ThaiPublica > เกาะกระแส > สามัญดิจิทัล: สถาปัตยกรรมและการออกแบบกับการเชื่อมต่อชีวิตเมือง การใช้ big data ทำระบบการขนส่งที่ตรงเวลา

สามัญดิจิทัล: สถาปัตยกรรมและการออกแบบกับการเชื่อมต่อชีวิตเมือง การใช้ big data ทำระบบการขนส่งที่ตรงเวลา

27 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ศูนย์สังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ในหัวข้อ “สามัญดิจิทัล: พหุลักษณ์ของเทคโนโลยีสื่อและข้อมูลในสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย” โดยมีวิทยากร ดร.ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติและความหมาย (LST) NECTEC Thailand นายบรรยง บุญ-หลง สถาปนิกสมาคมสถาปนิกอเมริกา นายอัครนัย ขวัญอยู่ นักวิจัยมูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่วมแลกเปลี่ยนโดยมีวัตถุประสงค์สร้างความตระหนักรู้และทำความเข้าใจต่อเทคโนโลยีดิจิทัลในสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยในหลากมิติและหลายระดับ และเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนจากนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชา

ในตอนที่ 1 ได้เสนอส่วนของ ดร.ปรัชญา บุญขวัญ ซึ่งได้กล่าวถึงความหมายโดยรวมของ big data และการใช้ระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติเพื่อวิเคราะห์ภาษา จากนั้น นายยรรยง บุญ-หลง ได้อภิปรายต่อในหัวข้อ “สถาปัตยกรรมและการออกแบบกับการเชื่อมต่อชีวิตเมือง” กับการใช้ระบบ big data ทำให้เกิดระบบการขนส่งที่ตรงต่อเวลา ทำให้เกิดการ”แฮ๊ก” (Hack) ระบบเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพได้เช่นกัน โดยเสนอให้มีการทำท่าเรือขึ้นมาใหม่ เชื่อมท่าเรือกับเส้นทางบีทีเอส ทั้งนี้ ยังเสนอให้ลดค่าโดยสารบีทีเอสเพื่อให้ผู้มีรายได้ในทุกระดับจ่ายได้ และยังเสนอเรื่องที่พักแบบแชร์กันได้ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือในอนาคต

นายยรรยงกล่าวว่า”ปกติแล้วเราเดินทางไปทำงานกันคนละกี่ชั่วโมง มีถึง 4 ชั่วโมงไหม หรือว่าวันละ 2 ชั่วโมง นี่เป็นหนึ่งในหัวข้อที่เอามาวิจัยกับธรรมศาสตร์เหมือนกัน ว่าทำอย่างไรให้คนไม่เสียเวลาเยอะขนาดนี้ ลองคิดดู เราใช้เวลาไปครึ่งวัน นั่นก็ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเราใช่ไหม ราคาเวลาของเราที่หายไป จริงๆ มันเยอะ แทนที่เราจะเอาเวลาไปนั่งทางเลียบแม่น้ำ เอาเงินตรงนี้ไปอุดหนุนให้ ราคาบีทีเอสหรือการขนส่งต่างๆ มันถูกลง คนจะได้เข้าถึงได้ไม่ดีกว่าหรือ”

งานวิจัยพบว่า จริงๆ แล้วคนในกรุงเทพฯ มักต้องคิดการขนส่งรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาเองเพื่อจะให้ทำเวลาให้ทัน เราก็พยายามวิจัยนวัตกรรมเหล่านี้ แล้วเปิดให้มันเป็น data คือตอนนี้มันไม่ใช่ open data ก็เป็นเรื่องที่รู้กันแบบไม่เป็นทางการ คือยังไม่มีใครไปจดบันทึกระบบการขนส่งเหล่านี้ไว้

ยรรยงสไลด์3

ภาพนี้เราจะเห็นว่ามอเตอร์ไซค์คล้ายๆ เป็น rail system ชนิดหนึ่ง เพราะมันอยู่ตรงกลาง แล้วก็ลองวิเคราะห์ต่อ สมมติมีแท็กซี่แข่งกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่บล็อกของไฟแดงมันสั้นเท่ารถคันเดียว พอผ่านปุ๊บ 5 นาที ก็หยุดอีก พอไฟแดงแล้วไฟเขียวก็ 5 นาทีอีก มันก็จะถึงพร้อมกันใช่ไหม สุดท้ายแล้ว แท็กซี่กับมอเตอร์ไซค์ถึงพร้อมกันแน่นอน เพราะว่ายังไงมันก็วิ่งมาเจอไฟแดง ซึ่งสั้นเท่ากับรถคันเดียว สมมติบล็อกมันยาวขึ้นมานิดหนึ่งในกรุงเทพ มอเตอร์ไซค์เริ่มได้เปรียบแล้ว เพราะรถแท็กซี่จะติดอยู่ตรงนี้ แต่มอเตอร์ไซค์ไปได้ ถ้าบล็อกยิ่งยาวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ดินเป็นที่ดินส่วนตัวเยอะ มอเตอร์ไซค์ยิ่งได้เปรียบ เพราะเวลาที่รถติด คือเวลาคูณความเร็วของมอเตอร์ไซค์ ค่อยๆ วิ่งมา คือยิ่งบล็อกยิ่งยาวระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้เปรียบ ในแง่ของการเดินทาง

ยรรยง1

ดูภาพ..อันนี้น่าสนใจมาก มันคล้ายๆ เป็นระบบ BRT (รถด่วนพิเศษ) ชนิดหนึ่งที่เราคิดไม่ถึง ที่กำลังวิจัย คือเขียนให้เป็น data เอาไว้ก่อน และระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างนี้ก็น่าสนใจ อย่าง grabtaxi ก็เริ่มเอามาใช้ส่งของแล้ว เพราะมันส่งได้ตรงเวลา สมมติว่ารถติด infinite time (เวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุด) เลย มอเตอร์ไซค์ก็จะนำรถยนต์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย เดี๋ยวนี้เลยกลายเป็นโอกาสสำหรับการส่งของ ไม่ใช่แค่ส่งคนอย่างเดียว ของออนไลน์ก็จะมาแรงในเมืองไทย ก็พยายามบันทึกให้ระบบแผงลอยไว้ด้วยการขนส่ง
….

จากภาพข้างบน ตัวอย่างที่ 1 :ให้ระยะทางที่รถติด (traffic block) สั้นที่สุด เท่ากับความยาวของรถยนต์ ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์นั้นติดไฟแดง 5 นาที คันหนึ่งตามอีกคันหนึ่งโดยที่ไม่มีรถคันอื่นมาแทรก จนรถทั้งสองคันถึงที่หมาย
ในกรณีนี มอเตอร์ไซค์กับรถยนต์จะถึงพร้อมกัน มอเตอร์ไซค์ไม่ได้เปรียบกว่ารถยนต์
ตัวอย่างที่ 2: ให้ระยะของรถติดยาวกว่าตัวอย่างที่ 1 มอเตอร์ไซค์จะซิกแซกผ่านไฟแดง และถึงที่หมายก่อนรถยนต์เล็กน้อย
ตัวอย่างที่ 3: ให้ระยะรถติดยาวกว่าเดิมอีก จะเห็นได้ชัดว่ามอเตอร์ไซค์ใช้เวลาน้อยกว่า ถ้าระยะรถติดนั้นยาวแบบไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมอเตอร์ไซค์จะแซงรถยนต์ไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน

อธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ว่า
Sd = Vm(Tj)
Sd คือ ระยะทางระหว่างรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์
Vm คือ ความเร็วเฉลี่ยของมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านที่ๆรถติดจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดหมาย
Tj คือ ระยะเวลาที่รถติดหรือที่ติดไฟแดง

สรุปว่า ยิ่งมอเตอร์ไซค์ขับไปเร็วในช่วงเวลาที่รถติดหรือติดไฟแดงมากเท่าไหร่ มอเตอร์ไซค์ก็จะนำหน้ารถยนต์ไปมากเท่านั้น

หมายเหตุ 1. ระยะทางที่รถติดต้องมากกว่าหรือเท่ากับ Sd และถ้าระยะที่รถติดสั้นกว่า Sd แล้ว…ให้ปรับค่า Sd ใหม่เป็นความยาวของระยะรถติด… (สมมติให้ตอนที่ไฟแดงเปลี่ยนเป็นไฟเขียว รถยนต์และมอเตอร์ไซค์วิ่งไปด้วยความเร็วเฉลี่ยเท่ากัน)”
2. เนื่องจากสภาพเมืองของกรุงเทพมีที่ดินส่วนบุคคลขนาดใหญ่จำนวนมาก ขนาดความยาวของ block ไฟแดงจึงยาวมาก ทำให้มอเตอร์ไซค์ได้เปรียบรถยนต์เวลารถติด….

ยรรยงสไลด์7

เช่นเดียวกับนวัตกรรมแผงลอย หรือตลาดเคลื่อนที่ที่มันสามารถหนีตำรวจได้ น่าสนใจมาก เป็นการ hack (โกง) เมืองชนิดหนึ่ง ยิ่งมาในรูปแบบนี้ แป๊บเดียว 2 ชั่วโมง ก็เกิดเป็นตลาดขึ้นมาแล้ว

ในอเมริกานิยมเรื่อง instant city (เมืองที่เกิดขึ้นทันที) เช่น Woodstock ใช่ไหม แต่ของเรามีทุกวันเลย ที่พัฒน์พงศ์ ก็ลองดูว่ามี dimension (มิติ) อย่างไร มีระบบอย่างไร จริงๆ มันง่ายมาก เป็นนวัตกรรมที่มี 3 ชิ้นเอง แต่ละชิ้นก็มีหลายอย่าง มีของบนสามชิ้น เสาสี่เสา ส่วนเสาก็เสียบไว้ตรงกลางได้สองชิ้น วางตะแกรง เสร็จแล้วก็เสียบของที่ขายรองเท้า ซีดี ก็จะได้เป็นตลาดแล้ว เวลาเคลื่อนย้ายหนีตำรวจก็ตัดไป

พวกนี้ยังไม่มีใครบันทึกไว้ ถ้าเราบันทึกไว้รู้เลยว่าแผงลอยอยู่ที่ไหน เราก็สามารถเดินไปซื้อได้ โดยไม่ต้องกลัวเทศกิจทั้งสิ้น

big data ก็มีผลต่อ informal sector (ภาคเศรษฐกิจนอกระบบ) มากพอสมควร น่าจะลองทำดู ลองเขียนแอป เราอาจจะรู้ว่าเสื้อนี้มาเมื่อไหร่ เรตติ้งเป็นอย่างไร กินส้มตำจะท้องเสียไหม มันจะมีการจัดอันดับได้ แทนที่แผงลอยจะขายได้แค่ในย่านนั้น พวกก๋วยเตี๋ยวเป็ด ส้มตำ มันจะขายได้ทั้งโลกเลย อาจจะมีคนบินมากินที่นี่ ซึ่งที่ Silicon Valley ได้ทำแล้ว เขาเรียกว่า Trux Map พวกรถทรัคที่ขายทาโก้ของเม็กซิกัน ลองทำดูว่าอยู่ที่ไหน ร้านเปิดขายยัง เช่นเดียวกับในเมืองไทยคือพวกรถที่ขายของชำ มันป็นตลาดเคลื่อนที่ที่โลตัสกำลังทำอยู่ตอนนี้

Harvard Business Review เคยพูดถึงบริษัทวิจัยหนึ่ง เครื่องทำกาแฟในบริษัท เวลาคนมาพูดคุย เขาจะต้มกาแฟ อีก 10 นาที ก็จะมีคนบอกว่ากาแฟเสร็จแล้ว คนจากแต่ละแผนกก็จะมากินกัน ก็จะเทจากเหยือก มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนระหว่างแผนกกัน CEO บริษัทนี้ดีใจมากเลย เครื่องทำกาแฟนี้ทำให้พูดคุยกันมากในแต่ละแผนก คราวนี้เลยซื้อเครื่องทำกาแฟอย่างดีมากเลย ที่ทำกาแฟได้เร็วทันที ปรากฏว่าการพูดคุยก็หยุด ไม่มีใครพุดคุยกันอีกเลย เพราะมันกดได้ทีละแก้ว กดแล้วก็ไป เหมือนร้านสะดวกซื้อ ก็ไม่มีการคุยกัน นวัตกรรมอะไรก็หายไป จนกว่าจะรู้ ก็มีนักวิจัยมาบอก ตอนต้นที่มาเจอกันเพราะใช้เวลานานไม่ใช่เพราะกาแฟ

รถขายของชำนั้นก็มีนวัตกรรมหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมมาคุยกัน เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว แต่อาจจะมีวิธีที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้แบบทันสมัย big data อาจจะทำให้มีการติด GPS ข้อมูลต่างๆ ต้องทำให้เป็น open source ไม่อย่างนั้นก็พัฒนาไม่ได้ ถ้าไม่มีใครจดเอาไว้เป็น blueprint ระบบที่ไม่เป็นทางการ จะมีการ hack กันเยอะใช่ไหม ทั้งมอเตอร์ไซค์วิน แผงลอย

แต่ระบบที่เป็นทางการก็โดน hack เหมือนกัน ที่น่าสนใจคือ ตอนที่อยู่ซานฟรานซิสโก มีคนไร้บ้านมาขอตั๋วBART (รถไฟฟ้า) แล้วสมมติว่ากำลังเดินทางจากตรงนี้มาตรงนี้ เขาก็มาขอตั๋วหน่อย คุณใช้ตั๋วนี้ก็ออกได้เหมือนกัน เรามาคิดว่าตั๋วที่ออกได้ เขาอาจจะซื้อไว้แค่สถานีเดียว เพราะฉะนั้น เครื่องตรวจก็จะเห็นแค่สถานีเดียว ก็ออกสถานีนี้ ก็ไม่เป็นไร ออกมาได้ แต่เขาเอาตั๋วที่มีค่ามากกว่าหกสถานีไปใช้ ฉะนั้นเขามาถึงนี่ได้เลย เพราะเครื่องนี้มันเห็นแล้วว่าคนนี้เดินทาง เป็นการ hack ระบบที่เยี่ยมยอด คือเครื่องนี้มันจะเห็นว่ามาจากสถานีนี้ๆ

ยรรยง2

อนาคตอาจจะมีคนทำแอปขึ้นมา คนพเนจร เขาอาจจะซื้อแค่สองสถานีเอง แล้วในแอปก็จะบอกว่าในเส้นทางที่คุณกำลังไป มันมีคนที่สวนทางกันมาทางจุด B คนไหนบ้าง แล้วคุณควรจะไปแลกตั๋วตรงไหน มันก็มีวิธีแบบนี้ได้ แม้แต่ระบบที่เป็นทางการก็โดนได้ big data ทำให้คนมองในมุมแปลกๆ

ยรรยงสไลด์15

ตอนที่ทำวิจัยเรื่องระบบเรือที่คนกรุงเทพฯ ทำกลุ่มเรือแสนแสบ ไปสัมภาษณ์คุณชวลิต (ชวลิต เมธยะประภาส นายกสมาคมเรือไทย และเจ้าของบริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด) เรือท่านทำไมเป็นอย่างนี้ เขาตอบ “คนชอบหาว่าเรือผมไม่ดี ผมขายเวลา ผมไม่ได้ขายเรือ” ก็น่าสนใจ จริงๆ เรือแสนแสบก็เหมือนบีทีเอสนี่แหละ รักษาเวลาได้ ราคาถูกกว่าบีทีเอสด้วย มัวแต่เอาเงินไปใช้กับอะไรก็ไม่รู้ อย่างบีทีเอสมันน่าจะทำให้ราคาถูกลงได้มันจะได้พ่วงกับเรือได้ด้วย ไม่อย่างนั้นคนนั่งเรือมาจะต่อบีทีเอสก็คิดแล้ว มันแพงขนาดนี้ ใครจะต่อ

ก็ลองดูระบบนี้ tension ถ้ามีไฮดรอลิกปั๊มนะ สามารถดึงหลังคาไปข้างหลังได้ เพราะบางทีสะพาน กทม. เตี้ยมาก มันสามารถดึงเชือกไปข้างหน้าเพื่อหลบสะพาน คนเก็บตั๋วอยู่ข้างนอกใส่หมวกกันน็อกเผื่อว่าชนสะพาน

นวัตกรรมพวกนี้ ฝรั่งอาจจะบอกว่า ยอดนะ ถ้าเปลี่ยนเครื่องบังคับเขาอาจจะไปใช้ที่อัมสเตอร์ดัมก็ได้ ระบบหลังคาที่มันปรับได้ แต่มันไม่มีใครบันทึกเป็นเอกสารไว้เป็น blueprint จริงๆ ของพวกนี้เป็นนวัตกรรมแต่ต้องทันสมัยขึ้นมาหน่อย

ระบบบีทีเอสก็เป็นระบบที่ตรงต่อเวลา ระบบคลองที่กรุงเทพฯ ที่ลองทำวิจัยกับธรรมศาสตร์ถ้าเอาคลองไปเชื่อมกับระบบที่ตรงต่อเวลา เช่น วินมอเตอร์ไซค์ หรือบีทีเอส มันน่าจะทำให้คนในเมืองวางแผนชีวิตได้ ปกตินั่งรถ 2 กิโลเมตร อาจจะติด 2 ชั่วโมงก็ได้ แต่นั่งเรือ นั่งบีทีเอสยังไงก็ชัวร์ แต่คนละราคา

ปัจจุบันมีจุดตัดคลองเยอะนะ คือจุดสีน้ำเงิน จุดตัดสีแดงคือตัดอยู่แล้วแต่คลองยังไม่เปิด คือไม่มีการเดินเรือ ทาง กทม. กำลังเดินเรือคลองลาดพร้าว

ยรรยงสไลด์23

ที่สำคัญคือ จะเดินเรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าบีทีเอสราคายังสูงอยู่ คนจะต่อเรือมาบีทีเอสก็ต้องคิดเรื่องราคา อาจจะใช้เป็นโปรโมชั่นโชว์ตั๋ว คุณนั่งเรือมาแล้วมานั่งบีทีเอส จะลดราคาได้ อย่างนี้น่าสนใจ

ได้ชวนให้ ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล มาช่วยวิจัยเรื่องการเอาบีทีเอสมาต่อ ลองทำเป็นเวกเตอร์สัก 3,000 เส้น แล้วลองใส่ระบบเครือข่ายรางเข้าไป เหมือนเป็น magnetic field (สนามแม่เหล็ก)

ยรรยงสไลด์25

เส้นสีแดง คือเส้นที่เข้าไม่ถึงระบบราง ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เข้าไม่ถึงระบบรางบีทีเอส ส่วนที่เข้าถึงคือสีขาว ตั้งอัลกอริทึมว่าตรงไหนที่เข้าถึง ให้สีแดงหายไปจากภาพ ก็จะเห็นว่าส่วนสุขุมวิทหายไปจากภาพ สีลมหายไป ทั้งนี้ยังไม่ได้ใส่ข้อมูลเรื่อง density (ความหนาแน่น)

ยรรยงสไลด์27

ถ้าเปิดแค่คลองจะเห็นว่าสีขาวมันอยู่ย่านธรรมศาสตร์ เมืองเก่า เพราะสมัยก่อนใช้คลองกัน ถ้าเปิดแค่คลองตรงนี้ได้ประโยชน์ เข้าถึงได้ จะเห็นว่าพื้นที่แถวสุขุมวิท สยามพารากอน ยังแดงอยู่ ถ้าเปิดทั้งสองอันก็ขาวขึ้น เป็นระบบที่น่าสนใจ

ยรรยงสไลด์26

จริงๆ แรงบันดาลใจมากจากอเมซอน มีกบฏฟาร์ก เป็นคอมมิวนิสต์ ใช้คลองเหมือนกัน เอาไว้ส่งยาเสพติดไปให้อเมริกา น่าสนใจมาก ที่วิศวกรรัสเซียไปช่วยเขาออกแบบเรือดำน้ำในคลอง ข้างในมี GPS ดาวเทียม ใช้คลองเชื่อมต่อกัน ถ้ารวมระบบด้วยก็ 2 ล้านเหรียญแล้ว ถ้าจะเป็นระบบไฟเบอร์กลาส เรือดำน้ำเองก็ไม่แพง

ในชุมชนคลองลาดพร้าวที่ทำอยู่ คุยกับชุมชนว่ามาทำท่าเรือส่งของกัน แข่งกับเซเว่นที่เขาส่งทางถนนได้ไหม เพราะคนที่อยู่ริมคลองก็เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ถ้าใช้คลองเชื่อมบีทีเอส อาจจะเร็วกว่า ส่งได้ทั้งวันด้วย ก็ทดลองดู ทำท่าเรือเถื่อนมา มีหลายท่าเรือแล้ว กทม. ก็โอเคแล้ว

ในแง่ของกราฟเดียว ถ้าเรามีท่าเรือหรือโทรศัพท์สองเครื่อง A กับ B คุณโทรยังไงก็ได้แค่สองคน แต่คุณเพิ่มอีกแค่สามจุด มันไม่ใช่แค่เพิ่มสามเท่านะ มันเพิ่มสิบเท่า มันเป็น permutation function ถ้าเราลองเพิ่มเรือสัก 3-5 ท่า การเชื่อมต่อจะเกิดอะไรขึ้น เหมือนระบบอินเทอร์เน็ต ลองสร้างเครือข่ายขึ้นมาก่อน แล้วดูว่าจะเกิดธุรกิจอะไรขึ้นมา

“สุดท้าย เป็นไอเดียหนึ่งที่ลองคิดดู เรื่องที่อยู่อาศัย ในปัจจุบันเรากลับบ้านกันกี่โมง พอกลับถึงบ้านก็นอน ก็น่าจะมีครัว ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ก็คิดว่าถ้ามีระบบที่ห้องนั่งเล่นแชร์กันได้ ระบบ big data ก็มีห้องน้ำ ห้องครัว แล้วก็ห้องนั่งเล่น เมื่อไหร่ที่ต้องการก็จองผ่านมือถือ จอง 4 ชั่วโมง เป็นต้น ห้องก็จะขึ้นมา เหมือนลิฟต์ขนของ จะมีแอปที่บอกได้ว่ามีคนอยู่ไหม มีเซนเซอร์”

อ่านบทความเพิ่มเติม