ThaiPublica > คอลัมน์ > Paris Agreement เปลี่ยนโลก

Paris Agreement เปลี่ยนโลก

31 ธันวาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ที่มาภาพ : http://www.abc.net.au/news/image/7023946-3x2-940x627.jpg
ที่มาภาพ : http://www.abc.net.au/news/image/7023946-3×2-940×627.jpg

เมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคม 2558 หอไอเฟลประดับไฟสว่างมีอักษรสื่อความหมายว่า “No Plan B” ในอนาคตหากมองย้อนหลังพิจารณาข้อความแปลกนี้ก็อาจเห็นว่ามีผลโยงใยกับความอยู่รอดของมนุษยชาติ เกิดอะไรขึ้นในปารีสในช่วงเวลานั้นจนถึงกับบอกว่า “ไม่มีแผนสำรอง”

ก่อนหน้านั้นสองอาทิตย์เกิดเหตุสลดใจผู้ก่อการร้ายยิงคนไร้เดียงสาตายไป 130 คน แต่การประชุมครั้งสำคัญนี้เลิกไม่ได้เพราะวางแผนกันมายาวนาน ดังนั้นฝรั่งเศสจึงทุ่มตำรวจและพนักงานความมั่นคงกว่า 30,000 คน ดูแลการประชุมครั้งนี้จนประสบผลสำเร็จอย่างที่ฝันกันมายาวนาน

การประชุมนี้เรียกว่า “COP 21” (Conference of Parties ครั้งที่ 21) เนื่องจากประชุมกันครั้งนี้เป็นปีที่ 21 ต่อเนื่องกันหลังจากสหประชาชาติได้กำหนดกรอบที่เรียกว่า “United Nations Framework Convention on Climate Change” (UNFCCC) ในปี 1992 เพื่อควบคุมสถานการณ์โลกร้อน

การประชุมครั้งที่ 11 ในปี 1997 ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อนโดยมีข้อตกลงที่เรียกว่า Kyoto Protocol ซึ่งกำหนดกติกาจำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละประเทศปล่อยออกสู่บรรยากาศ ใครปล่อยเกินโควต้าก็ต้องจ่ายเงิน มีการซื้อขายสิทธิกันได้เสรี โดยตั้งใจให้เป็นแรงจูงใจในการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ส่วนใหญ่ก็คือคาร์บอนไดออกไซด์) ซึ่งจะช่วยไม่ให้โลกร้อนขึ้น อย่างไรก็ดี ประเทศใหญ่ที่ปล่อยมากที่สุดคือจีน และสหรัฐอเมริกาไม่ได้ร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่เป็นผลนัก

ในปี 2009 ที่ Copenhagen ข้อตกลงระดับโลกในเรื่องโลกร้อนของประเทศใหญ่ๆ เกือบประสบความสำเร็จ แต่ก็ล้มเหลวตกลงกันไม่ได้ในขณะที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เลวร้ายลงเป็นลำดับ ปรากฏการณ์อาเพศต่างๆ เกี่ยวกับภูมิอากาศไม่ว่าร้อนจัด แล้งจัด หนาวจัด แผ่นน้ำแข็งหนาเป็นกิโลเมตรที่ขั้วโลกเหนือและใต้ละลายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คาร์บอนไดออกไซด์ก็ออกสู่บรรยากาศมากขึ้นทุกทีจนน่าเป็นห่วงว่าการคาดคะเนว่าผลกระทบสำคัญจะตกอยู่กับชั่วคนต่อไปนั้นไม่เป็นจริงเสียแล้ว ดูจะตกกับคนรุ่นปัจจุบันเอาเลย

ในช่วง 2009-2016 จีนและสหรัฐอเมริกา (สองประเทศรวมกันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่ำกว่าครึ่งของที่ปล่อยกันทั้งโลก) ก็ประสบปัญหาภูมิอากาศรุนแรง อากาศในเมืองใหญ่ของจีนเลวร้ายลงมากเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรม มีการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า มีการเผาไหม้ Fossil fuels (พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ไม้ วัสดุอื่น ๆ ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ) เป็นพลังงาน ส่วนสหรัฐอเมริกาและกลุ่ม EU ก็เห็นชัดเจนว่าโลกที่มีอายุ 4,500 ล้านปีนั้นเริ่มไม่เหมือนใบเก่าขึ้นทุกที ประชาชนก็สร้างแรงกดดันให้แก้ไขมากขึ้น จนในปี 2014 จีนและสหรัฐอเมริกาก็มีข้อตกลงที่จะพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ระหว่างนี้กลุ่มผู้นำของ UN ก็เดินสายหาเสียงสนับสนุนการมีข้อตกลงครั้งสำคัญในระดับโลกที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน คนจำนวนมากในหลายประเทศทำงานกันหลังฉากอย่างหนักโดยมีการเตรียมตัวกันมาเป็นอย่างดี โดยตั้งใจจะใช้การประชุมปี 2015 นี้แหละเป็นหลักชัย

ในที่สุด 196 ประเทศก็มาร่วมประชุมกันที่ชานกรุงปารีสตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน ถกเถียงต่อรองกันดึกดื่นเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันกว่า 10 วัน ก็ได้ข้อตกลงที่เรียกว่า Paris Agreement (นายกรัฐมนตรีไทยก็ไปร่วมประชุมด้วย และมีข่าวว่ากระทรวงทรัพยากรตั้งใจใช้เงิน 80 ล้านบาท เพื่อส่งคนจำนวนมากไปร่วมประชุม ซึ่งมีการชี้แจงไม่เป็นความจริง มีแผนการใช้เงินไม่ถึง 1 ใน 4 และน่าจะคุ้ม) เหตุที่ประสบผลสำเร็จก็เพราะเปิดโอกาสให้ทุกประเทศส่งข้อเสนอว่าตนเองจะมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร และรวบรวมเอามาเป็นข้อสรุป แต่ละประเทศต้องมีคนไปร่วมจำนวนมากเพราะต้องต่อรองตกลงกันในที่นั้นเพื่อหาข้อสรุปให้ได้

ฝรั่งเศสประเทศเจ้าภาพทำหน้าที่อย่างดียิ่งจนได้รับคำชมในการเป็นผู้ประสานทุกทิศเพื่อให้สำเร็จ การที่ทุกประเทศมีฐานะเท่าเทียมกันในการเสนอความคิดเห็นทำให้เกิดพลังร่วมซึ่งต่างจาก Copenhagen 2009 ที่ใช้ประเทศใหญ่เป็นผู้ร่างข้อตกลง (แนว “ดิ่ง” ไม่เคยสู้ “แนวราบ” ได้)

เป้าหมายของข้อตกลงก็คือ ก่อน ค.ศ. 2100 จะต้องควบคุมไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซนติเกรดเมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว และถ้าจะให้ดีเยี่ยมก็คือไม่เกิน 1.5 องศาเซนติเกรด สำหรับเป้าหมาย 2 องศานั้นโลกจะต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ (หักกลบลบที่ปล่อยและที่ถูกดูดโดยต้นไม้และวิธีทางวิทยาศาสตร์) เป็นศูนย์ใน 50 ปีหลังของศตวรรษนี้ (2050-2100)

Paris Agreement มีความสำคัญต่อโลกอย่างยิ่งเพราะเป็นครั้งแรกที่โลกมีข้อตกลงร่วมกัน และเป็นสัญญาณครั้งแรกอย่างจริงจังว่ายุคสมัยของการใช้พลังงานจาก fossil fuels ที่มีมากว่า 100 ร้อยปีนั้นบัดนี้ได้เริ่มจบสิ้นลงแล้ว มันเป็นสิ่งบอกเหตุว่าต่อนี้ไปโลกจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงกว่าเก่า

ข้อตกลงนี้จะส่งสัญญาณไปยังนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ในโลกในเรื่องการผลิต การบริโภค การลงทุน ที่ต้องเป็น “สีเขียว” (ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง มีการเผาไหม้น้อยลง มีรีไซเคิลมากขึ้น) ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวิธีการดำรงชีวิตของผู้คน หลักสูตรการศึกษา การวางผังเมือง การปลูกบ้าน การใช้วัสดุปลูกบ้าน การใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิตและบริโภค การดูแลของเสีย สไตล์การดำรงชีวิต การเดินทาง ฯลฯ

สัญญาณนี้จะลงไปถึงตลาดการเงินโลก (บริษัทใดที่ไม่เป็นสีเขียวก็จะมีคนร่วมลงทุนน้อยลง) ตลาดพลังงาน (ราคาน้ำมัน ราคา fossil fuels การใช้พลังงานทดแทน) ส่งเสริมประดิษฐกรรมที่ช่วยให้เป็นโลกสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา solar cells การใช้พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ และพลังงานทดแทนอื่น ๆ

การจะบรรลุ “2 องศา” ได้จริงหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือมติมหาชนในเรื่องการเป็นสีเขียวของชาวโลกว่าเป็นสิ่งพึงปรารถนาเพราะโลกได้มีมติร่วมกันแล้ว การกระทำใดที่ไม่เขียวเป็นสิ่งพึงรังเกียจ โมเมนตัมที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นแรงกดดันที่มีพลังมหาศาลต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ ของประเทศใหญ่และเล็กให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง

อาจมีข้อสงสัยว่า Paris Agreement นี้มีผลทางกฎหมายหรือไม่ คำตอบก็คือ “มี” และ “ไม่มี” กล่าวคือจะมีผลทางกฎหมายในระดับหนึ่งหากมีการลงนามระหว่างเมษายน 2016 – เมษายน 2017 โดยอย่างน้อย 55 ประเทศที่ร่วมกันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันกว่าร้อยละ 55 ของที่ปล่อยทั้งโลก เมื่อมีการลงนามแล้วแต่ละประเทศต้องรับเงื่อนไขไปดำเนินการภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศต่อไป

ข้อตกลงนี้ไม่มีบทลงโทษหากไม่ทำตาม แต่จะต้องมีการรายงานโดยทุกประเทศทุกๆ 5 ปีว่าได้ดำเนินการในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปมากน้อยเพียงใดและอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยตนเองได้หรือไม่เพียงใด การรายงานนี้จะมีผลบังคับทางกฎหมาย

มีการใช้ระบบ “name and shame” หรือประเทศถูกประจานให้อายหากไม่ทำตามข้อตกลงที่ตนเองได้ทำไว้ โดยมีระบบการตรวจสอบโดย UN เชื่อกันว่าข้อตกลงนี้จะมีผลต่อประเทศยักษ์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนโลกทัศน์ในการใช้ fossil fuels ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

แมลงสาบอยู่รอดมาได้นับล้านปีเพราะความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ผู้น่าจะฉลาดกว่าแมลงสาบจะอยู่รอดได้ก็ด้วยการใช้ความสามารถของแมลงสาบบวกความสามัคคีร่วมมือกันทั้งโลกในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 29 ธ.ค. 2558