ThaiPublica > เกาะกระแส > นับถอยหลังประชามติ รธน. : “ บัตรทอง- ผู้ยากไร้ ” อนาคตระบบรักษาพยาบาลของไทย

นับถอยหลังประชามติ รธน. : “ บัตรทอง- ผู้ยากไร้ ” อนาคตระบบรักษาพยาบาลของไทย

12 มิถุนายน 2016


หน้าตาบัตรทอง (30 บาทรักษาทุกโรคเดิม) ที่มาภาพ : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/233616
หน้าตาบัตรทอง (30 บาทรักษาทุกโรคเดิม) ที่มาภาพ: daily.bangkokbiznews.com/detail/233616

ตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ว่าจะปรับปรุงโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” (เดิมคือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) เนื่องจากใช้งบประมาณมาก เป็นภาระต่อระบบงบประมาณของภาครัฐ

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในยุครัฐบาล คสช. ตั้งแต่สมัยนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาจนถึงเปลี่ยนรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ก็มีแนวคิดที่จะให้ประชาชนร่วมจ่าย (co-payment) จากโครงการบัตรทอง แต่ยังมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากชมรมแพทย์ชนบท และเอ็นจีโอด้านสาธารณสุข

เมื่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ) ปรากฏต่อสาธารณชน และมีเนื้อหาในมาตรา 47 วรรคสอง ระบุว่า “บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ”

มาตรา 47 ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับลงประชามติ ที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล ว่าอาจส่งผลกระทบต่อโครงการบัตรทองในอนาคต
มาตรา 47 ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับลงประชามติ ที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล ว่าอาจส่งผลกระทบต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในอนาคต

ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ต่อไปโครงการ “บัตรทอง” จะใช้เฉพาะกับ “ผู้ยากไร้” ไม่ใช่ “ทุกคน” ใช่หรือไม่

ทั้งๆ ที่ในปัจจุบัน มีผู้เข้าถึงบริการของสาธารณสุข เพราะอยู่ในข่ายผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากบัตรทองกว่า 48 ล้านคน ประกันสังคม ประมาณ 10 ล้านคน และสวัสดิการข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน

ยิ่งเมื่อมีบุคคลบางกลุ่มแชร์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ จะทำให้โครงการบัตรทอง (30 บาทรักษาทุกโรค) ถูก “ยกเลิก”

กลายเป็นประเด็นร้อนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ช่วยตรวจสอบว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเข้าข่ายบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 หรือไม่

อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ระบุว่า แม้ในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 วรรคสอง จะใช้คำว่า “ผู้ยากไร้” ย่อมมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลฟรี แต่ไม่มีข้อความใดที่เป็นการยกเลิกสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน ตามสิทธิที่ได้รับในปัจจุบัน

ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ก็กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ไม่ได้ไปแตะต้อง ตัดสิทธิอะไรของประชาชนให้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข ของเดิมมีอย่างไรก็ยังมีอย่างนั้น อีกทั้งโครงการ 30 บาทไม่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เราเขียนกำหนดแค่ว่า คนยากไร้ต้องได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่

คำชี้แจงเรื่องประเด็นสุขภาพที่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ ของภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
คำชี้แจงเรื่องประเด็นสุขภาพที่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ ของภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (คลิปที่ภาพเพื่อขยาย)

ส่วนสมาชิก กรธ. ที่อธิบายเรื่องนี้ได้มีน้ำมีเนื้อที่สุด ก็คือ ภัทระ คำพิทักษ์ ซึ่งโพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว I-Mong Pattara Khumphitak เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ จะนี้ นอกจากจะไม่ทำให้มีการยกเลิกกองทุนเกี่ยวกับสุขภาพใดๆ ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้กองทุนต่างๆ ต้องปรับระบบให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้นอีกต่างหาก

เห็นได้จาก ในหมวดการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ช. (4) ที่ระบุว่า “ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน”

“ซึ่งแปลว่า ทั้ง 3 กองทุน คือ ราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง ต้องปรับเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับประชาชน ปรับการบริหารจัดการ และการเข้าถึงการบริการ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 คำ คือ มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน”

เขายังบอกด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ยังจะทำให้ประชาชน “ได้รับการดูแลที่ดีกว่าเดิมมาก” โดยยกตัวอย่าง ในหมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 55 ที่กำหนดให้รัฐต้องดูแลประชาชนครอบคลุม 4 ขั้นตอน ทั้งก่อนเจ็บไข้ เมื่อเกิดโรค เมื่อเจ็บไข้ และหลังรักษาแล้วแต่ไม่หายเป็นปกติ ทำให้ประชาชนได้รับสิทธิทั้ง 4 นี้เป็นพื้นฐาน

“เราจึงว่า รัฐธรรมนูญนี้มีเนื้อหาที่ดูแลประชาชนตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่าครับ …นี่เป็นสิ่งใหม่ ไม่เคยปรากฏมาก่อน …ถ้าสนใจเนื้อหาสุขภาพมีหลายมาตรา หลักๆ จะอยู่ที่ 47-48-55 และ 258 ครับ” ภัทระระบุ

แม้ กรธ. จะพยายามชี้แจงให้เห็นมุมกลับว่า นอกจากร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จะไม่ไปลดสิทธิโครงการบัตรทอง ยังจะเพิ่มสิทธิด้านสุขภาพอื่นๆ อีก

แต่อีกด้านก็ยังมีเสียงคัดค้านจากเอ็นจีโอด้านสุขภาพ

จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักสุขภาพ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยงงว่า ในเมื่อประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2545 ทำไมจึงมีการระบุให้สิทธิการรักษาพยาบาลในสถานบริการภาครัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของ “ผู้ยากไร้” เท่านั้น และในร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ก็ยังมีเนื้อหาที่ระบุเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่ทันสมัยกับสถานการณ์ เนื่องจากประเทศไทยมีระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (บัตรทอง) ที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับคุณค่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทั่วโลกต่างชื่นชม

“การเขียนร่างรัฐธรรมนูญฯ เช่นนี้ แทนที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นของ “ประชาชนทุกคน” ในที่สุดจะกลายเป็นการจัดระบบรักษาพยาบาลสำหรับ “คนยากจน” เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น “คนยากจน” จะได้รับบริการชั้น 3 โดยเป็นบริการรักษาพยาบาลที่ด้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ ” จอนระบุ

เอกสารเทียบเนื้อหาเกี่ยวกับการ “บัตรทอง” ในรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญ รวม 4 ฉบับ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐสภา
เอกสารเทียบเนื้อหาเกี่ยวกับ “สิทธิการรักษาพยาบาลฟรี” ในรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญ รวม 4 ฉบับ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐสภา จะเห็นได้ว่า มีเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ (ที่ปรับปรุงแก้ไขแล้ว) เท่านั้น ที่มีคำว่า “ผู้ยากไร้” ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฯ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ (ก่อนปรับปรุงแก้ไข) ไม่มีคำว่า “ผู้ยากไร้” แต่อย่างใด

ด้าน นิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้มีประเด็นเรื่องสุขภาพ “แย่ที่สุด” ในรอบ 20 ปี เพราะเป็นฉบับที่นอกจากผู้ร่างไม่สนใจเรื่องระบบสุขภาพของประเทศแล้วยังสนับสนุนความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยยังคงพูดถึงเรื่องความยากจน ซึ่ง “คนยากไร้” เท่านั้นที่ได้รับบริการจากรัฐ เรียกว่ายังคงใช้วิธีคิดสงเคราะห์แบบเดิมๆ

“สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือมีการลิดรอนสิทธิของภาคเอกชนและประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมจัดบริการสุขภาพ ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เคยระบุได้ชัดเจนในมาตรา 80 (2) ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข แต่ร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย กลับมีการตัดเรื่องเหล่านี้ออกหมด เท่ากับว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มุ่งไปสู่การปฎิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งระบบสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของหมอและกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก”

นิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้่าถึงเอดส์ ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/
นิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่มาภาพ: http://www.thaihealth.or.th/

นิมิตรยังแสดงความเป็นห่วงว่า การใช้คำว่า “ผู้ยากไร้” จะเท่ากับการเขียนเช็คเปล่าให้กับคนที่จะขึ้นมามีอำนาจในอนาคตว่า เมื่อไรเห็นว่างบประมาณถูกใช้ด้านการรักษาพยาบาลมากเกินไป ก็ไม่ต้องมีพันธะผูกพันการจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน และให้มีการเรียกเก็บเงินได้ และระบบจะกลับไปสู่แนวคิดว่าว่า “จะสงเคราะห์ก็ได้ หรือไม่สงเคราะห์ก็ได้”

แม้ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพในร่างรัฐธรรมนูญฯ จะไม่ใช่เรื่องร้อนแรงเหมือนประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นการเมือง แต่ก็เป็นเนื้อหาที่มีความสำคัญ ที่เกี่ยวพันกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไทยกำลังจะก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทุกคนจึงควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนที่จะกา “รับ-ไม่รับ” ในบัตรออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคมฯ นี้

อ่านเพิ่มเติม