
จากที่ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ นสพ.ไทยรัฐ “เจ้าพ่อคิงพาเวอร์ ตอบคำถามเรื่องดิวตี้ฟรี ไม่ใช่ “สัมปทานผูกขาด” ในตอนหนึ่งว่า
“เรื่องพวกนี้ผมไม่ได้จับมือรัฐบาลไทยเซ็นนะครับ รัฐบาลคิดข้อเสนอขึ้นมาเอง เพื่อเรียกเอกชนมารับเงื่อนไขยื่นซองประมูล แต่มาวันนี้จุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินกลายเป็นประเด็นว่าผมผูกขาด จะให้เอาคืน ผมถามจริงๆ นะครับ ถ้าเป็นรายอื่นได้ไป เขาจะคืนไหมครับ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของหลักการกับเงื่อนไขการจ่ายเงินให้รัฐ ถ้าผมบอกว่าปีไหนมีจลาจล ไม่มีนักท่องเที่ยวมา หรือเศรษฐกิจโลกตกต่ำ คนประหยัดค่าใช้จ่าย ผมขอเงินคืนได้ไหมครับ”
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมานายวิชัยได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559
ทั้งนี้จากการตรวจสอบสัญญาระหว่างการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เมื่อครั้งที่จะมีการย้ายสนามบินจากดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 นั้น ปรากฏว่าได้มีการลงนามในสัญญาอนุญาตให้บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด โดยนายวิชัย รักศรีอักษร (ศรีวัฒนประภา) ประธานกรรมการบริหาร ได้รับอนุญาตให้เข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต เพียงรายเดียว เป็นการลงนามเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 โดยสัญญาใหม่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 จนถึง 31 ธันวาคม 2558
โดยในช่วงก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาดังกล่าว ได้มี หนังสือจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 เรื่อง ขอต่ออายุสัญญาเพื่อเข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยหนังสือดังกล่าวทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น
ในบางส่วนของหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า
“บริษัทฯ ใคร่เรียนว่า จากการที่สนามสุวรรณภูมิจะเริ่มเปิดใช้งานนับตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 ทำให้คงเหลือระยะเวลานับแต่นี้เพียง 1 ปี 9 เดือน และเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอให้ ทอท. โปรดพิจารณาการขอต่อสัญญาในครั้งนี้แต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ จำเป็นต้องได้รับความมั่นใจว่า การลงทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานของบริษัทฯ นับจากนี้ไปสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งเพื่อให้ทางบริษัทฯ มีระยะเวลาเพียงพอในการเตรียมการด้านต่างๆ ในกรณีที่ ทอท. พิจารณาต่ออายุสัญญาให้แก่บริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการเตียมการทางด่านการเงิน การจัดหาเงินลงทุนสำหรับตกแต่งร้านค้า และจัดหาอุปกรณ์การขายต่างๆ …เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ทันในเดือนกันยายน 2548” โดยบริษัทเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. ในอัตราร้อยละ 15 ของยอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ สัญญา 10 ปี (2548-2558) รวมเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท”
หลังจากนั้น วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ทาง มติคณะกรรมการทอท. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดการขอต่อสัญญาของบริษัทคิง เพาเวอร์ โดยมีนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ นายอุทิศ ธรรมวาทิน และนายพชร ยุติธรรม เป็นคณะทำงาน
วันที่ 31 มีนาคม 2547 ทางคณะทำงานได้ถึงประธานกรรมการทอท.รายงานผลการพิจารณาว่าจากการทำหนังสือด่วนสุดถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า การประเมินวงเงินของโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร ณ สนามบินสุวรรณภูมินั้น หากวงเงินลงทุนในโครงการ หรือมีทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องปฏิบัติพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 แต่จากการวิเคราะห์ของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 813.84 ล้านบาท จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
นอกจากนี้จากการได้ว่าจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการร้านค้าปลอดอากรดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า
1. ในเรื่องการสรรหาผู้ประกอบการที่เหมาะสมนั้น ควรใช้วิธีเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมมากกว่าการเปิดประมูลให้ผู้สนใจเสนอตัวเข้าแข่งขัน เพราะการเจรจา ทอท. สามารถกำหนดเงื่อนไข เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินการกับผู้ประกอบการให้ ทอท. ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ
– รายได้จากการใช้จ่ายในร้านค้าปลอดอากรเฉลี่ยต่อจำนวนผู้โดยสารสูงสุด
– จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านค้าปลอดอากรสูงสุด
– ระยะเวลาในการเข้ามาใช้บริการหรือเลือกซื้อสินค้าภายในร้านปลอดอากรของผู้โดยสารสูงสุด
ทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นการร่วมพัฒนาธุรกิจในเชิงพันธมิตร มีการแบ่งปันความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและผลประโยชน์จากการดำเนินงานร่วมกัน ดังนั้น การเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมที่มีผลการดำเนินงานที่ดีแล้วจึงให้ประโยชน์กับ ทอท. มากกว่าวิธีการเปิดประมูลระบบ MAG (Manimum Anaaual Guarantee) และเป็นหลักประกันความมั่นคงของรายได้กับ ทอท. ซึ่งเป็นแนวทางใหม่สำหรับการดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร
2. จำนวนผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร การที่มี 2 รายหรือมากกว่านั้น จะก่อให้เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมาในท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) และจะก่อให้เกิดปัญหากับ ทอท. ในเรื่องการพิจารณาทั้งทำเลที่ตั้งของร้านค้า จำนวนพื้นที่ การไหลเวียนของผู้โดยสาร รวมทั้งการให้การสนับสนุนจากผู้ผลิตสินค้า ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จของผู้ประกอบการ และที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมีสินค้า 4 ประเภท คือ น้ำหอม บุหรี่ เหล้า และเครื่องสำอาง หากมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ต้นทุนของสินค้าดังกล่าวไม่แตกต่างกันมาก อาจจะกระทบต่อคุณภาพสินค้าและภาพลักษณ์ ทอท. ต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการ จึงควรมีผู้ประกอบการรายเดียวจะเหมาะสมกว่า
3. อายุสัญญาเห็นควรเป็น 10 ปี เสนอให้กำหนดอัตราค่าตอบแทนใหม่ที่ต่างจากข้อเสนอของคิง เพาเวอร์ คือ ค่าตอบแทนในอัตราร้อยละของยอดรายได้จากการขายสินค้าในร้านค้าปลอดอากร ในช่วง 5 ปีแรก ร้อยละ 15 ในปีที่ 6-10 ควรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 คือ 16-17-18-19-20 ตามลำดับ
4. คุณสมบัติของผู้ประกอบการควรเป็นไทยมากกว่าต่างประเทศ เพราะผู้ประกอบการไทยมีความรู้ความชำนาญในการให้บริการได้แล้ว และมีความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศไทยมากกว่า รวมทั้งมีการจ้างงาน การเสียภาษีที่เกิดกับประเทศไทยโดยตรงมากกว่า
หลังจากนั้นมีหนังสือของการท่าอากาศยานไทย ลงวันที่ 12 เมษายน 2547 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เพื่อแจ้งผลการพิจารณาการขอเข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยอ้างถึงหนังสือของคิง เพาเวอร์ เรื่องการขอต่อสัญญา
หนังสือของบริษัทคิง เพาเวอร์ ที่ลงวันที่ 16 เมษายน 2547 เป็นหนังสือขอบคุณ โดยทำเรียนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทการท่าอากาศยานไทย ว่าขอทำสัญญาภายในวันที่ 20 เมษายน 2547 และหนังสือลงวันที่ 17 มีนาคม 2547 บริษัทคิงเพาเวอร์ได้ทำถึงทอท.ขอเสนอปรับเพิ่มค่าตอบแทน 10 ปี จาก 15,000 ล้านบาท เป็น 15,560 ล้านบาท และจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้า 2 ปี เป็นเงิน 2,460 ล้านบาท
โดยในสัญญาได้ระบุค่าผลประโยชน์ตอบแทน ที่จะจ่ายให้ ทอท. โดยมีรายละเอียดดังข้อมูลข้างล่าง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)