ถ้าวัดจากผลงาน หลายคนอาจบอกว่า สโมสรฟุตบอลชลบุรี เอฟซี อยู่ในช่วงตกต่ำ หลังไม่ได้แชมป์รายการสำคัญมา 5 ปีเศษ (ล่าสุดคือ แชมป์เอฟเอคัพ ปี 2553 ส่วนแชมป์ลีก ต้องย้อนไปจนถึงปี 2550)
และแม้จะจบใน Top Three หรืออยู่ในลำดับที่ 1-3 มาถึง 8 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2550-2557 (ก่อนจะตกลงมาอยู่ในลำดับที่ 4 ในปี 2558 และ “ส้มหล่น” ได้ไปแข่งขันฟุตบอลระดับทวีปเอเชีย เพราะลำดับที่ 3 อย่างสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี เอฟซี ไม่มี club licensing) แต่ในหลายๆ ปี ก็หมดลุ้นแชมป์ไปตั้งแต่ไก่โห่
จากสโมสรซึ่งเคยเป็นโมเดล “ต้นแบบ” ในการบริหารจัดการสโมสรฟุตบอลแบบอาชีพอย่าง “ชลบุรี เอฟซี” ทั้งการแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน ระหว่างเจ้าของทีม-ผู้บริหาร-โค้ช การปั้นนักเตะขึ้นมาตั้งแต่รุ่นเยาวชน ไปจนถึงการใช้เงินที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทีมเจ้าของฉายา “ฉลามชล” จะแข่งขันอย่างไร ในวันที่วงการฟุตบอลไทย ไม่ได้วัดผลกันแค่ในสนามหญ้าสีเขียวๆ อีกต่อไป แต่ยังรวมถึงเม็ดเงินที่แต่ละทีมมีอยู่ในมือ
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ไปนั่งคุยกับ “วิทยา คุณปลื้ม” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ที่สวมหมวกอีกใบเป็นประธานสโมสรชลบุรีฯ ในสนามกีฬาชลบุรี สเตเดี้ยม สถานที่ที่เคยสร้างความสุข-ความเศร้าให้กับแฟนบอลของทีมดังแห่งจังหวัดชลบุรีนี้มานับครั้งไม่ถ้วน
ไทยพับลิก้า: ผลงานของทีมชลบุรี เอฟซี ในฤดูกาล 2558 ที่ผ่านมา ถือว่าน่าพอใจหรือไม่ หรือยังต้องปรับปรุงอะไรอีก
ผลงานฤดูกาลที่ผ่านมาถือว่าต่ำกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ ที่ต้องจบอันดับ 1-3 และได้ถ้วยใดถ้วยหนึ่ง จริงๆ เราหวังทุกถ้วย ดังนั้น ปีที่ผ่านมาจึงถือได้ว่าทีมชลบุรีฯ ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ถ้ามาวิเคราะห์ดูจากงบทำทีมของทีมชลบุรีฯ กับทีมที่ประสบความสำเร็จมากๆ อย่างทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ของเราถือว่าใช้เงินน้อยกว่า 3-4 เท่าตัว ดังนั้นก็ต้องพยายามใช้งบที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าไม่ได้เลวร้ายมาก แต่เป้าหมายของทีมชลบุรีฯ ต้องการลุ้นแชมป์ถ้วยใดถ้วยหนึ่งมาฝากแฟนบอลทุกปี
ไทยพับลิก้า: ทีมชลบุรีฯ ก็ไม่ได้แชมป์อะไรมาตั้งแต่ปี 2553 พอเรียกได้ไหมว่าทีมกำลังอยู่ในยุคตกต่ำ
ต้องยอมรับว่าอาจจะตกต่ำลงมา แต่ถ้าเทียบกับงบทำทีมและความคุ้มค่าของเงินที่ลงไป ผมก็ถือว่าไม่ได้ตกต่ำอะไรมาก ซึ่งต้องยอมรับว่า เราก็ตั้งเป้าจะให้ได้แชมป์ใดแชมป์หนึ่งทุกปี โดยจะต้องทำภายใต้งบที่เรามีจำกัดและมีน้อยกว่าทีมใหญ่หลายๆ ทีม ซึ่งเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด
ไทยพับลิก้า: งบทำทีมชลบุรีฯ ปี 2558 อยู่ที่เท่าไร
ใกล้เคียงกับปีก่อนๆ คือ 120 ล้านบาท ซึ่งพอเรามีงบอยู่เท่านี้ ก็ต้องบริหารจัดการให้ผลงานออกมาดีที่สุด
ไทยพับลิก้า: ทีมชลบุรีฯ มีชื่อเสียงในการปั้นเด็กขึ้นมาตั้งแต่เยาวชนตั้งแต่ยังเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา แต่ปัจจุบันการแข่งขันฟุตบอลเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินมากขึ้นถึงจะแข่งขันได้ ทีมชลบุรีฯ จะทำอย่างไร
ฟุตบอลไทยโตเร็วและพัฒนาไปในเชิงธุรกิจสูงมาก ทำให้เพดานค่าตัวเงินเดือนนักฟุตบอลพุ่งสูงมาก จนเหลือไม่กี่ทีมที่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ต่อไป ทีมขนาดกลางและขนาดเล็กคงจะมีปัญหา แต่เมื่อฟุตบอลเข้ามาเป็นระบบอาชีพ เราก็ต้องพยายามพัฒนาตามไปให้ได้ ซึ่งบุคลากรของทีมชลบุรีฯ แม้จะเก่งในการสร้างเด็ก สร้างเยาวชน แต่ในเชิงธุรกิจต้องหาทางว่าทำอย่างไรถึงจะพัฒนาต่อไปได้ เพราะเรายังมีปัญหาในการหารายได้เพิ่มขึ้นให้พอจะไปซื้อนักเตะที่มีคุณภาพเท่ากับทีมใหญ่ๆ เช่น ทีมบุรีรัมย์ฯ หรือทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด ที่มีงบทำทีม 300-400 ล้านบาท
งบทำทีมของเรา 120 ล้านบาท นี่รวมทั้งทีมชุดใหญ่ไปจนถึงทีมเยาวชน ซึ่งในการบริหารจัดการ ทีมเยาวชนของเราค่อนข้างประสบความสำเร็จ ส่วนทีมชุดใหญ่แม้จะได้ที่ 4 แต่ก็ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะเราต้องเป้าจะเป็น Top 3
ไทยพับลิก้า: จากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จะทำให้ทีมชลบุรีฯ ถูกคู่แข่งทิ้งไปเรื่อยๆ หรือไม่ เพราะเวลานี้ฟุตบอลถือเป็นธุรกิจเต็มตัว
จริงๆ งบของเราน้อยกว่าทีมใหญ่มาโดยตลอด ซึ่งเราก็สามารถบริหารจัดการให้ทีมชลบุรีฯ ติดอยู่ในระดับท็อปมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน ปัจจัยเรื่อง “ทุน” มีความสำคัญ ถ้าเราจะหาตัวนักเตะโดยเฉพาะตัวต่างชาติเกรดเอที่มีความสามารถสูงๆ ซึ่งมีค่าตัวหลายสิบล้านบาท เงินเดือนอีกหลายสิบล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าทีมชลบุรีฯ มีงบไม่เพียงพอ จะไปหานักเตะระดับนั้นคงยังไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกินศักยภาพของทีมไป เพราะอย่าลืมว่างบทำทีม 120 ล้านบาท จะต้องนำไปใช้ทำเรื่องอื่นด้วย
ไทยพับลิก้า: ในเมื่อเรื่องทุนสู้ไม่ได้ แล้วเอาอะไรไปสู้กับคู่แข่ง
ใช้เรื่องการบริหารจัดการ การสร้างนักเตะเยาวชนให้ขึ้นมาทดแทน ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าเราทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เราก็คุยกันว่าต่อไปคงต้องพัฒนาเรื่องการหารายได้ แน่นอนว่ารายได้หลักมาจากสปอนเซอร์ ส่วนค่าตั๋วเข้าชมยอมรับว่ายังไม่มาก เพราะสนามของทีมชลบุรีฯ มีความจุแค่ 8,500 คน แต่การที่จะสร้างสนามขึ้นมาเองก็ต้องใช้เงินสูงไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังไม่สามารถระดมทรัพยากรมาทำได้ จึงต้องพยายามเอาเท่าที่มีอยู่ก่อน ทำไปให้ดีที่สุด ซึ่งก็ยังเชื่อมั่นว่าภายในงบที่มีอยู่อย่างจำกัด เราจะยังสามารถพัฒนาผลงานของทีมชลบุรีฯ ให้ดีขึ้นมาได้
ไทยพับลิก้า: โครงสร้างรายได้ของทีมชลบุรีฯ มาจากแหล่งต่างๆ สักกี่เปอร์เซ็นต์
รายได้จากสปอนเซอร์ ผมเชื่อว่าทุกทีมมีใกล้เคียงกันคือ 60-70% ที่เหลือจะมาจากการขายสินค้าที่ระลึก 5-10% ค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 5% ที่เหลือมาจากแหล่งอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่า รายได้ทั้งหมดที่ทีมชลบุรีฯ ทำได้จริงๆ มีไม่ถึง 120 ล้านบาท ทำให้ตัวผู้บริหารต้องควักเงินตัวเองเพิ่มให้อีกราว 20 ล้านบาท เพื่อให้ทีมสามารถเดินต่อไปได้
ไทยพับลิก้า: แสดงว่า ทีมชลบุรีฯ ยังไม่สามารถทำธุรกิจให้มีกำไรได้
ยังครับ แต่ผมมองว่าธุรกิจกีฬาอาชีพในอนาคตจะไปได้ เพราะหลายๆ ทีมก็ทำเรื่องนี้ได้ดี แต่เท่าที่สัมผัส ทีมส่วนใหญ่ยังขาดทุนอยู่
ฟุตบอลไทยโตเร็วและพัฒนาไปในเชิงธุรกิจสูงมาก ทำให้เพดานค่าตัวเงินเดือนนักฟุตบอลพุ่งสูงมาก จนเหลือไม่กี่ทีมที่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต …แต่เมื่อฟุตบอลเข้ามาเป็นระบบอาชีพ เราก็ต้องพยายามพัฒนาตามไปให้ได้ ซึ่งบุคลากรของทีมชลบุรีฯ แม้จะเก่งในการสร้างเด็ก แต่ในเชิงธุรกิจต้องหาทางว่าทำอย่างไรถึงจะพัฒนาต่อไปได้ เพราะเรายังมีปัญหาในการหารายได้เพิ่มขึ้น ให้พอจะไปซื้อนักเตะที่มีคุณภาพเท่ากับทีมใหญ่ๆ
ไทยพับลิก้า: ธุรกิจฟุตบอลอาชีพไทยโตเร็วเกินไปหรือเปล่า จนรายรับยังเพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่าย
มันต้องปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ ตอนนี้อาจจะดูเหมือนว่าโตเร็ว แต่ถ้าไม่มีคนกล้าสู้ราคา มันก็โตเร็วไม่ได้ แสดงว่ามันมีศักยภาพบางส่วนที่ทำให้ยังโตขึ้นไปได้ และเมื่อบางส่วนโตขึ้นไป ทำให้ส่วนอื่นๆ สูงตาม ทำให้ทีมขนาดกลางและขนาดเล็กเกิดปัญหา
ส่วนตัวยังอยากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้ายังโตเหมือนเวลานี้ควรจะปล่อยไปก่อน แต่เมื่อใดก็ตามที่พบว่ามันโตเหนือธรรมชาติ มีราคาที่เกินความเป็นจริงหรือปั้นราคาหรือเปล่า อาจจะต้องมีคนที่มาดูเพื่อให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม แต่เวลานี้ ผมคิดว่าธุรกิจฟุตบอลมันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติสักระยะหนึ่ง
ไทยพับลิก้า: การที่ทีมบุรีรัมย์ฯ ซึ่งมีงบทำทีมสูงที่สุด ทีมเดียวได้ถึง 5 แชมป์ภายในฤดูกาลเดียว เป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตมาตรฐานทีมต่างๆ จะยิ่งถ่างออกไป
มันก็ไม่แน่ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่า เขาเป็นทีมที่มีความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน ซึ่งก็น่าดีใจว่าในเมืองไทยมีทีมฟุตบอลอาชีพชั้นนำที่จะก้าวไปสู่ระดับทวีปเอเชียได้ เป้าหมายของทีมชลบุรีฯ ทีมเมืองทองฯ และอีกหลายๆ ทีม ก็ต้องการเป็นทีมในระดับทวีปเอเชีย ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เคยเข้าไปร่วมแข่งขันด้วยหลายครั้ง ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อนักฟุตบอลมีประสบการณ์มากขึ้น จะทำให้ทีมยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ทีมอื่นก็พยายามตามทีมบุรีรัมย์ฯ ไปอยู่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีเงินทุนเท่ากัน แต่นำจุดแข็งที่แต่ละทีมมีมาพัฒนาต่อไป
กีฬาเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เห็นตัวอย่างได้จากฟุตบอลระดับโลก อย่างการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ทีมท็อปๆ ก็ตกลงมาได้ กลายเป็นทีมเล็กกว่าอย่าง ทีมเลสเตอร์ ซิตี้ มาอยู่หัวตาราง นี่ก็เช่นเดียวกัน ผมจึงเชื่อว่าทีมอื่นๆ ก็มีโอกาสขึ้นไปได้ อยู่ที่ยุทธวิธีและความมุ่งมั่นในการสร้างนักฟุตบอล
ไทยพับลิก้า: คุณองอาจ ก่อสินค้า ประธานกรรมการบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด เคยเสนอไอเดียว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตอาจจะมีการกำหนดเพดาน (cap) เงินเดือนนักฟุตบอล จะได้สูสีกัน ไม่เช่นนั้นจะมีทีมเดียวได้แชมป์อยู่เรื่อยๆ ทำให้วงการฟุตบอลไทยลดความน่าสนใจไป
ถ้ามันจะโต ทีมไหนจะโตได้ อย่าไปหยุดให้มันโต การที่จะมาควบคุม มากำกับ ต้องดูว่าจะทำในส่วนไหนบ้าง จะบอกว่าไปห้ามทีมบุรีรัมย์ฯ โต คงไม่ใช่ ควรจะเข้ามาดูเมื่อมีเหตุผิดธรรมชาติ เช่น มีการปั่นราคากัน น่าจะดีกว่า การเติบโตของวงการฟุตบอลไทยและบางทีมในขณะนี้ ผมมองว่ายังอยู่ในระดับที่พอรับได้ แต่ถ้ามันสูงกว่านี้ไปมากๆ จนเกินเลย ก็คงจะมีผลกระทบเหมือนกัน ควรจะปล่อยไปสักระยะหนึ่ง เพราะเราเพิ่งเริ่มต้นการเป็นฟุตบอลอาชีพ ถ้ามันเริ่มจะเกินไปแล้ว ก็อาจจะมีวิธีการมาควบคุมในระดับหนึ่ง
ไทยพับลิก้า: ถ้าในอนาคตสักทีมใช้งบทำทีมถึงหลัก 1,000 ล้านบาท จะถือว่าเงินเริ่มเฟ้อเกินไปหรือไม่ และสุดท้ายจะเกิดภาวะฟองสบู่ธุรกิจฟุตบอลหรือเปล่า
คนที่จะมาลงทุนทางธุรกิจ ถ้าเขาจะใช้ 1,000 ล้านบาท ก็คงคำนวณแล้วว่าจะมีรายได้ 1,000 ล้านบาทเหมือนกันหรือใกล้เคียง เป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุน 1,000 ล้านบาท แต่มีรายได้แค่ 500 ล้านบาท ใครจะกล้ามาขาดทุนได้ขนาดนั้น อย่างทีมชลบุรีฯ เรามีรายได้ 100 ล้านบาท เราก็พยายามใช้เท่าที่มี แต่เมื่อเราคิดว่ามันยังขาดเงินอีกหน่อย ผู้บริหารก็ลงเพิ่มให้ เพื่อให้มันมีศักยภาพที่ดีพอ
ไทยพับลิก้า: ทีมฟุตบอลอาชีพไทยส่วนใหญ่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของ กระทั่งทีมชลบุรีฯ ตัวคุณวิทยาเองก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เรื่องนี้จะส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไรทั้งต่อทีมและต่อวงการฟุตบอลโดยรวม
คือการทำกีฬาต้องทำด้วยใจ ด้วยความเสียสละ เพราะต้องยอมรับว่าการจะสนับสนุนเรื่องกีฬาต้องใช้เงินทุน ต้องมีงบประมาณ ต้องมีสปอนเซอร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าในจังหวัดหรือพื้นที่ใดก็ตามจะต้องมีคนมาช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเลี่ยงไมได้หรอกที่จะให้ผู้ที่กว้างขวางอย่างนักการเมืองมาช่วย เพราะถ้าไม่มีแล้วใครจะเป็นคนทำ ผมสัมผัสกีฬามาหลายสิบปี ก็เห็นเลยว่าที่เราต้องลงมาเพราะมันจำเป็นต้องมีคนทำ นักกีฬาก็อยากให้มีคนเข้ามาช่วยสนับสนุน ช่วยจัดการแข่งขัน ช่วยสนับสนุนทีม จะให้ตัวนักกีฬา โค้ช ครอบครัว มาช่วยกัน เงินเขาก็ไม่พอ
ดังนั้น คนที่มาทำเรื่องกีฬา ผมกลับเห็นว่าเป็นคนที่เสียสละจริงๆ เพราะควักกระเป๋าอย่างเดียว ส่วนใหญ่ไม่มีผลตอบแทนเป็นเงินทอง โอเค อาจมีผลตอบรับทางการเมือง มีความนิยมชมชอบ เป็นการได้คะแนนเสียงทางอ้อม ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย
แต่ในส่วนของทีมชลบุรีฯ ผมและคุณสนธยา คุณปลื้ม (อดีตประธานสโมสรชลบุรีฯ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง) ทำด้วยใจรัก เพราะแม้เราจะเป็นนักการเมือง แต่ไม่เคยไปโปรโมตตั้งใจใช้กีฬาหาเสียง มันเป็นผลพลอยได้มากกว่า ความตั้งใจของเราคือมาช่วยคนที่ทำอยู่แล้ว คือคุณอรรณพ (สิงห์โตทอง รองประธานสโมสรชลบุรีฯ) กับคุณธนะศักดิ์ (สุระประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศสโมสรชลบุรีฯ) ที่ทำทีมโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาก่อน แล้วชวนผมกับคุณสนธยามาช่วยหนุน นี่คือจุดเริ่มต้น แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ จนผมได้ทำสมาคมกีฬาของ จ.ชลบุรี ซึ่งทำกีฬาทุกชนิด แต่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เราตั้งใจทำให้มันดีเพื่อให้เป็นเชื่อเสียงของ จ.ชลบุรี
การเป็นนักการเมืองคือส่วนหนึ่งที่ผมเป็นอยู่ แต่สำหรับผมและคุณสนธยาไม่ได้มุ่งหวังว่ามาทำเพื่อต้องการชื่อเสียงจากการทำฟุตบอลเลย เพราะเราทำมาก่อนที่จะมาเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ ก่อนที่ผมจะเป็น ส.ส. อีก และเมื่อฟุตบอลพัฒนามาเป็นระบบอาชีพ จะมาทำหวังผลการเมืองอย่างเดียวโดยไม่มีใจรักไม่ได้หรอก ทำไปมีค่าใช้จ่ายมากๆ ถ้าไม่มีใจรัก สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกกันไป เรื่องนี้มีตัวอย่างเยอะแยะ
ดังนั้นจะเป็นคนอาชีพใดก็ตาม นักการเมือง นักธุรกิจ ฯลฯ ที่มาสนับสนุนวงการกีฬา ผมถือว่าคนเหล่านี้มาด้วยความเสียสละ
ไทยพับลิก้า: ในวงการฟุตบอลไทยเริ่มโตแล้วจริงๆ แต่ยังไม่แข็งแรง ยังจำเป็นต้องมีนักการเมืองมาช่วยในการพัฒนาอยู่
ถ้าไม่มีใครมาช่วย มันจะเกิดไม่ได้จริงๆ หลายจังหวัดที่กำลังพัฒนาทีมฟุตบอล โดยเฉพาะที่อยู่ในดิวิชั่น 2 เวลานี้ เกิน 90% ต้องมีคนที่กว้างขวางในจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งก็หนีไม่พ้นนักการเมือง แต่ต้องย้ำว่าเขามาทำด้วยความเสียสละ ส่วนคะแนนเสียงเป็นแค่ผลพลอยได้ คือใครจะลงมาก็ตาม มันเป็นผลดี แต่ต้องลงมาจริงจังนะ ประเภทฉาบฉวย หรือฉวยโอกาส จะมาโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเดียว คนในจังหวัดรู้นะ ว่าคุณทำจริงจัง หวังช่วยจังหวัดจริงไหม ทำมาไม่ใช่ได้คะแนนอย่างเดียว สมมติลงมาแล้วทำไม่จริงจัง ผลที่ได้จะเป็นลบด้วยซ้ำ คะแนนเสียงจะหายไป
ไทยพับลิก้า: ก่อนหน้านี้ครอบครัวคุณปลื้มเคยมีทีมฟุตบอลอาชีพที่เล่นในลีกสูงสุดถึง 3 ทีม ทั้งทีมชลบุรีฯ ทีมศรีราชา เอฟซี และทีมพัทยา ยูไนเต็ด แต่ขณะนี้เหลือแค่ทีมเดียว คือทีมชลบุรีฯ ทำไมถึงปล่อยทีมอื่นๆ ไป
เราทำมาทุกทีม จริงๆ ทีมชลบุรีฯ เป็นแค่ 1 ทีมที่อยู่ภายใต้สมาคมฟุตบอลของ จ.ชลบุรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (Asian Football Confederation: AFC) ที่ต้องการให้มีสมาคมฟุตบอลระดับจังหวัด มันก็จะมีทีมในอำเภอ ในจังหวัด ที่สมาคมฯ นี้จะไปช่วยสนับสนุน และตั้งแต่ในอดีตที่ยังไม่มีการรวมลีก ทีมชลบุรีฯ ก็ไปใช้ชื่อทีมสันนิบาตสมุทรปราการ เพื่อให้นักฟุตบอลของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาไปลงแข่งรายการต่างๆ ซึ่งทีมสันนิบาตสมุทรปราการ ตอนนี้ก็พัฒนาเป็นทีมศรีราชา บ้านบึง (ทีมศรีราชา เอฟซี ในอดีต) ส่วนทีมพัทยา ยูไนเต็ด ก็เริ่มจากทีมเทศบาล ต.บางพระ ซึ่งก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนเปลี่ยนชื่อมาเป็นทีมพัทยาฯ ในปัจจุบัน
เมื่อวงการฟุตบอลพัฒนามากขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็สูงตาม เราจึงต้องหันมาเน้นทีมเดียวคือทีมชลบุรีฯ แต่เราก็ไปช่วยทีมอื่นๆ บ้าง เช่น ส่งนักฟุตบอลในระดับเยาวชนไปช่วยบ้าง แต่เรื่องงบประมาณก็ลดลงไป ให้คนที่มีหน้าที่ได้รับผิดชอบกันเองจะดีกว่า
ไทยพับลิก้า: ทั้งฟุตบอลและกีฬาอื่นๆ มีส่วนในการพัฒนา จ.ชลบุรีอย่างไรบ้าง
มันพัฒนาหลายๆ ด้าน เอาเรื่องกีฬา เมื่อเราสนับสนุนให้มีกีฬาอาชีพขึ้น ทำให้กีฬาอื่นๆ ใน จ.ชลบุรี ไม่ใช่แค่ฟุตบอล ก็ตื่นตัว เด็กๆ และคนทั่วไปก็หันมาสนใจการเล่นกีฬา ทำให้กีฬาสมัครเล่นของ จ.ชลบุรี ดีขึ้นทุกประเภทเลย เห็นได้จากการไปแข่งขันกีฬารายการต่างๆ ทีมจาก จ.ชลบุรีจะติดอยู่ในระดับท็อปของประเทศเกือบทุกชนิดกีฬา นอกจากนี้ การที่คนรวมตัวกันเชียร์ฟุตบอลหรือเชียร์กีฬาอื่นๆ ก็ช่วยสร้างความรักความสามัคคี
ในแง่ของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งก็ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว เมื่อมีการแข่งขัน ก็จะมีแฟนบอลจากทีมอื่นๆ เข้ามาชม ก็สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ เพราะคนมันเยอะ มีการค้าขาย ผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย ดังนั้น ทุกๆ ทีมรวมกันมูลค่าก็หลายพันล้านบาท ไปจนถึงหมื่นล้านบาท ก็เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ
ที่สำคัญคือ มันพัฒนากีฬาในระดับชาติให้มี “นักกีฬา” ที่ดีขึ้น ถ้าไม่มีลีกอาชีพที่แข็งแรง ทีมชาติไทยก็อาจไม่มีผลงานเหมือนในปัจจุบันนี้
ไทยพับลิก้า: เวลาพูดถึงการนำกีฬาอย่างฟุตบอลมาช่วยพัฒนาท้องถิ่น คนก็มักจะนึกถึง จ.บุรีรัมย์ก่อนเพื่อน ทั้งๆ ที่ จ.ชลบุรีเองก็ทำโมเดลนี้มาก่อน ทำไมถึงไม่เห็นผลชัดเจนเหมือน จ.บุรีรัมย์
เศรษฐกิจ จ.ชลบุรีโตอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ได้โตเพราะเรื่องของกีฬา กีฬาอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจของ จ.ชลบุรีบูมอยู่แล้ว ต่างกับ จ.บุรีรัมย์ ที่ต้องยอมรับว่าคุณเนวิน (ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) เป็นคนมีศักยภาพ และเมื่อเขาเอาทีมมาลงโดยการลงทุนส่วนตัวที่สร้างผลให้รายได้กระจายไปส่วนอื่นๆ อันนี้จะเห็นผลชัดเจน ต่างกับ จ.ชลบุรีที่เห็นไม่ชัด เพราะเป็นเมืองที่โตอยู่แล้ว ส่วน จ.บุรีรัมย์ จากเมืองที่ไม่มีอะไร เมื่อมาทำตรงนี้ ก็กระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน
การจะสนับสนุนเรื่องกีฬา มันต้องใช้เงินทุน งบประมาณ และสปอนเซอร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าในจังหวัดหรือพื้นที่ใดๆ ก็ตาม เลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะให้ผู้ที่กว้างขวางอย่างนักการเมืองมาช่วย เพราะถ้าไม่มี แล้วใครจะเป็นคนทำ
ไทยพับลิก้า: แต่หลายคนก็บอกว่าโมเดลอย่างบุรีรัมย์ไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ไม่ได้หรอก
มันได้นะ แต่ต้องประเมินศักยภาพตัวเอง แล้วค่อยๆ ทำไป อย่าง จ.ชลบุรี เป็นโมเดลที่สร้างโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีงบประมาณมาก ซึ่งต่างจาก จ.บุรีรัมย์ ที่ต้องยอมรับว่าคุณเนวินเป็นคนที่มีศักยภาพสูง มีเพื่อนฝูง สามารถระดมทุนมามากมาย แต่เชื่อว่าโมเดลนี้ ตอนนี้ คงจะมี จ.บุรีรัมย์ทำได้อยู่ที่เดียว
การจะทำได้เหมือน จ.บุรีรัมย์ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนเป็นพันๆ ล้านบาท เราไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายขนาดนั้น แต่ค่อยๆ ทำไปทีละหน่อย หลายจังหวัดก็ทำแบบนี้แล้ว และมันจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ อย่าง จ.ชลบุรี เราก็เริ่มจากการสร้างเยาวชน ต้องค่อยเป็นค่อยไป มันทำได้ อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่จะเติบโตอย่างมั่นคง อย่างทีมชลบุรีฯ เองก็ไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย แต่ค่อนข้างมั่นคง และติดอยู่ในทีมท็อปของประเทศอยู่ตลอด
แฟนบอลหลายคนก็ถามว่าทำไมทำอย่างทีมบุรีรัมย์ฯ ไม่ได้ ก็ต้องบอกว่า เราไม่มีเงินมากขนาดนั้น ถ้าทำไปจะเกินตัว และจะเกิดความเดือดร้อนกับผู้บริหารของทีม จึงต้องเอาเท่าที่จะสามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่ามีเงินแค่นี้ทำไมยังต่อกรกับทีมที่มีเงินมากกว่าเรา 3-4 เท่าได้ โดยที่ไม่ได้ห่างอะไรมากมาย บางทีเราก็ชนะเขา
ไทยพับลิก้า: แฟนบอลบางคนอาจข้องใจว่า จ.ชลบุรี เศรษฐกิจโตกว่า ทำไมหาสปอนเซอร์ได้น้อยกว่าทีมอื่นๆ
สปอนเซอร์ของทีมชลบุรีฯ ไม่ได้มาจาก จ.ชลบุรีเลย มาจากส่วนกลางแทบทั้งสิ้น เรายังไม่ได้ระดมอะไรมาจากในจังหวัดเลย ซึ่งเราก็เริ่มคิดว่าต่อไปอาจจะต้องหางบเพิ่มเติมจากในจังหวัด เวลานี้กำลังคิดอยู่ว่าขยายในพื้นที่อย่างไร
ไทยพับลิก้า: ขณะนี้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ในช่วงกำลังเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ คิดว่าการเปลี่ยนตัวหรือการคงคนเดิมไว้ จะส่งผลต่อการพัฒนาวงการฟุตบอลของไทยอย่างไรบ้าง
ผมไม่อยากยึดติดเรื่องตัวบุคคล แต่แนวทางในการทำงานมันต้องมีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลง อะไรที่คิดว่าเป็นปัญหามันต้องแก้ไข เมื่อปัญหาเกิดขึ้นมานาน มีการนำเสนอแล้ว แต่ไม่แก้หรือยังแก้ไม่ได้ ก็ต้องมาดูว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า คือการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะได้ทีมเก่าหรือทีมใหม่ แต่ไม่ว่าใครจะเข้ามาก็ต้องมีการพัฒนาและแก้ปัญหาให้ได้
วงการฟุตบอลไทยในขณะนี้ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถมากๆ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเองก็มีเยอะเลย แต่กลับไม่มีโอกาสได้เข้ามาทำงานในสมาคมฟุตบอลฯ ทีมชลบุรีฯ ก็แสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะแพ้หรือชนะ เราก็ยืนยันว่าจะช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลของไทยให้ดีขึ้น
ไทยพับลิก้า: ปัญหาอะไรในวงการฟุตบอลของไทยที่ทีมชลบุรีฯ เห็นว่าควรจะต้องแก้ไขมากที่สุด
หลายเรื่องมาก ทั้งนี้ 1. การบริหารจัดการ และ 2. การแข่งขัน เพราะตอนนี้วงการฟุตบอลไทยมันโตแล้ว มีรายได้เพียงพอมาสนับสนุนทีม แต่ผมคิดว่ามันยังพัฒนาได้มากกว่านี้อีก ต้องมีความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงิน ให้คนที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วม มารับรู้
การพัฒนาการแข่งขันภายในประเทศก็ควรเร่งปรับปรุงตั้งแต่รุ่นเยาวชนขึ้นไป ตามโรงเรียนต่างๆ ไม่ใช่เอาเฉพาะทีมที่เกี่ยวข้องกับสมาคมฟุตบอลฯ เท่านั้น มันต้องลงไปวางรากฐานระดับรากหญ้าเลย ต้องทำระบบลีกให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันยังมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ตัดสิน เพราะทุกวันนี้ ผู้ตัดสินโตไม่ทัน ทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้ผู้ตัดสินมีศักยภาพสูงขึ้น ตัดสินด้วยความเป็นธรรม ไม่มีการเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง นั่นคือให้เขามีรายได้อย่างสบาย จะได้ไม่มีข้อครหาว่ามีบางคนไปรับสินบนหรือเป่าเข้าข้างใคร
ไทยพับลิก้า: ปัญหาเรื่องการล็อกผลหรือล้มบอลยังมีอยู่หรือไม่
ก็ได้ยินแค่ข่าวนะ แต่สำคัญทีมชลบุรีฯ ยืนยันว่าไม่มีอยู่แล้ว แม้แต่สมัยก่อนที่เรามีทีมพี่-ทีมน้องแข่งในลีกเดียวกัน ก็ยังมีใบเหลืองใบแดงเต็มไปหมด เราไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น จึงอยากให้มี “องค์กรกลาง” เข้ามาดูเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ และกำหนดบทลงโทษว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริงจะลงโทษอย่างไร ต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน เช่น ล้มบอลต้องโดนจำคุก
ต้องไม่ให้มันเกิดให้ได้ เพราะถ้ามันเกิด ฟุตบอลอาชีพบ้านเราก็จะล่มสลายไปเลย เหมือนหลายๆ ประเทศที่เกิดขึ้น และต้องมาเริ่มต้นกันใหม่
เมื่อเจ้าของทีมใหญ่ ประกาศ “ขายทีม”
ข่าวใหญ่ในวงการฟุตบอลไทย หลังสิ้นสุดฤดูกาล ปี 2558 คือกรณี “ไบรอัน มาร์คาร์” ประธานสโมสรฟุตบอลบีอีซี เทโรศาสน หนึ่งในบิ๊กทีมของเมืองไทย และร่วมก่อตั้งการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกในปี 2539 ประกาศขายทีม ด้วยวงเงิน 500 ล้านบาท หลังทีมบีอีซีเทโรฯ ตกชั้นไปเล่นในลีกวัน (แม้จะยังรอผลการพิจารณาของศาลปกครอง กรณีผลการแข่งขันกับทีมแบงค็อก ยูไนเต็ด)
วิทยา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า “เห็นข่าวก็ตกใจ เพราะคุณไบอันก็เสียสละในการทำกีฬามานาน ควักเงินอย่างเดียว ขาดทุนมาตั้งแต่ต้นและหลายสิบปีแล้ว ก็รู้สึกใจหาย แต่เรื่องนี้ก็ช่วยพิสูจน์คำที่ว่า กีฬามันไม่แน่นอน ทีมที่ใช้เงิน 200-300 ล้านบาทยังตกชั้นได้”
เขากล่าวว่า ยังอยากให้ไบรอันทำทีมต่อ เพราะเชื่อว่าด้วยศักยภาพของทีมบีอีซีเทโรฯ น่าจะกลับขึ้นมาได้ ยังไม่อยากให้เลิกไป
เจ้าของทีมฉลามชลวิเคราะห์ว่า ในทางธุรกิจ ทีมบีอีซีเทโรฯ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีธุรกิจในเครือสถานทีโทรทัศน์ช่อง 3 ของบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) คอยสนับสนุนอยู่ แต่อาจมีปัญหาเรื่องการบริหารทีมมากกว่า โดยเฉพาะการเปลี่ยนโค้ชบ่อยเกินไป ทำให้จูนกับนักฟุตบอลไม่ได้ รวมถึงกรณีที่ทีมบีอีซีเทโรฯ ย้ายสนามเหย้าบ่อยครั้ง ทำให้ขาดแรงสนับสนุนจากแฟนบอล
ด้าน “อรรณพ สิงห์โตทอง” รองประธานสโมสรชลบุรีฯ มองว่า แม้ทีมบีอีซีเทโรฯ จะมีนักฟุตบอลระดับทีมชาติไทยอยู่มากมาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ยังไม่สามารถเป็นแกนให้กับทีมได้ ขณะที่นักฟุตบอลโควต้าต่างชาติก็ไม่โดดเด่นเท่าไร ต่างกับทีมที่มีผลงานดีขึ้นเห็นได้ชัด อย่างทีมแบงค็อก ยูไนเต็ด (ปี 2558 ได้ลำดับที่ 5 ขึ้นจากปี 2557 ที่ได้ลำดับที่ 8) ที่นักฟุตบอลโควตาต่างชาติ โดยเฉพาะในตำแหน่งกองกลางและกองหน้าฝีเท้าดีมาก ขณะที่โค้ชอย่าง Mano Polking ก็สามารถดึงศักยภาพนักเตะออกมาได้