ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนาการเงินที่ยั่งยืน (1) : “สู่การธนาคารที่ยั่งยืน บางบทเรียนของธนาคารไทย”

เสวนาการเงินที่ยั่งยืน (1) : “สู่การธนาคารที่ยั่งยืน บางบทเรียนของธนาคารไทย”

28 สิงหาคม 2015


เสวนา “สู่การธนาคารที่ยั่งยืน : บางบทเรียนของธนาคารไทย”  เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ณ ณ โรงแรมดับเบิลทรี บาย ฮิลตัน ซอยสุขุมวิท 26 กรุงเทพฯ
เสวนา “สู่การธนาคารที่ยั่งยืน: บางบทเรียนของธนาคารไทย” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม บริษัท ป่าสาละ จำกัด จัดเสวนา “สู่การธนาคารที่ยั่งยืน: บางบทเรียนของธนาคารไทย” เพื่อสานต่อวัตถุประสงค์ของโครงการในการจัดตั้งเครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable Banking Thailand Network: SBTN) ซึ่งเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับภาคธนาคาร ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ที่สนใจในวิถีการธนาคารที่ยั่งยืน และพร้อมเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agents) ภายในองค์กรที่ตนสังกัด

โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาคือ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ นางสาวนวพร เรืองสกุล อดีตประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และทีมงาน และว่าที่ ร.ต. ไสว แสงสว่าง ผู้บริหารธนาคารต้นไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า จุดมุ่งหมายหลักของเครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อให้บุคลากรด้านการเงินการธนาคาร รวมถึงนักวิชาการ รวมตัวกัน เพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจและบทบาทที่แต่ละคนทำอยู่ เป้าหมายคือ 1. สร้างความตระหนักเรื่องการธนาคารที่ยั่งยืน ว่ามีความหมายอย่างไร มีขอบเขตแค่ไหน หลังจากที่มองเห็นแล้วว่าคืออะไรก็สำรวจภาพใหญ่ของธนาคารไทยว่ามีเหตุผลทางธุรกิจใดบ้างที่อาจจะใช้บ่งชี้ให้ธนาคารเห็นความสำคัญหรือเปลี่ยนวิถีธุรกิจ 2. สร้างเครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนโดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ 3. ส่งเสริมธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการธนาคารที่ยั่งยืนโดยเฉพาะมาตรฐานที่เป็นสากลแล้ว อย่าง Equator Principles

นิยามของธนาคารที่ยั่งยืนมีมานานแล้ว เพราะยิ่งเกิดวิกฤติ คนก็เริ่มหันมามองว่าธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เช่น งานวิจัยของธนาคารในเนเธอร์แลนด์ให้ความหมายของการธนาคารที่ยั่งยืนว่า “การตัดสินใจของธนาคารที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการให้เฉพาะกับลูกค้าที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากกิจกรรมของตนเอง” แต่อันนี้ก็อาจจะมองในกรอบแคบ เช่น เมื่อธนาคารให้บริการ ต้องดูด้วยว่าลูกค้าคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน

อีกนิยามของ Forum for the future ได้ให้ความหมายกว้างขึ้นมาอีกว่า “การเงินที่ยั่งยืน คือ การจัดสรรการเงินและผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงให้กับโครงการและธุรกิจที่ส่งเสริมและไม่บั่นทอนความเจริญทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความยุติธรรมทางสังคม” ซึ่งนิยามนี้มีครบทั้ง 3 มิติ คือ เสริมสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของธนาคาร ในขณะเดียวกัน ต้องช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และคำนึงความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย ที่จะต้องคำนึงถึงประเด็นความเท่าเทียม ประเด็นความเหลื่อมล้ำ และประเด็นความยุติธรรมทางสังคมด้วย

“จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการธนาคารที่ยั่งยืนมาจากแนวร่วมของหลายๆ องค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งเป็นบริษัทองค์กรลูกของธนาคารโลกที่มีบทบาทปล่อยกู้ให้เอกชนในประเทศต่างๆ ได้สกัดองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เจอหลังจากปล่อยกู้มาเป็นรายงาน “Banking for Sustainability” ในปี 2550 โดยระบุว่าองค์ประกอบของการธนาคารที่ยั่งยืนมี 4 เรื่อง คือ 1. สถาบันการเงินและลูกค้าต้องมีความมั่นคงทางการเงิน จะได้สามารถมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป 2. ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของโครงการ 3. ส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมผ่านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ 4. มีความยั่งยืนทางสังคมโดยช่วยส่งเสริมสวัสดิการชุมชนหรือมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ” นางสาวสฤณีกล่าว

นอกจากนี้ IFC ยังสำรวจมุมมองของธนาคารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน พบว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดของธนาคารคือชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ เพราะว่าธนาคารเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนในเศรษฐกิจ อีกส่วนที่สำคัญเช่นกันแต่ยังไม่สำคัญสำหรับธนาคารไทยคือ ความสนใจของนักลงทุน โดยนักลงทุนมีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นเพราะว่าที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงจริยธรรมของธนาคารไปจนถึงวิธีการทำธุรกิจ

ด้านความเสี่ยงก็เป็นเรื่องสำคัญของธนาคาร โดยหลายๆ ธนาคารคิดว่าความยั่งยืนเชื่อมโยงกับความเสี่ยง เพราะประเด็นปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงที่เริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงของสินเชื่อโครงการต่างๆ ที่ธนาคารปล่อยไป เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ส่วนเหตุผลอื่นที่ทำให้ธนาคารสนใจเรื่องความยั่งยืน อาทิ liability claims เนื่องจากลูกค้าเจอภาระทางกฎหมาย เช่น ถูกฟ้องร้องเนื่องจากปล่อยมลพิษและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและประชาชน ซึ่งภาระดังกล่าวจะกระทบกับธนาคารด้วย “ประเด็นการแบ่งความเสี่ยงระหว่างกันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีกรณีศึกษาหลายประเทศ เช่น ทศวรรษ 1990 มีกรณีที่โด่งดังของฟีคเฟคเตอร์ หลังจากที่ลูกค้าของธนาคารถูกฟ้องเนื่องจากขยะของโครงการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุดท้ายศาลพิพากษาให้ธนาคารรับผิดด้วย เนื่องจากอยู่ในข่ายที่จะต้องรู้ว่าลูกค้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งกรณีลักษณะดังกล่าวทำให้นักวิชาการหลายคนเริ่มมองว่า ความรับผิดทางกฎหมายเปลี่ยนได้เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องของลูกค้าเพียงอย่างเดียว” นางสาวสฤณีกล่าว

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้บริษัทป่าสาละ จำกัด
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากงานวิจัยของอาจารย์โคเฟอร์ (Kaeufer) ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่อยู่ระหว่างการวิจัย ระบุว่า ระดับของธนาคารที่ยั่งยืนมี 5 ระดับ คือ

1. ระดับ Unfocused corporate activities คือกิจกรรมต่างๆ ที่ธนาคารทำโดยอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหลัก การปล่อยสินเชื่อก็ยังคงปล่อยไปตามเดิมโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องธรรมาภิบาลสังคมและสิ่งแวดล้อม

2. ระดับ Isolated business projects or business practices คือ ธนาคารเริ่มมีโครงการหรือผลิตภัณฑ์ที่นำประเด็นเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดขาย เช่น สินเชื่อเขียว ซึ่งส่วนนี้หลายธนาคารของไทยได้เริ่มทำไปบ้างแล้ว แต่สิ่งนี้ก็ยังคงเป็นส่วนเสริมไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคาร และเมื่อดูสัดส่วนแล้วก็ยังมีค่อนข้างน้อย รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจเป็นเสียงสะท้อนจากการถูกโจมตีบางอย่างที่แบ่งแยกเป็นเอกเทศ ไม่ใช่การใช้หลักการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มาประมวลเข้าในองค์กร

3. ระดับ Systemic business practices คือเป็นระบบของธนาคารที่นำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมากำหนดเป็นหัวใจของกลยุทธ์ ที่ผนวกเข้ามาในทุกๆ ส่วนของธุรกิจโดยใช้หลักการและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ซึ่งตรงกับที่นักวิชาการไทยใช้คำว่า In-Process CSR หรือ strategic CSR ซึ่งคือการทำธุรกิจที่ใช้หลัก CSR อย่างจริงจัง

4. ระดับ Strategic ecosystem innovation เป็นธนาคารที่ต้องการให้ธนาคารคู่แข่งสนใจและทำตามและสื่อสารให้สาธารณะรับรู้ โดยการจับมือเป็นแนวร่วมกับธนาคารอื่น หรือภาครัฐ หรือกลไกกำกับดูแลต่างๆ เพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ที่นำไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

5. ระดับ Intention (purpose-driven) eco-system innovation คือ เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ มีนวัตกรรมการเงินที่ทันต่อเหตุการณ์และมุ่งแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ยังมีอีกมุมที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นรายงานในปี 2542 ของ Jeucken และ Bouma จาก Rabobank ระบุว่า ขั้นพื้นฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นของธนาคารที่ยั่งยืนคือ defensive banking คือ ธนาคารโดนข้อครหาจึงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบโต้ข้อครหา ขั้นต่อไปคือ preventative banking คือ ธนาคารเริ่มทำงานเชิงรุกโดยที่ไม่มีข้อครหาใดๆ ซึ่งมีได้ทั้งภายในองค์กร เช่น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยปรับ data center ของธนาคาร เนื่องจากมีข้อมูลระบุว่า data center ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 2 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และเริ่มกำหนดเกณฑ์เหล่านี้ให้ลูกค้าปฏิบัติ ขั้นต่อไปคือ Offensive banking คือเริ่มใช้กลยุทธ์เชิงรุกทำตลาดและหาลูกค้าใหม่ๆ เริ่มมีนวัตกรรมทางการเงิน เริ่มวางขาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง และขั้นสุดท้ายคือ Sustainable banking

การธนาคารที่ยั่งยืนของไทย

สำหรับรูปธรรมของธนาคารที่ยั่งยืนในไทย มี 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ซึ่งการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบต่อลูกค้ารายย่อยเริ่มมีหลักเกณฑ์ของหลายองค์กร เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอว่า ความรู้ทางการเงินเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของธนาคารด้วยถึงจะเรียกว่าพยายามปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และ 2. การเข้าถึงประชาชนฐานล่าง เพราะว่าหลายประเทศมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการใช้บริการ ทำให้ประชาชนต้องไปกู้นอกระบบ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวธนาคารแต่ละแห่งก็ดำเนินการต่างกัน บางแห่งก็ทำไมโครไฟแนนซ์ บางแห่งทำระบบธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า วงการธนาคารพาณิชย์ของไทยโดยรวมยังค่อนข้างล้าหลัง แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดในภูมิภาคนี้ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันทั้งหมด และน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจหลายประการ โดยเฉพาะหลังการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ธนาคารหลายแห่งประกาศว่าอยากจะเป็นผู้นำในภูมิภาค ซึ่งมองดูแล้วก็ยังมีหลายประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าไทย

ดังนั้น จึงมีพื้นที่ของนวัตกรรมทางการเงินมาก และการใช้โครงสร้างพื้นฐานให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ เคยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบอกไว้ว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมมาก เช่น คนไทยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่อง นั่นคือ เทคโนโลยีสมัยใหม่มีความครอบคลุมสูง แต่กลับเป็นสังคมที่ใช้เงินสด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากประเทศอื่นๆ ที่มีโครงสร้างเทคโนโลยีระดับเดียวกับไทยจะไม่ใช่สังคมที่ใช้เงินสด

ส่วนเหตุผลทางธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจอย่างรับผิดชอบคือ การจัดการความเสี่ยงที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากธนาคารต่างชาติที่ลงนามในมาตรฐานสากลอย่าง Equator Principles เนื่องจากหลายครั้งหลังการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะในประเทศที่กลไกกฎหมายมีปัญหา ทำให้เสี่ยงถูกฟ้องร้องและเสียค่าชดใช้ ทำให้กระทบต่อธนาคารเรื่องการเงินเพราะลูกหนี้มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ หรือมีปัญหาต่อชื่อเสียงของธนาคาร ดังนั้น ธนาคารจึงหันมามองเรื่องการประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่ในไทย

สำหรับเหตุผลทางธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยอย่างรับผิดชอบนั้น เรื่องการจัดการความเสี่ยงอาจมีผลเหมือนกัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนความต้องการของลูกค้ารายย่อยให้ดีขึ้น ปลายทางแล้วจะส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงลดลง ไม่ใช่ธนาคารหวังได้ผลในระยะสั้นแต่ลูกค้ามีปัญหาระยะยาว แล้วสุดท้ายธนาคารก็จะมีปัญหาระยะยาว ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นระดับโลกเรื่องปัญหาธรรมาภิบาลธนาคาร

ด้านเหตุผลทางธุรกิจของการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ คือ การขยายบริการโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นโมเดลที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย เช่น mobile banking แต่ต้องเป็นระบบที่สามารถแปลงออกมาเป็นเงินสดได้ ถึงจะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้อย่างแท้จริง และอาจจะมีช่องว่างอีกมากที่จะร่วมมือกับองค์กรการเงินฐานราก เช่น กองทุนหมู่บ้านที่จัดการโดยรัฐ หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ประชาชนจัดการกันเอง ซึ่งมีช่องทางมากพอสมควรที่จะยกระดับองค์กรการเงินฐานรากได้

สำหรับตลาดสินเชื่อประเทศไทย ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เป็นประชากรที่รายได้ค่อนข้างสูงซึ่งเป็นชนชั้นกลาง ส่วนโลกสินเชื่อของประชากรกลุ่มอื่นๆ จะมีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งมีบริการสินเชื่อที่หลายหลากพอสมควรในฐานล่าง ทั้งหนี้นอกระบบ โรงรับจำนำ หรือยืมญาติพี่น้อง

กรณีศึกษาการธนาคารที่ยั่งยืนในต่างประเทศ

นอกจากนี้บริษัท Sustainalytics ซึ่งมีเครือข่ายธนาคารทั่วโลก ได้ศึกษาปัจจัยผลักดันสำคัญของธนาคารที่ยั่งยืน พบว่า ธนาคารถูกดึงจาก 3 ด้าน คือ สังคม สิ่งแวดล้อม และนักลงทุน ซึ่งในประเทศไทยนั้นด้านนักลงทุนอาจจะยังไม่มีบทบาทมากในการผลักดันเรื่องความยั่งยืน ส่วน legacy risk คนไทยให้ความเชื่อมั่นธนาคารสูงมาก ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยไม่เรียกร้องธนาคารมากนักเมื่อเกิดปัญหาหนี้ เสมือนยอมรับโดยดุษฎีว่าเป็นความผิดของตัวเองเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วปัญหาอาจจะเกิดจากเจ้าหนี้ด้วย สำหรับนโยบายของรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการขยายบริการทางการเงินมากขึ้น ในขณะที่เรื่องสิ่งแวดล้อมยังหยุดหรือชะลออยู่เพราะธนาคารมีมโนทัศน์ที่ว่าไม่เกี่ยวข้องกับธนาคาร แต่ก็มีพัฒนาการว่าภาคประชาสังคมเริ่มเรียกร้องธนาคารมากขึ้น

ด้านจริยธรรมทางธุรกิจก็พบว่า ธนาคารหลายแห่งทั่วโลกถูกปรับด้วยข้อหาต่างๆ มากมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น ช่วยลูกค้าฟอกเงิน ช่วยลูกค้าโกงภาษี หลอกลวงนักลงทุน ฯลฯ ซึ่งเกิดจากธนาคารชักนำทั้งสิ้น จึงทำให้สังคมโลกโดยรวมเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในธนาคาร เริ่มตั้งคำถามและคิดว่าธนาคารไม่น่าเชื่อถือ แต่ว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงการธนาคารที่ยั่งยืน งานวิจัยหรือแนวร่วมหลายๆ แห่งจะบอกว่าต้องตั้งต้นจากการฟื้นคืนความเชื่อมั่นในธนาคารกับประชาชนให้ได้

นางสาวสฤณีกล่าวต่อว่า ดัชนีความมั่นคงของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainable Index) เริ่มเป็นธงที่หลายๆ บริษัทของไทยที่สนใจเรื่องความยั่งยืนอยากจะเป็นสมาชิก และในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีการให้คะแนนเพื่อจัดอันดับผู้นำอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมธนาคารที่มีคะแนนสูงสุดในปีที่แล้วคือ ธนาคาร “Westpac Banking Corp” ของออสเตรเลีย ที่มีคะแนนสูงถึง 93 จาก 100 คะแนน

โดยธนาคารแห่งนี้กลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมธนาคาร เพราะมีนโยบายทำรายงานประเมินความเท่าเทียมของค่าตอบแทน เพื่อตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ และประเด็นอื่นๆ ที่พนักงานร้องเรียน รวมถึงมีนโยบายจ้างงานชนพื้นเมืองมากกว่าที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังมีบริการที่เรียกว่า everywhere banking ซึ่งเป็น mobile banking ที่สามารถใช้งานได้บนโทรศัพท์มือถือราคาถูกผ่านระบบ SMS ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ และมี In-store banking model คือ สามารถถอนเงิน ฝากเงิน กู้เงิน จากร้านสะดวกซื้อได้ นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์จัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยให้สินเชื่อกับไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 55 ของมูลค่าสินเชื่อสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ ยังมีหลักการปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ 4 ข้อ คือ 1. ปล่อยกู้เฉพาะในจำนวนเงินที่ลูกค้ามีศักยภาพในการชำระคืน 2. วางตลาดสินค้าและบริการอย่างรับผิดชอบ คือ คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ไม่ใช้ข้อความบิดเบือน หลอกลวงให้เข้าใจผิด เปิดเผยค่าธรรมเนียมอย่างโปร่งใส 3. ช่วยสนับสนุนและไม่ซ้ำเติมปัญหาทางการเงินของลูกค้า และ 4. ช่วยเพิ่มความรู้เรื่องทางการเงินและศักยภาพทางการเงินของลูกค้า

อีกตัวอย่างของ Standard Chartered ที่น่าสนใจคือ มีหลายธนาคารที่ไม่ทำผลิตภัณฑ์แต่พยายามวัดผลให้ชัดเจน เพราะว่าเวลาธนาคารทำแล้วต้องสื่อสารว่าสิ่งที่ทำนั้นสร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ ซึ่ง Standard Chartered ได้ทำ Straight2Bank ซึ่งเป็นธนาคารออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงมากในแอฟริกา โดยงานวิจัยพบว่าทุก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ปล่อยกู้ในธุรกิจ SMEs ที่ประเทศกานาและแซมเบียสร้างเงินอีก 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปของเงินเดือน ภาษีรัฐบาล และกำไร

อีกตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ คือ “Debt-for-Nature Swap (DNS)” ซึ่งเป็นหนี้ของสินเชื่อหรือองค์กรที่เริ่มมีปัญหา แล้วสามารถตัดโครงสร้างดังกล่าวไปต่อรองเพื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้วเอาส่วนต่างมาช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นั่นคือ แทนที่จะคืนเงินส่วนหนึ่งให้ธนาคารก็เอาเงินนั้นมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

“ฉะนั้น การจัดโครงสร้างให้เป็นประโยชน์ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่ความท้าทายของไทยยังมีอีกมาก เช่น นโยบายรัฐของไทยยังไม่มีการบูรณาการเท่าที่ควร หรือมีแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในขณะเดียวกันก็ยังมีความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ที่เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้านอุปสงค์เรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์สังคมไทยจริงๆ ยังมีไม่มาก นั่นอาจเพราะว่าคนไทยเกรงใจธนาคาร แต่น่าจะได้เห็นมากขึ้น เช่น พลังงานหมุนเวียนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามนโยบายรัฐ รวมถึงคนไทยยังมีวัฒนธรรมทางการเงินว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากตัวเองล้วนๆ อีกทั้งยังขาดข้อมูลพื้นฐานด้านการเงินค่อนข้างมาก แม้ว่าธนาคารอยากจะสนับสนุนโครงการแต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าลูกค้าจะปฏิบัติตัวตามหลักดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่” นางสาวสฤณีกล่าว

ผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อเขียว” ของธนาคารไทย สำหรับภาคพลังงาน

พลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันธนาคารเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจัยมาจากการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งธนาคารหลายแห่งสนใจสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว อาทิ สินเชื่อเพื่อพลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงานเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม แต่ก็มีความกังวลค่อนข้างมาก และต้องอาศัยนโยบายรัฐค่อนข้างมาก ซึ่งมีหลายกลไกที่สนับสนุน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กองทุนร่วมลงทุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้เงินอุดหนุน และจ่ายเงินในระบบ feed-in tariff ที่ปรับมาจากระบบ ADDER ซึ่งทั้งหมดนี้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนค่อนข้างมาก

ด้านแหล่งระดมทุนก็ยังมีอยู่ค่อนข้างครบ เมื่อมองในแง่ของหนี้กับทุน แต่ก็มีข้อจำกัดซึ่งประมวลมาจากผู้ประกอบการโดยตรง ผู้พัฒนาโครงการที่เขาพยายามทำโครงการเขียว เขาก็สะท้อนว่าธนาคารอาจจะยังขาดความรู้ความเข้าใจ บางทีก็กังวลเกินเหตุ ทำให้ต้นทุนการขอสินเชื่อสูงขึ้น เพราะธนาคารหลายแห่งบอกว่าต้องจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคมาประเมิน วิเคราะห์ติดตามโครงการและใช้เวลาพิจารณานานกว่าโครงการลักษณะอื่นๆ และโครงการขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต ์เข้าถึงสินเชื่อธนาคารยาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องหลักประกันสินเชื่อที่ธนาคารเรียกมูลค่าค่อนข้างสูง บางทีต้องค้ำประกันระหว่างโครงการต่อโครงการ บางทีผู้ถือหุ้นต้องวางหลักทรัพย์ส่วนตัว อีกทั้งต้นทุนในการขอสินเชื่อก็สูงเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กอัตราดอกเบี้ยสูงมาก รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาของธนาคารก็มาเรียกเก็บจากลูกค้า

ปัจจุบัน ธนาคารหลายแห่งเริ่มปล่อยสินเชื่อพลังงานหมุนเวียนและการประหยัดพลังงานในไทย เพียงแต่ว่าอาจไม่ใช่ทุกธนาคารที่มองว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือตั้งให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน เช่น ธนาคารกรุงไทย ตั้งให้เป็นผลิตภัณฑ์กรุงไทยประหยัดพลังงาน เงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และปล่อยสินเชื่อบุคคลเพื่อติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่หลังคาบ้านขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

ส่วนกสิกรไทยก็ตั้งเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงาน โดยให้บริษัทจัดการพลังงาน ESCO รับประกันผลการประหยัดพลังงาน ทำให้ลูกค้านำผลประหยัดพลังงานมาชำระคืนเงินกู้ได้ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวอย่างของการออกผลิตภัณฑ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อบัวหลวงกรีนแต่สำหรับนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อสนับสนุนกลไกการพัฒนาที่สะอาดสำหรับนิติบุคคลเท่านั้นเช่นกัน

จะเห็นว่า ธนาคารไทยเริ่มมีแนวทางหรือโครงการที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการพัฒนาสินเชื่อเขียว แต่ว่ายังถูกผลักดันส่วนใหญ่จากนโยบายรัฐในหลายโครงการยังต้องให้คนมาการันตี เพราะทางการก็ยังไม่มั่นใจในศักยภาพของโครงการ มีบางกรณีอย่างกสิกรไทยที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่นำการประหยัดพลังงานมาคืนเงินกู้(ดูเพิ่มเติม)