เมื่อมนุษย์ทำลายฐานทรัพยากรอย่างไม่ออมมือ โลกจึงเข้าสู่ยุคภัยพิบัติที่ถาโถมแบบไม่ยั้งเช่นเดียวกัน ปัจจุบันจึงมีองค์กรภาคประชาชน เอกชนทั้งเล็กและใหญ่ต่างลุกขึ้นมารวมตัวเพื่อโอบอุ้มโลกใบนี้เอาไว้ ด้วยกิจกรรมที่ว่าด้วยความยั่งยืนมากมาย โดยหวังว่าจะซ่อมแซม ฟื้นฟูโลกใบนี้ให้ดีดังเดิม
ว่าที่ร.ต.ไสว แสงสว่าง ผู้บริหารทีมธนาคารต้นไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการฟื้นฟูเกษตรกรด้วยโครงการธนาคารต้นไม้ว่า จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา พบว่าประเทศยิ่งพัฒนา ฐานทรัพยากรตั้งแต่ดิน น้ำ ป่า ก็ยิ่งถูกนำมาใช้เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว และพืชเกษตรเหล่านี้ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบในระบบอุตสาหกรรม ตามแผนการพัฒนาที่มุ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรม
ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยของ ธกส. พบว่าเกษตรกรมีหนี้เพิ่มขึ้น และฐานทรัพยากรของเกษตรกรมีมูลค่าเสื่อมลง อาทิ ดินเสื่อม เพราะใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงมาก ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตเกษตรกรแย่ลง ประกอบกับโครงการส่งเสริมต่างๆ ของภาครัฐ เกษตรกรทำแล้วอาจจะล้มเหลว
ธกส. ในฐานะที่เป็นธนาคารพัฒนาชนบทจึงนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ขับเคลื่อนชุมชน ให้ดูแลฐานทรัพยากร ทั้งเรื่องคน ดิน น้ำ ป่า โดยใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
นอกจากนี้ยังพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีใครร่ำรวยจากการประกอบอาชีพการเกษตรแม้กระทั่งชาวนา ทั้งๆ ที่ประเทศไทยขายข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่คนที่รวยคือคนในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าธุรกิจพันธุ์พืช ปุ๋ย ยา โรงสี ผู้ส่งออก เช่นเดียวกับพี่น้องที่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ในภาคอีสาน คนที่รวยคือลานมันและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือภาคเหนือที่เอาพื้นที่ป่ามาปลูกข้าวโพด พืชไร่ หรือทางภาคใต้ ปลูกปาล์ม ยางพารา หรือภาคกลางที่ปลูกอ้อย ส่วนใหญ่เกษตรกรมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
ธกส. จึงเริ่มต้นพัฒนาชุมชนโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากคัดเลือกชุมชนแล้วพัฒนาโดยใช้หลักคือ 1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเปลี่ยนวิถีจากการเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นวนเกษตร และ 3.วิสาหกิจชุมชน คือทำอย่างไรให้ผลิตแบบพออยู่ พอกิน พอใช้ และแบ่งปัน เหลือนำไปแปรรูป เพิ่มมูลค่าและขาย
นี่คือ 3 ขั้น ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส
บทบาทของธนาคารต้นไม้คือการเข้าไปเปลี่ยนวิธีคิด จากเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่มุ่งทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำการเกษตรแบบพอกิน เมื่อเหลือจึงแบ่งปันแล้วขาย แต่ปัจจุบันทำแล้วขาย แล้วไปซื้อกิน ภายใต้ระบบอย่างนี้เกษตรกรเสียเปรียบ เพราะการที่เกษตรกรนำปัจจัยการผลิตมาผลิต เขาต้องไปซื้อของจากพ่อค้า พ่อค้ากำหนดราคา นี่คือเสียเปรียบครั้งที่ 1
เมื่อเกษตรกรผลิตเสร็จก้ต้องเสี่ยงกับภัยพิบัติ โรคแมลง พอนำไปขายก็ตั้งราคาเองไม่ได้ พ่อค้าตั้งราคาเองอีก นี่คือเสียเปรียบครั้งที่ 2 เกษตรกรเสียเปรียบทั้งขึ้นทั้งล่อง ดังนั้น พืชเกษตรเชิงเดี่ยวจึงขึ้นอยู่กับโรงงานและระบบตลาดที่พ่อค้ากุมกลไกอยู่
การเริ่มโครงการธนาคารต้นไม้ ใช้หลักพระราชดำรัสในหลวงที่ให้ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เมื่อถอดแนวคิดนี้ออกมา พบว่าคือการปลูกของที่กินได้ ปลูกต้นไม้ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิใช้สร้างบ้าน นำมาเป็นพลังงาน นำไปขายได้ และใช้ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ จึงเป็นที่มาของโครงการธนาคารต้นไม้
จากนั้นก็ถอดต่อว่าพืชมีกี่กลุ่ม คือ
1.พืชน้ำ จากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี ทำลายระบบนิเวศน์ น้ำถูกทำลาย การขยายพันธุ์กุ้ง หอย ปู ปลา ถูกทำลาย และพืชที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารก็หายไปด้วย ชุมชนไหนที่เขามีแก้มลิง มีสระน้ำของชุมชน เราจะส่งเสริมให้ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง กระเฉด บัว หรือสาหร่าย แต่ละชุมชนมีพืชเหล่านี้อยู่แล้ว และแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น
2.พืชใต้ดิน ใช้เป็นอาหารและเป็นยา เช่น ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย มัน
3.พืชเรี่ยดิน เช่น กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ใบยี่หร่า
4.พืชชั้นล่าง-ชั้นบน เช่น ต้นไผ่ หน่อใช้กินได้ ลำต้นใช้ก่อสร้าง ทำรั้ว และใบทำปุ๋ยชั้นดี เพราะต้นไผ่เป็นที่อยู่ของจุลลินทรีย์ดี หรือปลูกผักป่าอายุยืน เช่น ผักหวานป่า ไม้ดอกไม้ประดับ
5.ไม้ผล ชุมชนอยากกินอะไรก็ปลูกตามฤดูกาล ถ้าวางแผนดีๆ ก็มีผลไม้กินตลอดปี
6.ไม้ยืนต้น แล้วแต่ภูมิสังคม เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายอันดับ 5 ของโลก ไม้เหล่านี้มีอยู่แล้วในชุมชน สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์มาแจกกันได้ และกรมป่าไม้นำมาแจกให้ชุมชน
7.ไม้เกาะเกี่ยว เช่น พริกไทย ปลูก 2 ปี ก็ได้เงินแล้ว หรือปลูกกล้วยไม้ท้องถิ่น เป็นต้น
นอกจากการส่งเสริมให้ชุมชนปลูกต้นไม้แล้ว ยังส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีโฮมสเตย์ด้วย
โครงการนี้ธกส.พยายามทำให้เกษตรกรมีรายได้ไร่ละแสนบาท โดยให้วางแผนการปลูกต้นไม้ที่จะสร้างรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน เช่น ปลูกไม้สัก พื้นที่ตรงกลางปลูกผักสวนครัว ทำให้เกษตรมีรายได้รายวัน รายเดือน รายปี และส่งเสริมการเลี้ยงมดแดง ไข่มดแดงราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท
โครงการธนาคารต้นไม้ จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดในการทำการเกษตร จากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องพึ่งพาระบบ มาเป็นเกษตรผสมผสานหรือวนเกษตรหรือทฤษฎีใหม่ ซึ่งพึ่งตนเองได้
การเปลี่ยนวิธีคิดนี้สำคัญมาก ซึ่งวิธีการเปลี่ยนผ่านโดยใช้เวทีโครงการปลูกต้นไม้ในใจคน การจะส่งเสริมให้ใครปลูกต้นไม้ ต้องทำให้ต้นไม้ขึ้นในใจก่อน ถ้าขึ้นในใจแล้วเขาจะไปปลูกเอง ตามพระราชดำรัสในหลวงพระองค์ท่านบอกว่า “พืชไม่ต้องไปดูแลเขา เลี้ยงดิน ดินจะเลี้ยงพืช” ปัจจุบันดินเสียเพราะใช้สารเคมีทำให้ดินแข็ง ดินดาน ถ้าดินดีต้นไม้จะงอกงาม ดังนั้นจะปลูกต้นไม้ ต้องปลูกในใจก่อน
จากการลงพื้นที่ในชุมชนพบว่ามีคน 3 กลุ่ม คือ 1.ใจสู้ 2.เฉยๆ และ 3.ปฏิเสธ เวลา ธกส. ไปจัดเวที อาจจะมีสัก 10% ที่เป็นกลุ่มใจสู้ ก็สนับสนุนให้เขาตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา สร้างกลไกเป็นคณะกรรมการธนาคารต้นไม้ชุมชน มีคณะกรรมการ 9 คน ทำหน้าที่บริหารจัดการและไปหาสมาชิกเพิ่ม เริ่มจากคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก การผูกแบบนี้ฐานจะแน่น เพราะมาจากความไว้วางใจกันในชุมชน คณะกรรมการจะมีการประชุมทุกเดือน มีระเบียบชัดเจน และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระดับต่างๆ ในอำเภอ จังหวัด
เมื่อจัดตั้งธนาคารต้นไม้แล้ว ส่งเสริมปลูกต้นไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พร้อมสำรวจชุมชนว่ามีต้นไม้อะไรบ้างที่เอาเข้าโครงการได้ และต้องการต้นไม้อะไรมาปลูกเพิ่ม ต้องการกี่ต้น โดย ธกส. ประสานศูนย์เพาะชำกรมป่าไม้ และมีเงินขวัญถุงเรียกว่ากองทุนธนาคารต้นไม้ เริ่มก้อนแรกให้ 5 พันบาท เพราะในการเริ่มต้น ต้องทำเรือนเพาะชำ ระบบน้ำ เพาะกล้าไม้ ขณะที่คนในชุมชนไปเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้มาเพาะขาย เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยที่เขาได้มีส่วนร่วม
“เงินก้นถุงก้อนแรก ธกส. ให้ 5,000 บาท ซึ่งเขาต้องสมทบทุนด้วย มีร่างระเบียบของชุมชน ชุมชนถือหุ้นตามจำนวนต้นไม้ และธนาคารจะพิจารณาให้เงินขวัญถุงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณต้นไม้ ปี 2553 ธกส. ให้เงิน 30,000 บาท ปี 2554 ให้ 50,000 บาท ปีต่อๆ ไปอาจจะให้ต้นละ 10 บาท แต่ต้องทำให้ครบกระบวนการ”
โครงการนี้สามารถทำในที่ดินของตัวเอง ที่ดินส่วนรวม ที่ดินของวัด โรงเรียน ป่าชุมชน โดยมีสมุดทะเบียน เมื่อปลูกแล้วจะขึ้นทะเบียนตรวจสอบ ประเมินมูลค่าต้นไม้ กรรมการที่ดูแลสมาชิก ทำทะเบียนวัดต้นไม้ดูว่าสูงเท่าไหร่เพื่อประเมินราคา ซึ่งวัดจากเส้นรอบวง ไม้เนื้ออ่อน ไม้โตเร็ว ไม้เนื้อแข็ง โดยมีราคากลางซึ่งคล้ายๆ ราคากลางที่ดิน และอิงราคาตลาดโลก
ต้นไม้เป็นสินทรัพย์ที่ไม่เสื่อม เป็นสินทรัพย์ที่หายาก ราคาแพง และต้นไม้โตขึ้นทุกวัน การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้เป็นการทำในมิติเศรษฐกิจ เพราะสมการสินทรัพย์เท่ากับหนี้บวกทุน แต่เดิม ธกส. มุ่งเรื่องทุนกับหนี้สิน ตอนนี้เมื่อทำธนาคารต้นไม้ เท่ากับเรามาดูแลทรัพย์สิน เมื่อปลูกต้นไม้เท่ากับสินทรัพย์เพิ่ม เท่ากับทุนเพิ่ม สัดส่วนมันเปลี่ยน แม้หนี้สินเท่าเดิมแต่หากสินทรัพย์โตขึ้นและโตขึ้นทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ไม่มีวันหยุด หนี้สินก็ลดลง ถ้าต้นไม้ตายก็ปลูกใหม่ ถอนออกจากทะเบียน วัดกันใหม่
“ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ยอมรับว่าทองคำมีค่า แต่เราไม่เคยยอมรับว่าต้นไม้มีค่า ในโลกตะวันออกจะได้เปรียบ ถ้าเราปลูกต้นไม้ 20 ปี เท่ากับ ญี่ปุ่นปลูก 50 ปี เท่ากับยุโรป ปลูก 150 ปี นั่นหมายความว่าความมั่งคั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยิ่งใหญ่มากในอนาคต เพราะสินทรัพย์ในเอเชียโตทุกวัน”
จากการวิจัยพบว่าต้นไม้หลายชนิดทำให้เงินเพิ่มวันละ 3 บาท แต่ถ้าออมโดยฝากแบงก์ ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.87 % ต่อปี ขณะที่เงินเฟ้อ 4 – 5 %
ในทางกลับกันถ้าเอาเงิน 100 บาท ซื้อต้นไม้ต้นละ 10 บาท ได้มา 10 ต้น แล้วปลูก สิ้นปีต้นไม้จะให้ผลตอบแทนต้นละ 3 บาท การปลูกต้นไม้คือการออมระยะยาว พอปีที่ 20 ก้สามารถถอนเงินนั้นออกมาใช้ด้วยการตัดต้นไม้ขาย ดังนั้นคนที่ออมด้วยต้นไม้จะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นความมั่นคงในระยะยาว
อย่างคนแต่งงานมีครอบครัว สามารถวางแผนการออมได้เลย ถ้ามีลูก 1 คน ปลูกต้นไม้ 50 ต้น แบ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน อายุ 5 ปี ไม้ปานกลาง 10-15 ปี ไม้เนื้อแข็ง 20 ปี เพราะว่าเด็กที่เรียนฟรีแต่ก็ไม่ฟรี โครงการธนาคารต้นไม้จึงเป็นการวางแผนให้เกษตรกรมีเงินให้ลูกเรียน ถ้าปลูกต้นไม้ และทยอยตัดตามอายุไปเรื่อยๆ ทีละต้นสองต้น เรียนจนจบก็ไม่มีหนี้
หรือการที่จะมีบ้านสักหลัง ปัจจุบันคนจะสร้างบ้านก็วิ่งไปหาแบงก์ กู้เงินและต้องผ่อนนาน 30 ปี เป็นบ้านที่อยู่ร้อนนอนทุกข์ เพราะวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทำให้เมื่ออยู่อาศัยแล้วต้องมีแอร์ ทำให้เราต้องไปซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว แต่ถ้าวางแผนว่าทุกคนต้องมีบ้าน ก็ให้ออมด้วยการปลูกต้นไม้คนละ 20 ต้น สามารถสร้างบ้านราคา 1 ล้านบาทได้โดยไม่ต้องมีหนี้
ดังนั้นการปลูกต้นไม้ ทำให้คนที่ไม่มีเงินก็มีบ้านได้ ไม่มีเงิน ลูกก็เรียนจบได้ นี่คือความมั่นคงของชีวิต หรือกรณีมีหนี้สิน จะทำอย่างไรให้หนี้สินของเขาหมด ธนาคารต้องหาเครื่องมือ โดยให้เขาปลูกต้นไม้ไว้สู้กับหนี้ งานวิจัยระบุว่าต้นไม้ถ้าปลูกในสัดส่วนที่เหมาะสมกับหนี้ ต้นไม้จะโตแซงหนี้ เราพบว่าหนี้ 1,000 บาท ปลูกต้นไม้ 1 ต้น 10 ปี เนื้อไม้จะมากกว่าหนี้
หนี้มาจากต้นเงินบวกดอกเบี้ย การใช้หนี้ ไม่ใช่นั่งรอให้ต้นไม้โตโดยไม่ใช้หนี้ ระหว่างที่รอต้นไม้โต ลูกหนี้มีการผลิตไปเรื่อยๆ ใช้หนี้ไปเรื่อยๆ แต่วงจรหนี้จะถูกตัดในปีที่ 10 โดยเอาต้นไม้ไปตัดชำระ เป็นการสร้างสินทรัพย์ให้ลูกค้าเพื่อเอาไว้ปลดหนี้ นี่คือความมั่นคง
ขณะเดียวกันสินทรัพย์ของธนาคาร คือลูกค้า ถ้าลูกค้ามีสินทรัพย์เพิ่ม เป็นความมั่นคงของธนาคารด้วย การประท้วงของเกษตรกรก็ไม่ค่อยมี
นอกจากนี้ เกษตรกรสูญเสียที่ดินเร็วมากเพราะหนี้นอกระบบ ธนาคารต้นไม้จะทำให้เขาไม่สูญเสียที่ดิน และทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โครงการธนาคารต้นไม้จึงเป็นภูมิคุ้มกัน เป็นเครื่องมือไม่ให้เขาสูญเสียที่ดิน เพราะต้นไม้มีตลาดมีรองรับอยู่แล้ว มีการซื้อขายทุกวันและราคาแพง ใครปลูกต้นไม้ 9 ต้น ก็เป็นสมาชิกได้แล้ว เราทำร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ซึ่งมีพื้นที่ 8 หมื่นไร่ ของกรมป่าไม้มีเป็นแสนไร่ คนที่ไม่มีที่ดินก็ให้ไปปลูกในป่าชุมชน หรือปลูกในวัดแบ่งกับหลวงพ่อ เป็นต้น
ไทยพับลิก้า : ผลงานของธนาคารต้นไม้เป็นอย่างไร
ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการ 597 แห่ง สมาชิก 60,000 กว่าคน ต้นไม้กว่า 2.9 ล้านต้น และตามแผนปีนี้ตั้งเป้าไว้ 1,225 แห่ง ธนาคารได้เตรียมทีมวิทยากร 797 คน มาจากภาคประชาชน จัดหลักสูตรอบรมใช้งบ 2 ล้านบาท มีทั้งหมด 9 ทีม เคลื่อนไปในชุมชนต่างๆที่จะจัดตั้งธนาคารต้นไม้
โครงการปลูกต้นไม้จึงเป็นเครื่องมือเกษตรกร ในการแก้ปัญหาหนี้สิน เป็นการออม เป็นบำเหน็จบำนาญ หากอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ และมักถูกทอดทิ้ง ต้องพึ่งพาลูกหลาน ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไป ขณะที่ลูกต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจ การขอเงินลูกก็ลำบากใจ ธกส. บอกว่าใครอยากมีเงิน 1 ล้านบาท ก็ปลูกต้นไม้ 50 ต้น อยากมีเงิน 10 ล้านบาท ก็ปลูก 500 ต้น อยากมีเงิน 100 ล้านบาท ก็ปลูก 5,000 ต้น เมื่อเราทำงานไม่ได้ ก็ทยอยตัดต้นไม้ขายได้ ไม่เป็นภาระสังคม ลูกหลาน ไม่เครียดในด้านจิตใจ และยังเป็นมรดกให้ลูกหลานได้
ในปี 2554 ที่ผ่านมา ธกส. ได้ทดลองจ่ายดอกเบี้ยให้กับคนปลูกต้นไม้ต้นละ 50 สตางค์ ถ้ามี 1,000 ต้น ได้ดอกเบี้ย 500 บาท โดยตั้งงบไว้ 7 ล้านบาท 84 แห่งทั่วประเทศ
“เป็นความเชื่อที่ว่าคนปลูกต้นไม้เป็นคนจิตใจดี เพราะสร้างบ้านให้เทวดา ให้เทพารักษ์อยู่ อายุจะยืน การเฝ้าดูต้นไม้เติบโต จิตใจเป็นสุข พร้อมกันนั้นยังมีความมั่นคงด้านอาหาร สมุนไพรเรื่องยา พลังงานที่เป็นฟืนเป็นถ่าน”
การปลูกต้นไม้ ต้องปลูกแบบมีการบริหารจัดการ โดยการตัดแต่งกิ่ง การตัดกิ่งต้องไม่ตัดถึงต้น จะทำให้เนื้อไม้มีตำหนิ กิ่งไม้ที่ตัดเอามาเผาถ่าน เป็นการลดรายจ่าย หลายคนบอกว่าตัดไม้มาทำบ้านทำให้โลกร้อน นั่นเป็นการเข้าใจผิด เพราะต้นไม้กักเก็บคาร์บอน ตัดแล้วก็ยังกักเก็บคาร์บอนอยู่ เอาไม้มาใช้ก็ไม่ทำให้โลกร้อน ไม่เหมือนวัสดุอื่น อย่างเหล็ก วัสดุก่อสร้างอื่นๆ
“การเผาถ่านเดี๋ยวนี้เตาเผาทันสมัยมาก เป็นถ่านชีวภาพ ถ้าเอาถ่านมารองก้นหลุมในสมัยโบราณ ถ่านมันมีรูพรุน มีคาร์บอน มีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และถ่านมีธาตุอาหารรองของพืช อุ้มน้ำได้มากเท่าตัว หากเอาถ่านมาปลูกต้นไม้ ดินจะดี ถ่านเป็นทองคำดำของเกษตรกร ถ่านช่วยลดการใช้ก๊าซ ใช้ไฟฟ้าในการหุงต้ม และการเผาถ่านจะได้น้ำส้มควันไม้ มาไล่แมลงอีกด้วย”
ดังนั้นธนาคารจึงมีนโยบายให้ปลูกแซมในสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ บนคันนาได้ อย่างการปลูกยางพารา พออายุ 20 ปี ต้องตัดทำลาย เนื่องจากใบยางหล่นทับถมกันจะเป็นเชื้อรา หากปลูกต้นไม้แซมระหว่างต้นยาง ต้นไม้จะเอาใบยางไปเป็นปุ๋ย ไม่เบียดกัน เพราะเราตัดแต่งกิ่ง และต้นไม้จะถ่ายพลังงานาให้กัน ถ้าสังเกตในป่า ดินดี น้ำดี เพราะต้นไม้จะยืมน้ำกัน ถ่ายเทความชื้นให้กัน ปกติหน้าแล้งจะกรีดยางไม่ได้ แต่ถ้าปลูกต้นไม้ ต้นยางพาราก็ไปยืมความชื้นจากต้นไม้ยืนต้นได้ ยางก็จะกรีดได้นานถึง 50 ปี
“ต้นไม้ที่ราคาแพงมากคือไม้พยุง กิโลกรัมละ 1,000 บาท ลูกบาศก์เมตรละ 100,000 บาท ปลูกปีเดียวก็ท่วมหัวแล้ว ถ้าอยากรวยก็ปลูกไม้พยุง ไม้สักทอง ไม้พะยอม ไม้จันทน์หอม พญาไม้ (ในป่าที่อุดมสมบูรณ์จะมีพญาไม้เป็นราชาของไม้) เป็นต้น”
ดังนั้นในแง่มิติของเศรษฐกิจ ประชาชนมีความมั่นคงขึ้น ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เงินออมเพิ่มขึ้น มีอยู่ มีใช้ มีออมมากขึ้น โครงการนี้ ธกส. เริ่มทำในปี 2549 การปลูกต้นไม้ เงินเพิ่มอยู่ในต้นไม้ เหมือนเราถือเงิน เทียบเป็นเงินสกุลไหนก็ได้ เพราะทุกอย่างในโลกเป็นเรื่องสมมติหมด …เงินทองของมายา แต่ข้าวปลาของจริง โลกตะวันออกเราได้เปรียบ เราอยู่เส้นศูนย์สูตร ต้นไม้โตเร็วกว่าทวีปอื่นๆ เพราะเจอแสงอาทิตย์ตั้งแต่เช้า ดังนั้นปลูกยางพาราแล้วก็ปลูกต้นไม้ได้อีก เพราะต้นไม้เล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ เราอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร มีแสงเหลือล้น เราจัดทรงต้นไม้หน่อย ก็ปลูกต้นไม้หลายประเภทได้
ไทยพับลิก้า : ถ้าคนในเมืองที่มีพื้นที่ สนใจทำธนาคารต้นไม้ จะไปหาใคร ที่ไหน
ในกรุงเทพฯ ธกส. ทำเอ็มโอยูกับผู้ว่าฯ กทม. แต่ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ โดยมีโครงการนำร่องที่มีนบุรี หนองจอก เราจะทำป่าในเมือง ต่อไปคาดว่าจะทำร่วมกับเขตต่างๆ คือทำป่าส่วนรวม
ไทยพับลิก้า : ธกส. ทำมา 4-5 ปี ตอนนี้เริ่มนิ่งแล้ว เตรียมที่จะขยายผลอย่างไร
ธกส. ได้ทำวิจัยจนแน่ใจก็ทำอย่างจริงจังในปี 2552 ตั้งงบประมาณ 17 ล้านบาท ปีที่ 2 ประมาณ 13 ล้านบาท ปี 2554 ประมาณ 20 กว่าล้านบาท ปี 2555 ประมาณ 70 กว่าล้านบาท
ไทยพับลิก้า : ทำไมเริ่มจ่ายดอกเบี้ยต้นไม้ ในปี 2554
เป็นการทดลองเพื่อให้คนดูแลป่าเขามีกำลังใจ อย่างที่จังหวัดน่าน มีการตัดไม้ มาปลูกข้าวโพด ตามนโยบายของรัฐบาล ขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท แต่เราจะทำอย่างไรให้คนต้นน้ำทำแก้มลิง มีแรงกายแรงใจที่จะปลูกต้นไม้ ธกส. เริ่มทำที่บ้านปางปุก อ.สองแคว จ.น่าน เป็นชุมชนเดียวที่เข้าไปแนะนำแล้วชุมชนพร้อมที่จะทำ โดยปลูกต้นไม้ประมาณ 100,000 ต้น เป็นโครงการนำร่อง ตอนนี้ขยายเป็น 62 ชุมชน และปีนี้จะบูมเป็น 100 ชุมชน ปลูกทั้งภูเขา แต่ไม่ได้ให้เลิกปลูกข้าวโพด ระหว่างที่ปลูกข้าวโพด ก็ให้ปลูกแซมในที่ดินของเขา หรือกันออกมาสักไร่สองไร่
และ ธกส. ก็ส่งเงินไปให้ เพื่อให้เขามีรายได้เป็นค่าตอบแทน ตั้งเป้าไว้ที่ 2,000 บาทต่อไร่ โดยการระดมเงินจากคนเมือง เร็วๆนี้ ธกส. จะออกผลิตภัณฑ์ “เงินออมธนาคารต้นไม้” โดยเชิญชวนรัฐวิสาหกิจ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และคนที่มีเงินร่ำรวย มาฝากเงิน ทั้งนี้มาจากแนวคิดของพระอาจารย์แบน สายหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าคนทำบุญ ทำได้หลายวิธี บางคนก็สร้างป่า เราจึงเอามาเชื่อมกับธุรกิจหลักของธนาคาร ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเปิดตัววันที่ 20 มกราคม นี้
โดยผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 1.5% ต่อปี สูงกว่าออมทรัพย์ปกติ และยังมีดอกเบี้ยซีเอสอาร์ (CSR) อีก 0.25% เป็นดอกเบี้ยรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ในส่วนนี้ธนาคารจะกันออกมาตั้งเป็นกองทุน จะส่งไปที่ชุมชนเลย สมมติว่ามียอดเงินฝากรวม 10,000 ล้านบาท กองทุนนี้จะมีเงิน 25 ล้านบาท ส่วนจะไปให้ชุมชนไหนวงเงินเท่าไหร่ ให้จัดสรรตามปริมาณต้นไม้ เป็นโครงการซีเอสอาร์ของผู้ฝากว่าเขาจะดูแลชุมชนไหน ให้ผู้ฝากเลือกเอง โดย ธกส. ขับเคลื่อนให้ ทั้งนี้วงเงินฝากขั้นต่ำสำหรับบุคคลธรรมดา 1 แสนบาท นิติบุคคล 5 แสนบาทขึ้นไป เรามุ่งเศรษฐีใจบุญใจดี ได้ดอกเบี้ย ได้ช่วยสังคม
“กองทุนธนาคารต้นไม้ มีร่างระเบียบเรียบร้อย มีรายได้จากดอกเบี้ยซีเอสอาร์ จากผู้ฝากเงิน จากการบริจาคเข้ากองทุน ผู้บริหารโดยคนธนาคาร ตัวแทนชุมชน ตัวแทนผู้ฝากเงิน และมี สตง. เป็นผู้ตรวจสอบ”
นอกจากนี้ ธกส. ได้ทำระบบจีไอเอส (GIS) จีพีเอส (GPS) เชื่อมกับกูเกิ้ลเอิร์ท (Google Earth) หรือพ้อยท์เอเชีย (Point Asia) ทำให้ผู้ฝากเงินนั่งดูที่บ้านได้ว่าต้นไม้ที่ผู้ฝากส่งเสริมให้ชุมชนปลูกเป็นอย่างไร แต่ละปีจะมีภาพกิจกรรมของชุมชนที่ส่งเสริม เพื่อให้เจ้าของเงินบริจาคทราบความเคลื่อนไหว ชุมชนก็เชิญผู้ฝากเงินหรือองค์กรไปปลูกป่า เป็นการเชื่อมชุมชนคนเมืองกับคนชนบท เช่น ส่งเสริมชุมชนที่จังหวัดน่าน เขาจะได้มีรายได้ระหว่างที่เขาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เป็นการเชื่อมกันระหว่างคนจนกับคนรวย เอื้ออาทรกันและได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนต้นน้ำคนปลายน้ำ คนต้นน้ำมีรายได้ คนปลายน้ำก็น้ำไม่ท่วมกรุงเทพ
“ทั้งหมดนี้เรากำลังพัฒนาระบบอยู่ ลงทะเบียนต้นไม้ รหัสอะไร ปลูกเมื่อไหร่ วันเดือนปี เส้นรอบวงเท่าไหร่ คูณราคากลางที่เราทำไว้ ข้อมูลจะเรียลไทม์ เป็นการประมวลภาพได้ทั้งหมดว่ามีต้นไม้ประเภทไหน จำนวนเท่าไหร่ แต่ละป่าจะรู้หมด”
ไทยพับลิก้า : การคัดเลือกชุมชนมีหลักเกณฑ์อย่างไร
เลือกชุมชนที่พร้อม สมัครใจ ชุมชนไหนก็ได้ เราพร้อมทั่วประเทศ ในปี 2554 ที่ผ่านมา น่าทำจะได้ 1,225 ชุมชน ปี 2555 ตั้งแต่เมษายนตั้งเป้าไว้ 3,500 ชุมชน เรากำลังเตรียมวิทยากรลงพื้นที่ ในอนาคตป่าจะเริ่มเชื่อมกัน และอีกส่วนหนึ่งที่คุยกับกรมป่าไม้ซึ่งมีพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ และ ออป. มีพื้นที่กว่า 87,000 ไร่ จะส่งมอบให้ชุมชน เราจะส่งเสริมให้ทำธนาคารต้นไม้เพื่อเป็นป่าชุมชน อนาคตป่าจะเชื่อมต่อกัน
และตอนนี้กำลังพัฒนาให้เอาต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ เมื่อปลูกต้นไม้ ต้นไม้ยังไม่ถึงอายุตัด ซึ่งต้นไม้ทุกชนิดจะมีอายุของมัน หากไม่ตัดจะด้อยค่า เพราะมันหยุดเติบโต การตัดเพื่อเอามาใช้ประโยชน์ตามแต่ชนิด ชนิดไหนจะต้องตัด ตัดแล้วปลูกต้นใหม่ เวลาปลูกจะสลับเป็นไม้เนื้ออ่อน ปานกลา แข็ง ถึงเวลาก็ตัดสลับกันได้
“การใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน มาเอาเงินจากธนาคารไปใช้ก่อนได้ ยังไม่ต้องตัด รอรอบอายุของมัน เป็นการยืดอายุต้นไม้ออกไป โดยธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำที่สุด เป็นกรีนเครดิต คาดว่าดอกเบี้ยต่ำที่สุดในโลก ตอนนี้กำลังทำรายละเอียดอยู่”
ไทยพับลิก้า : ตั้งแต่ทำจริงจังในปี 2552 รายได้เกษตรกรเป็นอย่างไร
จากการสำรวจโดยทริส รายได้เกษตรกรดีขึ้น
ไทยพับลิก้า : ที่ตั้งเป้าไร่ละแสนหมายความอย่างไร
ไม่ใช่ต้นไม้อย่างเดียว คือปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้ได้ไร่ละแสน ปลูกต้นไม้ ปลูกผักหวานป่า เลี้ยงมดแดง ปลูกกล้วยไม้ เฉลี่ยทั้งหมดในพืชแต่ละตัวให้ได้ 100,000 บาท เพื่อให้เขาอยู่ได้
ไทยพับลิก้า : ตอนนี้มีต้นไม้ในธนาคารเท่าไหร่
2.9 ล้านต้น
ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วโครงการนี้ตอบโจทย์หลายอย่าง
โครงการนี้มีมิติเรื่องฐานทรัพยากร การเปลี่ยนวิธีคิดจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เปลี่ยนวิธีคิดระดับนโยบายว่าการปลูกต้นไม้ไม่ใช่หน้าที่รัฐฝ่ายเดียว แม้รัฐมีงบประมาณ มีเงิน มีคน แต่พื้นที่ป่าจาก 70% ลดลงเหลือ 17% ชี้วัดว่ามีอะไรผิดพลาด
ประเทศไทยมีพื้นที่ 321 ล้านไร่ จำนวน 121 เป็นป่า เป็นเขา เป็นพื้นที่ส่วนร่วมอีก 200 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เอกชน แบ่งเป็นของคนรวย 100 ล้านไร่ ของเกษตรกร 100 ล้านไร่ เป้าหมายของ ธกส. คือสร้างป่าในส่วนของเกษตรกรตรงนี้
ถามว่าทำไมสร้างตรงนี้ เพราะการที่ชาวบ้านบุกรุกป่า เพราะเขาไม่มีที่ดิน ไม่มีป่า ก็เปลี่ยนวิธีคิดเขาใหม่ เอาป่ามาไว้ที่บ้านเขา เมื่อเขามีป่าเขาจะไม่เข้าป่า จากสมมติฐานว่าทุกคนเป็นคนดี เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดในระดับนโยบายว่าการปลูกป่าไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องรับผิดชอบโลกใบนี้ร่วมกัน ทั้งที่เป็นคนรวยคนจน เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า เราคาดหวังว่าภายใน 10 ปี จะมีคนเข้าร่วมโครงการ 1 ล้านครอบครัว มีป่าเพิ่มขึ้น 25 ล้านไร่ มีต้นไม้ยืนต้น 1,000 ล้านต้น
ไทยพับลิก้า : ทำไมธนาคารต้องมาทำบทบาทนี้
ธกส. เป็นธนาคารพัฒนาชนบท เกี่ยวข้องกับเรื่องคน ดิน น้ำ ป่า เป็นการมุ่งชุมชนเป็นหลักเป็นศูนย์กลาง จากนี้ไปอีก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2555 – 2559 ธกส. มุ่งเป็นธนาคารสีเขียว เช่น การดูแลเรื่องดิน มุ่งเรื่องการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร ว่าใช้ปุ๋ยเคมีมากไปหรือไม่ ให้ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์หรือการดูแลน้ำ มุ่งการดูแลป่า ทั้งป่าส่วนตัว ป่าส่วนรวม ป่าของประเทศ ป่าของโลก เมื่อมีป่าก็มีน้ำ รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การทำแก้มลิงเล็กๆในครอบครัว แก้มลิงชุมชน แก้มลิงใหญ่ แก้มลิงที่เป็นป่า เป็นต้น เป็นการดูแลในบริบทนี้ เพื่อมุ่งเป็นธนาคารสีเขียว ในอีก 5 ปี และเป็นไปตามแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2555 มุ่งสู่สังคมสีเขียว โลว์คาร์บอน
ดังนั้นสิ่งที่ธกส.จะเดินไปใน 5 ปี ก็จะมีกิจกรรมพวกนี้ส่งออกไป ตั้งแต่ดูแลเกษตรกร ลูกหลานเกษตรกร จัดตั้งโรงเรียนธนาคาร ส่งเสริมเรื่องออมเงิน ออมต้นไม้ การดูแลลูกค้า อบรมเกษตรกร อบรมวิถีชีวิต วิถีทำกิน เราจะขึ้นทะเบียนปราชญ์ชาวบ้าน ครูเกษตรกร ครูต้นแบบที่เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ให้ครูเหล่านั้นเป็นหมอหนี้ เป็นที่ปรึกษา เป็นอาสาสมัคร คอยดูแลในเรื่องฐานทรัพยากร แต่ละจังหวัดจะมีต้นแบบทุกที่ ซึ่ง ธกส. มีศูนย์เรียนรู้ 84 แห่ง
ต่อไปต้องให้คนตระหนักว่าการใช้ชีวิตประจำวัน ใครที่มีส่วนทำให้คาร์บอนเพิ่มขึ้นต้องรู้ว่าตัวเองมีบาป ต้องไถ่บาป เช่น ใครติดแอร์ ปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ แล้วต้องปลูกต้นไม้กี่ต้นเพื่อชดเชย แต่ถ้าปลูกเองไม่ได้ก็บริจาคเงินเข้ากองทุนต้นไม้ของ ธกส. หรือต้องจ่ายภาษี ก็เป็นการออฟเซทกัน
ขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษาจัดตั้งกองทุนพันธบัตรต้นไม้อยู่ หรือประเทศออสเตรเลีย ผลักดันกฎหมายเก็บภาษีคาร์บอน เช่น ถ้าซื้อรถยนต์ ปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ต้องปลูกต้นไม้เท่าไหร่ ถ้าไม่ปลูกต้องออฟเซทด้วยการจ่ายภาษีเท่าไหร่ เท่ากับว่าฉันรับผิดชอบกับโลกใบนี้แล้ว
ธนาคารต้นไม้จะตอบโจทย์การแก้วิกฤตโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร วิกฤตน้ำท่วม วิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ วิกฤตความหลากหลายด้านชีวภาพ อันนี้สำคัญมาก เพราะป่าเป็น food bank เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อป่าถูกทำลาย พันธุกรรมพืช สัตว์มันหายไป ระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมหายไป น้ำเสีย ขยะ มลพิษ ภัยธรรมชาติ ลมพายุ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย วันเดียวกันที่เชียงใหม่อากาศหนาวมาก ภาคใต้ฝนตกน้ำท่วม คลื่นถล่ม
ดังนั้นธนาคารต้นไม้ตอบโจทย์ระดับเล็กๆ เป็นนวัตกรรมระดับชุมชน แต่ส่งผลถึงโลก ดังวลีที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” แต่เราตัดโค่นทั้งต้น ทั้งป่า กระเทือนทั้งโลก การมีธนาคารต้นไม้ทำให้เกิดความมั่นคง โดยเฉพาะระดับปัจเจก จากคนที่ไม่มีอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อคนมีความมั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ยกระดับเป็นประเทศที่พัฒนา เป็นคนที่เจริญ มีอารยะ
ธนาคารต้นไม้จึงเป็นการพัฒนาเรื่องชุมชน เรื่องสังคม จากสังคมที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ เป็นสังคมเกื้อกูล เอื้ออาทรกัน เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ลดความขัดแย้งในชาติ เป็นความมั่นคงของประเทศ
ขณะเดียวกันในด้านการเมือง การปกครอง จะเป็นการเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่จากที่รัฐต้องปลูกป่า ต้องดูแลป่า ออกกฏหมายมาบังคับ ควบคุม ก็จะเปลี่ยนเป็นการออกกฎหมายเพื่อเอื้อให้คนปลูกป่า ส่งเสริมให้คนปลูกป่าอยู่ได้ เป็นอาชีพหนึ่งที่เขาอยู่ได้
ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าไม้ปีละ 70,000 กว่าล้านบาท และแหล่งรายได้หลักในอนาคตคือการขายคาร์บอนเครดิต สำหรับปีนี้จะสำรวจและขึ้นทะเบียนต้นไม้ ปีหน้าเราจะทำฐานกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ชุมชนไหนกักเก็บคาร์บอนเท่าไหร่ อาจจะเลือกชุมชน 20 แห่ง ทำเป็นโครงการนำร่อง
ดังนั้นภาคส่วนอื่นๆ ต้องมาร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะ ธกส. มีข้อจำกัด ทำได้เพียงระดับหนึ่ง ต้องการให้คนอื่นมาช่วยขับเคลื่อน เพราะธนาคารต้นไม้ของทุกคน เพื่อปลูกต้นไม้ในใจ ปลูกลงแผ่นดิน…