มีนัยยะของการมีอายุยืน (วัง Forbidden City ในปักกิ่งมี 9,999 ห้อง) ปัจจุบันคู่รักจีนนิยมส่งกุหลาบ 99 หรือ 999 ดอก ซึ่งหมายถึง “รักชั่วนิรันดร์”

สำหรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นเลข 4 (เสียงตรงกันความหมายว่าตาย เช่น จีน) กับเลข 9 (เสียงตรงกับความหมายว่าเจ็บปวดทรมาน) ถือเป็นเลขที่นำมาซึ่งโชคร้าย เลขอื่น ๆ ที่เสียงฟ้องกับคำอื่นที่มีความหมายที่ไม่ดีก็เช่น 43 (เบอร์ห้องคลอดไม่มีเบอร์นี้เพราะคล้ายกับความหมายว่าลูกแท้ง) หรือ 24 (ตายสองครั้ง) ดังนั้นเบอร์ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงก็คือ 4 และ 9

เลขที่ถือว่าเฮงสุดของคนญี่ปุ่นก็คือเลข 7 (ปัจจุบันเจ้าของบริษัท 7-11 คือคนญี่ปุ่น) โดยมีที่มาจากพุทธศาสนาซึ่งแพร่หลายในญี่ปุ่นอย่างมากระหว่าง ค.ศ. 552 ถึง 1868 ส่วนเลข 8 นั้นคนญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นเลขโชคดีเช่นเดียวกับคนจีน

สรุป คนจีนกับคนญี่ปุ่นมีเลขโชคดีตรงกันคือ 8 และ 7 และเลขโชคร้ายตรงกันก็คือเลข 4 ที่แตกต่างกันก็คือเลข 9 ซึ่งเป็นเลขมงคลของจีน แต่เป็นเลขไม่ดีของญี่ปุ่น

ในวัฒนธรรมอินเดียซึ่งมีความหลากหลายมากและนับถือโชคลางอย่างยิ่งนั้น เลขมหาเฮงคือเลข 7 และมหาซวยคือ 8 ซึ่งตรงข้ามกับจีนและญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง คำอธิบายความโชคดีและโชคร้ายของเลขทั้งสองก็แตกต่างกันไป บ้างก็อ้างความเชื่อในศาสนาฮินดู บ้างก็ว่าเลข 8 กำหนดชะตากรรมในเรื่องร้าย ๆ ของประเทศ เช่น วัน เวลา แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ

คนอินเดียเวลาทำบุญและทำทานจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ลงท้ายด้วยเลข 0 เป็นอันขาด มงคลที่สุดก็คือลงท้ายด้วยเลข 1 ของขวัญที่เป็นเงินในวันมงคลจะต้องลงท้ายด้วยเลข 1 เสมอ

สำหรับวัฒนธรรมตะวันตกนั้นเลข 13 เป็นเลขที่ไม่ดี โดยมีที่มาคือในการรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูก่อนถูกพวกโรมันจับไปตรึงบนไม้กางเขน มีคนร่วมกันทั้งหมด 13 คน (12 สาวกกับพระเยซู) และเหตุที่ถือว่าเป็นเลขไม่ดีก็เพราะใน 13 คนนี้มี Judas Iscariot ซึ่งทรยศพระเยซูร่วมอยู่ด้วย

โรงแรมในบางประเทศ หรือแม้แต่ประเทศไทย ลิฟต์โดยสารจะไม่มีชั้น 13 จะไม่มีห้องเบอร์ 13 หรือในโรงแรมจีนและญี่ปุ่นบางแห่งก็ไม่มีชั้น 4 ทั้ง ๆ ที่ลองนึกดี ๆ แล้ว “ชั้น 12A” หรือ “ห้อง 12A” หรือชั้น 3A (ข้ามเลข 4 ไป 5 เลย) นั้นโดยแท้จริงแล้วก็คือชั้นหรือห้อง 13 หรือ 4 นั่นเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องหลอกตัวเองกันโดยแท้ เหตุที่เป็นมงคลก็เพราะไม่เห็นเลข 13 หรือ 4 เท่านั้น

เลขมหาเฮงหรือมหาซวยจึงเป็นเลขสมมุติขึ้นมาในใจที่ถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรมและก่อให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยา ปรากฏการณ์นี้แหละที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้แก่รัฐบาลไทยจากการประมูลเลขทะเบียนรถ (บางป้ายก็ไม่ใช่หมายเลขเพื่อความเป็นมงคล หากเป็นหมายเลขสื่อความดังให้ปรากฏแก่คนอื่นว่าตนเองรวย หรือมีความสำคัญทั้ง ๆ ที่โดยแท้จริงหากไปชนคนตาย หรือต้องการลักลอบทำอะไรไม่ให้คนเห็นแล้วจะเป็นหมายเลขที่จำได้ง่ายที่สุด)

คนที่ยอมให้ตัวเลขเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตอย่างงมงาย ก็คือคนที่ไม่เชื่อว่าตนเองสามารถกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้ เป็นคนมืออ่อนเท้าอ่อนยอมให้ตัวเลขมาบงการชีวิต คนที่งมงายเช่นนี้เป็นคนน่าสงสารเพราะเกิดมาก็มีเพียงชีวิตเดียวแต่ไม่ก็ยังยอมให้ตัวเลขมาเป็นเจ้าของ

เราคงไม่ปฏิเสธว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีขัอแย้งอยู่ในตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป เช่น นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบิลเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก พุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด (“พุทธ” แปลว่า “ผู้ตื่น” โดย “ตื่น” จากโทสะ โลภะ โมหะ) นับถือผีและนับถือความเชื่อตามวิถีพราหมณ์คู่กันไป นับถือความดีความงามแต่ตนเองขาดเมตตาธรรม ฯลฯ

การขัดแย้งบ้างเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่ก็ต้องเป็นไปภายใต้กรอบแห่งความมีเหตุมีผลบ้าง แต่ถ้าหมกมุ่นอย่างงมงายกับตัวเลขแล้ว น่าจะจัดได้ว่าเป็นคนน่าเวทนา เพราะไม่พยายามเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง หากเอาไปแขวนไว้กับตัวเลข (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุก ๆ 15 วัน)

Warren Buffet เคยบอกว่า “ในเมื่อความเป็นจริงก็คือชีวิตเป็นของคุณ เหตุใดเล่าจึงให้โอกาสคนอื่นมาบงการชีวิตของคุณ”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 31 ม.ค. 2560