ThaiPublica > คอลัมน์ > เฮทสปีช กฎหมาย และความอดทนอดกลั้น: บางบทเรียนจากยุโรป

เฮทสปีช กฎหมาย และความอดทนอดกลั้น: บางบทเรียนจากยุโรป

4 มกราคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

ท่ามกลางกระแสเรียกร้องรอบใหม่ให้รัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำกับสื่อออนไลน์ หลายคนอาจกำลังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมายของ “เฮทสปีช” และบทบาทของกฎหมายในประเด็นนี้ ผู้เขียนจึงอยากเสริมเติมรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น โดยจะยกกรณีของยุโรปเป็นตัวอย่าง เนื่องจากมีบริบททางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจโดยเฉพาะด้านการเมือง และมีประวัติการรับมือกับประเด็นนี้มาอย่างโชกโชน

เพราะเรื่องนี้ไม่ง่าย ความท้าทายของทุกประเทศ คือ จะรับมือกับเฮทสปีช อย่างไร ในทางที่ไม่ปิดกั้นการไหลเวียนและแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ ไม่บั่นทอนความหลากหลายของความคิดเห็นในสังคม ซึ่งเป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ของการพัฒนาสังคมพหุนิยมสมัยใหม่

ในระดับโลก กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ขององค์การสหประชาชาติ (อ่านคำอธิบายและฉบับแปลไทยได้ที่เว็บไซต์ กสม.) ระบุในข้อ 20(2) ว่า “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง” เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ที่ทำการศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ในกรุงสตราส์บูร์ก ฝรั่งเศส
ที่ทำการศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ในกรุงสตราส์บูร์ก ฝรั่งเศส

ในยุโรป สหภาพยุโรปประกาศเมื่อไม่นานมานี้ให้ประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศออกกฎหมายบัญญัติให้เฮทสปีชเป็นความผิดทางอาญา ส่วนศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ก็รับรองการเซ็นเซอร์ของรัฐในบางกรณี และรับรองการยึดภาพยนตร์ที่ “ดูหมิ่นความรู้สึกทางศาสนา”

ศาลนี้พยายามวางหลักเกณฑ์ แยกแยะระหว่างการแสดงออกที่ “โจมตีอย่างไร้เหตุผล” (gratuitous offence) หรือมีจุดประสงค์ที่จะ “ทำลายสิทธิของคนอื่น” กับการแสดงออกที่ “มีส่วนร่วมกับเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะอย่างชัดแจ้ง” (contribute to a question of indisputable public interest) มีเพียงการแสดงออกสองแบบแรกเท่านั้นที่ผิดกฎหมาย การแสดงออกข่ายหลังไม่ผิด

อย่างไรก็ดี การวางเกณฑ์ของศาลนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักกฎหมายบางคนว่า เป็นอัตตวิสัย (subjective) เกินไป ส่งผลให้ศาลซึ่งควรจะทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพการแสดงออกแปลงร่างเป็นกองเซ็นเซอร์เสียเอง

การกำหนด “นิยาม” ของเฮทสปีชให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงในกฎหมายนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าตัวบทในกฎหมายคลุมเครือ เปิดช่องให้ตีความได้กว้าง ผู้มีอำนาจรัฐก็สามารถฉวยโอกาสเซ็นเซอร์หรือจับคนที่ไม่ได้จงใจสร้างความเกลียดชังหรือความรุนแรงใดๆ เลย เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น

นอกจากนิยามจะสำคัญแล้ว การลงโทษผู้กล่าวเฮทสปีชที่เข้าข่ายผิดกฎหมายก็จะต้อง “ได้ส่วน” (proportionate) กับระดับความรุนแรงของความผิดเช่นกัน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ยุติธรรม และอาจสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้คนเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าพูดอะไร กลายเป็นว่าสังคมเสียประโยชน์จากการขาดแคลนความหลากหลายทางความคิด

ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งเรื่องหลักความได้ส่วนของบทลงโทษ ปรากฏในคำตัดสินคดี Erbakan v. Turkey ในปี 2006 ซึ่งประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบันร้องว่า ถูกศาลอาญาตุรกีตัดสินโดยมิชอบ ลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกของตน จากกรณีที่กล่าวพาดพิงผู้ไม่นับถือศาสนาอิสลามว่า “infidels” (พวกนอกรีต) ตอนที่เขาหาเสียงเลือกตั้ง

ในคำตัดสินคดีนี้ ซึ่งชี้ว่าคำตัดสินของศาลอาญาตุรกีเข้าข่ายละเมิดเสรีภาพการแสดงออกโดยมิชอบ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรประบุว่า “…ความอดทนอดกลั้นและความเคารพในศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน เป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยพหุนิยม อย่างไรก็ดี ในหลักการแล้ว สังคมประชาธิปไตยบางสังคมอาจเซ็นเซอร์หรือแม้แต่ห้ามการแสดงออกทุกรูปแบบซึ่งเผยแพร่ ยั่วยุ ส่งเสริม หรือสร้างความชอบธรรมให้กับความเกลียดชังที่มีรากมาจากความไม่อดทนอดกลั้น …ตราบใดที่ “กฎทางการ” “เงื่อนไข” “ข้อจำกัด” หรือ “บทลงโทษ” ได้ส่วนกับเป้าหมายอันชอบธรรมของรัฐ” (อ่านสรุปคำตัดสินสำคัญๆ ของศาลนี้ได้จากลิงก์นี้บนเว็บศาล)

Recep Tayyip Erdoğan ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน ที่มาภาพ:  http://atimes.com/wp-content/uploads/2015/11/Erdogan2.jpg
Recep Tayyip Erdoğan ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน ที่มาภาพ: http://atimes.com/wp-content/uploads/2015/11/Erdogan2.jpg

ความเป็นมาของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR ซึ่งเป็นกติกาหลักของโลกเรื่องเฮทสปีชนั้นน่าสนใจไม่น้อย กติกานี้เริ่มระดมสมองกันในปี 1947 สมัยที่สงครามโลกครั้งที่สอง อันมีเชื้อจากการกระพือความเกลียด เพิ่งจบไปไม่ถึงสองปี ในร่างแรก มีเพียง “การยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง” เท่านั้นที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย (เหตุผลที่ทุกคนทุกชาติเห็นตรงกันได้ว่า เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก) แต่สหภาพโซเวียต โปแลนด์ และฝรั่งเศส เสนอให้เพิ่ม “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง” เข้าไปด้วย

ผู้แทนจากประเทศส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ พยายามเสนอว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะต่อกรกับลัทธิหัวรุนแรงสุดขั้วต่างๆ ก็คือการเปิดให้คนได้อภิปรายถกเถียงกันให้ได้มากที่สุด แต่ข้อคัดค้านข้อนี้ตกไปเพราะประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ของสหประชาชาติโหวตเห็นชอบ สุดท้ายภาษา “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง” ก็อยู่ในกติกาฉบับจริง

ปัญหาปัจจุบันของกฎหมายเฮทสปีชในประเทศต่างๆ คือ การตัดสินว่าการแสดงออกแบบไหน “สนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง” หรือ “ดูถูกเหยียดหยาม” นั้นเป็นอัตตวิสัย (subjective) มาก ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย กับผู้ที่เคร่งศาสนาย่อมเห็นไม่ตรงกันว่า ขีดจำกัดของการล้อเลียนศาสนาควรจะอยู่ตรงไหน นอกจากนี้ กลุ่มที่มักจะได้รับการปกป้องจาก “อาชญากรรมความเกลียด” ก็มักจะเป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ทางการเมือง อาทิ เพราะมีสมาชิกกลุ่มเป็นผู้มีอำนาจรัฐ ส่งผลให้กลุ่มต่างๆ ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน

ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ประเทศที่ใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วโลกถึงกาลล่มสลายไม่ใช่เพราะทุกประเทศบัญญัติให้การเผยแพร่หรือพูดคุยเกี่ยวกับระบอบนี้เป็นอาชญากรรม แต่ส่วนหนึ่งเพราะหลายประเทศยอมให้เกิด “การปะทะทางความคิด” ที่เข้มข้น คนส่วนใหญ่มองเห็นว่าคอมมิวนิสต์ใช้การไม่ได้ อีกทั้งยังคุกคามสิทธิเสรีภาพ

ระดับการให้สัตยาบันของรัฐบาลต่างๆ ต่ออนุสัญญา 18 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ที่มาภาพ: http://41.media.tumblr.com/3e8d8d23a8dd3b95883420961374e9fb/tumblr_nuzk10CQfI1s6c1p2o1_1280.jpg
ระดับการให้สัตยาบันของรัฐบาลต่างๆ ต่ออนุสัญญา 18 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ที่มาภาพ: http://41.media.tumblr.com/3e8d8d23a8dd3b95883420961374e9fb/tumblr_nuzk10CQfI1s6c1p2o1_1280.jpg

ย้อนไปสมัยที่ผู้นำโลกมารวมตัวกันร่างกติกา ICCPR และอนุสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเฮทสปีช ความทรงจำอันเจ็บปวดและยังสดใหม่เรื่องความโหดเหี้ยมของระบอบนาซี เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันกติกาและสัญญาต่างๆ เหล่านี้ออกมา แต่เราก็ไม่ควรลืมว่า เมื่อนาซีขึ้นครองอำนาจเผด็จการ เสรีภาพการแสดงออกทั้งมวลก็ถูกทำลาย โฆษณาชวนเชื่อของนาซีกลายเป็น “ความจริงทางการ” เพียงหนึ่งเดียวที่ไม่อนุญาตให้ใครต่อต้าน ล้อเลียน หรือแม้แต่ยกข้อมูลอีกด้านขึ้นมา

ถึงวันนี้เรายังไม่มีหลักฐานว่า กฎหมายเฮทสปีชทั่วโลกช่วยให้คนในสังคมนั้นๆ มีความอดทนอดกลั้นกว่าเดิม ยอมรับคนที่แตกต่างจากตัวเองมากกว่าเดิมจริงหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าถ้าสังคมไทยอยากบัญญัติกฎหมายเฮทสปีชขึ้นมาจริงๆ เราก็ควรครุ่นคิดพิจารณาอย่างรอบด้านก่อน

ถ้าเราไม่อาจเขียนกฎหมายอย่างรัดกุม ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่เข้าใจ กลายเป็นว่ากฎหมายตกเป็นเครื่องมือของคนที่ไร้ซึ่งความอดทนอดกลั้นใดๆ ใช้กฎหมายนี้ไล่ล่าปิดปากคนคิดต่าง แทนที่กฎหมายจะช่วยส่งเสริมให้คนในสังคมอดทนอดกลั้นกว่าเดิม ผู้เขียนคิดว่าไม่มีจะดีกว่า

เพราะสังคมที่ไร้ขื่อแป ใครอยากจะพูดอะไรก็พูดได้นั้นอันตรายก็จริง แต่สังคมสุดโต่งอีกขั้วหนึ่งซึ่งถูกครอบงำโดยคนที่ไร้วุฒิภาวะ ไร้ซึ่งความอดทนอดกลั้นใดๆ ไม่อนุญาตให้ใครคิดต่างจากตน ก็เป็นสังคมที่อันตรายไม่แพ้กัน.