ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสนั่งกินข้าวกลางวันกับผู้ช่วยงานวิจัยในโปรเจกต์ของ LSE ที่ผมช่วยคุมอยู่ มีอยู่ช่วงหนึ่งเราได้คุยกันเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษว่าต้องใช้เกรดอะไรเข้า โดยเฉพาะที่ LSE สรุปก็คือ LSE ต้องการเกรด A อย่างน้อยสามตัวจากการสอบ A-level สามวิชา ผมก็เลยถามผู้ช่วยงานวิจัยเเต่ละคนว่าในตอนที่เขายังเรียนกันอยู่นั้นพวกเขาได้เกรดอะไรกันบ้าง สรุปคือทุกคนที่ผมถามตอบกลับมาว่าได้ A สามตัวบ้าง หรือถ้าเรียนมัธยมมาจากที่อื่นก็ได้เกรดที่เทียบกันกับการได้เกรด A ทุกตัว
ผมถึงกลับร้อง โอ้โห ผู้ช่วยงานวิจัยของเราทุกคนนี่สุดยอดไปเลย พอผมพูดออกไปเช่นนั้น คนที่นั่งข้างผมก็ถามผมว่า “นิค เเอนด์ฮาวดิดยูดู”
ผมก็ตอบกลับไปว่า ไอสอบได้ B ตัวหนึ่ง C ตัวหนึ่ง เเละ D อีกตัวหนึ่ง
ผมมองไปที่คนถามซึ่งถึงเเม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดออกมาเขาก็คงกำลังนึกอยู่ในใจว่า เเล้วยูมาอยู่ ณ จุดตรงนี้ได้ยังไง
ไม่ก็ โอมายก็อด มายบอสก็อทบีซีดีอินฮีสเอเลเวล!
—
ผมไม่ใช่คนที่เรียนดีอะไรเลยนะครับ ไม่เคยสอบได้เอ ไม่เคยชนะทุนการศึกษา ผมยังจำได้เลยว่าตอนผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ Brunel ได้ คุณเเม่เเละคุณพ่อของผมต่างก็โล่งอกมากว่าผมสอบไม่ตก เเละยังไม่ต้องถูกเขาถีบกลับประเทศ
มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่ผมยังตะลึงในความโชคดีของตัวเองที่มาถึงจุดตรงนี้ได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าผมโชคดีที่ได้เจอคนอย่าง Andrew Oswald ที่ช่วยส่งเสริมผมมาตลอด เเต่ขนาด Andrew เองก็ยังเคยบอกกับผมว่าเขาเทคเครดิตในความสำเร็จของผมไม่ได้มากหรอก ผมก็เลยกลับมาคิดใหม่ว่า โอเค ถ้าอย่างงั้นมันเป็นเพราะอะไรล่ะ สมการความสำเร็จจริงๆมันอยู่ตรงไหนถ้าผมไม่เคยเป็นคนที่เรียนดีเลย

จนกระทั่งผมได้มาอ่านหนังสือของ Angela Duckworth ที่ชื่อว่า Grit ผมจึงเริ่มเข้าใจจริงๆ ว่ากุญเเจของความสำเร็จในสิ่งที่เราเลือกที่จะทำนั้นมีอยู่สองข้อใหญ่ๆ
1) นอกจากความโชคดีเเล้ว passion ในสิ่งที่เราเลือกที่จะทำนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จของเรามาก เพราะถึงเเม้ว่าเราจะเก่งในเรื่องหลายๆเรื่อง เเต่ถ้าเราไม่มี passion ในสิ่งที่เราทำ โอกาสที่เราจะดำเนินการทำในสิ่งที่เรามีความสามารถตอนที่เราประสบกับความลำบากมันก็น้อยกว่าการที่เราได้ทำในสิ่งที่เรา passionate กับมัน (ผมไม่อยากเเปลคำว่า passion ให้เป็นความรักนะครับเพราะผมคิดว่ามันไม่ใช่อย่างเดียวกัน คงเหมือนกับความชอบมากกว่า)
สำหรับตัวผมเอง พอผมได้เปลี่ยนหัวข้อวิจัยมาทำเรื่องความสุขของคนในขณะที่ผมกำลังเรียนเอกอยู่นั้น ผมจำได้ว่าเเทบจะไม่มีวันไหนเลยที่ผมตื่นขึ้นมาเเล้วไม่อยากทำการวิจัยว่า เอ๊ะ เเล้วอะไรที่ทำให้คนมีความสุขจริงๆ
2) กุญเเจของความสำเร็จอีกดอกหนึ่งก็คือความอดทน หรือ perseverance นั่นเอง ผมจำได้ว่าตอนผมเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับความสุขใหม่ๆ นั้น เวลานำเสนองานที่คณะก็จะมีเเต่คนหัวเราะว่า ความสุขมันวัดกันไม่ได้ จบเเล้วจะไม่มีทางหางานทำได้นะ
เเถมตอนเเรกๆ ก็หาวารสารวิชาการที่จะยอมรับตีพิมพ์งานของผมยากด้วย ผมจำได้ว่าผมโดนปฏิเสธการตีพิมพ์เกือบร้อยครั้งในเเค่เวลาไม่เกินห้าปีหลังจากจบเอก เเต่ถึงจะท้อยังไง เพราะการมี passion ในสิ่งที่ผมทำ ทำให้ผมอดทน ซึ่งถ้าไม่ถูกปฏิเสธถึงขนาดนี้ผมก็คงจะไม่สามารถเรียนรู้ได้ว่าต้องทำยังไงเพื่อที่จะไม่ถูกปฏิเสธอีก
ก็นั่นเเหละนะครับ การมีผลการเรียนที่ดี ถึงเเม้ว่ามันจะสำคัญ เเต่ในเคสของผมมันไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จในสิ่งที่เราเลือกจะทำ
เเต่ในความเป็นจริงเเล้วนะครับ (ซึ่งอันนี้ต้องขอขอบคุณพี่เตา คุณบรรยง พงษ์พานิช ที่ช่วยชี้เเนะ) Grit ในความหมายของ Angela Duckworth ก็มีที่มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอิทธิบาทสี่ หรือบาทฐานเเห่งความสำเร็จดีๆ นั่นเอง ซึ่งมีปัจจัยดังนี้
ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น
เเละ ณ ตรงจุดนี้ผมขออนุญาตจบด้วยสิ่งที่ Confucius เคยกล่าวเอาไว้นะครับว่า
Find a job you love, and you’ll never have to work a day in your life!
ป.ล. เคยมีคนเขียนใน blogว่าผมถือ record ในการมี paper ที่ถูก reject เยอะที่สุดในโลกที่ 15 ครั้งก่อนที่จะได้ตีพิมพ์