ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > หลังเวทีประชุม G-77 กับเป้าหมายเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” สู่เวทีโลก

หลังเวทีประชุม G-77 กับเป้าหมายเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” สู่เวทีโลก

10 มีนาคม 2016


การประชุG-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy :an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา
การประชุม G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: An Approach to Implementing the Sustainable Development Goals ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา

หลังประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา เชื่อกันว่าจะเป็นโอกาสสำคัญต่อการลงสมัครชิงเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นของไทยในอนาคตอันใกล้

ดังนั้น นอกจากจะเป็นเวทีให้ประเทศกำลังพัฒนาส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) แล้วนั้น นี่เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะแสดงศักยภาพในฐานะผู้สามารถผลักดันผลประโยชน์ให้ประเทศกำลังพัฒนา พร้อมๆ กับการแสดงบทบาทนำบนเวทีสหประชาชาติ โดยเลือกหยิบ 3 ประเด็นหลักอันได้แก่ 1. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP)  2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา 3. การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 จาก 134 ประเทศได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในอีก 15 ปีข้างหน้าร่วมกัน

3 ภารกิจ 3 เป้าหมาย

“ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นจริงได้ เศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตรก็ทำให้อาหารยั่งยืน ในภาคอื่นๆ ก็ช่วยในเรื่องความคิดของคน ความพอประมาณ ความมีเหตุผลและภูมิคุ้มกัน ส่วนเรื่องไอซีทีนั้นเรามองว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างยั่งยืนจากการใช้ไอซีที รวมถึงเรื่องการลงทุน ที่เราเห็นมาหลายสิบปีที่คนเข้ามาลงทุนในประเทศที่ยากจนกว่ากอบโกยผลประโยชน์ กดขี่คนพื้นเมือง เรื่องแบบนี้เราต้องพยายามขจัดออกไปเพื่อสร้างประโยชน์ให้สมดุล”   นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก ในฐานะประธานของกลุ่ม 77 กล่าวกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ขณะพาผู้แทนจากประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 ดูงานในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต้นแบบการพัฒนาทั้งในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาดิน และ “หมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชน อยู่เย็น เป็นสุข” ต.บ้านซ่อง จ.ฉะเชิงเทรา ที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการใช้ชีวิตตามแนวทาง “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แบ่งปัน สามัคคี และมีการออม”

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก ในฐานะประธานของกลุ่ม 77 พาคณะจากประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 เยี่ยมชม หมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชนอยู่เย็น เป็นสุข ต.บ้านซ่อง จ.ฉะเชิงเทรา
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก ในฐานะประธานของกลุ่ม 77 พาคณะจากประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 เยี่ยมชม หมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชนอยู่เย็น เป็นสุข ต.บ้านซ่อง จ.ฉะเชิงเทรา

โดยการดูงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งแรกของกลุ่มประเทศ 77 ที่ไทยเป็นประธานในการประชุม “G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: An Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28–29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

สำหรับ 3 ภารกิจหลักในฐานะประธานกลุ่ม 77 วาระปี 2559 นั้น สิ่งที่ไทยต้องเร่งผลักดันประกอบด้วย 1. การประสานงานท่าทีของกลุ่มในการเจรจาเรื่องต่างๆ ให้ได้ประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนา 2. การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาหรือที่เรียกว่าความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งขณะนี้มีกองทุนฯ ที่ต้องเข้าไปบริหารรวมทั้งบริจาคเงินเพิ่ม 3. การผลักดันปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

“ในเวลาที่ผ่านมา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ได้เป็นที่รู้จักในนอกประเทศ แค่นี่คือหนทางที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาไปตามเป้าหมายความยั่งยืน และปีนี้เป็นปีแรกที่เราต้องปฏิบัติตาม SDGs เรื่องนี้จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาในภาคเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ที่ในเวลาที่ผ่านมาบางประเทศอาจจะละเลย” นายวีรชัยกล่าว

Sufficiency for Sustainability

 รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา
รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา

รศ. ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการปาฐกถาบนเวทีการประชุม “G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: An Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” ว่า คนไทยมีความกระตือรือร้นมากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นวาระในการพัฒนาโลกระหว่างปี 2559-2573 เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นเวลานานแล้วผ่านการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ให้ประชาชนอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไทยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา

ข้อมูลตอนหนึ่งจากเวทีการประชุมระบุถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าไม่ใช่รูปแบบการพัฒนาที่สำเร็จรูป แต่เป็นการพัฒนาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ โดยที่ผ่านมานอกจากมีการประยุกต์ใช้ในภูมิภาคที่แตกต่างกันในประเทศ ไทยยังได้ช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศกับหลายประเทศ อาทิ ประเทศเลโซโท ติมอร์-เลสเต เมียนมา เป็นต้น

http://www.childrensmuseums.org/about/acm-initiatives/u-n-sustainable-development-goals
ที่มา: http://www.childrensmuseums.org/about/acm-initiatives/u-n-sustainable-development-goals

นอกจากนี้ ยังระบุถึงการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับหลักคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยจะสามารถเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น

  • การพัฒนาตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 1 และ 2 เรื่องการขจัดความยากจนและความหิวโหย และสร้างความมั่นคงทางอาหาร
  • การประยุกต์ใช้หลักสูตรการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา ซึ่งส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 ในการสร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ในภาคธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการสร้างภูมิคุ้มกัน พัฒนาและพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของพนักงาน การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง การลงทุนขยายกิจการที่รอบคอบไม่เกินตัว และทำในสิ่งที่ตนถนัด คือการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 8 คือการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
  • ในระดับปัจเจกบุคคล ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่สามารถนำหลักความพอประมาณ พอดี มีเหตุผล ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิต จะเป็นการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 ในเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ความเป็นไปได้และโอกาสเคลื่อน SEP สู่เวทีโลก

ผู้เข้าร่วมประฃุมจากประเทศกลุ่ม 77 ร่วมเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาเป็นผู้บรรยาย
ผู้เข้าร่วมประฃุมจากประเทศกลุ่ม 77 ร่วมเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาเป็นผู้บรรยาย
นาย Majid Dehghan Shoar เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำ FAO และอดีตประธานกลุ่ม 77 ให้ความเห็นระหว่างดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ
นาย Majid Dehghan Shoar เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำ FAO และอดีตประธานกลุ่ม 77 ให้ความเห็นระหว่างดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

ด้านนาย Majid Dehghan Shoar เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำ FAO และอดีตประธานกลุ่ม 77 กล่าวว่า “ในโลกมีแนวคิดการพึ่งพาตนเองในการพัฒนาอยู่หลายประเทศ เช่น ตัวอย่างที่เราเห็นในประเทศญี่ปุ่น คล้ายกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทย อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ดูงาน มีบางประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องความสามัคคี ซึ่งขาดหายไปในการพัฒนาในเมืองใหญ่ เรื่องแบบนี้ตนพร้อมที่จะนำไปเผยแพร่ แต่ต้องมีการสรุปแนวทางที่จะนำไปใช้โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่บอกว่าต้องทำอย่างไร มากกว่าที่จะพูดว่าสำเร็จอย่างไรเท่านั้น”

ระหว่างการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ นายวีรชัยกล่าวถึงความเป็นไปได้และยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่า “เราเริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้จากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ แล้วค่อยๆ ยกระดับไปยังระดับเอกอัครราชทูต ผู้ตัดสินใจทางนโยบายและการเมือง ซึ่งในแง่ของความเข้มข้นในระดับนโยบายก็จะสูงขึ้นเป็นลำดับ ”

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด ไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ได้มีการจัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงของประเทศกลุ่ม 77 ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (High-Level Panel of Eminent Personalities of the South on South-South Cooperation) ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2559 ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยเวทีดังกล่าวเป็นการแสวงหากรอบในการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนาเข้ากับเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ มีอดีตรัฐมนตรีและผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ เช่น UNCTAD และ ESCAP เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรจากนิวยอร์ก เข้าร่วมประชุม เพื่อระดมสมองร่วมกันในการออกแบบสถาปัตยกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะภายหลังที่สหประชาชาติรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และในครั้งนี้จะมีการบรรจุวาระการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในเวทีประชุมรวมถึงการไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา