ThaiPublica > คอลัมน์ > Michelle Obama สร้างตัวอย่าง

Michelle Obama สร้างตัวอย่าง

8 สิงหาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อตอนสาวๆ Michelle Robinson มีชาย 2 คนให้เลือกเป็นสามี คนหนึ่งเป็นนักธุรกิจฐานะดี อีกคนเป็นนักกฎหมายที่ทำงานเพื่อสังคม เธอตัดสินใจเลือกคนหลังซึ่งชื่อ Barack Obama หลังจากสามีเธอเป็นประธานาธิบดีแล้วมีคนถามเธอว่า ถ้าแม้นว่าเธอเลือกคนแรก เธอก็ไม่ได้เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาสิ เธอตอบว่าไม่หรอก เพราะยังไงเธอก็จะต้องทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีจนได้

นี่คือความหลักแหลมในการตอบของเธอ และเมื่อได้ฟังสุนทรพจน์ของเธอเมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมเพื่อเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตแล้วก็ยิ่งรู้สึกว่าเธอไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง ลองฟังเรื่องต่อไปนี้เกี่ยวกับเธอที่มีแง่มุมให้คิด

ในการพูดสุนทรพจน์ เธอบอกว่าเธออาศัยอยู่ในบ้านที่ใช้แรงงานทาส (ผิวดำ) สร้างมา 8 ปี เห็นลูกสาวสุดรักของเธอ 2 คน วิ่งเล่นหน้าบ้านแล้วรู้สึกภาคภูมิใจที่เธอและสามีได้รับโอกาสให้เป็นตัวอย่างเพื่อเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาได้เลียนแบบ เธออยากเห็นเด็กอเมริกันเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรัก มิใช่ความเกลียดชัง การแบ่งแยกผู้คน (กำลังด่า Donald Trump โดยไม่เอ่ยนามอย่างนิ่มและเนียน) การเป็นตัวอย่างแก่เด็กนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต

เมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้ Michelle เธอไปเยี่ยมโรงเรียนรัฐบาลหญิงในลอนดอน ชื่อ Elizabeth Garrett Anderson School ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/03340/obama_3340378b.jpg
เมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้ Michelle เธอไปเยี่ยมโรงเรียนรัฐบาลหญิงในลอนดอน ชื่อ Elizabeth Garrett Anderson School
ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/03340/obama_3340378b.jpg

เมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้ Michelle ได้กระทำสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดแง่คิดในเรื่องการให้กำลังใจแก่เด็กในการใฝ่การศึกษา เรื่องก็มีอยู่ว่า ในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของเธอในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอไปเยี่ยม โรงเรียนรัฐบาลหญิงในลอนดอน ชื่อ Elizabeth Garrett Anderson School ซึ่ง 3 ใน 4 ของนักเรียนมีฐานะยากจนโรงเรียนนี้มีสิทธิได้รับอาหารกลางวันฟรี

เธอบอกเด็กเหล่านี้ว่าเธอมาจากครอบครัวที่ยากจน (พ่อเป็นพนักงานทำงานโรงประปา และแม่ทำงานเลขานุการ) ต้องต่อสู้ชีวิตจากถิ่นยากจนของชิคาโกจนได้เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ (เธอจบปริญญาตรีด้านสังคมวิทยาจาก Princeton และจบกฎหมายจาก Harvard) ได้ทำงานบริษัทกฎหมายมีชื่อ และได้มา “ยืนอยู่ตรงนี้ก็เพราะการศึกษาโดยแท้” เธอบอกว่า “การเป็นคนเก่งเป็นสิ่งที่เก๋กว่าอะไรทั้งหมดในโลก”

Michelle มิได้พูดเพียงครั้งเดียวกับเด็กกลุ่มนี้ เธอติดต่อถามไถ่อย่างต่อเนื่อง อีก 2 ปีต่อมา เมื่อเธอไปเยือนมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เธอก็เชิญเด็กเหล่านี้ไปพบด้วย เธอบอกว่า “พวกเราทั้งหมดเชื่อว่าหนูทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนี้” ยิ่งไปกว่านั้น ในปีต่อมา เธอเชิญเด็กกลุ่มนี้ 12 คน บินไปหาเธอที่ White House (“บ้านสีขาว” ที่สร้างโดยทาสผิวดำนี้ สร้างใน ค.ศ. 1792 หรือ พ.ศ. 2335 ซึ่งเป็นเวลา 10 ปี หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์)

สิ่งที่เกิดตามมาเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ นักเศรษฐศาสตร์แห่ง University of Bristol ชื่อ Simon Burgess ได้ตีพิมพ์บทความเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2016 วิเคราะห์ผลการสอบของเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีอายุ 15-16 ปีจากการสอบ GCSE ของอังกฤษ และพบว่ามีผลการเรียนดีกว่าเด็กรุ่นก่อนหน้าเป็นอันมาก ระหว่างปี ค.ศ. 2011-2012 ซึ่งเป็นเวลา 3-4 ปีหลังจากที่ Michelle พบเด็กครั้งแรก คะแนนที่สอบได้พุ่งสูงขึ้นอย่างเทียบได้กับการที่เด็กแต่ละคนได้เกรด C 8 วิชา เป็น A 8 วิชา คะแนนที่เพิ่มขึ้นนี้สูงกว่าการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดในลอนดอน จนกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นเฉพาะที่โรงเรียนแห่งนี้อย่างเด่นชัด

ถึงแม้ว่าจะเป็นการยากที่จะบอกอย่างแน่ชัดว่าการกระทำของ Michelle เป็นสาเหตุ แต่จากการศึกษาวิเคราะห์โดยควบคุมตัวแปรต่างๆ Burgess เชื่อว่าคะแนนที่สูงขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องของความฟลุ๊กอย่างแน่นอน เขากล่าวว่า “ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่มันจะเกิดขึ้นจากความบังเอิญ”

ถ้าสมมติว่า Michelle เป็นสาเหตุจริง เรื่องนี้ก็น่าคิดมากว่าการให้กำลังใจ การคาดหวัง และการปลุกเร้าให้เกิดความทะเยอทะยานด้วยคนที่น่าเชื่อถือ มีพื้นฐานคล้ายกัน สามารถมีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในอังกฤษ การประสบความสำเร็จของเด็กที่พ่อแม่เป็นอินเดีย และในสหรัฐอเมริกาที่พ่อแม่เป็นคนเอเชีย มาจากการเอาใจใส่และความคาดหวังอย่างสูง สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนให้เด็กเกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ใช้การศึกษาเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

การสัมภาษณ์เด็กกลุ่มนี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า Michelle Effect นั้นมีจริง เด็กบอกว่า เมื่อ “เธอทำได้ เราก็ต้องทำได้เช่นกัน มันมิใช่เรื่องที่เป็นเพียงคำพูด หากเรารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ”

วันนี้ท่านให้กำลังใจลูกหลานท่านหรือยังครับ

หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 ส.ค. 2559