เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าของ “ศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการการเงิน” หรือ Regulatory Sandbox ว่า ปัจจุบัน ธปท.ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติ เรื่อง แนวทางการเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา
“ก่อนหน้านี้มีคนเข้ามาคุยกับเราบ้างแล้ว แต่ตอนนั้นเป็นเข้ามาปรึกษามากกว่า ตอนนี้ธปท.พร้อมเปิดรับให้เข้ามาร่วมเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมไปด้วยกัน ส่วนจำนวนที่จะรับเท่าไหร่ ธปท.จะเปิดกว้าง เพราะคิดว่าคงไม่มีบริการที่เหมือนกัน 100% อาจจะคล้ายของเดิมแต่มีบางส่วนที่เป็น feature ใหม่ๆ หรืออาจจะให้บริการกลุ่มลูกค้าไม่เหมือนกัน บางรายอาจจะสำเร็จ บางรายอาจจะไม่สำเร็จ จึงต้องเข้ามาพูดคุยกันก่อน แต่ต้องเป็นนวัตกรรมใหม่ ถ้าเหมือนกัน 100% ก็ไม่จำเป็นต้องมาทดลองแล้ว เพราะมีทำได้อยู่แล้ว” นางสาวสิริธิดา กล่าว
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นมีผู้สมัครที่สนใจเข้ามาปรึกษาแล้วประมาณ 10 ราย โดยยังอยู่ในขั้นตอนการสมัคร ซึ่งหลังจากส่งเอกสารและข้อมูลทั้งหมดเข้ามาแล้ว ธปท.จะพิจารณาภายใน 45 วัน หากมีความเป็นไปได้และเหมาะสมก็จะสามารถให้เริ่มดำเนินการตามแผนได้ทันที แต่หากยังมีข้อติดขัดอาจจะขอให้กลับไปทบทวนหรือปรับปรุงแผนอีกครั้งและส่งใบสมัครเข้ามาใหม่
สำหรับผู้ทีจะสมัครเข้ามาต้องมีแผนการดำเนินงานและคุณสมบัติ แบ่งเป็น 3 ช่วง
1) ช่วงก่อนเข้าร่วม ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติเพียงพอ เช่น มีนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่, เป็นโครงการที่ให้บริการในประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ, มีผลการศึกษาความเป็นไปได้ของของนวัตกรรม รวมไปถึงมีแผนการทดสอบที่ชัดเจน เช่น กลุ่มผู้บริโภคมีใครบ้าง ผ่านเกณฑ์ปฏิบัติเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือไม่ จะทำนานแค่ไหน และหลังจากหมดเวลาจะออกจากธุรกิจอย่างไร, มีทรัพยากรด้านเงินทุนและบุคลากรเพียงพอ, มีกระบวนการดูแลลูกค้า ได้แก่ ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน มีสิทธิเลือกบริการ มีสิทธิที่จะร้องเรียน มีสิทธิที่ได้รับชดเชยหากมีความเสียหายและไม่ใช่ความผิดของลูกค้า
2) ในระหว่างการเข้าร่วม ผู้สมัครจะต้องมีธรรมาภิบาล มีหลักเกณฑ์การดูแลผู้บริโภคข้างต้น มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยเฉพาะด้านไอที มีรายงานข้อมูลแก่ ธปท. มีการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่ง ธปท. จะตรวจสอบเป็นระยะๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่อาจจะบ่อยกว่านั้นหากมีข้อมูลบ่งชี้อื่นๆ
3) หลังจากจบการเข้าร่วมทดลอง จะต้องมีแผนการออกและช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี อันแรก หากประสบความสำเร็จและพร้อมให้บริการ ธปท. อาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และออกใบอนุญาตให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป อันที่สอง กรณีที่ไม่ประสบผลสำเร็จและต้องยุติการให้บริการ เช่น ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือมีข้อบกพร่องจากผลิตภัณฑ์ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือแจ้งความจำนงที่จะออก
ทั้งนี้ ในภาพรวมธปท. แบ่งผู้เล่นเป็น 3 ประเภท 1) สถาบันการเงิน 2) FinTech ที่มีความพร้อมทั้งด้านการเงิน มีฐานข้อมูล สามารถให้บริการประชาชนในวงกว้าง และ 3) FinTech ขนาดเล็กที่ยังอาจจะต้องการคำชี้แนะหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
โดย ธปท. มีเป้าหมายหลักไปที่กลุ่มแรกและกลุ่มที่สองที่จะเข้ามาติดต่อโดยตรงกับ ธปท. และเริ่มให้บริการใน Sandbox ตรงนี้บทบาทของ ธปท. ต่อสถาบันการเงินในช่วงทดสอบจะพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ส่วนบทบาทกับ FinTech ธปท. จะให้คำปรึกษา ชี้แจง และพิจาณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกับสถาบันการเงินมากขึ้น ขณะที่กลุ่มที่ 3 ช่วงเริ่มต้นอาจจะเข้าร่วมในลักษณะเป็นสมาชิกกับสมาคม FinTech เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจธุรกิจ จนมีความพร้อมเพียงพอจนสามารถเข้ามายัง Sandbox ในภายหลัง ทั้งนี้ ธปท. จะมีส่วนร่วมสนับสนุน สร้างความรู้ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้จาก Sandbox ให้แก่ผู้เล่นกลุ่มนี้ด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้เล่นกลุ่มนี้สามารถสมัครเข้ามาได้เช่นเดียวกัน