
“ปัจจัยลบจากต่างประเทศเป็นปัจจัยลบที่หนักขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของอาเซียนและของไทยด้วย ทำให้ส่งผลเบื้องต้นผ่านการส่งออกลดลง แต่ต้องดูว่าสาเหตุที่ลงไปเยอะเกิดจากอะไรด้วย ก็ต้องรอดูและมาวิเคราะห์กันก่อนว่าจะกระทบมากน้อยแค่ไหน” นายเมธีกล่าว
นายเมธีกล่าวต่อว่าว่าขณะนี้กนง.ได้แสดงความกังวลถึงหนี้เอ็นพีแอลหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่คงไม่ถึงจุดที่จะลุกลามและสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพการเงิน นอกจากนี้ เป้าหมายของนโยบายการเงิน จะแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นถือว่าเป็นผลของนโยบายที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจตามภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้นธปท.คงไม่สามารถใช้นโยบายการสำหรับแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะได้ ขณะที่เสถียรภาพการเงินในประเด็นอื่นๆยังคงติดตาม แต่ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของกนง.
ส่วนความกังวลต่อมาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลที่อาจจะเร่งจำนวนหนี้เอ็นพีแอลและสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพการเงิน นายเมธีกล่าวว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง โดยมาตรการที่ผ่านธนาคารพาณิชย์ ทางธนาคารพาณิชย์เองมีความเข้มงวดในการปล่อยและติดตามสินเชื่อเงินกู้อยู่แล้ว ขณะที่ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะเฉพาะกิจของรัฐ พบว่าหนี้เอ็นพีแอลของสถาบันเหล่านี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ผลกระทบทั้งหมดของมาตรการดังกล่าวต่อหนี้เอ็นพีแอลและการเติบโตของเศรษฐกิจ ถือว่ายังเร็วเกินไปที่จะประมาณการและต้องขอรอดูอีกสักระยะหนึ่ง แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นผลดีและช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยประมาณการใหม่ ธปท.ได้รวมปัจจัยดังกล่าวเข้ามาส่วนหนึ่งแล้ว
“สำหรับกรณีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ขยับขึ้นนั้น มาจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้มีรายได้น้อย และภาคเกษตรกร เนื่องจากมีภาระหนี้สินที่มากทำให้ประสิทธิในการชำระหนี้ด้อยลง แต่โดยภาพรวมสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นไม่ได้น่าเป็นกังวล ในส่วนการขอสินเชื่อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มองว่าเบื้องต้นจะเป็นการช่วยเสริมคล่องมากกว่า เพราะมีการขอไปเพื่อลงทุน ดังนั้นจึงจะไม่กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยสรุปแล้วมองว่าฐานะด้านเสถียรภาพการเงินไทยยังเข้มแข็ง ทุนสำรองเมื่อเทียบกับหนี้ระยะสั้นยังดีอยู่ และระดับหนี้ต่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ” นายเมธี กล่าว
ทั้งนี้ความกังวลค่าเงินที่อ่อนมาแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ นายเมธี กล่าวว่าการลงทุนในปัจจุบันของเอกชนน่าจะคำนึงถึงปัจจัยประกอบอื่นๆเป็นหลักมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุน กำลังการผลิตที่เหลืออยู่ ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินบาทจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการลงทุนของเอกชนมากนัก นอกจากนี้ ภาวะค่าเงินที่อ่อนค่าในปัจจุบัน เป็นไปตามทิศทางของประเทศตลาดเกิดใหม่ และถือเป็นทิศทางที่มีส่วนช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวยังไม่เห็นสัญญาณความผันผวนมากจนต้องเข้ามาดูแล
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 1 ปี 2559 ช้ากว่าที่ประเมินไว้ เพราะราคาน้ำมันยังต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงาน ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อทำให้ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด