ThaiPublica > เกาะกระแส > จาก Grab Taxi ถึง Wazzadu.com แพลตฟอร์มใหม่ และอนาคตของ Startup Brand

จาก Grab Taxi ถึง Wazzadu.com แพลตฟอร์มใหม่ และอนาคตของ Startup Brand

15 พฤษภาคม 2016


(จากซ้ายไปขวา) จุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab Taxi, จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ผู้ก่อตั้งบารามีซี่ และปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้ก่อตั้ง Stock2morrow พันธมิตรและผู้ร่วมทุน wazzadu.com
(จากซ้ายไปขวา) จุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab Taxi, จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ผู้ก่อตั้งบารามีซี่ และปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้ก่อตั้ง Stock2morrow พันธมิตรและผู้ร่วมทุน wazzadu.com

หาก Grab Taxi คือการปฏิวัติระบบขนส่งสาธารณะในชีวิตประจำวันในการแก้ปัญหาการเดินทางให้บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน

Wazzadu.com เว็บไซต์ใหม่ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาก็อาจจจะถือเป็นการปฏิวัติวงการวัสดุ ตกแต่ง ด้วยการสร้างชุมชนออนไลน์ซึ่งเป็น Social Platform ใหม่ ที่นอกจากจะเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดในวงการวัสดุตกแต่งโดยสิ้นเชิง นี่ยังถือเป็นอีกโมเดลธุรกิจของ Tech Startup ที่ต่อยอดมาจาก Wazzadu App ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียง 2 ปี

นอกจากนี้ เว็บไซต์แห่งนี้มี “จุฑาศรี คูวินิชกุล” ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab Taxi อีก Tech Startup ที่ประสบความสำเร็จที่สุดรายหนึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในพันธมิตรและผู้ร่วมทุน

เริ่มต้นจาก “ปัญหา”

หากกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด เว็บไซต์ wazzadu.com เป็นแหล่งรวบรวมผู้ซื้อและผู้ขาย เรื่องวัสดุและการตกแต่งที่ใหญ่ที่สุดครบวงจรที่สุดในไทย โดยเว็บไซต์แห่งนี้ถูกพัฒนามาเพื่อเป็น “ชุมชนออนไลน์” ใหม่ของคนที่อยู่ในวงการวัสดุ ตกแต่งบ้าน ตั้งแต่ ผู้ขาย ผู้รับเหมา ช่าง สถาปนิก ไปจนผู้ซื้อ เจ้าของบ้าน หรือผู้ที่สนใจงานตกแต่งบ้าน ให้ได้มาพูดคุย ซื้อขาย ปรึกษา บอกเล่าเรื่องราวของการตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า Decoration Social Platform ที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ระบุว่าถือเป็นครั้งแรกในไทยและในโลก

“wazzadu.com จะมุ่งไปที่ผู้ที่ต้องการแต่งบ้านและคนในวงการแต่งบ้านจริงๆ ซึ่งแพลตฟอร์มอย่าง facebook นั้นไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่กลุ่มไหน” จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บารามีซี่ จำกัด กล่าวและเล่าที่มา กว่าจะเป็นวันนี้

waz_page2resize
หน้าแรกของ wazzadu.com ที่เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของโมเดลหารายได้บนเว็บไซต์ โดยไม่มีแบนเนอร์โฆษณา

“เราเริ่มธุรกิจนี้จากปัญหาของผู้ใช้งาน เมื่อก่อนผมทำอาชีพสถาปนิก วันๆ สถาปนิกจะอยู่กับค้นหาวัสดุ ค้นหา material เจอกับปัญหา เช่น ลูกค้าอยากจะเปลี่ยนลายหิน เปลี่ยนเฉดสีลายไม้ จะต้องโทรหาเซลส์เอาแคตตาล็อกจำนวนมากไปให้ดู และแคตตาล็อกพวกนี้มันเยอะเหลือเกิน ใน material room พวกวัสดุกินพื้นที่ไปเกือบ 70% นั่นก็คือปัญหาของผมตอนนั้น เราเริ่มรู้สึกว่าทำไมโลกใบนี้ถึงไม่มีเทคโนโลยีมาตอบโจทย์เหล่านี้ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันต้องแก้ พอทำไปทำมา ก็พบว่า นอกจากสถาปนิก ยังมีลูกค้า เจ้าของธุรกิจ เจ้าของร้านค้า เจ้าของบ้าน ที่มีปัญหาเช่นกัน”

“เมื่อทุกท่านเจอไม้ลวดลายแปลกๆ จะรู้สึกทันทีว่าจะเอาไปใช้อย่างไร เอาไปอย่างไรให้สวย นึกไม่ออก ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต ก็มักทำธุรกิจกับเราแบบนี้ คือเอาภาพลายไม้พวกนี้มาให้เราดู เราก็ไม่สามารถต่อยอดจากจินตนาการที่เราอยากได้ไปสู่ความจริงได้”

“ปัญหาถัดมา คือ อยากจะช็อปไอเดียสวยๆ ก็ไปเปิดเว็บไซต์เมืองนอก แล้วจะซื้อที่ไหน ใครทำ ร้านไหนขาย นี่คือคำถามทั้งหมด มันไม่มีใครตอบ เราก็จะใช้ googleอย่างเดียว พอเสิร์ชมา google ก็ขึ้นแค่พวกที่ซื้อ ad (โฆษณา) มาให้เราดู เมื่ออยากจะช็อปสินค้าที่เป็นของแต่งบ้าน บางทีก็ต้องไปตลาดจตุจักร แต่บอกตรงๆ ปัจจุบันเมืองไทยอากาศร้อนมากเสียจนเรารู้สึกว่าเสียเวลาที่จะไปเดินตลาด นี่คือ pain point (ปัญหา) ปัญหาเหล่านี้ยังไม่มีอะไรมาแก้ให้กับผู้ใช้ และที่สำคัญ ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ เมืองไทยวันนี้มีสินค้าและอุตสาหกรรมในระดับโลกเลย แต่เราไม่สามารถนำสินค้าเหล่านี้ไปขายระดับโลกได้”

“จุลเกียรติ” ได้ยกคำพูดของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยกล่าวในงาน Startup Thailand ที่ผ่านมา ที่บอกว่า “เวลาเราบอก startup เกษตร ไม่ได้หมายถึงไปปลูกข้าว ต้องเอาไอทีไปเกี่ยวว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนปฏิวัติภาคเกษตร แล้วตัวนี้แหละที่ทำให้เกิดการปฏิรูปในภาคการเกษตรอย่างแท้จริง”

ปฎิวัติโมเดลธุรกิจในวันที่ “โลกเปลี่ยน”

ในฐานะที่คลุกคลีในแวดวงธุรกิจและเบื้องหลังความสำเร็จแบรนด์ดังจำนวนมาก “จุลเกียรติ” กล่าวว่า “agenda ที่สำคัญของประเทศก็คือว่า ทำอย่างไรในโลกที่เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อก่อนเราจะสังเกตว่าคนรวยเกิดจากเปิดโรงงานแล้วรวย หลังจากนั้นโรงงานมากขึ้น ก็มีธุรกิจค้าปลีก ก็คือค้าขายเป็นช่องทางจำหน่ายแล้วรวยขึ้น แต่ปัจจุบันธุรกิจสมัยใหม่ บางท่านซื้อของผ่าน lazada ผ่านการแชทผ่านไลน์ แอปพลิเคชัน เมื่อก่อนเราไม่มี นั่นคือสิ่งที่โลกมันเปลี่ยนไป แล้ว wazzadu.com ก็ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมนี้”

ในเวลาที่ผ่านมา บริษัทจึงเข้าไปทำตลาดกับกลุ่ม startup ธุรกิจที่เริ่มมาที่จตุจักร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ก้าวมาจากธุรกิจเล็กๆ เริ่มต้นด้วยตัวเอง ทำสินค้าที่มีศิลปวัฒนธรรม จนส่งออกได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบัน wazzadu.com มีทีมไปแนะนำวิธีใช้ เพื่อเปิดช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ และเป็นการลดเส้นทางจากผู้ผลิต เจ้าของแบรนด์ ไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจรายย่อยในอุตสาหกรรมวัสดุตกแต่งในไทย ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาทต่อปี และมีค่าใช้จ่ายในโฆษณาอยู่ที่ประมาณเกือบ 6 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก

เปิดโอกาสสถาปนิก-ช่างรุ่นใหม่ สร้างระบบเรตติ้ง

ในแง่ฟังก์ชั่นเว็บไซต์ Wazzadu.com สามารถสร้างโปรไฟล์ส่วนตัวสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะมีบริการพิเศษสามารถค้นหาไอเดีย เพื่อเก็บแรงบันดาลใจในการตกแต่งที่สร้างจากสินค้าวัสดุและตกแต่งที่มีให้เลือกมากกว่า 1,000 ร้านค้า ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดซื้อวัสดุจากทีมสถาปนิกผ่านแอปพลิเคชันไลน์

ขณะที่ผู้ขายหรือเจ้าของสินค้า จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยวางแผนให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำด้านการตลาดและการซื้อขาย ในกลุ่มตลาดงานโครงการที่ต้องการเข้าถึงสถาปนิก นอกจากนี้ยังมีบริการรีวิวสินค้าและบริการโดยทีมงานมืออาชีพ เพื่อสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าด้วยตัวเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

webpage3resize
ตัวอย่าง โปรไฟล์ร้านค้าที่ผู้ขายสามารถลงทะเบียนและใส่ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าได้ เช่นเดียวกับผู้ซื้อที่สามารถสร้างโปรไฟล์ส่วนตัว คล้ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก เพียงแต่ wazzadu.com เน้นสร้างสังคมออนไลน์ในกลุ่มคนแต่งบ้าน

“เราเป็นพื้นที่กลางที่ตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่ม สำหรับร้านค้ารายย่อยเราออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ให้ผู้ที่จะซื้อสามารถเช็คสินค้ากับร้านในละแวกใกล้บ้านมีร้านอะไรอยู่ใกล้บ้านบ้าง และยังบอกระยะทางของแต่ละร้านจากจุดที่เราอยู่อีกด้วย นี่คือสิ่งที่เราเอื้ออำนวยให้ร้านค้ารายย่อยอยู่ได้”

“ถ้าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ก็อยากให้คนมาซื้อสินค้า ก็ทำการตลาดด้วยการมีภาพไอเดียสวยๆ เมื่อสถาปนิก หรือ user เห็นก็กดกลับไปที่แบรนด์ของท่าน”

“ช่างอยากจะอวดผลงานตัวเอง เมื่อไปทำบ้านลูกค้าเสร็จ ก็โพสต์ภาพตัวเองผ่านฟังก์ชั่น find idea คนเห็นก็กดกลับไปดูที่โปรไฟล์ของท่าน”

“หากมีงานอดิเรก คิดทำสินค้าตกแต่งเล็กๆ ทุกท่านสามารถมีร้านในแพลตฟอร์มได้หมด และทำภาพสวยๆ เข้ามาที่ find idea มันจะดึงกลับไปที่แบรนด์ของท่าน สมการนี้วัดกันที่ความครีเอทีฟ” ผู้ก่อตั้ง wazzadu.com กล่าวและว่า

สำหรับสถาปนิกหรือช่างรุ่นใหม่ๆ ที่อยากเติบโต เว็บไซต์นี้จะเป็นที่พึ่ง และเชื่อว่าจะพัฒนาไปสู่ระบบเรตติ้งหรือระบบที่เรียกว่า information architecture system เป็นระบบใหญ่มาก ประกอบไปด้วย stakeholder ในวงการนี้ user ต้องการหาไอเดีย ร้านค้ารายย่อย เจ้าของแบรนด์ และผู้ผลิตรายใหญ่

“ร้านค้าจตุจักรบอกว่าที่สนใจ Wazzadu.com เพราะเขาเคยจ้างโปรแกรมเมอร์ฟรีแลนซ์ทำเว็บ ปรากฏโปรแกรมเมอร์หายไป โดเมน ชื่อร้าน ก็หายไปหมดเลย เขาไม่สามารถเปิดชื่อนั้นได้อีก นั่นคือความเดือดร้อนของพวกเขา แต่เขาเข้ามาในที่นี่สามารถเปิดได้ฟรีหมดเลย และทำการตลาดผ่านตรงนี้ มันเป็นเรื่องของการเอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ”

ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง สร้างให้เป็นมากกว่าเว็บไซต์

สิ่งที่ wazzadu.com มีความแตกต่างกับเว็บไซต์ทั่วไป คือ เราเป็น Tech Startup ที่ต้องเติบโตไปได้ด้วยตัวเอง

ข้อแตกต่างระหว่างเว็บไซต์ทั่วไปกับ Wazzadu.com ได้แก่

1. ส่วนใหญ่คำนึงถึงการขายของตัวเองหรือเรียกว่า product centric ส่วน wazzadu.com จะเป็น User Experience centric สถาปนิกเคยฝากบอกว่าขอบคุณ ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ขอได้ไหมเมื่อเติบโตขึ้นอย่ามีแบนเนอร์มาติด นั่นคือเขาขอมาว่า ฉันอยากได้ประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม

  1. เว็บไซต์ทั่วไปไม่มี interactive (non interactive) แต่ Wazzadu.com ผู้ใช้จะสร้างคอนเทนต์ได้ด้วยตัวเอง
  2. เว็บไซต์ทั่วไปเกิดขึ้นมาเพื่อแบรนด์ของเขา สินค้าของเขา เรียกว่า One For One Only แต่ถ้าเป็น Wazzadu.com เราเกิดขึ้นมาจะมี 3 ฝ่ายที่ win ได้แก่ 1. ผู้ใช้ เพราะใช้ฟรี มาเปิดโปรไฟล์ได้ด้วยตัวเอง มีอัลบั้มรูปตกแต่งได้ฟรี 2. เจ้าของร้านรายย่อย จะสามารถเปิดร้านได้ฟรีเช่นกัน 3. ทีมงาน azzadu.com
  3. เว็บไซต์ทั่วไปไม่สามารถ scale ได้ (Not Scalable) แต่ Wazzadu.com จะเติบโตไปได้ เริ่มต้นจากประเทศไทยไป AEC และไประดับโลก

อ่านพฤติกรรม User มองทะลุโจทย์โฆษณา

“โลกในอดีต คือ โฆษณาเต็มไปด้วยแบนเนอร์ user ไม่ต้องการแบนเนอร์ในอุตสาหกรรมการตกแต่ง บางอุตสาหกรรมอาจจะใช่ แต่สำหรับอุตสาหกรรมนี้แบนเนอร์ไม่ได้ตอบจินตนาการของผู้ใช้งานเลย และปัญหาที่ทุกท่านจะต้องประสบปัญหาคือหน้าตาเว็บไซต์วุ่นวาย เต็มไปด้วยข้อมูล และเราถูกยัดเยียดข้อมูลตลอดเวลา ที่ดูแล้วไม่ smart มันรู้สึกว่ามันไม่เท่ ไม่คูล แล้วมันเต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมากที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถูกยัดเยียด”

แพลตฟอร์มนี้ยังแก้ปัญหาเรื่องระบบโฆษณาออนไลน์ที่ต้องพึ่ง google ads ด้วย “จุลเกียรติ” กล่าวว่า ถ้าวันนี้ทุกท่านอยากให้เจอร้าน แล้วไปซื้อ google ads เราต้องเสียงานเพื่อให้แบรนด์ของเราขึ้นอยู่ข้างบน ก็ไปเจอแบรนด์ยักษ์ๆ ที่มีเงินมากๆ ซึ่งทำให้รายย่อยไม่สามารถทำการตลาดบนแพลตฟอร์มนั้นได้ และมีแนวโน้มที่จะยากขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับแพลตฟอร์มของเราจะเอื้อให้รายย่อย หรือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ นั่นคือฟังก์ชั่นที่เราออกแบบไว้ ในฟังก์ชั่นที่ชื่อ Find Idea ซึ่งการปรากฏตัวของแบรนด์ใดๆ ไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อยจะมาจากความนิยมของ user

โดยในแง่ของแบรนด์ เราต้องการวัดค่า brand engagement ตรงนี้จะมีแสดงผล เช่น เนื้อหานี้เกี่ยวกับบานเลื่อน มีคนดูถึง 17,000 คน แสดงว่ามีโอกาสจะเป็นลูกค้าของเรา แต่ไม่พอ เรามีฟังก์ชั่น “เพิ่มเข้าบอร์ด” ด้วย ตรงนี้จะวัด brand relevant แสดงว่าเขาสนใจมันมากๆ แล้ว คนนี้ใกล้เป็นลูกค้าของเราแล้ว ดูแล้วอาจจะยังไม่อยากซื้อ แต่อยากจะเก็บเป็นไอเดีย นี่คือสิ่งที่เป็นฟังก์ชั่นทางการตลาด หรือ marketing tool สมัยใหม่ ในการสร้างแบรนด์

“จุลเกียรติ” กล่าวว่า จะนำอุตสาหกรรมนี้ไปในตลาดโลก เพราะข้างหลังของเรามีข้อมูลจำนวนมาก คือ สินค้า บริการ ในอุตสาหกรรมนี้ และเราเกื้อหนุนรายย่อยให้ไปให้ผู้บริโภค ทุกท่านลองนึกภาพ ถ้ามีชาวบ้านคนหนึ่งมีฝีมือทำเซรามิกอยู่ลำปาง ประการแรกคือ เขาไม่ต้องเดินทางมากรุงเทพฯ เพราะลูกค้าไปหาถึงที่ได้ อยู่ที่บ้านทำหัตถอุตสาหกรรมไป แต่เมื่อผ่านแพลตฟอร์ม Wazzadu.com อาจจะเจอผู้ต้องการสินค้าที่สิงคโปร์แบบนี้ 1,000 ใบ มันจะเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านทันที

ปัจจุบัน Wazzadu.com มีผู้ใช้ จำนวน 150,000 คน ตอนนี้มีคนติดต่อเข้ามาขอเปิดร้านทุกวัน และขอให้เราสอนการใช้งาน ยอดไลค์เฟซบุ๊กเพจอยู่ที่เกือบ 300,000 ไลค์ ยูทูบแชนแนล 100,000 กว่าวิว 2,500 subscribes ไลน์เปิดมา 1 เดือน มี 150 followers ที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะสามารถดึงผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมตกแต่งให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน และวางเป้าหมายไว้ว่าในอีก 3 ปีจะสามารถพาสินค้าไทยไปสู่ตลาดสากล

Strategic Partner ตามสูตร “แจ็ค หม่า”

ในฐานะผู้ก่อตั้ง “จุลเกียรติ” เล่าว่า แจ็ค หม่า พูดไว้ในหนังสือ “อาลีบาบาเขย่าโลก” ว่า ในการหาพันธมิตรธุรกิจ เราควรจะหาคนที่มีเคมีเข้ากัน มีแนวคิดไปทางทิศทางเดียวกัน เพราะเริ่มต้นก็ต้องลองผิดลองถูก

และสำหรับเขา ทั้ง “ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา” ผู้ก่อตั้ง Stock2morrow และ“จุฑาศรี คูวินิชกุล” ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab Taxi คือคนที่ว่านั้น ประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านการลงทุนของปิยพันธ์และเครือข่ายระดับสากลของจุฑาศรีเติมเต็มจุดที่เขาต้องการ

“ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา” ผู้ก่อตั้ง Stock2morrow กล่าวว่า ธุรกิจนี้เป็น solution ให้คนในประเทศ และกำลังจะก้าวไปอินเตอร์แล้ว เกณฑ์ส่วนตัวในการเลือกพาร์ทเนอร์ จะมองอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ คือ 1. business model 2. ตัวบุคคลผู้ก่อตั้ง ในเรื่องของ business model ต้องบอกว่า Wazzadu.com เป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแรงและเติบโตแน่นอน ตอบโจทย์ 3 อย่างที่เป็นเทรนด์ของคนไทยในปัจจุบัน คือ 1. เทคโนโลยี ที่คนเข้าถึงแล้วมันก็สะดวก 2.ไลฟ์สไตล์ของคนในที่นี้ที่มีเวลาทำอะไรหลายอย่างน้อยลง ดังนั้น การมีเวลาน้อยลง อาจไม่มีเวลาที่จะไปเสาะหาอะไรที่อยู่ไกลตัว 3. ยุคที่เราชอบโชว์ การโพสต์ไอจี เฟซบุ๊ก ข้อสำคัญคือการตกแต่งบ้านมันคือการต้องโชว์อยู่แล้ว

“ลองคิดดู ถ้าเป็นเรื่องของวัสดุก่อสร้าง เราสร้างบ้านครั้งเดียว แต่การตกแต่งบ้านนั้นทำได้ตลอดเวลา ซึ่ง Wazzadu.com โฟกัสที่การแต่งบ้าน มันเป็นเทรนด์ที่เติบโต เว็บไซต์นี้ยังตอบโจทย์สามจุดของเทรนด์ใหญ่ๆ ของประเทศที่เติบโตเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่แฟชั่น เทรนด์คืออะไรที่ไปแล้วไปไกล อย่างเทคโนโลยีตอนนี้เป็น 3G 4G มันไม่กลับไปเป็น Edge ไม่มีทางที่คนในยุคอนาคตจะยอมเสียเวลาเยอะๆ และหาของไม่เจออีกแล้ว และนี่คืออนาคต” ปิยพันธ์กล่าว

ด้าน “จุฑาศรี คูวินิชกุล” ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab Taxi กล่าวว่า ด้วยความที่อยู่ในวงการมาตั้งแต่อายุ 14 ปี ก็เห็นเลยว่าห่วงโซ่หรือซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้ใช้สุดท้ายยาวแค่ไหน มีปัญหา ทำให้การพัฒนาของเมืองไทยไม่เทียบเท่าต่างประเทศ และขวางกั้นการพัฒนา ในยุคข้อมูลข่าวสาร (information era) และโลกที่เปลี่ยนไปเป็นทุกคนมีมือถือ เข้าอินเทอร์เน็ตได้ การสื่อสารถูกเชื่อมให้ง่ายขึ้น เหมือนอย่างที่ Grab ทำ เป็นต้น เราสามารถใช้เทคโนโลยี ใช้ข้อมูล มาพัฒนาการเดินทางของคน ทีนี้ก็เหมือนกันถ้าเราเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในวงการอุตสาหกรรมวัสดุตกแต่ง (decorative industry) คิดว่าจะสามารถใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนสร้างความเป็นไปได้ และตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

“ปัญหาจากการที่สายเชนของอุตสาหกรรมยาวจนทำให้นวัตกรรมบางอย่างไม่อาจออกสู่ตลาดได้ทันที และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทั้งระบบอุตสาหกรรม ถ้าเราจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทั้งเชนจริงๆ ให้ทัดเทียมต่างประเทศ เราอาจต้องผลิตการดำเนินการแบบใหม่ ให้เมืองไทยไปเร็วกว่านี้ เว็บไซต์นี้จะมาเชื่อมการสื่อสารของทั้งวงการ ข้อมูลที่สื่อสารจะผลักการพัฒนาให้เร็วขึ้น”

“การมาเป็น strategic partner สามารถเสริมสร้างอะไรหลายๆ อย่าง นอกจากนั้น เรามองว่าโลกอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ business model แต่เป็น tool คือจริงๆ มันอยู่ที่เราต้องการแก้ปัญหา หรือต้องการทำอะไรขึ้นมาในสังคมมากกว่า อย่าง Grab เกิดขึ้นมาเพราะเราต้องการแก้ปัญหาการเดินทางของคนได้อย่างไร ทีนี้ พอเรามี Internet of things ถ้าเราเอามันมาใช้เพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่างได้ โดยการเชื่อมโยงโลกออนไลน์และออฟไลน์ให้สมบูรณ์นั้นมันต้องมีความเข้าใจทั้งสองด้าน คือ ถ้ามีแค่หน้าเว็บไซต์ไม่คิดถึงโลจิสติกส์ข้างหลัง ไม่คิดถึงซัพพลายเออร์ส่งของอย่างไร ไม่คิดถึงเข้าไปทำมาร์เก็ตติ้ง อย่างไร มันไม่เกิด มันก็จะเป็นแค่เว็บไซต์สวยๆ ดังนั้น หัวใจของความสำเร็จจึงอยู่ที่ความสามารถในการเชื่อมต่อของโลกออนไลน์กับออฟไลน์” จุฑาศรีกล่าว