บรรยง พงษ์พานิช
ดรีมทีมไม่มี…เซียนไม่มี…กูรูก็ไม่มี…เทพยิ่งไม่มีใหญ่…
เราทุกคนต้องช่วยกันทำงานเท่านั้นประเทศจึงจะพ้นกับดักได้
“เศรษฐกิจห่วยแตก”…”เศรษฐกิจดิ่งเหว”…”การค้าฝืดเคือง”…”รากหญ้าเดือดร้อนหนัก” …ทั้งหมดนั่นดูเหมือนจะเป็นคำบ่นของคนไทยทั่วทุกชนชั้นในวันนี้ ทั้งพ่อค้านักธุรกิจไทยเทศ ทั้งเศรษฐี คนชั้นกลางยันลงไปถึงรากหญ้าคนชายขอบต่างก็ถูกกระทบไปกับภาวะเศรษฐกิจที่มันหม่นหมองกันไปแทบทั้งสิ้น
ถ้ามาเทียบกับภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลก ไทยเราถึงจะไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย แต่ก็ขยายตัวได้ตำ่กว่าคาด ทำได้แค่ 2.9% ในครึ่งปีแรก และทั้งปีก็มีแนวโน้มว่าจะขยายได้ไม่ถึง 3% ตามที่เคยมีการคาดการณ์ ยิ่งไปคำนึงถึงว่าสองปีก่อนหน้านี้เราก็แทบไม่โต คือโตเพียง 2.9% ในปี 2556 และ 0.7% ในปี 2557 ก็เลยรวมสามปีจะโตเฉลี่ยแค่ปีละ 2.2% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราต่ำเตี้ยถึงขั้นอัปลักษณ์เลยทีเดียวถ้าเทียบกับประเทศ Emerging Economies ทั้งหลาย
ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะไม่ได้อยู่ในภาวะรุ่งเรือง ถึงแม้ว่าเกิดภาวะชะงักกันไปทั่ว ทั้งด้านการค้า การลงทุน ถึงแม้ว่าองค์กรอย่าง IMF จะเกิดอาการเช่นเดียวกับสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ของไทย คือปรับลดอัตราคาดการณ์กันเป็นรายไตรมาส… แต่จากคาดการณ์ล่าสุด (ก.ค. 2015) IMF ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ในอัตรา 3.3% (จากเดิมคิดว่าจะโต 3.5%) โดยประเทศร่ำรวยถึงแม้จะโตไม่ดี (2.2%) แต่ก็ไม่มีใครถดถอย
ส่วนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่แม้จะลดการร้อนแรงแต่ก็ยังไปได้ดีพอควร Emerging & Developing Economiesโดยรวมของโลกจะโตได้ 4.2% โดยจะมีแค่รัสเซียกับบราซิลเท่านั้นที่ถดถอย …Emerging Asia ที่นำโดยจีนถึงจะลดดีกรีความแรงแต่ก็ยังเป็นแชมป์จะโตได้ถึง 6.6% (ปีที่แล้ว 6.8%) โดยจีนจะโต 6.8% อินเดีย 7.5% และ ASIAN5 (ที่มีพี่ไทยคอยถ่วง) ก็จะโต 4.7%
…สรุปได้เลยว่าอัตราเติบโตเราหดหู่ รั้งท้ายล้าหลังแทบทุกประเทศที่ควรเปรียบเทียบ
ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือ นักวิชาการหลายคนจากหน่วยงานเศรษฐกิจทั้งหลาย เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ ต่างก็บอกว่าศักยภาพอนาคตนั้นก็ค่อนข้างจำกัด ยากที่จะโตได้มากกว่า 5% เหมือนอย่างเคยหรือเหมือนอย่างคนอื่นเขา …ศักยภาพตาม New Normal ของไทยนั้นอยู่แค่ 3-3.5% ต่อปี ด้วยว่าทรัพยากรต่างๆ ถูกใช้งานเกือบเต็มที่แล้ว แรงงานก็ขาดแคลน แถมเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ …ซึ่งถ้าเป็นความจริงนั่นก็หมายความว่า ไทยเราจะได้เป็นประเทศพัฒนามั่งคั่งประมาณปี 2590 (ผมอายุ 93)
ไอ้โตช้ารวยช้านี่หลายคนอาจจะไม่สนใจ โดยเฉพาะพวกที่รวยแล้วรอดแล้ว …แต่อย่าลืมว่ามีคนอีกหลายสิบล้านคนที่เขายังต้องปากกัดตีนถีบ ยังไขว่คว้าหาโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก การโตช้านั้นย่อมหมายถึง “โอกาส” ย่อมหายากยิ่ง แถมไอ้พวกรวยแล้วมันยังกั๊ก “โอกาส” ไว้ซะเป็นส่วนใหญ่เสียอีก และไอ้การแย่งชิงโอกาสนี่แหละครับ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ปัญหาความแตกแยกหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะลักษณะสังคมปัจจุบันที่เมืองขยายตัวมาก การกระทบกระทั่งเกิดได้ง่าย …ซึ่งถ้าเกิดความวุ่นวายขึ้นมา ไอ้ศักยภาพที่มีต่ำอยู่แล้วก็จะยิ่งหดหายเข้าไปอีก เกิดปัญหาวนเป็นลูกโซ่ โอกาสที่จะได้เป็น Failed State ก็อยู่แค่เอื้อม
สรุปได้เลยว่า ทั้งๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลาง ที่เพิ่งมาได้แค่ครึ่งทางของการพัฒนา ไทยเรากลับชะงักงันติดกับลึก เหมือนรถหมดน้ำมัน ลูกโป่งหมดแรงซะอย่างนั้น
แล้วจะทำยังไงกันล่ะครับ….ไอ้เตาเอาแต่บ่นทำลายความมั่นใจที่เขากำลังพยายามสร้างพยายามวาด ไม่เห็นมีข้อเสนออะไรเลย
ถ้าคิดแบบ “สังคมอุปถัมภ์” (Patronage) แถมด้วยความมักง่ายแบบไทยๆ …เราก็อาจบอกว่าง่ายนิดเดียว ก็ปรับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลสิ สร้างดรีมทีมขึ้นมา แล้วก็ถือเป็นหน้าที่ที่เขาต้องไปหาวิธีมาทำให้เราได้ดี จะทำอะไรก็ได้ ขอให้เราดีขึ้น (..อ้อ แต่ต้องห้ามให้กรูได้รับผลกระทบนะโว้ย ให้ดีขึ้นได้อย่างเดียว ไม่งั้นกรูจะประท้วงโวยวาย)
ซึ่งพี่ตู่ก็สนองแนวคิดนี้ให้ไปแล้ว เราก็มี “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ใหม่กันแล้ว นี่ก็ได้ข่าวว่าท่านทำงานกันหนักมาก เริ่มงานกันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เสาร์อาทิตย์ไม่มีพัก ออกมาตรการมาชุดใหญ่ เตรียมจี้ เตรียมขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมเต็มที่ สร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง
ถามว่าพอไหม….มั่นใจได้ไหมว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ทิศทางที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน
ผมขอบังอาจตอบเลยว่า “ไม่พอหรอกครับ” ทำแค่นี้ แค่ตั้งดรีมทีมไปหามาตรการมา ไม่สามารถแก้ปัญหารากฐานได้จริงหรอก จะต้องมีการตื่นตัวร่วมมือกันทุกภาคส่วนที่จะปฏิรูปทั้งระบบอย่างเป็นประสิทธิผลเท่านั้น ซึ่งลำพังอำนาจรัฐ ทรัพยากรรัฐเพียงเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ จะต้องมีการตื่นตัวกันอย่างจริงจัง
ที่ว่าอย่างนี้ ไม่ได้เป็นการดูถูกให้ไม่เกิดการมั่นใจในรัฐบาลหรือดรีมทีมชุดใหม่ (ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็รู้จักคุ้นเคยดี และยังช่วยเหลือรับใช้ตลอดมา) แต่อย่างใด และผมก็เห็นด้วยว่าความมั่นใจเป็นปัจจัยสำคัญ เพียงแต่ต้องมั่นใจในสิ่งที่เป็นจริงเท่านั้น ความมั่นใจในภาพลวงตานั้นไม่มีทางที่จะจีรังยั่งยืนไปได้เลย
ผมเห็นด้วยที่ท่านรองนายกฯ สมคิดที่ว่า เศรษฐกิจไทยมีรากฐานที่ดี ที่มั่นคงแข็งแกร่งอยู่มากมายหลายประการ เช่น เราเป็นเศรษฐกิจที่มีการกระจายตัวดี (Well Diversify) ทั้งทางด้าน Sector และด้าน Market ไม่ได้พึ่งกับอุตสาหกรรมใดหรือตลาดไหนมากเกินไป และในปัจจุบันเรามีเสถียรภาพดีแทบทุกด้าน ระบบการเงินและสถาบันการเงินมีความแข็งแรง บัญชีเดินสะพัดก็เกินดุลตั้ง 4% ของรายได้ประชาชาติ หนี้สาธารณะที่ 41% ของ GDP ก็อยู่ในระดับที่ยังบริหารจัดการได้สบาย เรียกได้ว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤติใดๆ ด้านเศรษฐกิจในระยะสั้นนี้แทบไม่มีเอาเลย
ปัญหามันมีอยู่ว่ามันไม่โต มันฝืดเคืองติดกับดักไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การบริโภค การลงทุนทั้งภาครัฐภาคเอกชน แถมราคาสินค้าก็ตกต่ำทั้งโลก
เรามาดูปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่สุดกัน …รากฐานของความชะงักงันนั้น มันเกิดจากการที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มีการเติบโตในด้านผลิตภาพ (Productivity Growth) ที่เพียงพอที่จะสร้างความเติบโตที่ยั่งยืน และเพียงพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ อีกมุมหนึ่งก็คือต้นทุนมันเติบโตมากกว่าผลิตภาพ ค่าแรง ค่าครองชีพ ราคาที่ดิน วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตต่างๆ มันขึ้นไปมากกว่าผลิตภาพ มากกว่าการเพิ่มของผลผลิตมากกว่ามูลค่าเพิ่มที่สร้างขึ้น มันก็เลยแป้กชะงักไปหมด
ขออธิบายเบสิกของเศรษฐศาสตร์หน่อยนะครับ …ปกติการเพิ่มผลิตภาพนั้นทำได้หลายทาง เพราะผลิตผลนั้นเกิดจากการที่เราใช้ปัจจัยการผลิต อันได้แก่ ทุน ที่ดิน แรงงาน เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบใส่เข้าไปแล้วประกอบการให้ได้ผลออกมา ผลิตภาพนั้นย่อมหมายถึงผลที่ได้เปรียบเทียบกับปัจจัยที่ใช้นั่นเอง การเพิ่มผลิตภาพก็คือสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการเพิ่มปัจจัย ซึ่งปกติย่อมหมายถึงการเพิ่มจำนวนแรงงาน เพิ่มทักษะแรงงาน การเพิ่มการลงทุน ปรับปรุงกระบวนการผลิต ใส่เทคโนโลยี ไต่ห่วงโซ่คุณค่า ฯลฯ
มีงานวิจัยมากมายยืนยันว่า การเพิ่มผลิตภาพในด้านต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็น Total Factor Productivity Growth ในภาคอุตสาหกรรม ผลิตผลต่อไร่หรือต่อคนในภาคเกษตร หรือแม้ในภาคบริการก็ไม่ได้มีการเพิ่มผลิตภาพที่ดีเลย อัตราการเพิ่มนั้นน้อยกว่าการเพิ่มของรายได้ประชาชาติเสียอีก …ยิ่งภาครัฐยิ่งแย่ใหญ่ เราเพิ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 50% ในสิบปี เพิ่มเงินเดือนค่าจ้าง 100% ขณะที่บริการได้ย่ำแย่เหมือนเดิม รัฐวิสาหกิจยิ่งเห็นชัด สิบปีขยายสินทรัพย์สามเท่า ขยายกิจกรรมแต่ผลตอบแทนผลประกอบการกลับถอยลงๆ มีผลตอบแทนต่อทรัพย์สินไม่ถึง 2% หลายแห่งมีฐานะย่ำแย่ใกล้ล้มละลาย
พอพูดถึงศักยภาพยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะปัจจัยการผลิตต่างๆ ดูเหมือนถูกใช้งานเต็มที่แล้ว ไม่มีการว่างงาน ที่ดินทำกินก็เหลือเพิ่มได้น้อย ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ (นี่ก๊าซก็เหลือใช้แค่หกปี แต่ท่าน NGOs ก็ยังไม่ยอมให้ขุดหาใหม่) การลงทุนภาคเอกชนชะงัก (เพราะไม่มีกำลังซื้อ ส่งออกหดตัว แถมกำลังการผลิตเหลือเยอะ) หนี้ครัวเรือนถึงคอหอย ภาครัฐก็ลงได้ช้าไม่คล่องตัว (เพราะกินได้ไม่คล่องคอเหมือนเดิม) และที่สำคัญก็คือเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เรียกว่า “แก่ก่อนรวย” ซึ่งก็หมายความว่าปัจจัยด้านแรงงานจะลดลงเรื่อยๆ จะมีคนกินมากกว่าคนทำมากขึ้นเรื่อยๆ …นี่แหละครับเขาถึงเรียกว่าศักยภาพจำกัด จนน่าหดหู่ หารูที่จะโตได้ยากมากๆ
แล้วที่ผ่านมาเราโตมาได้อย่างไรล่ะ ทั้งๆ ที่ผลิตภาพเราก็โตแผ่วๆ มาตั้งนานแล้ว…อันนี้ต้องขออธิบายย้อนหลังหน่อยนะครับ จริงๆ แล้วสามสิบห้าปีก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งนั้นที่เราเติบโตได้ดีเฉลี่ย 8% ต่อปีนั้น ถือว่าเติบโตทั้งปัจจัยเพิ่ม ประสิทธิภาพเพิ่ม แต่พอมาหลังวิกฤตินี่หลังตั้งหลักได้ตั้งแต่ปี 2543 สิบปีแรกต้องบอกว่าโตเพราะลดราคา เนื่องจากเงินบาทลดค่าตั้งกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เกิด External Price Adjustment การส่งออกพุ่งกระฉูด เติบโตจาก 30% เป็น 65% ของGDP …แต่พอมาห้าปีหลัง (2552-2557) เกิดวิกฤติโลก การค้าโลกลด แถมไทยเริ่มเสียความสามารถในการแข่ง (เพราะผลิตภาพไม่เพิ่มอย่างที่บอกแล้ว) แถมเจอทั้งภัยธรรมชาติ ภัยแตกแยกกันเอง …ที่โตมาได้เฉลี่ยปีละ 3% นั้นก็เพราะ “รัฐอัดเต็มที่” ผ่านการเพิ่มขนาดรัฐ (แต่ดันไปเพิ่มคนเพิ่มเงินเดือน แทนที่จะลงทุนปัจจัยพื้นฐาน) การเพิ่มขนาดรัฐวิสาหกิจ จัดโครงการประชานิยมที่มีความเสียหายมากต่างๆ รวมทั้งไปกระตุ้นให้คนกู้ยืมมาบริโภคจนหนี้ครัวเรือนถึงคอหอย
สรุปได้เลยว่า นอกจากโตต่ำ โตน้อยแล้ว เรายังโตกลวงอีกด้วย และไม่มีทางที่จะโตแบบนี้ไปได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย เพราะไม่มีอะไรหล่นจากฟากฟ้า โลกนี้ไม่มีข้าวเที่ยงฟรีๆ …ที่รัฐเอามาอัดนั้น มันก็คือทรัพยากรของลูกหลานนั่นเอง ทั้งที่ผ่านกระบวนการหนี้สาธารณะอย่างเป็นทางการ และที่ซ่อนไว้ไม่เปิดเผยในรูปของภาระต่างๆ (เช่น ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) …ซึ่งจริงอยู่ที่ว่า ถึงจะอีลุ่ยฉุยแฉกมาขนาดนี้ แต่ภาระรวมทางการคลังก็ยังอยู่ในสถานะที่ยังรับได้ ถึงจะขาดดุลงบประมาณมาเก้าปีติด ก็ยังไม่น่าจะเกิดวิกฤติการคลังในเร็ววัน แต่ถ้าไม่เปลี่ยนนิสัย ไม่หันกลับมามีวินัย บานปลายไปเรื่อยๆ เอาเงินลูกหลานไประดมโครงการหาเสียงนานๆ เข้า ขาดดุลทั้งนอกทั้งในงบประมาณปีละ 5% ไม่ถึงสิบปีเป็นได้เกิดวิกฤติเหมือนพวกกรีซและเหล่าประเทศ PIIGS กันเป็นแน่
ผมเห็นด้วยที่ว่า ในระยะสั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดูแลผู้มีรายได้น้อยที่เดือดร้อน และกระตุ้นให้มีการบริโภคให้กลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้กลไกหมุนเอกชนลงทุนตาม ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่ทำอยู่และกำลังทำ
แต่ถ้าจะหวังให้เติบโตต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืน มีทางเดียวเท่านั้น คือ “ต้องปฏิรูปเพื่อให้มีการเพิ่มผลิตภาพของทั้งระบบ”ให้ได้
ทำอย่างไรล่ะครับ…. มีด้านไหนบ้างที่ต้อง”ปฏิรูป”
ถ้าจะเอาให้ครบจริงๆ ก็ต้องตอบว่า “ทุกๆ ด้าน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง การศึกษา ระบบกฎหมาย ระบบภาษี โครงสร้างอุตสาหกรรม การเกษตร ฯลฯ
บรรยากาศในยามนี้…ไม่ว่าจะเป็นการที่เรายังมีเสถียรภาพทุกด้านดังที่บอกข้างต้น (รวมทั้งด้านการเมืองด้วย) แถมไม่ต้องสร้างประชานิยมหาเสียงกับใคร เป็นบรรยากาศ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการปฏิรูปเป็นอย่างยิ่ง แต่สัญญาณต้องชัด เพราะการปฏิรูปนั้นมันมีต้นทุน มันมีผลกระทบ ในระยะสั้นการเติบโตอาจลดลงบ้าง หลายๆ ฝ่ายอาจได้รับผลกระทบ แต่ระยะยาวนั้นจะดีขึ้นแน่
ผมขอยกตัวอย่างสักสามสี่เรื่องที่ผมเกี่ยวข้องพอสังเขปนะครับ
เรื่องแรกเลยก็เป็นเรื่องของการ “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ” เพื่อให้ทรัพยากรเศรษฐกิจขนาดมหึมา (สิบสองล้านล้านบาท) ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใสไม่รั่วไหล
เรื่องที่สอง ก็เป็นเรื่องมาตรการป้องกันคอร์รัปชัน ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวบั่นทอนศักยภาพโดยตรงแล้ว ยังทำให้ระบบบิดเบือนไปทั้งหมด
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องการปฏิรูประบบตลาดการเงิน ทั้งตลาดเงินตลาดทุน เพื่อให้ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรได้ทั่วถึงมากขึ้น มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และเชื่อมโยงกับสากล รวมทั้งมีเสถียรภาพอย่างที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ท่านรองนายกคนใหม่ได้ระบุว่าจะริเริ่มอย่างจริงจัง
เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบและกระบวนเพื่อให้การบริการประชาชนและธุรกิจคล่องตัว สะดวก มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดขั้นตอนที่จะก่อให้เกิดการทุจริต
ทั้งสี่เรื่องที่ผมยกมานั้น นอกจากเรื่องแรก อาจจะมีผู้สงสัยว่าเรื่องอื่นๆ จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร ซึ่งความจริงระบบที่ดี สภาพนิเวศน์ที่เอื้อให้กลไกการแข่งขันของเอกชนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่างหากที่เป็นตัวเร่งผลิตภาพ ภาครัฐเองมีหน้าที่เพียงสร้างระบบนิเวศน์ สร้างกลไก และคอยกำกับเท่านั้น ขืนพยายามเข้าไปทำเองก็จะเป็น Low Productivity อย่างที่ผ่านมา (หรือไม่ก็เจ๊งยับอย่างจำนำข้าว เป็นต้น)
นี่แหละครับ… ผมถึงคิดว่า “การปฏิรูป” เป็นเรื่องสำคัญกว่า “การขับเคลื่อน” หรือ “การออกมาตรการกระตุ้น” ในระยะสั้นมากนัก ซึ่งถึงแม้การริเริ่มนั้นต้องกระทำจากภาครัฐ แต่สุดท้ายก็ต้องได้รับความร่วมมือ ความสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมทั้งทุกคนต้องยอมอดทน ปรับปรุงตัว ทำงานหนัก เพิ่มผลิตภาพให้ได้ในทุกภาคส่วนเท่านั้น เราถึงจะกลับไปเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ถึงจะไปถึงฝั่งฝันได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วเสียที
ขืนไปหวังรอแต่ให้ “ดรีมทีม” ทำให้ทั้งหมด เราก็ต้องผิดหวังแน่นอน แล้วคงต้องไปร้องหาดรีมทีมอีกเป็นสิบทีมมาทำให้
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich วันที่ 8 กันยายน 2558