ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. เตรียมตั้ง “Regulatory Sandbox” ต้นปี 2560 – ผ่อนปรนเกณฑ์กำกับ หนุน FinTech

ธปท. เตรียมตั้ง “Regulatory Sandbox” ต้นปี 2560 – ผ่อนปรนเกณฑ์กำกับ หนุน FinTech

20 กันยายน 2016


นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวถึงการที่ ธปท. ได้เริ่มจัดทำแนวทางการเข้าร่วม “ศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการการเงิน” หรือ Regulatory Sandbox หลังจากกระแสเทคโนโลยีการเงินหรือ FinTech โหมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดย ธปท. ต้องการมีส่วนร่วมส่งเสริมสภาพแวดล้อมในฐานะ “ผู้กำกับดูแล” ไม่ให้กฎเกณฑ์ต่างๆ มาเป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาเทคโนโลยีการเงิน และอีกด้านหนึ่งจะทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ให้บริษัทต่างๆ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแข่งขันและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ธปท. จะได้เรียนรู้ เข้าใจ และสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เหมาะสมมากขึ้นได้ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ก่อนจะนำไปประมวลออกมาเป็นประกาศสำหรับสถาบันการเงินภายใต้พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ให้เริ่มขอเข้าร่วมได้ช่วงต้นปี 2560 ขณะที่สถาบันการเงินอื่นจะใช้เวลาศึกษาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอาจจะไปเกี่ยวข้องกับประกาศหรือกฎหมายของหน่วยงานอื่นๆ และต้องประสานงานให้เรียบร้อยก่อน แต่คาดว่าช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 จะเริ่มให้เข้ามาร่วมได้เช่นเดียวกัน

“เรื่องเกณฑ์เบื้องต้น แบ่งเป็น 2 ด้าน หากธุรกิจไม่ผิดกฎเกณฑ์อะไรของ ธปท. สามารถทำได้ตามกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่ แต่สำหรับบางบริการที่อาจจะขัดเกณฑ์กำกับเดิมหรือไม่แน่ใจว่าจะขัดหรือไม่ หรือต้องการทำความเข้าใจเพิ่มเติม ก็อาจจะเข้ามายัง Sandbox ตรงนี้ มาทดลองดูก่อน ซึ่ง ธปท. จะดูว่าให้บริการอะไร เทคโนโลยีใหม่หรือไม่ ตรงนี้ต้องเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีในไทย เพราะถ้าเคยมีอยู่แล้วของผู้เล่นอื่นและเขาทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ได้โดยไม่ต้องเข้า Sandbox คนที่มาขอก็ต้องทำได้ด้วย นอกจากนี้ ธปท. ก็ยังดูว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง ดูว่าไม่ไปขัดพวกกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน การโกงเงินพวกนั้นด้วย แต่ต้องบอกว่ามันเป็นรายธุรกิจ เราต้องลงไปดูเป็นกรณีๆ เราจะเปิดกว้างไว้ก่อนเสมอ เหมือนมาเรียนรู้ด้วยกัน เพราะบางทีกฎเกณฑ์ของเราก็อาจจะล้าสมัยไปแล้ว ต้องปรับปรุงเช่นกัน” นางวิเรขากล่าว

มุ่งเป้า แบงก์-FinTech ที่พร้อมให้บริการ

ทั้งนี้ เบื้องต้น ธปท. ได้แบ่งผู้เล่นเป็น 3 ประเภท 1) สถาบันการเงิน 2) FinTech ที่มีความพร้อมทั้งด้านการเงิน มีฐานข้อมูล สามารถให้บริการประชาชนในวงกว้าง และ 3) FinTech ขนาดเล็กที่ยังอาจจะต้องการคำชี้แนะหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

โดย ธปท. มีเป้าหมายหลักไปที่กลุ่มแรกและกลุ่มที่สองที่จะเข้ามาติดต่อโดยตรงกับ ธปท. และเริ่มให้บริการใน Sandbox ตรงนี้บทบาทของ ธปท. ต่อสถาบันการเงินในช่วงทดสอบจะพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ส่วนบทบาทกับ FinTech ธปท. จะให้คำปรึกษา ชี้แจง และพิจาณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกับสถาบันการเงินมากขึ้น

ขณะที่กลุ่มที่ 3 ช่วงเริ่มต้นอาจจะเข้าร่วมในลักษณะเป็นสมาชิกกับสมาคม FinTech เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจธุรกิจ จนมีความพร้อมเพียงพอจนสามารถเข้ามายัง Sandbox ในภายหลัง ทั้งนี้ ธปท. จะมีส่วนร่วมสนับสนุน สร้างความรู้ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้จาก Sandbox ให้แก่ผู้เล่นกลุ่มนี้ด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้เล่นกลุ่มนี้สามารถสมัครเข้ามาได้เช่นเดียวกัน

ยึดหลักเกณฑ์ “ปลอดภัย-คุ้มครองผู้บริโภค”

ขณะที่กรอบเบื้องต้นของ Sandbox จะกำหนดระยะเวลาการเข้าร่วม แต่เบื้องต้นจะอยู่ในช่วง 6 เดือน-1ปี และ ธปท. จะเป็นผู้พิจารณาขยายเวลาการดำเนินงานตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีได้ โดยจะแบ่งเป็น 3 ช่วง 1) ช่วงก่อนเข้าร่วม ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติเพียงพอ เช่น มีนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่, เป็นโครงการที่ให้บริการในประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ, มีผลการศึกษาความเป็นไปได้ของของนวัตกรรม รวมไปถึงมีแผนการทดสอบที่ชัดเจน เช่น กลุ่มผู้บริโภคมีใครบ้าง จะทำนานแค่ไหน และหลังจากหมดเวลาจะออกจากธุรกิจอย่างไร, มีทรัพยากรด้านเงินทุนและบุคลากรเพียงพอ, มีกระบวนการดูแลลูกค้า ได้แก่ ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน มีสิทธิเลือกบริการ มีสิทธิที่จะร้องเรียน มีสิทธิที่ได้รับชดเชยหากมีความเสียหายและไม่ใช่ความผิดของลูกค้า

2) ในระหว่างการเข้าร่วม ผู้สมัครจะต้องมีธรรมาภิบาล มีหลักเกณฑ์การดูแลผู้บริโภคข้างต้น มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยเฉพาะด้านไอที มีรายงานข้อมูลแก่ ธปท. มีการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่ง ธปท. จะตรวจสอบเป็นระยะๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่อาจจะบ่อยกว่านั้นหากมีข้อมูลบ่งชี้อื่นๆ

3) หลังจากจบการเข้าร่วมทดลอง จะต้องมีแผนการออกและช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี อันแรก หากประสบความสำเร็จและพร้อมให้บริการ ธปท. อาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และออกใบอนุญาตให้บริการต่อไป อันที่สอง กรณีที่ไม่ประสบผลสำเร็จและต้องยุติการให้บริการ เช่น ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือมีข้อบกพร่องจากผลิจภัณฑ์ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือแจ้งความจำนงที่จะออก

“มีคำถามว่าในกรณีหลัง ถ้ามันไม่ได้ผล ต้องหยุด หรือถ้าเกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ ตรงนี้มีหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งส่วนแรกคือลูกค้าที่เข้ามาต้องรับรู้ว่านี่คือการทดลอง มีความเสี่ยงในระดับไหน อาจจะเริ่มทดลองใช้ด้วยเงินที่ไม่มาก หรือจริงๆ บางบริการอาจจะไม่เกี่ยวกับเงินด้วยซ้ำ ตรงนี้บริษัทต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอ แต่ถ้าสุดท้ายเกิดความเสียหายแล้วพิสูจน์ได้ว่าลูกค้าไม่ผิด บริษัทเหล่านี้ต้องชดเชยความเสียหายตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว” นางวิเรขากล่าว

อ่านเพิ่มเติมSandbox: กล่องทรายกฎหมาย

เอกสารรับฟังความคิดเห็น เรื่อง Regulatory Sandbox