Hesse004

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งปรากฏตามหน้าสื่อระดับโลก คือ ข่าวการสอยอดีตประธานาธิบดีกัวเตมาลา นายพลโอโต เปเรซ โมลีนา (Otto Perez Molina) ด้วยข้อหารับสินบนจากกลุ่มธุรกิจเพื่อแลกกับการตรึงอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าบางประเภทให้อยู่ในระดับต่ำ
…กัวเตมาลา ประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ในทวีปอเมริกากลาง ในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของสเปน ปัจจุบันกัวเตมาลาปกครองในระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและผู้นำฝ่ายบริหาร
แน่นอนว่าปัญหาคอร์รัปชันของกัวเตมาลาไม่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก กล่าวคือ ค่าดัชนี Corruption Perception Index (CPI) ของกัวเตมาลายังอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยราด โดยคะแนน CPI ย้อนหลัง 5 ปี (2011-2015) อยู่ที่ 32, 27, 33, 29 และ 32 จากคะแนนเต็ม 100
กัวเตมาลาจัดอยู่ในกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนา เคยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมมากที่สุดในกลุ่มลาตินอเมริกา การที่กัวเตมาลายังล้าหลังอยู่เช่นนี้เนื่องจากเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 36 ปี (ค.ศ. 1960-1996) หลังจากปี ค.ศ. 1954 กองทัพกัวเตมาลาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนเฮาว์ (Dwight Eisenhower) และหน่วยสืบราชการลับ CIA ช่วยกันโค่นล้มรัฐบาลของนายจาโคโบ อาร์เบนซ์ (Jacobo Arbenz)
สงครามกลางเมืองทำให้กองทัพเข้ามากุมอำนาจรัฐต้องรบกับฝ่ายต่อต้านที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต การสู้รบที่ยาวนานทำให้ประเทศเดินไปไม่ถึงไหน จนกระทั่งสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1996 กัวเตมาลาจึงเข้าสู่ยุคของสันติภาพและสร้างประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอร์รัปชันในกัวเตมาลาเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน การบริหารราชการแผ่นดินของทุกรัฐบาลล้วนแต่มีเรื่องฉาวโฉ่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเรื่องจะถูกเปิดโปงออกมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
กรณีของนายพลโมลีนา นายทหารเกษียณอายุราชการที่หันมาลงเลือกตั้งเอาดีทางการเมือง เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในการรับสินบนจากกลุ่มนักธุรกิจเพื่อให้ช่วยตรึงการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภท

ก่อนหน้านี้ นางโรซาน่า บัลดิติ (Roxana Baldetti)อดีตรองประธานาธิบดีในรัฐบาลของโมลีนา ถูกจับข้อหารับสินบนเรื่องนี้เช่นกัน และท้ายที่สุดเรื่องสาวมาถึง “ปลาใหญ่” อย่างนายพลโมลีนา
คดีคอร์รัปชันถูกสื่อมวลชนกัวเตมาลาตั้งชื่อว่าเป็น La Linea Corruption Case คำว่า La Linea หมายถึง สายโทรศัพท์ ซึ่งพันกันมั่วซั่วเหมือนกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน (Corruption ring)
นักคอร์รัปชันศึกษาทุจริตวิทยา มักใช้ Ring ที่แปลว่า “วงแหวน” อธิบายพฤติกรรมการรวมกลุ่มของเหล่าคนขี้โกงทั้งหลาย
Ring ที่ว่าจำเป็นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจก็ขึ้นกับผลประโยชน์ที่สมาชิกใน Ring จะได้รับด้วย เพราะอย่าลืมว่า ไม่มีสัจจะในหมู่โจรฉันใด เราก็ไม่อาจหาคำสัตย์จากคนขี้โกงได้ฉันนั้น นอกจากนี้ คนที่ตัดสินใจโกงแล้วต้องมั่นใจว่าตัวเองจะไม่ถูกจับได้ หรือหากถูกจับได้ก็สามารถหลุดจากคดีต่างๆ ได้ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม
กรณีของ La Linea Corruption Case เริ่มต้นถูกขุดคุ้ยจาก The International Commission against Impunity in Guatemala (CICIG) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยความร่วมมือของ UN และรัฐบาลกัวเตมาลาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีออสการ์ เบอร์เกอร์ (Oscar Berger) เมื่อปี ค.ศ. 2006

ที่มาภาพ : http://vocesmayas.aler.org/wp-content/uploads/2015/03/cicig.jpg
CICIG ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของอัยการ ตำรวจ รวมทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนในกัวเตมาลา ซึ่งการที่ UN ยื่นมือเข้ามาช่วยถึงขนาดนี้สะท้อนให้เห็นความด้อยประสิทธิภาพของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ
ทั้งนี้ เป้าหมายของ CICIG คือ การเข้ามาช่วยกวาดล้างปัญหาตั้งแต่กลุ่มแก๊งอันธพาล การก่ออาชญกรรมข้ามชาติ รวมถึงพฤติการณ์ขี้ฉ้อของเหล่าผู้บริหารประเทศที่ไม่คิดว่าจะมีใครทำอะไรพวกเขาด้วย
ในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมา CICIG มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมสำคัญ ๆ ที่ซับซ้อนในกัวเตมาลา โดยเฉพาะเรื่องทุจริตที่สอยทั้งนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น
กรณีการสอยนางบัลดิติ รองประธานาธิบดีและนายพลโมลีนา ประธานาธิบดี รอบนี้ นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ CICIG ที่ช่วยทำให้สังคมกัวเตมาลาตื่นขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีมากขึ้นที่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาสามารถล้มผู้นำรัฐบาลขี้โกงลงได้ด้วยวิถีทางกฎหมาย