Hesse004
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งปรากฏตามหน้าสื่อระดับโลก คือ ข่าวการสอยอดีตประธานาธิบดีกัวเตมาลา นายพลโอโต เปเรซ โมลีนา (Otto Perez Molina) ด้วยข้อหารับสินบนจากกลุ่มธุรกิจเพื่อแลกกับการตรึงอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าบางประเภทให้อยู่ในระดับต่ำ
…กัวเตมาลา ประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ในทวีปอเมริกากลาง ในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของสเปน ปัจจุบันกัวเตมาลาปกครองในระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและผู้นำฝ่ายบริหาร
แน่นอนว่าปัญหาคอร์รัปชันของกัวเตมาลาไม่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก กล่าวคือ ค่าดัชนี Corruption Perception Index (CPI) ของกัวเตมาลายังอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยราด โดยคะแนน CPI ย้อนหลัง 5 ปี (2011-2015) อยู่ที่ 32, 27, 33, 29 และ 32 จากคะแนนเต็ม 100
กัวเตมาลาจัดอยู่ในกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนา เคยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมมากที่สุดในกลุ่มลาตินอเมริกา การที่กัวเตมาลายังล้าหลังอยู่เช่นนี้เนื่องจากเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 36 ปี (ค.ศ. 1960-1996) หลังจากปี ค.ศ. 1954 กองทัพกัวเตมาลาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนเฮาว์ (Dwight Eisenhower) และหน่วยสืบราชการลับ CIA ช่วยกันโค่นล้มรัฐบาลของนายจาโคโบ อาร์เบนซ์ (Jacobo Arbenz)
สงครามกลางเมืองทำให้กองทัพเข้ามากุมอำนาจรัฐต้องรบกับฝ่ายต่อต้านที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต การสู้รบที่ยาวนานทำให้ประเทศเดินไปไม่ถึงไหน จนกระทั่งสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1996 กัวเตมาลาจึงเข้าสู่ยุคของสันติภาพและสร้างประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอร์รัปชันในกัวเตมาลาเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน การบริหารราชการแผ่นดินของทุกรัฐบาลล้วนแต่มีเรื่องฉาวโฉ่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเรื่องจะถูกเปิดโปงออกมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
กรณีของนายพลโมลีนา นายทหารเกษียณอายุราชการที่หันมาลงเลือกตั้งเอาดีทางการเมือง เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในการรับสินบนจากกลุ่มนักธุรกิจเพื่อให้ช่วยตรึงการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภท
ก่อนหน้านี้ นางโรซาน่า บัลดิติ (Roxana Baldetti)อดีตรองประธานาธิบดีในรัฐบาลของโมลีนา ถูกจับข้อหารับสินบนเรื่องนี้เช่นกัน และท้ายที่สุดเรื่องสาวมาถึง “ปลาใหญ่” อย่างนายพลโมลีนา
คดีคอร์รัปชันถูกสื่อมวลชนกัวเตมาลาตั้งชื่อว่าเป็น La Linea Corruption Case คำว่า La Linea หมายถึง สายโทรศัพท์ ซึ่งพันกันมั่วซั่วเหมือนกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน (Corruption ring)
นักคอร์รัปชันศึกษาทุจริตวิทยา มักใช้ Ring ที่แปลว่า “วงแหวน” อธิบายพฤติกรรมการรวมกลุ่มของเหล่าคนขี้โกงทั้งหลาย
Ring ที่ว่าจำเป็นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจก็ขึ้นกับผลประโยชน์ที่สมาชิกใน Ring จะได้รับด้วย เพราะอย่าลืมว่า ไม่มีสัจจะในหมู่โจรฉันใด เราก็ไม่อาจหาคำสัตย์จากคนขี้โกงได้ฉันนั้น นอกจากนี้ คนที่ตัดสินใจโกงแล้วต้องมั่นใจว่าตัวเองจะไม่ถูกจับได้ หรือหากถูกจับได้ก็สามารถหลุดจากคดีต่างๆ ได้ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม
กรณีของ La Linea Corruption Case เริ่มต้นถูกขุดคุ้ยจาก The International Commission against Impunity in Guatemala (CICIG) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยความร่วมมือของ UN และรัฐบาลกัวเตมาลาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีออสการ์ เบอร์เกอร์ (Oscar Berger) เมื่อปี ค.ศ. 2006
CICIG ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของอัยการ ตำรวจ รวมทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนในกัวเตมาลา ซึ่งการที่ UN ยื่นมือเข้ามาช่วยถึงขนาดนี้สะท้อนให้เห็นความด้อยประสิทธิภาพของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ
ทั้งนี้ เป้าหมายของ CICIG คือ การเข้ามาช่วยกวาดล้างปัญหาตั้งแต่กลุ่มแก๊งอันธพาล การก่ออาชญกรรมข้ามชาติ รวมถึงพฤติการณ์ขี้ฉ้อของเหล่าผู้บริหารประเทศที่ไม่คิดว่าจะมีใครทำอะไรพวกเขาด้วย
ในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมา CICIG มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมสำคัญ ๆ ที่ซับซ้อนในกัวเตมาลา โดยเฉพาะเรื่องทุจริตที่สอยทั้งนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น
กรณีการสอยนางบัลดิติ รองประธานาธิบดีและนายพลโมลีนา ประธานาธิบดี รอบนี้ นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ CICIG ที่ช่วยทำให้สังคมกัวเตมาลาตื่นขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีมากขึ้นที่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาสามารถล้มผู้นำรัฐบาลขี้โกงลงได้ด้วยวิถีทางกฎหมาย